xs
xsm
sm
md
lg

“ทับเที่ยง” ในบันทึกของ “เอ็ดน่าฯ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพบรรยากาศของถนนราชดำเนินในปัจจุบันซึ่งเป็นย่านการค้าแห่งแรกๆของเมืองทับเที่ยง
 
เรื่อง : จำนง ศรีนคร / ภาพ : Ta trangtoday
 
หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลประกอบจากหนังสือมาลีศรีตรัง โดย รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์, หนังสือสยามคือบ้านของเรา บันทึกของ Edna Bruner Bulkley, และหนังสือ Cultural Heritage Atlas of Tub-Tieng
 
เรือนไม้แบบจีนโบราณซึ่งหาได้ยาก ภายในซอยเล็กๆที่ตัดเชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินกับถนนพระรามหกในเมืองทับเที่ยง
 
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2451 “เอ็ดน่าฯ” สาวน้อยในวัยเพียง 20 ปี ตัดสินใจโดยสารเรือ เอส.เอส.โคเรีย ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากอเมริกา ก่อนจะใช้ชีวิตใน “เมืองตรัง” ยาวนานถึง 24 ปี เธอกับสามีช่วยกันก่อตั้ง “โรงพยาบาลทับเที่ยง” โรงพยาบาลแห่งแรกในแผนปัจจุบันเพื่อรักษาผู้ป่วย และเธอหลงรักเมืองเล็กๆ แห่งนี้มาก ถึงขนาดเรียกเมืองนี้ว่า “บ้านของฉัน”...
 
หลังจากเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงเสด็จฯ จังหวัดตรัง ถือเป็นการเสด็จฯ ครั้งที่ 2 ได้ทรงทำพิธีเปิดโรงเรียนเพราะปัญญา และทรงพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตรัง
 
ปูเกริ่นนำแบบสั้นๆ เพื่อเชื่อมโยงให้ไปสู่เรื่องราวของ “ทับเที่ยง” ซึ่งเป็นเมืองหลัก เป็นเมืองศูนย์กลางทั้งการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมของ “ตรัง” จากอดีตสู่ปัจจุบัน
 
ด้วยหลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จฯ กลับในครั้งนั้น สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้กราบบังคมทูลขอย้ายที่ตั้งเมืองตรังมายัง “ตำบลทับเที่ยง” อำเภอบางรักในขณะนั้น ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ ที่กันตังไม่ปลอดภัยจากการศึกสงคราม เพราะในขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งยังเกี่ยวกับโรคระบาด เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม รวมทั้งพื้นที่คับแคบขยายเมืองได้ยาก และอีกหลายเหตุผลที่สำคัญ
 
ที่สำคัญ “ตำบลทับเที่ยง” เป็นย่านการค้าขายที่มีความเจริญอยู่เดิม และมีชัยภูมิอยู่จุดศูนย์กลาง เหมาะแก่การปกครอง
 
การย้ายเมืองจึงได้รับพระบรมราชานุญาต และดำเนินการเรียกร้อยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2458 และ “ทับเที่ยง” ได้เป็นที่ตั้งของ “เมืองตรัง” สืบมาจนปัจจุบัน
 
ต่อไปนี้คือ ชุดข้อมูลจากบันทึกเรื่องเล่าส่วนหนึ่งที่อยากนำมาเผยแพร่ต่อ
 
เอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์ (Edna Bruner Bulkley)
 
“เอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์” (Edna Bruner Bulkley) คือ มิชชันนารีอเมริกันที่เดินทางมาทำงาน และใช้ชีวิตใน “เมืองตรัง”ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และอยู่ในตรังนานถึง 24 ปี (พ.ศ.2451-2475)
 
เธอและครอบครัวมีความผูกพันกับ “เมืองตรัง” อย่างมาก เธอและครอบครัวได้บันทึกเรื่องราวทั้งหมดของ “เมืองตรัง” ที่เธอได้สัมผัสไว้ในหนังสือ “สยามคือบ้านของเรา” ซึ่งภายหลังมีการแปลเป็นภาษาไทย นับเป็นเวลา 100 กว่าปีมาแล้ว เธอและครอบครัวเดินทางมาปฏิบัติงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้านการศึกษา และการสาธารณสุข
 
