xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ”สั่งร.ฟ.ท.ทบทวนราคากลางเพื่อความโปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” สั่ง “ประภัสร์”ตรวจสอบราคากลางประมูลงานร.ฟ.ท.ใหม่ หวั่นยังสูงเกินไปทำรับเสียประโยชน์ เพราะราคาไม่ทำให้เกิดการแข่งขันกัน พร้อมเร่งพัฒนาเครื่องบริการปรับโฉมรถไฟ ลั่นพลิกโฉมรถไฟใน 5 ปี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อปฏิรูปรถไฟใหม่ โดยได้สั่งการให้นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เร่งดำเนินการแล้วพร้อมกับให้ตรวจสอบราคากลาง โครงการก่อสร้างต่างๆของ ร.ฟ.ท.ให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น เช่น การปรับปรุงทางและการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ว่ากรอบราคากลางที่กำหนดไว้มีความเหมาะสม และทำให้ผู้รับเหมามีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่หรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องมีการตั้งคณอนุกรรมการเข้าไปช่วยตรวจสอบด้วย

ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2555 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติจัดสรรเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) ให้ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 4 สายทางระยะทาง 265 กิโลเมตร วงเงิน 2,939 ล้านบาท และโครงการติดตั้งเครื่องกั้นเสมอระดับ และปรับปรุงเครื่องกั้น 105 แห่ง วงเงิน 195 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังกู้เงินในประเทศและให้รงฟ.ท.กู้ต่อสำหรับดำเนินโครงการปรับปรุงทางที่ไม่ปลอดภัยในสายทางที่ยังไม่ได้รับจัดสรรแหล่งเงินลงทุน 8 สายทาง ระยะทาง 849 กิโลเมตร วงเงิน 8,874 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณจัดสรรเงินแก่ร.ฟ.ท.เพื่อชำระเงินต้น ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่แหล่งเงินกู้โดยตรง โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้เร็วๆนี้

นายชัชชาติกล่าวว่า ร.ฟ.ท.ต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงบริการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน หลังจากพิจารณาแล้วพบว่า จำนวนผู้โดยสารและสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2533 มีผู้ใช้บริการประมาณ 85.303 ล้านคน ปี 2552 ผู้โดยสารเหลือ 47.486 ล้านคน และในปี2554 ลดลงเหลือ 45.833 ล้านคน หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไข ร.ฟ.ท.คงอยู่ไม่ได้แน่นอน

ซึ่งหากเปรียบเทียบการใช้บริการกับหลายประเทศในเอเชีย รถไฟของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก คือ ประมาณ 150 กิโลเมตรต่อคนต่อปี ในขณะที่ญี่ปุ่น ใช้บริการ1,995 กิโลเมตรต่อคนต่อปี เกาหลีใต้ 650 กิโลเมตรต่อคนต่อปี จีน 653กิโลเมตรต่อคนต่อปี และอินโดนีเซีย 110 กิโลเมตรต่อคนต่อปี โดยรายได้หลักของบริการรถไฟยังเป็นค่าโดยสารประมาณ 66% และค่าขนส่งสินค้า 34%

“ความยาวของรางรถไฟไทยปัจจุบันอยุ่ที่ 4,440 กิโลเมตร ครอบคลุม 47กิโลเมตร มีขบวนรถโดยสาร 246 ขบวน แต่สภาพของรถ และราง อยู่ในสถาพที่ทรุดโทรมมาก จึงต้องมีการปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ดีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

โดยปัญหาหลักคือ หัวรถจักรไม่เพียงพอ มีใช้งานไม่ถึง 80% จากทั้งหมด 206 หัว เพราะชำรุด มีจำนวนพนักงาน 11,474 คน ทำให้มีภาระบำนาญปีละเกือบ 3,000 ล้านบาท แต่ยืนยันไม่มีนโยบายปลดพนักงาน โดยให้หาทางพัฒนาให้ความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น ส่วนที่ดิน 234,976 ไร่ จะต้องเร่งพัฒนาหารายได้จากที่ดินที่มีศักยภาพ และแก้ปัญหาสำหรับที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีก 36,302 ไร่ ปัจจุบันร.ฟ.ท.ประสบกับการขาดทุนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตามรัฐบาลยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบายปรับปรุงรถไฟอย่างจริงจัง มั่นใจว่า ภายใน 1 ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องหัวรถจักรใหม่ การปรับปรุงทางที่มีความมั่นคงปลอดภัยขึ้นและเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนทั้งหมดใน 5 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น