xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ไฟเขียวประมูลสีเขียว 3.6 หมื่นล้าน เตรียมสวอป-รีไฟแนนซ์หนี้ลดขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด)การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.เคาะประมูล 4 สัญญาสร้างรถไฟฟ้าสีเขียวเข้ม (หมอชิต-คูคต) 2.65 หมื่นล้าน ชง ครม.หวังขายซองต้นปี 56 พร้อมเดินหน้าแผนจัดการหนี้เงินเยน 8 หมื่นล้าน CFO เผย ตกลงร่วม สบน.ใช้ 2 รูปแบบ สวอปและรีไฟแนนซ์ เชื่อใน 2 ปีการเงินมั่นคงลดขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน เตรียมรีไฟแนนซ์ก้อนแรกหมื่นล้าน

นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม มีมติเห็นชอบการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 19.5 กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง 26,569 ล้านบาท โดยแบ่งงานเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย 1. สัญญาก่อสร้างช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตร วงเงิน 14,207 ล้านบาท 2. สัญญาก่อสร้างช่วงสะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร วงเงิน 6,115 ล้านบาท 3. สัญญาก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและพื้นที่จอดรถไฟฟ้า (Depo) วงเงิน 3,638 ล้านบาท และ 4. สัญญาระบบราง วงเงิน 2,609 ล้านบาท โดยจะส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติประกวดราคาในต้นปี 2556

ส่วนปัญหาการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ขณะนี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) ของ รฟม.อยู่ระหว่างทำแผนบริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้สกุลเยนกว่า 80,000 ล้านบาท พร้อมทั้งแผนเพิ่มรายได้ ซึ่งปี 2554 รฟม.ประสบภาวะขาดทุนสะสมถึง 35,066 ล้านบาท โดยขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 10,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2555 (ต.ค. 54-ก.ย. 55) ขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 35,711 ล้านบาท ซึ่งค่าเงินเยนผันผวนตลอดเวลา ในขณะที่หน้าที่หลักของ รฟม.คือการก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 สายให้เป็นไปตามแผนงาน จึงต้องแก้ความเสี่ยงเงินกู้ในระยะยาวเพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องสร้างรายได้เพิ่มและทำให้ผลประกอบการมีกำไรต่อไป โดยตั้งเป้าว่าสุดท้าย รฟม.จะต้องมีกำไร เนื่องจากที่ผ่านมา รฟม.ไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรงและเน้นแต่เรื่องการก่อสร้างระบบรางให้เป็นไปตามแผนของรัฐบาล

ด้านนายธนสาร สุรวุฒิกุล CFO รฟม. กล่าวว่า ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้แนะวิธีบริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้สกุลเยนที่ รฟม.กู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) 2 รูปแบบ คือ 1. วงเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.75% ประมาณ 70,000 ล้านบาท จะทำการ Cross Currency Swap หรือการตกลงกับธนาคารภายในประเทศเข้ามาบริหารหนี้ให้ซึ่งจะทำให้เงินกู้ส่วนหนี้สวอปเป็นเงินบาท โดยธนาคารเป็นผู้บริหารจัดการ มีข้อดีเพราะจะลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนลง โดยจะทยอยปรับตามภาวะตลาดที่เหมาะสม 2. วงเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง 2.7% ประมาณ 10,000 ล้านบาท จะรีไฟแนนซ์โดย สบน.จัดหาแหล่งเงินในประเทศมาใช้คืนไจก้าทั้งหมด คาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 โดยภายใน 2 ปีนี้เชื่อว่าภาวะทางการเงินของ รฟม.จะไม่มีความเสี่ยงและมีความมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากหลังจากนี้จะใช้เงินกู้ในประเทศก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นหลัก

ทั้งนี้ ในปี 2554 รฟม.ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 9,187 ล้านบาท ส่งผลให้มีรายจ่ายรวมถึง 11,827 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวม 554 ล้านบาท จึงต้องขาดทุนกว่า 12,000 ล้านบาท ส่วนปี 2555 เงินเยนอ่อนค่า ทำให้ รฟม.มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 8,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีรายได้รวม 8,500 ล้านบาท รายจ่าย 9,200 ล้านบาท จึงขาดทุนเพียง 674 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น