xs
xsm
sm
md
lg

‘3 โจทย์ใหญ่’ พิสูจน์ฝีมือผู้ว่าฯ กคช.คนใหม่ บิ๊กตู่ให้ตั้ง ‘CFO’ แก้ต้นทุนจมยุค ‘เพื่อไทย’ สร้างไว้!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘บิ๊กตู่’ มอบ 3 โจทย์ใหญ่ให้ ‘ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ’ ผู้ว่าฯ กคช. คนใหม่ต้องทำให้ได้ ทั้งเรื่องคดีทุจริตที่ สตง.ส่งมาทุกเรื่อง ให้ดำเนินการทั้งแพ่ง-อาญา ผู้เกี่ยวข้อง สะสางบัญชีการเบิกค่าล่วงเวลา และบัญชีหนี้สินหมุนเวียน หวั่นถูกเอกชนร้องเรียนได้ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย ทั้งรูปแบบบ้านเช่าราคาถูกทั่วประเทศ 100,000 ยูนิต ปั้นโครงการฟื้นฟูดินแดงให้ได้ตามเป้า พร้อมให้ตั้ง CFO ขึ้นมาดูแลต้นทุนการเงินทั้งหมด และแก้ปัญหาต้นทุนจม จากโครงการเอื้ออาทร ที่รัฐบาลเพื่อไทยทำไว้ เตรียมระดมทุนออกพันธบัตร 1 หมื่นล้าน

การเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติคนใหม่ของ ‘ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ’ ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใส มีความพยายามหาประโยชน์ของคนบางกลุ่มทั้งจากคนในและคนนอกร่วมมือกัน จนทำให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ต้องแบกรับหนี้สินที่ต้องชำระดอกเบี้ยปีละหลายร้อยล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังต้องสนองนโยบายของรัฐในเรื่องการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่คนมีรายได้น้อย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการของผู้ว่าฯ กคช.คนใหม่ว่าจะสามารถผ่าตัดใหญ่ กคช.ให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีธรรมาภิบาลโปร่งใส กอบกู้สถานะทางการเงิน พร้อมๆ ขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง กคช.เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนได้หรือไม่!?




ที่สำคัญทั้งเรื่องของการสะสางปัญหาการทุจริตและการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่คนมีรายได้น้อยและสถานะการเงิน เป็น 3 โจทย์สำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เรียกนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งกำกับดูแล กคช.ไปสั่งการ และบอกด้วยว่าข้อมูลทุจริตต่างๆ ทาง สตง.ได้ส่งตรงที่ทำเนียบไว้แล้ว

ดังนั้น ภารกิจที่ผู้ว่าฯ กคช.จะต้องบริหารจัดการควบคู่กันไปทั้ง 3 โจทย์ นับตั้งแต่วันแรก (23 ก.ค.63) ที่เข้ารับตำแหน่งก็คือเข้าไปจัดการโจทย์ที่มีผู้ร้องไปที่นายกฯ และที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีการชี้ให้เห็นว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การนำห้องชุดแต่ละยูนิต ในหลายโครงการที่เช่าอยู่ไปปล่อยเช่า และหารายได้จากส่วนต่าง ซึ่งบางโครงการเช่าราคาจาก กคช.ยูนิตละ 1,500 บาท ก็นำไปปล่อยเช่า 3,500-4,000 บาท จึงมีส่วนต่างเกิดขึ้นจำนวนมากที่มีการนำไปจัดสรรกันภายใน กคช.

หรือกรณีที่ผู้บริหาร กคช.นำที่ดินแปลงงามย่านร่มเกล้า ไปเล่นแร่แปรธาตุ จนสามารถเปลี่ยนมือไปอยู่กับยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ และมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ซึ่ง สตง.ก็สามารถตรวจสอบเส้นทางของ ‘เช็คสั่งจ่าย’ นี้แล้ว แต่อดีตผู้ว่าฯ เมื่อครั้งยังอยู่ในอำนาจ ก็ยังมีการดึงรายชื่อระดับผู้บริหารบางคนที่ถูกพาดพิงว่าทุจริตออกไปได้และเหลือเพียงปลาซิวปลาสร้อยที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

แต่ที่ทำให้ กคช.เสียหายมหาศาล ก็คือ การที่อดีตผู้บริหาร กคช.เอื้อประโยชน์ให้เอกชน จนทำให้บริษัท CEMCO ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กคช.และ กคช.เสียประโยชน์จำนวนมาก ขณะที่เอกชนได้ประโยชน์ปีละ 486,958,284 บาท และทำให้ประชาชนเดือดร้อนต้องเช่าที่อยู่อาศัยแพงขึ้น

“น่าจะเป็นภาระของผู้ว่าฯ คนใหม่ ต้องมาดำเนินคดีต่อผู้ที่ทุจริตทั้งทางแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหาย และทางอาญาต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด”


