คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
----------------------------------------------------------------------------------------
ก่อน พ.ศ.2540 ในช่วงปฏิรูปการเมือง โดยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 เรามีการถกเถียงกันสองสามเรื่องใหญ่ๆ ในกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง คือ กระบวนการเข้าสู่อำนาจ การตรวจสอบการใช้อำนาจ และกระบวนการถอดถอนออกจากอำนาจ
ใน กระบวนการเข้าสู่อำนาจ ในสังคมไทยเรามีรูปแบบอยู่ 3 รูปแบบ คือ การแต่งตั้ง การเลือกตั้ง และการสรรหา
การแต่งตั้ง เป็นกระบวนการเข้าสู่อำนาจที่มีมาแต่เดิม คู่กับระบบอำนาจนิยมในสังคมไทย โดยอาศัยดุลพินิจของผู้มีอำนาจ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนปัจจุบัน ต่อมา เมื่อเรารับระบบราชการจากยุโรปเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 ก็มีการสอบบรรจุ แล้วให้ผู้มีอำนาจลงนามแต่งตั้งบ้าง มีการพิจารณาตามความเหมาะสมบ้าง ซึ่งระบบแต่งตั้งถูกตั้งข้อรังเกียจจากสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตยตามแบบตะวันตก ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
การเข้าสู่อำนาจโดย การเลือกตั้ง ถูกนำมาใช้ในสังคมไทยพร้อมๆ กับรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา แต่กระบวนการนี้ถูกมองว่ายังไม่มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือพอ เนื่องจากผู้ทำหน้าที่ หรือใช้สิทธิเลือกตั้งยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอในการเลือกสรรคนดีเข้าสู่อำนาจ เป็นการเลือกตั้งที่ยังไม่เป็นอิสระ ไม่เที่ยงธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ ที่การเมืองการเลือกตั้งในสังคมไทยเข้าสู่ระบบ “ซื้อสิทธิ ขายเสียง” ซื้อตัวนักการเมือง
แต่จะอย่างไรก็ตาม คนส่วนหนึ่งยังยินดีที่จะให้มีการเลือกตั้งในสภาพเช่นนี้ เพราะเชื่อว่า “ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง การเลือกตั้งคือประชาธิปไตย”
ส่วนการเข้าสู่อำนาจด้วยกระบวน การสรรหา เป็นกระบวนการหาคนเข้าสู่อำนาจโดยปิดจุดอ่อนของการแต่งตั้งที่อยู่ในมือของคนๆ เดียว ไม่น่าเชื่อถือ ขาดความเป็นอารยะ ในขณะเดียวกัน ก็ปิดจุดอ่อนของการเลือกตั้งโดยหลีกเลี่ยงการซื้อสิทธิขายเสียง ระบบพรรคพวก และลดความขัดแย้งในการแข่งขันเพื่อเอาชนะกันในสนามการเลือกตั้ง
เป็นการพบกันครึ่งทาง คือ เป็นการแต่งตั้งโดยคณะกลุ่มบุคคลที่เรียกว่า “คณะกรรมการสรรหา” เชื่อว่าเป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งคนดีที่แท้จริง โดยไม่ต้องผ่านสนามการหาเสียง แข่งขันกันเพื่อเอาชนะจนนำไปสู่ความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวก
ผู้เขียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับ กระบวนการสรรหา ทั้งในฐานะของกรรมการสรรหา ผู้เสนอตัว หรือถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา และรับผลพลอยได้พลอยเสียจากกระบวนการสรรหา พบว่า จุดอ่อนของกระบวนการสรรหาที่ร้ายแรงที่สุด มีดังนี้