“เอ็ดน่า” ในวัยเพียง 20 ปี ตัดสินใจโดยสารเรือ เอส.เอส.โคเรีย ข้ามน้ำข้ามทะเลจากสหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานในกรุงเทพฯ 3 ปี เพชรบุรี 2 ปี และที่เหลือเป็นการใช้ชีวิตในบ้านที่ชื่อ “ตรัง” อย่างยาวนาน
 
เอ็ดน่า และนายแพทย์ลูเซียส คอนสแตนด์ บัลค์ลีย์ ทำงานที่ “โรงพยาบาลทับเที่ยง” ระหว่าง พ.ศ.2451-2475 ซึ่งโรงพยาบาลทับเที่ยงเกิดจากนโยบายของ “พระยารัษฎาฯ (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)” สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และผู้ว่าการเมืองตรังในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ให้มีการจัดตั้ง และมอบให้คณะมิชชันนารีดำเนินการ มีการสร้างโรงพยาบาล และบ้านพักแพทย์ พระยารัษฎาฯ ได้มอบเงินจำนวน 3,000 ดอลลาร์สมทบทุนก่อสร้าง
 
เมื่อครั้ง “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เสด็จฯ เมืองตรัง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินสร้างห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลทับเที่ยง ซึ่งในยุคนั้น “เมืองตรัง” ยังไม่มีโรงพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีแต่เพียง “สุขศาลา” หลังเล็กๆ เท่านั้น
 
ตุ๊กๆหัวกบเมืองตรัง
 
...จากนี้คือ บันทึกความทรงจำของ “เอ็ดน่าฯ”
 
“หลังจากฉันกลับมาประเทศสยามไม่นาน ท่านสมุหเทศาภิบาลมณฑลผู้ปกครอง 6 จังหวัดใต้สุดชายฝั่งตะวันออก ได้ยื่นข้อเสนอมายังคณะมิชชันนารี ท่านจะสร้างโรงพยาบาลและบ้านพักแพทย์ให้ หากทางมิชชันนารีของเรารับจัดการด้านการศึกษา และจัดบุคลากรมาประจำ ฉันพูดได้เลยว่า ความเจริญรุ่งเรืองหลายอย่างปรากฏให้เห็นชัดมาจนทุกวันนี้ ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเป็นเพราะคุณความดีของท่าน ท่านเป็นคนจีนที่มีความคิดก้าวหน้า และรักความมีระเบียบเรียบร้อยเป็นชีวิตจิตใจ ท่านสร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเอง แม้จะอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ แต่ท่านมีความสามารถเป็นเลิศในการจดจำใบหน้าคน ข้อมูล ตัวเลขต่างๆ รัฐสยามตั้งท่านเป็นพระยารัษฎาฯ แต่กลับไม่เคยก้าวก่าย หรือแทรกแซงกิจการใดๆ เลย”
 
“ฉันรักเมืองตรังมาก และเรียกที่นี่ว่า “บ้านของฉัน” หากใครอยากจะลองนึกภาพไปพร้อมๆ กับฉัน ถ้ามองลงมาจากท้องฟ้า ณ บริเวณใจกลางคาบสมุทรมลายู แล้วหันหน้าไปทางทิศเหนือ จะเห็นอ่าวสยามที่มีน้ำทะเลสีน้ำเงินเข้ม ฉันใช้เวลากว่า 20 ปีสำรวจไปตามท้องทะเล และเกาะแก่งต่างๆ ท้องทะเลบริเวณนี้ลึกมากจนเรือใหญ่สามารถแล่นไปใกล้ๆ หลายเกาะมีรูปทรงน่าอัศจรรย์ มีเกาะหนึ่งหน้าตาเมืองกาน้ำชา และตรงกลางระหว่างทะเลทั้งสองนี้เอง คือ สถานที่ที่ฉันเรียกได้เต็มปากว่าเป็น “บ้านของฉัน” และฉันคิดว่า ตรังเป็นจังหวัดที่สวยงามที่สุดในสยาม”
 