ส่วนโจทย์ที่ 2 จะต้องเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้ทำคือ การสร้างบ้านให้คนจนมีที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นการซื้อ หรือให้เช่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ได้ ตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Housing for All) โดย ครม.มีมติให้ กคช.ไปสร้างบ้านเช่าจำนวน 100,000 ยูนิต ในพื้นที่ กทม.และจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศในพื้นที่ กคช.ภายใน 5 ปี (ปี 2564-2568) โดยให้สร้างปีละ 20,000 ยูนิต

“ทำเลที่จะมีการเปิดตัวก่อนจะมีที่ถนนฉลองกรุง ถนนร่มเกล้า ย่านรังสิต ถนนลำลูกกา ย่านนครปฐม อาจจะมีที่จังหวัดอุบลฯ ทุกทำเลการเคหะฯ ใช้ที่ดินที่ซื้อไว้แล้ว และมีการไปสำรวจความต้องการของประชาชนไว้แล้ว”

พร้อมกันนั้น ครม.ยังได้อนุมัติกองทุนเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่ กคช.ขอไป 1,500 ล้านบาท เบื้องต้น ครม.อนุมัติให้ 300 ล้านบาท เพื่อมาช่วยผู้ที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่สถาบันการเงินต่างๆ ไม่อนุมัติเงินกู้ให้ ก็สามารถมายื่นกู้ที่กองทุนนี้ได้

แหล่งข่าวจากทำเนียบ บอกว่า กคช.ได้ทำโมเดลต้นแบบโครงการบ้านเช่า 100,000 ยูนิตไปเสนอนายกฯ บิ๊กตู่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนายกฯ ยังชี้แนะขอให้ กคช.ไปพิจารณาเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ส่วนกลางให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องอยู่แบบแออัดจนเกินไป

“นายกฯ ย้ำว่าเมื่อเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ จะสร้างบ้านเพื่อขายคงเป็นเรื่องที่ลำบากเหมือนกัน เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ ก็ไปพิจารณาดูว่าจะเปลี่ยนโครงการที่สร้างเสร็จแล้วแต่ขายไม่ได้ไปให้เช่าแทนก็จะเป็นการดี อย่างน้อยคนจนก็มีที่อยู่”


ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2-4 ซึ่งนายกฯ จะไปวางศิลาฤกษ์เปิดตัวเฟส 2 ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ เป็นอาคารที่พักอาศัยแปลง A1 ซึ่งจะเป็นอาคารพักอาศัยสูง 32 ชั้น จำนวน 635 หน่วย และอาคารพักอาศัยแปลง D1 จะเป็นอาคารสูง 35 ชั้น จำนวน 612 หน่วย รวมที่พักอาศัยทั้ง 2 แปลง จำนวน 1,247 หน่วย

“2 แปลงนี้จะรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากแฟลต 9-17, 23-32 และ 63-64 จำนวน 21 อาคาร”

อีกทั้งจะมีโครงการในลักษณะร่วมทุนรัฐกับเอกชน (PPP) ตามโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 3-4 ซึ่งจะเป็นโครงการที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแผนเดิมแต่ยังดำเนินการไม่ได้ด้วยข้อกฎหมายเกี่ยวกับการร่วมทุน

“การเคหะฯ ยังมีโครงการต่อเนื่อง และโครงการใหม่ที่ได้ขออนุมัติ ครม.ไว้แล้วที่จะใช้งบประมาณปี 2564 อีกหลายโครงการ ผู้ว่าฯ คนใหม่ก็ต้องไปดูความเหมาะสมว่าจะปรับหรือเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากสร้างเพื่อขาย เป็นให้เช่าได้อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องตามที่นายกฯ สั่งการมาด้วยและไม่ผิด พ.ร.บ.งบประมาณด้วยเช่นกัน”

นั่นคือ 2 โจทย์ใหญ่ที่นายกฯ ต้องการให้รีบดำเนินการ!


โจทย์ที่ 3 สำคัญมากเช่นกัน เพราะการจะขับเคลื่อนองค์กร กคช.ต่อไปได้ ก็ต้องมาดูในเรื่องของงบประมาณ ต้นทุนทางการเงิน และสถานะทางการเงินที่ กคช.เป็นอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะ กคช.มีภาระหนี้สินคงค้างของ กคช.สูงมาก จากปัญหาการขาดทุนจากโครงการบ้านเอื้ออาทร

“ผู้ว่าฯ จะต้องไปดูและแก้ไขที่เป็นปัญหาเรื่องต้นทุนจม (SUNK COST) ที่เคหะจ่ายไปแล้วแต่ไม่สามารถคืนมาได้จะทำอย่างไร ที่เห็นชัดๆ คือเรื่องการซื้อที่ดินเพื่อทำโครงการเอื้ออาทรจำนวนมากในรัฐบาลเพื่อไทย ที่ผ่านมาเป็นสิบๆ ปี ที่ดินก็ยังเป็นป่าไม่มีถนนเข้า ราคาไม่ขยับ บางแปลงเป็นบ่อกุ้ง ลึกมากๆ ต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรกับที่ดินและต้นทุนเหล่านี้”

