xs
xsm
sm
md
lg

CPF โตเด่นรับเศรษฐกิจฟื้น รัฐปลดล็อกกำลังซื้อจีนขยับราคาหมูพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รัฐคลายล็อกมาตรการ หลังไวรัสโควิดนิ่ง ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะภาพรวมของตลาดหุ้นได้รับอานิสงส์เชิงบวก และจีนเปิดประเทศและสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม โดยเฉพาะเนื้อหมู อีกทั้งการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้ราคาหมูปรับเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตอาหารรับผลบวก “เจริญโภคภัณฑ์อาหาร” จึงได้รับผลบวกเต็มๆ โบรกเกอร์เชียร์ซื้อคาดผลประกอบการไตรมาส 2 สดใส




“ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต” เป็นคำที่นักลงทุนคุ้นเคยชินหูกันเป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุน ตราสารอนุพันธ์ ทองคำ ฯลฯ หรือการลงทุนในประเภทใดก็ตาม สิ่งที่มักจะได้ยินได้ฟังจากผู้ชักชวนการลงทุน หรือจากเจ้าของกิจการ ให้ระงับยับยั้งชั่งใจก่อนที่จะตัดสินใจใส่เงินลงทุนเข้าไป เพราะความเสี่ยงจากการลงทุน ไม่มีใครที่จะสามารถการันตีผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นได้ เท่าๆกับผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเช่นกัน




อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจขนาดย่อม ไปจนถึงบริษัทจดทะเบียน ในทุกหมวดหมู่ ทุกแขนงกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะช่วงที่ระบาดหนักเมื่อสองเดือนที่ผ่านมา ซึ่งรัฐออก มาตรการต่างๆ ออกมาเพื่อไม่ให้ลุกลามนั้น ส่งผลให้การระบาดในไทยเราไม่บานปลาย กระทั่งมาตรการเข้มงวด ค่อย ๆผ่อนคลายและปลดล็อกจากเฟสแรกจนมาถึงเฟส3 และอยู่ในระหว่างพิจารณาปลดล็อกเฟส4 ซึ่งเพียงแต่เฟส 3 ก็ถือว่าผ่อนคลายลงมากแล้ว เพราะประชาชนเริ่มออกมาจับจ่ายและดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังกว่าแต่ก่อน และสิ่งที่ไม่ขาดคือสวมแมสและเจลล้างมืออยู่เป็นนิจ




การผ่อนคลายมาตรการ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตกลับมา แม้ว่าไม่ปกตินัก หากแต่ก็ทำให้การจับจ่ายใช้สอยคึกคักขึ้นมา การบริโภคยังคงมีต่อเนื่อง ขณะที่ในจีนซึ่งเป็นประเทศตั้งต้นของโรคระบาดดังกล่าว เริ่มสั่งซื้อสินค้าเข้าประเทศแล้ว ดังนั้น หลายฝ่ายจึงมองว่าเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มขยับบ้างแล้ว จะมากหรือน้อยก็ยังถือว่าดีกว่าไม่มีการเคลื่อนไหว




ตลาดหุ้นไทย Q3 ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป




วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET มองว่า แม้ว่าทิศทางปัญหาการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย อยู่ในระดับทรงตัว หากเทียบกับประเทศอื่นๆที่มีความรุนแรงของผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่จากข่าวที่ "โนวาแวกซ์" บริษัทพัฒนาวัคซีนรายใหญ่ในสหรัฐ ได้เริ่มทดลองใช้วัคซีนต้านโควิดเฟสแรก และคาดรู้ผลใน ก.ค.นี้ ทำให้ความเชื่อมั่นการลงทุนกลับคืนมาในระดับหนึ่ง ขณะที่สถานการณ์ระหว่างจีน และฮ่องกง ดูจะผ่อนคลายไปได้บ้างหลังการแทรกแซงอ่อนลง ส่งผลให้ตลาดหุ้นฮ่องกงบวกได้ ถือว่าเป็นโมเมนตัมที่ใช้ได้




วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) มองว่าทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากความคาดหวังกรณีพิจารณามาตรการผ่อนปรนในระยะ 3 และ 4 ตามลำดับ หลังจากที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งการปรับเวลาเคอร์ฟิวให้สอดคล้องกัน รวมทั้งประเด็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เตรียมหารือปลดล็อกการเดินทางท่องเที่ยวภายในเดือน มิ.ย.นี้ ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยมองกรอบดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,320 -1,350 จุด