สำหรับ “โรงพยาบาลทับเที่ยง” ยืนหยัดบริการอยู่นานหลายปี จนกระทั่ง พ.ศ.2475 เอ็ดน่าฯ ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ ต่อมา พ.ศ.2477 เธอเดินทางกลับอเมริกาในวัย 51 ปี ส่วนหมอบัลค์คีย์ ยังคงทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลทับเที่ยง จนกระทั่งเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาใน พ.ศ.2484 ในบันทึก “แมรี่ บัลค์คีย์ สแตนตัน” ผู้เป็นบุตรสาวของเธอ เล่าไว้ว่า
 
“โรงพยาบาลของพ่อก็ยังเหมือนเดิม แต่ในวันนี้ที่ถนนฝั่งตรงข้ามมีอาคารโรงพยาบาลอันใหญ่โตตั้งอยู่ เป็นของ นายเทียนฮั๊ว แซ่จิว ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ช่วยมือหนึ่งของพ่อมาตั้งแต่ยุคแรกๆ โรงพยาบาลของนายเทียนฮั๊ว มีชื่อว่า “โรงพยาบาลตรังชาตะสงเคราะห์”หมายถึงโรงพยาบาลที่ช่วยเหลือในการเกิด หรือการทำคลอด ซึ่งชาวทับเที่ยงเดิมอาศัยหมอตำแย หรือแม่ทาน ได้เปลี่ยนมานิยมการทำคลอดแบบแผนปัจจุบัน มีคุณจีนนางผดุงครรภ์เป็นกำลังสำคัญ ชาวทับเที่ยงมักเรียกโรงพยาบาลดังกล่าวว่า โรงพยาบาลแม่จีน”
 
ช่วง พ.ศ.2490 เอ็ดน่าฯ เดินทางกลับมาสยามอีกครั้งในวัยเกือบ 70 ปี คราวนี้ไปปักหลักอยู่ที่เชียงใหม่ เธอซื้อบ้านไม้ 2 ชั้น ทำเป็นโรงแรมชื่อ “ฟ้าอร่าม” สำหรับเป็นที่พักนักท่องเที่ยวอยู่กลางป่าเมืองเชียงใหม่ ต่อมาอีก 3 ปีเธอเดินทางกลับอเมริกาอีกครั้งเพื่อผ่าตัดเนื้องอก เมื่อผ่านพ้นอันตรายเธอยังคงบันทึกความทรงจำทั้งหมดเมื่อครั้งใช้ชีวิตอยู่ในสยามประเทศ กระทั่งถึงแก่กรรมใน พ.ศ.2505 ด้วยวัย 79 ปี
 
เป็นเพียงเสี้ยวบันทึกเรื่องราวส่วนหนึ่งของ “เมืองตรัง” ที่อาจขาดหายไปจาก “ความทรงจำ” ของคนรุ่นหลัง และเพื่อต่อยอดในโอกาสย่างก้าวสู่ปีที่ 100 ของการก่อตั้ง “เมืองทับเที่ยง” เมืองเล็กๆ และเรียบง่ายแต่มีเรื่องราว และพร้อมต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ...
 
 
------------------------------------------------------------------------
 
จำนง ศรีนคร
 
เกี่ยวกับผู้เขียน

“จำนง (โต) ศรีนคร จบปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต นิเทศศาสตร์ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม ทำอาชีพสื่อมวลชนอยู่ในเมืองหลวงพักใหญ่ เคยเป็นถึงระดับบรรณาธิการ เมื่อไม่นานมานี้ตัดสินใจกลับ จ.ตรัง บ้านเกิด มาเป็นนักข่าว และนักเขียนอิสระ และยังคงเขียนงานสารดี บทความ ข่าว สกู๊ปพิเศษ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้newstoe@hotmail.com
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น