“บิ๊กตู่” ตะลึงข้อมูลทุจริตใน กคช. หลัง สตง. ตรวจพบ ชี้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ ‘ไม่ง่ายอย่างที่คิด’ และไม่ใช่แค่บิ๊ก ปชป. หนุนก็เป็นได้ เหตุ “บิ๊กตู่” รู้ลึก รู้จริง จากข้อมูล “สตง.-คนใน” ส่งให้ ระบุสเปกผู้ว่าฯ คนใหม่ ต้องมี Mindset กล้าเปลี่ยนแปลง “3 ด้าน” ขณะที่ สตง. เคยส่งเรื่องทุจริตให้ "ธัชพล กาญจนกูล" อดีตผู้ว่าฯ แก้ไข แต่กลับนิ่งเฉย ยันงบการเงินปี 62 ชี้สถานะ กคช. น่าห่วง
ใครและใคร!? ที่ต้องการเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) คนใหม่ แทน ดร.ธัชพล กาญจนกูล ที่ยื่นใบลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 และคาดว่าจะมีประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กคช. อีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากมีการประกาศยกเลิกการรับสมัครฯ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่ามีผู้สมัครน้อยเกินไป
แต่ที่น่าคิด...ผู้ที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กคช.คนใหม่ อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด จะอาศัยเพียงแรงหนุนจากบิ๊กพรรคประชาธิปัตย์ ก็คงไม่ได้แล้ว
เนื่องเพราะ กคช. กำลังเป็นหน่วยงานที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจมาก พร้อมสั่งทีมงานเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด จนแทบไม่น่าเชื่อว่า “บิ๊กตู่” จะมีข้อมูลเรื่อง กคช. มากมาย โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต การแสวงหาผลประโยชน์ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ กคช. ร่วมมือกับเอกชน จนทำให้ทรัพย์สิน กคช. ได้รับความเสียหาย และประชาชนผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากไม่สามารถเข้าอยู่ในบ้าน กคช. ได้
ว่ากันว่าข้อมูลที่อยู่ในมือบิ๊กตู่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เข้าไปตรวจสอบการทุจริตใน กคช. และบางส่วนมาจากคนใน กคช. ส่งไปให้บิ๊กตู่ โดยเฉพาะโครงการบ้านเช่าราคาถูก ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลบิ๊กตู่ให้ กคช. จัดทำ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2563 ให้แก่ประชาชน คนอยากมีบ้าน ด้วยราคาเช่าเพียง 999 บาท และ 1,200 บาท ที่สามารถเช่าอยู่ในระยะยาวจนตลอดชีวิต ก็ยังพบว่าคนได้สิทธิเข้าอยู่ไม่ใช่คนจนจริง และมีการเอื้อให้คนบางกลุ่มได้สิทธิเช่าในทำเลที่ดีรวมไปถึงการนำห้องชุดแต่ละยูนิต ในหลายโครงการที่เช่าอยู่ไปปล่อยเช่า และหารายได้จากส่วนต่าง เช่น บางโครงการเช่าราคาจาก กคช. ยูนิตละ 1,500 บาท ก็นำไปปล่อยเช่า 3,500-4,000 บาท จึงมีส่วนต่างเกิดขึ้นจำนวนมากที่มีการนำมาจัดสรรกันภายใน กคช.
แถมมีมือดีที่ป้อนข้อมูลให้นายกฯ ยังได้ส่งข้อมูลที่ สตง. เข้ามาตรวจสอบ กคช. แล้ว และแจ้งให้ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าฯ ในขณะนั้นต้องรีบดำเนินการแก้ไข ทั้งเรื่องของที่ดินแปลงงามย่านร่มเกล้า ที่มีการเปลี่ยนมือไปอยู่กับยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ดินบางแปลงที่มีการขุดหน้าดินไปขาย และยังมีเรื่องทรัพย์สินอื่นๆ ที่ถูกเปลี่ยนสัญญาเช่าจน กคช. ต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก ขณะที่เอกชนที่เช่าอยู่ ได้ประโยชน์สูงมาก
อีกทั้งการที่ ดร.ธัชพล บอกว่า ในยุคที่ตัวเองนั่งเป็นผู้ว่าฯ กคช. ได้สร้างกำไรให้แก่ กคช. สูงที่สุด ตั้งแต่มีการตั้ง กคช. โดยปี 2561 กำไรประมาณ 1,700 ล้านบาท และปี 2562 กำไรประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งหากไปดูตามข้อมูลของ สตง. ที่เข้าไปตรวจสอบงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 จะพบว่าตัวเลขนั้นไม่น่าจะถูกต้องนัก
จากข้อมูลที่ สตง. สรุปนั้น ยกตัวอย่างเช่น ผลการดำเนินงานของ กคช. ในปี 2562 พบว่ากำไรสุทธิจะเหลือเพียง 315 ล้านบาท และ D/E Ratio : อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเท่ากับ 2.91 แต่สิ่งที่น่ากังวลหากปี 2563 ไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาได้ อาจทำ D/E Ratio = 5
แหล่งข่าวจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ บอกว่า หากดูจากตัวเลขที่ สตง. ระบุไว้ กคช. ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน คือจะต้องเตรียมแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินมาสำรองไว้อย่างน้อย 2 พันล้านบาท หากไม่รีบสำรองจะกระทบต่อสภาพคล่องที่จะเกิดกับองค์กร กคช.