ในทางกลับกันหากพิจารณาปัจจัยภายนอกประเทศ ยอมรับว่าดัชนียังมีแรงกดดัน จากกรณีที่ประเทศจีนมีแผนจะบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ซึ่งส่งผลให้เกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นที่ฮ่องกง และสร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐฯ ประกอบกับการที่จีนระงับการกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำปี 2563 เนื่องจากการแพร่ระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจจีนเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเข้ามาเป็นตัวแปรต่อตลาดหุ้น




“แนะนำจับตาทิศทางการลงทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศ อาทิ การกำหนดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาเหตุวิกฤติจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ขณะเดียวกัน จะมีการประชุมทีมเฉพาะกิจ พิจารณาผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพิ่มเติมในระยะ 3 และ 4 ส่วน และช่วงปลายเดือนที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการรายงานภาวะเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางภาพรวมการลงทุน”




ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก เปิดเผยถึงกลยุทธ์การลงทุนขณะนี้ โดยแนะนำลงทุนหุ้นที่มีแนวโน้มผลประกอบการโดดเด่นในไตรมาส 2/2563 อย่าง CPF




ขณะที่ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS ประเมินแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 3 ว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาพของเศรษฐกิจหลัง COVID-19 แต่การฟื้นตัวจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะภาคบริการยังไม่สามารถกลับมาสู่สภาวะปกติได้เร็ว แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการสำหรับการฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจากการที่ สศช.มองว่าจะได้ผลเร็วที่สุดคือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคในประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว และ ธุรกิจบริการ เนื่องจากฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างๆ หยุดชะงักไปเกือบทั้งหมด โดยคาดว่าในเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้จะเริ่มมีการปลดล็อกกิจกรรม ให้มีการกระจายเงินไปยังภาคธุรกิจต่างๆในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น




อย่างไรก็ดี มองว่าการฟื้นตัวในภาพรวมของตลาดจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยหุ้นที่มองว่าจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการคลายล็อกมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล คือหุ้น CPF




บล.เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBS มองหลังจากที่ บริษัท Hylife ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ CPF และ ITOCHU Corporation ที่แคนาดาได้เข้าซื้อทรัพย์สินของกลุ่มบริษัท ProVista ในแคนาดาและเข้าลงทุน 75% ในหุ้นของ Prime Pork, LLC “Prime Pork” ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ProVista เป็นหนึ่งในผู้ดำเนินกิจการฟาร์มสุกรแบบอิสระรายใหญ่ที่สุดของแคนาดา ตั้งอยู่ในเมืองเมนิโทบา การลงทุนครั้งนี้จะได้มาซึ่งแม่พันธุ์สุกร 37,000 ตัว โดย ProVista มีกำลังการผลิตสุกร 1 ล้านตัวต่อปี ส่วน Prime Pork เป็นผู้ผลิต แปรรูปสุกร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสุกรในรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีกำลังการผลิตในการแปรรูปสุกร 1.2 ล้านตัวต่อปี ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตในการแปรรูปสุกรให้แก่ HyLife เป็น 3.2 ล้านตัวต่อปี




ขณะที่จีนทำสถิตินำเข้าเนื้อหมูมากถึง 400,000 ตัน ในเดือนเม.ย. พุ่งขึ้นเกือบ 170% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากราคาเนื้อหมูในต่างประเทศถูกกว่าในประเทศ โดยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทำให้อุปทานหมูในจีนลดลง 40% ทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มสูงขึ้น 120 -136 บาทต่อกก. ซึ่งจีนเป็นผู้บริโภครายใหญ่ของโลก




ดังนั้น จึงมีมุมมองเป็นบวกต่อข่าวดังกล่าวจากการที่บริษัทร่วมทุน (HyLife) เข้าซื้อฟาร์มสุกรใหญ่สุดในแคนาดารวมถึงโรงชำแหละในอเมริกา ขณะที่ตลาดโลกประสบปัญหาอุปทานสุกรขาดแคลนจากผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้ฟาร์มหลายแห่งต้องปิดตัวลงและคนงานไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ ทำให้ CPF มีโอกาสได้ประโยชน์จากอุปทานที่ลดลงไป ขณะที่ในระยะยาวจะเป็นการเพิ่มช่องทางเพื่อเปิดตลาดต่างประเทศ คาดว่า ทาง CPF จะไม่มีภาระต้องใส่เงินลงทุนเข้าไปเพิ่ม โดยจะใช้เงินสดจากการดำเนินงานของ Hylife ในการลงทุน




