นักกีฬากับอาการ "บาดเจ็บ" นับเป็นของคู่กัน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักกีฬาสมัครเล่น ระดับอาชีพ หรือมีฝีมือเก่งกาจที่สุดในโลก ก็มิอาจหลีกหนีอาการบาดเจ็บได้พ้น ยิ่งในการแข่งขันกอล์ฟอาชีพซึ่งมีทัวร์นาเมนต์ดวลวงสวิงกันตลอดปี โดยในแต่ละรายการต้องแข่งขันกัน 4 วัน วันละหลายสิบชั่วโมงด้วยแล้ว เหล่าโปรจึงมักประสบปัญหาบาดเจ็บอยู่เนืองๆ แม้ไม่หนักแต่ก็มีมากวนใจอยู่เป็นประจำ เว็บไซต์ MGR Sport ถือโอกาสที่ในสุดสัปดาห์นี้มีการแข่งขันกอล์ฟ เอเชียนทัวร์ "ควีนส์ คัพ สมุย กอล์ฟ ทัวร์นาเมนต์" ตามไปสัมภาษณ์เปิดใจ ปิยารัตน์ วุ้นวงษ์ "ฟิซิโอ" นักกายภาพบำบัดคนไทยหนึ่งเดียวที่ทำงานให้กับทัวร์หมายเลข 1 ของเอเชีย ถึงขั้นตอนการทำงาน ตลอดจนประสบการณ์ดีๆในห้องล็อกเกอร์รูมทัวร์กอล์ฟอาชีพ
เข้ามารับงาน "ฟิซิโอ" หรือ นักกายภาพของ เอเชียน ทัวร์ ได้อย่างไร?
เดิมทีดิฉันทำงานเป็นนักกายภาพฯให้กับเทนนิสไอทีเอฟที่มาแข่งขันในประเทศไทย หลังจากนั้นได้เข้าไปช่วยเพื่อนทำงานเป็น มาสสาจ เทรนเนอร์ หรือคนนวดคลายกล้ามเนื้อให้กับเทนนิส ดับเบิลยูทีเอ ทัวร์ ที่ พัทยา มาหลายปี ก่อนได้รับการชักชวนจากเพื่อนให้มาทำหน้าที่ นักกายภาพฯให้กับ เอเชียน ทัวร์ ซึ่งในช่วง 1-2 ปีแรกยังรับงานแบบพาร์ทไทม์คือจะทำงานเฉพาะทัวร์นาเมนต์ที่ทัวร์มอบหมายมา และเพิ่งมาได้เป็นนักกายภาพประจำทัวร์แบบเต็มเวลาเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2008 โดยในทีมกายภาพบำบัดของ เอเชียน ทัวร์ จะมีนักกายภาพฯทั้งหมด 4 คนทำงานสับเปลี่ยนกัน แต่ดิฉันเป็นคนไทยเพียงคนเดียวในทีม
นักกายภาพฯของ เอเชียน ทัวร์ ต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง?
หน้าที่หลักคือการใช้ทักษะที่เรียนมานวดคลายกล้ามเนื้อให้กับนักกีฬาทั้งก่อนและหลังการแข่งขันในแต่ละวัน โดยดิฉันจะประจำการในห้องล็อกเกอร์รูมบริเวณคลับเฮาส์ของแต่ละทัวร์นาเมนต์ นักกีฬาที่มีปัญหาจะเดินเข้ามาขอคำปรึกษาหรือร้องขอให้ช่วยคลายกล้ามเนื้อตามจุดต่างๆซึ่งเขามีอาการเจ็บหรือตึง เราก็ต้องนวดไปคลายกล้ามเนื้อไป หากเป็นการนวดก่อนแข่งก็ถือเป็นการวอร์มอัพกล้ามเนื้อให้เขา ส่วนถ้าเป็นการนวดหลังแข่งก็เหมือนเป็นการเตรียมกล้ามเนื้อของนักกอล์ฟผู้นั้นให้พร้อมลงแข่งขันวันต่อไป หากแต่นักกอล์ฟผู้ใดมีอาการบาดเจ็บเขาอาจมาขอคำแนะนำจากเราว่าจะลงแข่งขันต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งนักกายภาพฯมีหน้าที่โดยตรงในการออกใบรับรองและแนะนำนักกอล์ฟว่าควรเล่นต่อหรือไม่ แต่หากบางทัวร์นาเมนต์มีแพทย์เข้ามาดูแล หน้าที่แนะนำว่านักกอล์ฟควรแข่งต่อหรือถอนตัวจะอยู่ที่แพทย์ทันที
นักกอล์ฟมักมีปัญหาบาดเจ็บส่วนไหนมากที่สุด?
