ก่อนอื่นอย่าเพิ่งคิดว่าผมสะกดชื่อบทความนี้ผิดนะครับ และวันนี้ขอเรียนว่าจะเขียนง่ายๆ และไม่มีกราฟให้บางท่านรู้สึกปวดหัวเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มาครับ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในหลายจังหวัดของภาคใต้ที่รวมตัวกันและใช้ชื่อว่า “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน”ได้ทำกิจกรรมที่ชูคำขวัญว่า “พลังงานสำหรับทุกคน ราคาเป็นธรรม ประชาชนเป็นเจ้าของ”
ลักษณะของกิจกรรมคือการเดินเท้าทางไกลจากหาดใหญ่ถึงกรุงเทพฯ โดยจะเดินวันละประมาณ 16 กิโลเมตรหรือหนึ่งโยชน์ ซึ่งพวกเขาคาดว่าจะต้องใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือนครึ่งกว่าจะถึงก็คงกลางเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นฤดูฝนและเสี่ยงกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
วัตถุประสงค์ของการเดินก็เพื่อจะเรียกร้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปพลังงานอย่างจริงจัง พวกเขาได้คิดเรื่องนี้มานานค่อนปีแล้ว แต่เมื่อได้ลงมือเดินในวันแรก (19 สิงหาคม 57) ทางทหารจากค่ายเสนาณรงค์ซึ่งเป็นตัวแทนของ คสช.ได้ขอร้องให้พวกเขาหยุดเดิน โดยอ้างว่าผิดกฎอัยการศึก แต่ในวันรุ่งขึ้นพวกเขาก็เดินต่อไปโดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่กิจกรรมทางการเมือง เขาไม่ใช้เครื่องเสียงแม้กระทั่งโทรโข่ง ไม่โจมตี คสช.ไม่ขึ้นป้ายแผ่นใหญ่ๆ มีเพียงธงผืนเล็กๆ แต่ต้องการจะให้ประชาชนเข้าร่วมปฏิรูปพลังงานไปตามคำขวัญดังกล่าว
แต่ในวันที่สองของการเดินทางทหารชุดเดิมก็ได้เชิญตัวแกนนำ 11 คนไป “ปรับทัศนคติ” ที่ค่ายทหารเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาซึ่งเท่าที่ทราบในขณะนี้ (23 สิงหาคม) ก็ยังไม่มีการปล่อยตัวออกมาขณะเดียวกันยังมีคนอื่นๆ ออกมาเดินต่อไปโดยไม่ให้เกิน 5 คนตามที่กฎอัยการศึกห้ามไว้ (หมายเหตุ ทราบว่าปล่อยตัวทั้ง 11 คนแล้วเมื่อใกล้ค่ำวันที่ 23)
ก่อนที่จะทราบถึงข้อเรียกร้อง 5 ประการของพวกเขา มารู้จักกับคำสองคำในชื่อบทความซึ่งสอดคล้องกันโดยบังเอิญก่อนครับ
คำแรกเป็นภาษาปักษ์ใต้ครับ เท่าที่ผมตรวจสอบพบว่าคนภาคอื่นเขาไม่เข้าใจความหมายว่า “ขาหุ้น” คืออะไรบางคนอาจจะคิดว่าพิมพ์ผิดหรือเปล่า ควรจะเป็น “ขาดหุ้น” ซึ่งถ้าเป็นคำนี้ในภาษาปักษ์ใต้อาจหมายถึงพวก “ไม่เต็ม” หรือพวก “ไม่เต็มบาท” หรือมีอาการทางจิตก็ได้
มีคนปักษ์ใต้ให้ความหมายของ “ขาหุ้น” ไว้ในเฟซบุ๊กว่า “สมมติว่าเราจะล้มหมูสักตัว ถ้าทำคนเดียวนอกจากจะกินครัวเดียวไม่หมดแล้ว ยังอาจจะมีเงินไม่พอด้วย ดังนั้น จึงต้องหาเพื่อนมาร่วมกันลงทุนทำงานใหญ่ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์” คนกลุ่มนี้จึงเรียกว่าเป็นขาหุ้นกัน
กลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ก็ทำนองนั้นแหละครับ เพียงแต่ว่า แทนที่จะเป็นแค่ 10-20 รายในชุมชนก็เป็นคนจำนวนมากทั้งประเทศให้คนทั้งประเทศซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติได้มาร่วมกันทำหน้าที่ให้สมกับที่เป็นเจ้าของทรัพยากรพลังงานจริงๆ ซึ่งประเด็นพลังงานก็เป็นประเด็นที่คนไทยเจ็บปวดมากจริงๆ แม้แต่คนรวยก็ไม่ได้รับการยกเว้นแม้แต่รายเดียว เพราะการใช้พลังงานที่สกปรก เช่น ถ่านหิน ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ทั้งพายุและโรคระบาด