1.ระบบพรรคพวกที่ขาดความชอบธรรม มันเลวร้ายกว่าการซื้อสิทธิขายเสียงในระบบเลือกตั้ง และการใช้อำนาจดุลพินิจของคนคนเดียวในระบบแต่งตั้ง เพราะกระบวนการสรรหาส่วนใหญ่มีคณะกรรมการสรรหาเพียง 5 คน 7 คน หากใครสามารถซื้อคน 3-4 คน คือ มากกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสรรหาก็สามารถเข้าสู่อำนาจได้แล้ว
และส่วนใหญ่คนที่ได้มาโดยกระบวนการสรรหาแบบนี้มักไม่ใช่คนดีตามที่พรรณนาเอาไว้ก่อนการสรรหา ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ อธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัย ฯลฯ เราจึงได้คนประจบสอพลอตอแหล แพศยา ฯลฯ มาจากกระบวนการสรรหาแบบนี้
2.การไม่ต้องรับผิดชอบตามหลักธรรมาภิบาล เพราะคณะกรรมการสรรหาทุกคณะย่อมต้องทำหน้าที่สรรหาคนดีที่เหมาะสมที่สุดให้แก่องค์กร ตามที่คุยโม้โอ้อวดต่อสาธารณะ ด้วยหลักการที่ทำให้ดูดี แต่ครั้นผลการสรรหาออกมาไม่เป็นที่พอใจของสาธารณชน เพราะได้คนงี่เง่า ไร้คุณธรรม ไร้ฝีมือ และความสามารถ นำพาองค์กรไปสู่ความเสื่อมเสีย อัปยศอดสู บุคลากร และประชาชนพากันสาปแช่ง ก่นด่า ประณามต่างๆ นานา
แต่คณะกรรมการสรรหาไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบอะไร มิหนำซ้ำยังออกมาปกป้องแบบข้างๆ คูๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สมประกอบของกระบวนการสรรหา ขาดความเชื่อถือกระบวนการสรรหา ซึ่งน่าจะเป็นกระบวนการในการเข้าสู่อำนาจที่น่าเชื่อถืออีกกระบวนการหนึ่ง
3.ความไม่สมประกอบ และความไม่อิสระจากอำนาจที่ครอบงำของโครงสร้างของกรรมการสรรหา กระบวนการสรรหาในสังคมอำนาจนิยมแบบสังคมไทย ยังรวมศูนย์อยู่ที่โครงสร้างอำนาจที่ยังมีอิทธิพลครอบงำกระบวนการตัดสินใจของกรรมการบางส่วน เช่น กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการที่อุปโลกน์ว่า ยึดโยงกับประชาคม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ซึ่งกรรมการทั้งหมดนี้ยึดโยงกับผู้มีอำนาจ มากกว่ายึดโยงกับประชาคม เช่น ในมหาวิทยาลัยโครงสร้างของกรรมการสรรหาอธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัย จะมีลักษณะยึดโยงกับว่าที่อธิการบดี และว่าที่นายกสภามหาวิทยาลัย ที่ยังรักษาการในตำแหน่ง และยังแสดงเจตจำนงว่าจะเอาอีก มากกว่าจะยึดโยงกับประชาคม หรือสนองตอบความต้องการของประชาคมในมหาวิทยาลัย
4.ตัวแทนของประชาคม หรือประชาชนในโครงสร้างของกรรมการสรรหาไม่เป็นจริง หรือไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ หรือตอบสนองความต้องการของประชาคม หรือประชาชน และขาดกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง
เช่น ตัวแทนของประชาชนในคณะกรรมการสรรหาทั่วไป ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนโดยชอบธรรม ส่วนตัวแทนของประชาคมในมหาวิทยาลัย เช่น ประธานสภาคณาจารย์ และพนักงาน ทำหน้าที่ตอบสนองผู้มีอำนาจ มากกว่าตอบสนองความต้องการของประชาคม เป็นต้น
ดังนั้น หากกระบวนการเข้าสู่อำนาจที่สังคมคิดว่าดีที่สุด คือ กระบวนการสรรหาที่ปลอดจากอคติ ยึดโยงกับประชาชน ไม่สร้างความแตกแยกแข่งขันทำลายล้างกัน ฯลฯ ยังอยู่ในสภาพ “พวกมากลากไป” ขาดความรับผิดชอบ ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาคม โดยเฉพาะขาดกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง เราก็คงได้คนเลว ไร้ฝีมือ มีแต่ฝีลิ้น ที่มีพรรคพวกอยู่ในอำนาจเข้าสู่อำนาจอยู่เช่นนี้ตลอดไปอย่างแน่นอน