TACC ออกประกาศผ่านเว็บไซต์ แจงกรณีมีบุคคลแอบอ้างบริษัทเป็นเจ้าหน้าที่ตัวแทนลิขสิทธิ์เข้าทำการล่อซื้อ และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมในความผิดฐานจำหน่ายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งสินค้าดังกล่าว TACC เป็นตัวแทนถือครองลิขสิทธิ์ แต่บริษัทไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใด พร้อมปรึกษาฝ่ายกฎหมายและทีมทนายเอาผิดผู้แอบอ้าง พร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
สืบเนื่องจากกรณีที่มีการแชร์ภาพในสื่อโซเชียลว่ามีเหตุการณ์เยาวชน อายุ 15 ปี ซึ่งถูกบุคคลแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตัวแทนลิขสิทธิ์เข้าทำการล่อซื้อ และแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมและดำเนินคดีในความผิดฐานจำหน่ายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยสินค้าดังกล่าวเป็นกระทงอาหารปลา ซึ่งหนึ่งในนั้นติดรูปการ์ตูนดังซึ่งเป็นสินค้ามีลิขสิทธิ์แมวการ์ฟิลด์ และหมีคุมะ ของ บริษัท ซาน-เอ็กซ์ จำกัด ที่ดำเนินการโดย บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2560 ครอบคลุมประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเชีย กัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC ในฐานะผู้ถือแบรนด์ลิขสิทธิ์สินค้าของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่น ได้ออกประกาศชี้แจงผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของบริษัทว่า
บริษัทฯ ขอชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกันว่าไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ตามข่าวที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทฯ ได้ทำการปรึกษาฝ่ายกฎหมายและมอบหมายให้ทนายความดำเนินการสืบหาความจริง ในกรณีที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ขอยืนยันว่า เรายังมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเป็นสำคัญเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจในอนาคต
ขณะที่ทางทนายเดชา กิติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ได้กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า
#การล่อซื้อเด็กเพื่อจับลิขสิทธิ์ถือเป็นวิธีการที่สกปรกที่สุด เด็กอายุ 15 ปีถือว่าอายุน้อยมากอย่างแยกไม่ออกระหว่างการทำมาหากิน กับการกระทำความผิด กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่สร้างสรรค์ไม่ใช่เอามาเป็นเครื่องมือในการตบทรัพย์
การล่อซื้อคือการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เด็กไม่ได้กระทำความผิดแต่ตัวแทนลิขสิทธิ์ไปล่อซื้อไปคะยั้นคะยอเพื่อให้เด็กกระทำความผิดถือเป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยศาลฎีกาเคยตัดสินคดีประเภทนี้มาแล้ว การที่จะจับกุมเด็กได้นั้นโดยหลักแล้วคดีลิขสิทธิ์เป็นคดีส่วนตัวต้องแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนก่อนหลังจากนั้นจึงจะจับกุมได้ไม่ใช่ว่าเจอการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไหนก็เดินเข้าไปจับ ส่วนการข่มขู่เรียกเงิน 50,000 บาทอาจมีความผิดฐานกรรโชกได้ เพราะการจับลิขสิทธิ์จะต้องส่งดำเนินคดีไม่ใช่ตบทรัพย์