โดยการนำเข้าจากจีนจะทำให้ราคาหมูในประเทศข้างเคียงที่สามารถส่งออกไปจีนได้มากคือเวียดนามปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อ CPF ซึ่งมีธุรกิจในเวียดนามคิดเป็น 20% ของรายได้รวมของ CPF และสนับสนุนมุมมองของ KTBS ที่ว่าราคาหมูเวียดนามจะยังคงอยู่ในระดับสูงตลอดปีนี้ ราคาหมูในเวียดนามเข้าใกล้ 100,000 VND/Kg. ขณะนี้ จากไตรมาสก่อนที่ประมาณ 75,000 VND/Kg.




ทั้งนี้ คงกำไรสุทธิปี 2020E และอาจจะปรับประมาณการขึ้นเมื่อมีรายละเอียดเพิ่มเติม ยังคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 2020E อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน (และคงกำไรปกติที่ 1.67หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% จากปีก่อน ) แม้ว่ากำไรในไตรมาสแรก จะมากกว่าคาด แต่ใน 2Q20E คาดได้รับผลกระทบมากขึ้นการปิดตัวของภาคโรงแรมห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารมากขึ้น หลังจากนั้น จึงจะทยอยดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ยังติดตามการดำเนินการงานของธุรกิจในอเมริกาเหนือและอาจจะปรับประมาณการขึ้นเมื่อมีรายละเอียดเพิ่มเติมจึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” CPF ราคาเป้าหมายอิง SOTP ที่ 35.00 บาท




ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป มองว่าหุ้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในปี 2563 ยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากราคาเนื้อสัตว์ที่สูง ขณะที่ผลการดำเนินงานปี 2563 ยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากราคาเนื้อสัตว์ที่ทรงตัวในระดับสูงทั้งในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากราคาวัตถุดิบทั้งข้าวโพดและกากถัวเหลือง ที่ปรับลงจากกำลังซื้อที่หดตัว โดยจากผลการดำเนินงานที่ดีกว่าคาด ทำให้ปรับประมาณการขึ้นจากเดิม โดยในส่วนของยอดขายเป็น 565,178 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และปรับ margin ขึ้นจากเดิมตามปัจจัยบวกที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงได้ปรับการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้นตามการได้มาของสินทรัพย์ ใหม่อย่าง Hylife ปรับกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 19,557 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 5% yy




"อุตสาหกรรมยังเอื้อต่อการเติบโต ASF ที่เกิดขึ้นกับหมู ทำให้การตัดสินใจกลับมาเลี้ยงอีกครั้งของผู้ประกอบการทำได้ยาก เนื่องจากเงินลงทุนการเลี้ยงที่สูงกว่าไก่ อีกทั้งระยะเวลาการเลี้ยงที่นานราว 2.5 ปีกว่าจะได้ผลผลิตทำให้จำนวนหมูในเวียดนามที่ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กกลับมาได้ยากกว่า อีกทั้งรัฐบาลเข้มงวดการ เลี้ยงมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการขยายการเลี้ยงของบริษัท แต่จากการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่มีศักยภาพการเลี้ยงที่ดีทำให้อาจไม่กระทบมากหากเทียบกับผู้ประกอบการขนาดเล็กและคาดว่าแนวโน้มราคาหมูจะยังทรงตัวในระดับสูงไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า ขณะที่ COVID-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ประกอบการอาหารรายใหญ่ในสหรัฐต้องปิดโรงงานลง แม้จะไม่ทำให้การส่งออกของไทยทำได้มากขึ้น แต่ช่วยลดอุปทานไก่ในตลาดให้ลดลงซึ่งจะช่วยให้ราคาปรับลงไม่มากภายใต้กำลังซื้อที่อ่อนแอในปัจจุบัน ขณะที่กุ้ง แม้ราคาจะยังไม่สูงนัก แต่วิธีการเลี้ยงที่ได้ผลทำให้ลดการเกิดโรคจะช่วยให้การเลี้ยงกุ้งกลับมาสู่ภาวะปกติซึ่งจะช่วยให้การขายอาหารกุ้งและพันธุ์กุ้งเพิ่มขึ้น จากการเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมทำให้ CPE จะได้รับผลบวกจากปัจจัยที่เกิดขึ้น"




