“คมนาคม” จัดเวิร์กชอป “ปฏิรูปรถไฟไทย” เปิดเวทีรับฟังความเห็นเอกชนร่วมแก้ปัญหาสะสม เตรียมความพร้อมองค์กรรับการลงทุนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ “ชัชชาติ” ยันต้องเปิดรางให้เอกชนร่วมใช้เพื่อให้มีการแข่งขัน ดันพัฒนาที่ดิน 3 แปลงใหญ่หารายได้เพิ่มเอาไปชดเชยขาดทุนและหนี้กว่า 9 หมื่นล้าน ด้าน “ประภัสร์” หวั่นเปิดเอกชนเดินรถอาจคุมค่าโดยสารยาก
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (7 ธ.ค.) กระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การปฏิรูปรถไฟไทย” โดยมีหน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นของรถไฟถึง 60% มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนการขนส่งจากถนนไปสู่ระบบราง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่มีสูงถึง 7 แสนล้านบาทต่อปีลงได้ โดยตามแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ครั้งใหญ่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงรถไฟและถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะจะช่วยพลิกโฉมประเทศ ลดต้นทุนการขนส่งทำให้ไทยแข่งขันได้
ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะต้องมีความพร้อมที่จะลงทุนปรับโครงสร้างดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีหนี้สินประมาณแสนล้านบาทและยังขาดทุนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 1.5 ล้านบาทต่อชั่วโมง ซึ่งนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. จะต้องทำความเข้าใจกับพนักงานเพื่อเตรียมพร้อมด้านบุคลากรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง และต้องคัดสรรพนักงานที่มีความรู้ความสามารถตั้งขึ้นเป็นดรีมทีมเพื่อช่วยขับเคลื่อนงานทั้งหมดให้เป็นไปตามเป้าหมาย
นายชัชชาติกล่าวว่า ร.ฟ.ท.ต้องหาทางจัดการหนี้สินที่มี โดยหลักคือนำที่ดินที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์กว่า 3 หมื่นไร่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อหารายได้จากส่วนนี้มาชดเชยผลขาดทุนและหนี้สินกว่า 3 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นส่วนของการลงทุนโครงการแอร์พอร์ตลิงก์และภาระบำนาญ ส่วนที่เหลือรัฐต้องรับภาระ ขณะที่ทรัพย์สินที่เป็นรางนั้นต้องปรับการบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นกัน โดยมี 2 รูปแบบ คือ 1. เปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนและเดินรถ 2. เปิดให้เอกชนหลายรายนำรถมาวิ่งบนรางได้โดยจ่ายค่าเช่า ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขัน
“ตอนนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังศึกษาการปรับโครงสร้างอย่างไร ที่ผ่านมาละเลยไม่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง มีแต่คิดที่จะลงทุนแต่ไม่ได้ดูโครงสร้างที่จะรองรับการลงทุน ซึ่งการจะปรับอย่างไรสำคัญจะต้องฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนร่วมทั้งภาคเอกชน และผู้ประกอบการด้วย”
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การปฏิรูประบบรถไฟไทยให้มีประสิทธิภาพ จะต้องปฏิรูปองค์กรให้กลับไปเป็นหน่วยงานราชการ ซึ่งอาจจะต้องกลับไปเป็นกรมรถไฟเหมือนก่อนหน้านี้ เพื่อโอนทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่ 98,000 ล้านบาทให้รัฐรับภาระเพื่อล้างหนี้ และให้กรมรถไฟทำหน้าที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้งบประมาณจากรัฐ เหมือนกรมทางหลวง (ทล.) ที่มีหน้าที่สร้างถนนอย่างเดียว แล้วแยกทรัพย์สินส่วนของการเดินรถออกโดยให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้บริหารจัดการและเปิดให้เอกชนสามารถเข้ามาเช่ารางเดินรถได้ ทำให้รัฐมีรายได้กลับมาพัฒนาระบบรางต่ออีก
ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันเดินรถอาจทำให้ควบคุมอัตราค่าโดยสารได้ยาก ส่วนการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่และการซ่อมแซมรางขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้อนุมัติงบ 1.76 แสนล้านบาท มีเวลาดำเนินงานถึงปี 2563 แต่ยังมีปัญหาที่ต้องเร่งประกวดราคาภายใน 2 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่ถูกปรับเปลี่ยนตามการเมือง ขณะที่เรื่องหนี้สินยอมรับว่าจะต้องแก้ไข แต่ไม่เห็นด้วยกับการโอนล้างหนี้เพราะหนี้สินของประเทศก็ยังคงมีอยู่ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีรางรถไฟยาวประมาณ 4,000 กิโลเมตร แต่มากกว่าครึ่งทรุดโทรม ขณะที่หัวรถจักรก็ชำรุด ใช้ได้ประมาณ 100 คันเท่านั้น ผู้โดยสารจึงลดลงเรื่อยๆ ขณะที่บ้านพักพนักงานก็ทรุดโทรมมาก
สำหรับปัญหาของ ร.ฟ.ท.ในเรื่องการเดินรถ คือมีระยะทาง 4,043 กิโลเมตร เป็นทางเดี่ยวถึง 91.1% ทำให้เกิดความล่าช้าในการรอสับหลีก รางมีสภาพเก่า จำเป็นต้องปรับปรุงถึง 2,835 กิโลเมตร มีหัวรถจักรหมุนเวียนใช้เพียง 142 คัน โดยเป็นหัวรถจักรที่มีอายุใช้งานมากกว่า 25 ปีถึง 104 คัน มีจุดตัดกับถนนเฉลี่ยทุกๆ 2 กิโลเมตร ไม่มีเครื่องกั้น 988 จุด และเป็นทางลักผ่าน 540 จุดทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย
ส่วนปัญหาด้านการบริหารจัดการ มีหนี้สินถึง 98,060 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้โครงสร้างพื้นฐาน รถจักรและล้อเลื่อน หนี้ค่าน้ำมันกับ ปตท.และบำเหน็จบำนาญ 21,962 ล้านบาท หนี้จากการดำเนินงาน 42,860 ล้านบาท หนี้จากโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ 33,237 ลานบาท ไม่ได้ปรับค่าโดยสารรถชั้น 3 มาตั้งแต่ปี 2528 ส่วนชั้น 1 และ 2 ตั้งแต่ปี 2539 จัดเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนมาก
การปฏิรูปโครงสร้าง ร.ฟ.ท.ได้ตั้งหน่วยธุรกิจ 3 หน่วย คือ หน่วยธุรกิจด้านเดินรถโดยสารและสินค้า หน่วยธุรกิจด้านซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน หน่วยธุรกิจด้านบริหารทรัพย์สิน ส่วนแนวทางการลดภาระหนี้สินและเพิ่มรายได้นั้น ร.ฟ.ท.จะต้องนำที่ดินที่มีศักยภาพมาพัฒนาในรูปแบบชุมชนใหม่ ที่มีทั้งที่พัก ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และโรงพยาบาล เช่น ย่านมักกะสัน พื้นที่ 512 ไร่ มูลค่า 296,680 ล้านบาท ย่านพหลโยธิน กม.11 พื้นที่ 359 ไร่ มูลค่า 133,595 ล้านบาท ย่านสถานีแม่น้ำ พื้นที่ 277 ไร่ มูลค่า 12,242 ล้านบาท