นอกจากนี้ ต้องไปจัดการปัญหาทางบัญชีภายใน กคช.ที่ สตง.ตรวจพบและทำหนังสือแจ้งมาให้ กคช.ไปแก้ไขและปรับปรุง เช่น บัญชีหนี้สินไปหมุนเวียน มีจำนวนทั้งสิ้น 2,288,498,019.86 บาท ใน 36 บัญชี เพื่อให้ระบบการควบคุมและบริหารจัดการหนี้สิ้นไม่หมุนเวียนของ กคช.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบการควบคุมภายในที่ดี สามารถป้องกันความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดเป็นช่อง

“ต้องจัดการให้ถูกต้อง ช่วยป้องกันการร้องเรียนจากผู้วางหลักประกัน ว่าคืนหลักประกันล่าช้า เงินประกัน เงินสัญญาจ้าง เงินประกันผลงาน ต้องตรวจสอบด่วน”

รวมทั้งจะต้องไปตรวจสอบการบันทึกบัญชีค่าล่วงเวลา ที่ สตง.ตรวจสอบแล้วดำเนินการไม่ถูกต้อง เช่น ค่าล่วงเวลาที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562-กันยายน 2562 พบว่า มีค่าล่วงเวลาจำนวนรวม 973,734.24 บาท ไม่มีการบันทึกบัญชีตั้งค้างจ่ายภายในงวดปี งบประมาณ 2562 เป็นต้น

นั่นคือตัวอย่างในเรื่องของปัญหาที่ชี้ให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของ กคช.เป็นเช่นไร ซึ่งปัจจุบัน กคช.มีหนี้สินเกือบ 3 หมื่นล้านบาท และเป็นเหตุให้ กคช.ต้องมีภาระดอกเบี้ยปีละกว่า 600 กว่าล้านบาท

“เรื่องสถานะทางการเงินของ กคช.ที่บอร์ดบริหารได้รับข้อมูลจาก สตง.มาแล้ว จึงได้นำเรื่องนี้หารือไปยังรัฐมนตรีจุติ และมีการนำเสนอไปยังนายกฯ ซึ่งนายกฯ เห็นชอบให้ กคช.หามือการเงินเข้ามาแก้ไข แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง เพื่อกอบกู้สถานการณ์ของ กคช.ให้ดีขึ้น”

ว่ากันว่า กคช.เตรียมประกาศหาที่ปรึกษาทางการเงินที่เรียกว่า CFO : Chief Financial Officer ซึ่งเปรียบเสมือนหัวเรือใหญ่ที่คอยควบคุมรวมถึงวางแผนการเงินขององค์กร เช่น การบริหารกระแสเงินสด การคำนวณต้นทุน หรือการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด

“ลดต้นทุนก็คือการลดดอกเบี้ยที่เป็นภาระต่างๆ ของการเคหะฯ ซึ่งจะต้องมองไปข้างหน้าให้ได้ว่า แหล่งที่มาของเงิน (Sources of Funds) จะต้อง Stable Security และต้องได้ราคาตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ถูกในระยะยาว เพื่อให้สามารถวางแผนทางการเงินในระยะยาวได้ ไม่ใช่เพียง 1 ปี หรือ 2 ปี ซึ่งเวลานี้เป็นช่วงดอกเบี้ยถูกก็อาจจัดไปเลยสิบปี สิบห้าปี”


อย่างไรก็ดี การได้ CFO เข้ามาในช่วงนี้ก็จะเป็นจังหวะที่ดีที่จะเข้ามาวางแผนระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ที่มีการกำหนดกรอบวงเงินไว้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ แต่ กคช.จะไม่ระดมครั้งเดียวทั้งหมด จะเลือกระดมเพื่อใช้เท่าที่จำเป็นจะได้ไม่เป็นภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น ภารกิจของ CFO ที่จะเข้ามาจึงเปรียบเสมือนแขนซ้ายของผู้ว่าฯ กคช.คนใหม่ ที่จะต้องเดินไปพร้อมๆ กัน ภายใต้การบริหารของบอร์ด กคช.ที่มีนายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล เป็นประธานคณะกรรมการ กคช. ก็จะทำให้สถานนะทางการเงิน และภาพลักษณ์ของ กคช.ดีขึ้น พร้อมๆ กับประชาชนคนมีรายได้น้อยก็สามารถมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการซื้อเพื่อได้กรรมสิทธิ์ หรือรูปของการเช่าที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ถึงวันนี้ ‘ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ’ ผู้ว่าฯ กคช.คนใหม่ จะต้องพิสูจน์ฝีมือและกล้าที่จะผ่าตัดในโจทย์ที่บิ๊กตู่ให้ไว้ เพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคในการขับเคลื่อนองค์กร กคช.ให้เป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส เป็นที่พึ่งของประชาชนคนมีรายได้น้อยได้ โดยเฉพาะจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ก่อนที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กคช.ช่วยพัฒนาให้โครงการเคหะชุมชน เป็นโครงการน่าอยู่ และสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี
อ่านข่าวย้อนหลัง:
* https://mgronline.com/specialscoop/detail/9630000058213
* https://mgronline.com/specialscoop/detail/9630000055842
* https://mgronline.com/specialscoop/detail/9630000036995



กำลังโหลดความคิดเห็น