แนะนำ "ซื้อ" ปรับราคาพื้นฐานเพิ่มเป็น 36 บาท แม้ COVID-19 ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบการดำเนินงานในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ภาพอุตสาหกรรมที่ยังเป็นบวกยังหนุนให้การดำเนินงานยังขยายตัวได้ดีตามแผน




ด้าน บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI มองว่าผลประกอบการแข็งแกร่งเพราะ GPM เพิ่มขึ้นและมีส่วนแบ่งกำไรจาก Hylife ที่มีอัตราการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งของ CPF ได้รับปัจจัยหนุนจากอัตรากำไรขั้นต้นและ (GPM) ที่ดีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจปศุสัตว์ในอานิสงส์จากการที่ราคาหมู ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 20.4% ในไตรมาสแรกปี 63 จาก 16.1% ไก่ขยับสูงขึ้น GPM ของธุรกิจปศุสัตว์ ขณะที่ GPM ของธุรกิจปศุสัตว์ในไทยเพิ่มเป็น 15.4% จาก 10.7% ขณะเดียวกัน ธุรกิจ สัตว์น้ำก็ยังได้แรงหนุนจากต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำทำให้ GPM ของธุรกิจสัตว์น้ำในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น17.1% ในไตรมาสแรกปี63 จาก 15.4% และ GPM ของธุรกิจสัตว์น้ำในไทยเพิ่มเป็น 15.4% จากปี 62




นอกจากนี้ ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมของ CPF ยังเพิ่มขึ้นจากการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสของ Hylife Investment ซึ่งส่งผ่านกำไรมาที่ CPF ประมาณ 385 ล้านบาท ธุรกิจมีแนวโน้มอ่อนตัวในระยะสั้น แต่น่าจะฟื้นกลับมาในครึ่งปีหลัง คาดว่าราคาสินค้าในประเทศน่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยรัฐบาลได้ออกคำสั่งให้ปิดบริการร้านอาหารเต็มรูปแบบ และโรงแรมเองก็มีการปิดแบบสมัครใจ ซึ่งทำให้อุปสงค์การบริโภคเนื้อสัตว์ลดลง และส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ราคาไก่เฉลี่ยอยู่ที่ 33.20 บาท/ กก. ในเดือนเมษายน ลดลงจาก 34.50 บาท/กก. ขณะที่ราคาหมูก็ลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 70 บาท/ กก. จาก 75.60 บาท/กก. ในเดือนมกราคม แต่อย่างไรก็ตาม ราคาหมูและไก่น่าจะฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการ lockdown




ทั้งนี้ CPF เปิดเผยว่าบริษัทกำลังอยู่ในกระบวนการยื่นไฟลิ่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้น Tesco Asia คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (OTCC) ซึ่งจะยื่นภายในหนึ่งเดือนนับจากนี้ และบริษัทคาดว่ากระบวนการพิจารณาจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งน่าจะประกาศผลการพิจารณาได้ในช่วงต้นไตรมาส4 ซึ่งบริษัทเผยว่ากำลังพิจารณาแหล่งเงินกู้ที่จะนำมาใช้ซื้อหุ้นในดีลนี้




อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากเงินสด ในมือ และมูลค่าการลงทุนระยะสั้น ซึ่งสูงถึง 8.2 หมื่นล้านบาทเมื่อสิ้นงวดไตรมาสแรก ยังคงมองว่าบริษัท ไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากValuation & Action ถึงแม้ว่าผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาดีเกินคาด แต่ยังคงประมาณการกำไรเอาไว้เท่าเดิม เพราะคาดว่าผลการดำเนินงานจะอ่อนตัวเมื่อเทียบต่อไตรมาสในไตรมาส 2 ปี 63 และมองบวกกับแนวโน้มธุรกิจครึ่งปีหลัง ยังคงคำแนะนำ ซื้อ และคงราคาเป้าหมาย SOTP เอาไว้ที่ 35.00 บาท




ราคาหมูพุ่งดันกำไรเติบโต


ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ CPF กล่าวถึงผลประกอบการไตรมาสแรกที่ผ่านมาว่า บริษัทสามารถทำกำไรได้กว่า 6,111 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 43 % เทียบกับปีที่ผ่านมา ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% หรือกว่า 1.38 แสนล้านบาทนั้น สัดส่วนที่สำคัญคือยอดขายในต่างประเทศที่มากถึง 68 % ของยอดขายรวม ซึ่งเพิ่มขึ้น 12 % เทียบจากช่วงเดียวกัน ขณะที่ในส่วนของยอดขายภายในประเทศนั้นก็เติบโตขึ้นอีก 6 % มาอยู่ที่ 32%




