xs
xsm
sm
md
lg

เพราะเราเป็นประเทศด้อยพัฒนา / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพจาก http://www.thaipost.net/node/95187
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ข้อถกเถียง และความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงาน จนนำไปสู่การยึดคืนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจากกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มเล็กๆ แต่ทรงอิทธิพล มาเป็นของรัฐ หรือเป็นของประชาชนในขณะนี้ ทำท่าจะบานปลาย และกลายเป็นเรื่องปวดขมับของ คสช. สปช. สนช. และ ครม. ในอนาคตอันใกล้นี้
 
สัญญาณบอกเหตุเริ่มต้นแล้วจากการควบคุมตัว “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ๑๑ คน เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ ไปปรับทัศนคติในค่ายทหารแถวเขาคอหงส์ และเพิ่งปล่อยตัวออกมา จากนั้นก็ควบคุมตัว คุณวีระ สมความคิด และคณะในข้อหาเดียวกัน จำนวนไล่เลี่ยกัน และกิจกรรมทำนองเดียวกันที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร
 
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมการพยายามมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการในทรัพยากรธรรมชาติอย่างก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน อันเป็นทรัพย์สมบัติส่วนรวมของคนในชาติ จึงกลายเป็นประเด็นกระทบความมั่นคงของชาติ ขัดต่อกฎอัยการศึก ทั้งๆ ที่บ้านเมืองกำลังเรียกหาความปรองดอง และการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
เหตุผลประการเดียวที่พอจะอรรถาธิบายได้คือ “ก็เราเป็นประเทศด้อยพัฒนา” หรือที่เรียกกันอย่างถนมอน้ำใจว่า “ประเทศกำลังพัฒนา” นั่นเอง
 
ลักษณะจำเพาะของประเทศด้อยพัฒนาที่สำคัญคือ ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย และทัศนคติ ค่านิยมของสังคม วัฒนธรรมที่ล้าหลัง ไม่อำนวยต่อการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย อันเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีลักษณะใช้จริยธรรมนำชีวิต มีความซื่อสัตย์ต่อกัน มีความรับผิดชอบในหน้าที่ และประชาชนของตน ที่สำคัญคือ การเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
 
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการถกเถียงเรื่องพลังงานในสังคมไทยขณะนี้ แทนที่จะเป็นการถกเถียงบนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชน อันเป็นใจกลางของปัญหาที่ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องทวงคืน ปตท. และปฏิรูปกิจการพลังงานทั้งระบบอยู่ที่ราคาน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ซึ่งขึ้นราคารายวันแบบมัดมือชกประชาชนผู้บริโภค
 
แต่กลายเป็นการถกเถียงบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลที่มีเพียงบางส่วนมาบิดเบือนหักล้างข้อมูลของภาคประชาชนแบบดูถูกดูแคลนจากนายทุน ตัวแทนนายทุนที่มาในนามภาครัฐ จะมีประโยชน์อะไรในการแลกเปลี่ยนถกเถียงเพียงเพื่อเอาชนะคะคานกัน โดยไม่ตระหนักถึงความสำคัญในผลประโยชน์ และความเดือดร้อน และไม่เท่าเทียมของประชาชนไทยในฐานะเจ้าของประเทศ
 
ข้อสังเกตที่สำคัญเกี่ยวกับปัญหาพลังงานคือ ประการแรก ระบบสัมปทานที่รัฐไทยใช้อยู่คือ การยกกรรมสิทธิ์แหล่งปิโตรเลียมให้เอกชนผู้สัมปทาน เมื่อรัฐจะเอาคืนต้องซื้อคืน ภาคประชาชนจึงเสนอให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเพราะกรรมสิทธิ์ยังเป็นของรัฐ หรือของประชาชน
 
ประการที่สอง ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซของไทยเป็นข้อมูลของเอกชนผู้สัมปทาน รัฐไทยไม่มีข้อมูลเป็นของตัวเอง จึงเอาข้อมูลของเอกชนมาตัดสินชะตากรรมผลักภาระราคาน้ำมัน และก๊าซใส่บ่าประชาชนอย่างน่าสลดใจยิ่ง
 
ประการที่สาม ระบบสัมปทานของรัฐไม่เอื้อประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นของประชาชนทั้งประเทศ
 
ประการที่สี่ ถ้าปริมาณสำรองปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติของไทยไม่มากอย่างที่ผู้รับผิดชอบดูแลการพลังงานของรัฐกล่าวอ้าง ทำไมจึงมีแท่นเจาะนับ ๔๐๐ แท่น และเป็นของบริษัทเดียวกัน
 
ประการที่ห้า ราชการไทยด้านพลังงานเก็บข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนไว้ แต่บอกประชาชนไม่หมด และไม่ตรงต่อความเป็นจริง
 
ประการสุดท้าย กระบวนการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) ในด้านพลังงานถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีกรรมการสรรหาที่โน้มเอียงไปทางการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) แต่ยังดีที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นเสาหลัก แต่ก็ส่งผลให้มีผู้เสนอชื่อเพื่อรับการสรรหาเป็น สปช.ด้านพลังงานน้อยกว่าด้านอื่นๆ อย่างชัดเจน
 
มีผู้ทำนายเอาไว้ว่า “ปัญหาพลังงานจะเป็นเรื่องแรกที่ทำให้ คสช.ต้องปวดขมับ ไม่เชื่อคอยดู”
 
ข้าพเจ้าก็เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น ถ้า…ยังไม่สำนึก และไม่เห็นหัวประชาชน.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น