สำหรับ “คิงคอง” ในชื่อภาพยนตร์ที่คนไทยเรารู้จักกันดี แต่ในที่นี้เป็นการเล่นคำแบบสองชั้นสองภาษาครับ แต่ความหมายของ “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” มาสอดคล้องกับ “คิงคอง” อย่างเหมาะเจาะ ค่อยๆ ตามผมมานะครับ
“คิงคอง” มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “King Kong” เป็นชื่อภาพยนตร์มหากาพย์ที่สร้างเมื่อปี ค.ศ. 1933 หรือ 81 ปีมาแล้วซึ่งคนไทยเรารู้จักกันทั้งรุ่นเกิน 60 ปีและวัยรุ่นในปัจจุบัน เพราะได้มีการนำมาสร้างใหม่โดยใช้ชื่อเดิมอยู่อีกหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ดังระเบิดบางครั้งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมถึง 3 รางวัล
ผมเองไม่ใช่นักดูหนังครับ แต่ก็พอทราบเรื่องราวคร่าวๆ ในตำราคณิตศาสตร์บางเล่มได้ยกเอา King Kong มาเป็นตัวอย่างในการศึกษาเรื่อง Scale และความเป็นไปได้จริงในเรื่องความแข็งแรงของกระดูก (คือ ถ้าคิงคองตัวใหญ่ขนาดนั้นจริง กระดูกซึ่งประกอบด้วยแคลเซียมก็คงจะไม่แข็งแรงพอเพื่อรับน้ำหนักขนาดนั้นได้) แต่ครั้นจะนำมาเล่าต่อก็ต้องค้นจากอินเทอร์เน็ตซึ่งอาจจะผิดพลาดได้ต้องขออภัยด้วย
Kong เป็นชื่อลิงกอริลลาที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมมีรูปร่างขนาดยักษ์โดยมีส่วนสูงประมาณ 8 เมตร อาศัยอยู่ในเกาะลึกลับในมหาสมุทรอินเดีย แต่ได้ถูกจับมายังเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเพื่อนำมาแสดงในฐานะ “สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่แปดของโลก” Kong มีนิสัยดุร้ายและแข็งแรงมากและก็ถูกทำให้เป็นตัวร้ายในหนังด้วยผมเข้าไปดูในยูทูปพบว่า Kong สามารถจับสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่คล้ายไดโนเสาร์ได้ (ยอดคนดูเกิน 8 ล้านราย)
ฉากในภาพยนตร์เป็นที่จดจำ คือฉากคิงคองหลุดออกจากกรงขัง และจับนางเอกปีนขึ้นไปบนยอดตึกเอ็มไพร์สเตต (ฉบับสร้างในปี พ.ศ. 2476 และ 2548) และตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (ฉบับสร้างปี พ.ศ. 2519) ในนิวยอร์ก ต่อสู้กับทหารกองกำลังป้องกันประเทศ ก่อนที่จะถูกเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบยิงตกลงมาตาย (จากกูเกิลนะครับ)
แต่ “คิงคอง” ในที่นี้ไม่ใช่เขียนแบบ “King Kong” แต่เขียนว่า “King CONG” ซึ่งออกเสียงเหมือนกัน แต่คำว่า CONG ย่อมาจากคำในภาษาอังกฤษ 4 คำที่มีความร้ายกาจมากในแง่ของการทำลายล้างต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชนก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนที่มนุษยชาติยังไม่มีปัญญาจะแก้ไขจนปัญหารุนแรงเพิ่มมากขึ้นแบบว่า “กู่ไม่กลับ” กล่าวคือมาจากคำย่อของภาษาอังกฤษ คือ Coal (ถ่านหิน), Oil (น้ำมัน), Nuclear (นิวเคลียร์) และ Gas (ก๊าซธรรมชาติ)
ผมไม่ได้ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาเองนะครับ แต่มาจากหนังสือที่ชื่อว่า “ROOFTOP REVOLUTION”หรือ “การปฏิวัติบนหลังคา”เขียนโดย DANNY KENNEDY (ขอขอบคุณคุณธารา บัวคำศรี ที่มอบหนังสือเล่มนี้ให้ผม ทั้งๆ ที่ตนเองบอกว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจมากและยังอ่านไม่จบ)