“ก็เข้าใจว่า กคช. เป็นหน่วยงานรัฐ ต้องดูแลผู้มีรายได้น้อยด้วย แต่ผู้บริหารก็ต้องดูหนี้สินต่อทุนด้วย และต้องเร่งหาวิธีการจัดการกับทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะถ้าเป็นบริษัทอสังหาฯ เอกชนจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้ ต้องเร่งหาวิธีการแก้ไข”
สำหรับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นใน กคช. ทั้งเรื่องสถานะทางการเงิน การทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม การจัดการปัญหาโครงการบ้านเอื้ออาทร ปัญหาหนี้เสีย รวมไปถึงการบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อให้เกิดรายได้ ซึ่งบางส่วนนำไปอุดหนุนโครงการผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กร กคช. กำลังจะถูกส่งต่อไปให้ผู้ว่าฯ กคช. คนใหม่
สรุปง่ายๆ เป็นงานที่ท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการของผู้ว่าฯ กคช. คนใหม่ ที่จะเกิดขึ้นทันทีใน 3 ด้าน 1.สร้างรายได้ 2.ผลิตที่อยู่อาศัยที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลและเพื่อสร้างกำไรเลี้ยงองค์กร 3.ล้างทุจริตในองค์กรเพื่อสร้างธรรมาภิบาลใน กคช.
“ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องมี Mindset ที่จะกล้าเปลี่ยนแปลงองค์กร รู้ว่าจะทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้าจะต้องทำอย่างไร พบทุจริตก็ต้องกล้าดำเนินการที่จะผ่าตัด ไม่ใช่ปกป้องพวกพ้อง”
ดังนั้น การได้คนในซึ่งปัจจุบันมีรองผู้ว่าฯ อยู่ทั้งหมด 4 คน หากได้คนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กคช. ก็อาจมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน จุดแข็งคือรู้ปัญหาทุกอย่าง แต่ก็กลายเป็นจุดอ่อนได้คือ อาจไม่กล้าผ่าตัด ไม่กล้าดำเนินคดีกับลูกน้องที่ไม่โปร่งใส เพราะอาจกลัวเก้าอี้ตัวเองไม่มั่นคง เพราะอาจถูกลูกน้องแฉกลับก็เป็นได้
ขณะที่ผู้ว่าฯ กคช. ที่มาจากคนนอกจะมีจุดอ่อนที่ไม่รู้ปัญหาใน กคช. อย่างแท้จริง แต่ ถ้าคนคนนั้นมี Mindset ที่จะนำพา กคช.ไปสู่เป้าหมายทั้ง 3 ด้านได้ ก็อาจมีภาษีดีกว่าคนในก็เป็นได้
ที่สำคัญ เรื่องราวทุจริตใน กคช. และการมีผลประโยชน์ทับซ้อนอีกหลายเรื่องที่ สตง. สรุปไว้แล้ว และต้องมีผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้กระทั่ง “บิ๊กตู่” ได้อ่านข้อมูลแล้ว ยังคาดไม่ถึงว่าผู้บริหาร กคช. ปล่อยให้เกิดเรื่องทุจริตอย่างนี้ได้อย่างไร…
ส่วน ดร.ธัชพล กาญจนกูล อดีตผู้ว่าฯ กคช. ที่เพิ่งลาออกไปจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความไม่โปร่งใส หรือละเลยให้เกิดความเสียหายกับ กคช. หรือไม่?.. เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม!!