นอกจากนี้บริษัทได้เริ่มรับรู้กำไรจากการเข้าลงทุนในบริษัท Hylife ซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการสุกรรายใหญ่อันดับสองในประเทศแคนาดาที่ CPF เข้าไปถือหุ้นอยู่ 51 % โดยสามารถทำกำไรกว่า 385 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ทำให้บริษัทมีความสนใจขยายโอกาสการลงทุนธุรกิจในแคนาดาเพิ่มเติม ขณะที่แผนการลงทุน 5 ปีในต่างประเทศ 2562 – 2566 จะผลักดันรายได้ให้เพิ่มขึ้นแตะ 75 % ของรายได้รวม ปัจจุบันทำได้ 68 % ซึ่งวางเป้ารายได้ 5 ปีไว้ที่ประมาณ 8 แสนล้านบาท




ประเด็นสำคัญที่ทำให้กำไรมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างมากในไตรมาสที่ 1/63 นั้นมาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรค African Swine Flu หรือASF ในสุกร ซึ่งสร้างความเสียหายจำนวนมากในประเทศ จีน เวียดนาม กัมพูชา ส่งผลให้เนื้อสุกรเพื่อการบริโภคในประเทศดังกล่าวหายไปกว่า 40-50% ผลที่ตามมาคือ เมื่อมีปริมาณความต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่สินค้าที่มีไม่พอต่อความต้องการ ทำให้ราคาสุกรที่จำหน่ายมีราคาปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว โดยในประเทศเวียดนามจากสุกรราคาขายปกติต่อกิโลกรัมที่ 4-5 หมื่นด่อง ปรับเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละกว่า 7 หมื่นด่อง


ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยนั้น ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว เนื่องจากเกษตรกรและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ทั้งฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีการบริหารจัดการภายในฟาร์มตามมาตรฐานที่กรมปสุสัตว์กำหนด ซึ่งแตกต่างจากในประเทศเวียดนามและจีน ที่มีผู้ประกอบการธุรกิจฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ไม่เกิน 30% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นขนาดเล็กทั้งหมด


อย่างไรก็ดีจากข้อมูลการระบาดของโรค ASF พบว่าขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนในการรักษา ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการระบาดของฟาร์มขนาดเล็กที่ได้รับความเสียหาย จึงชะลอในการที่จะลงทุนเลี้ยงสุกรรุ่นถัดไป เนื่องจากกลัวว่าจะมีการกลับมาระบาดซ้ำ ทำให้ปริมาณสุกรที่ป้อนเข้าสู่ตลาดยังน้อยกว่าความต้องการ จึงทำให้ราคายังคงระดับสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง




ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กระทบต่อรายได้หลักที่สำคัญในต่างประเทศที่สำคัญคือ อินเดียและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้สัดส่วนรายได้รวมที่มาจากต่างประเทศลดลง 2-3 % แต่ถึงกระนั้น ด้วยแนวคิดการบริหารความเสี่ยงในการกระจายการลงทุนทำให้บริษัทสามารถลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้




ในส่วนของทิศทางการดำเนินธุรกิจครึ่งปีหลังมองว่า แนวโน้มภาพรวมตลาดไก่และสุกรจะกลับมาดี ถึงแม้ว่าบริษัท ฯ วางงบการลงทุนไว้เพียง 2.7-3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเน้นการพัฒนาโครงการต่อเนื่องที่ได้ทำไว้แล้วเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เช่นระบบสารสนเทศด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับธุรกิจอาหาร และระบบโลจิสติก ตลอดจนถึงการจัดส่งสินค้าที่สั่งผ่านแอพพลิเคชั่นซึ่งมีความถี่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัวในช่วงการระบาดของ COVID-19




ขณะที่ดีลการซื้อเทสโก้โลตัสนั้น คาดว่าจะสามารถทราบ ผลการซื้อครั้งนี้ต้นไตรมาส 4 ปี 2563 ส่วนเรื่องเงินลงทุน บริษัทจะกู้เงินเพิ่มเพื่อชำระการซื้อกิจการครั้งนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น