นักกอล์ฟแต่ละคนไม่ว่าจะเด็กหรือสูงวัยล้วนมีปัญหาอาการบาดเจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณหลังและสะโพกซึ่งเกิดขึ้นจากการหมุนผิดท่า นอกจากนี้หัวไหล่ก็เกิดปัญหาขึ้นบ่อย โดยมากมักเป็นอาการตึง สาเหตุที่บาดเจ็บกันบ่อยเพราะทัวร์นาเมนต์กอล์ฟมีการแข่งขันกันตลอดปี โปรบางรายลงแข่งขัน 3-4 รายการติดต่อกัน โดยก่อนและหลังลงแข่งขันก็ต้องซ้อมตลอดย่อมทำให้ร่างกายล้า โปรบางคนเจอแดดจัดๆ โดนฝนมาก็มีอาการเวียนศีรษะมาขอยาทานก็มี นักกายภาพบำบัดต้องเตรียมตัวให้พร้อมเสมอเพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่ทัวร์นาเมนต์อาจวิทยุสื่อสารมาให้นักกายภาพลงไปในสนามกอล์ฟเพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บระหว่างการแข่งขันได้ คล้ายกรณีของนักเทนนิสที่เรียกแพทย์สนามลงไปนวด
เท่าที่ได้สัมผัสมา นักกอล์ฟไทยและต่างชาติ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?
สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือนักกอล์ฟต่างชาติจะมีความรู้ด้านการกายภาพมากกว่า รวมถึงมีร่างกายแข็งแรงกว่านักกอล์ฟไทย สาเหตุน่าจะเกิดจากเขาได้รับการถ่ายทอดความรู้รวมถึงมีเทคโนโลยีไว้ใช้ประกอบการเล่นและฝึกซ้อมกอล์ฟมาตั้งแต่ยังเล็ก นอกจากนี้ความเขินอายยังเป็นอีกจุดหนึ่งซึ่งนักกอล์ฟไทยมีกันทุกคนโดยเฉพาะนักกอล์ฟเยาวชนมักจะเขินไม่กล้าบอกว่าเจ็บตรงไหน ตึงตรงไหน นักกายภาพฯอย่างเราก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนไทยตรงจุดนี้ ก็ต้องพยายามสอบถามเขา โดยทำตัวเป็นกันเองกับเขาเพื่อช่วยเหลือเขาให้มากที่สุด
ได้อะไรจากการเป็นนักกายภาพบำบัด ทัวร์กอล์ฟหมายเลข 1 ของเอเชีย?
เมื่อเราได้ทำงานที่เรารักย่อมสร้างความสุขให้กับตนเองอย่างหาอะไรมาเปรียบมิได้ ยิ่งได้มาทำหน้าที่นักกายภาพฯใน เอเชียน ทัวร์ เรายิ่งมีความสุขมากขึ้นอีกหลายเท่า เพราะนักกอล์ฟแต่ละรายแม้จะมีรายได้มหาศาลแต่เขาให้เกียรตินักกายภาพฯเสมอ โดยเวลาเขาขอให้เรานวดหรือดูอาการให้เขาจะใช้ถ้อยคำที่สุภาพมากๆซึ่งนั่นทำให้เรารู้สึกดี นอกจากนี้ดิฉันค่อนข้างโชคดีที่มีเพื่อนร่วมงานที่น่ารักอย่าง ซาราห์ (ในภาพ) ที่มาจากสกอตแลนด์ ถือเป็นเพื่อนสนิทที่เดินทางไปด้วยกันตลอดปี มันทำให้เรามีเพื่อนคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดที่ดิฉันภูมิใจคือมีส่วนในการร่วมพัฒนาวงการกอล์ฟไทย การที่เราเป็นนักกายภาพคนไทยทำให้นักกอล์ฟไทยที่ลงสนามเอเชียน ทัวร์ รู้สึกเป็นกันเองเวลาเข้ามาขอใช้บริการในล็อกเกอร์ รูม และมีความสบายใจมากขึ้นเมื่อได้ใช้ภาษาไทยสื่อสารระหว่างอยู่ต่างแดน ซึ่งสภาพจิตใจที่ผ่อนคลายเชื่อว่ามีส่วนไม่มากก็น้อยทำให้โปรไทยมีความมั่นใจมากขึ้นในการลงสนามแข่งขัน