กลับมาที่ข้อเรียกร้องต่อสังคมไทยของกลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ซึ่งมี 5 ข้อ พร้อมกับผมขออนุญาตขยายความเพิ่มเติมให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงที่มาของเหตุผลของพวกเขาด้วย
หนึ่งให้ถอดโรงไฟฟ้าถ่านหิน (Coal) ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าปัจจุบันในพื้นที่ 14 จังหวัดในภาคใต้กำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า “แผนพัฒนา”เต็มไปหมด โดยประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมแต่ประการใด ยิ่ง “พัฒนา” ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็ห่างมากขึ้นจนเกือบจะมากที่สุดในโลก ทั้งๆ ที่มติ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนแผน (ซึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเห็นชอบด้วย) แต่ก็ไม่เป็นผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใดจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง(หมายเหตุ ท่านพุทธทาสภิกขุ เคยอธิบายว่า “พัฒนา” แปลว่า โตขึ้นเท่านั้น ดีก็ได้ บ้าก็ได้)
มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต้องการให้การพัฒนาภาคใต้เป็นแหล่งผลิตอาหารซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากทั้งทางทะเล การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง สวนผลไม้ ยางพารา การท่องเที่ยว รวมทั้งการศึกษา หากจะมีอุตสาหกรรมก็ขอให้เป็นอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องจากการเกษตร อย่าได้มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือโรงงานถลุงเหล็ก
แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐพยายามก็ยัดเยียดโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์จำนวนหลายโรง เช่น กระบี่ นครศรีธรรมราช 3 โรง นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (Nuclear) ด้วย
ที่กำลังจ่อคอหอยอยู่ในขณะนี้ก็คือโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ซึ่งนอกจากจะต้องถอนสภาพอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราแล้ว ยังจะต้องสูญเสียภูเขาหินไปอีกหลายลูกทั้งๆ ที่ท่าเรือน้ำลึกที่มีอยู่แล้วที่สงขลาก็ยังมีสินค้าไม่เกินกำลัง
สอง ให้แก้กฎหมายเพื่อยกเลิก “ระบบสัมปทาน” ปิโตรเลียม (ซึ่งในที่นี้หมายถึงน้ำมัน (Oil) และก๊าซธรรมชาติ (Gas)) แล้วหันไปใช้ระบบสัญญาการแบ่งปันผลิต เพราะระบบสัมปทานเป็นระบบที่ยกกรรมสิทธิ์ทั้งหมดที่เกี่ยวปิโตรเลียมไม่ว่าจะเป็น กรรมสิทธิ์ในข้อมูล กรรมสิทธิ์ในการจัดการผลิต และกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์การผลิต ระบบนี้เป็นระบบที่ประเทศเจ้าอาณานิคมใช้กับประเทศอาณานิคมทั้งหลายในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่เมื่อเขาได้รับเอกราชเขาแล้วก็หันมาใช้ระบบใหม่ที่เรียกว่าระบบการแบ่งปันผลิตโดยการเจรจาอย่างสันติซึ่งบริษัทต่างชาติก็ยินยอมแต่โดยดี ในขณะที่ประเทศไทยเรากลับทำในสิ่งตรงกันข้าม เกรงใจบริษัทต่างชาติหรืออย่างไรกันแน่?
นอกจากนี้ในขณะที่กระทรวงพลังงานกำลังจะให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 พวกเขาเรียกร้องให้ชะลอไว้ก่อน จนกว่าจะมีการแก้กฎหมายแล้วเสร็จก่อน
สาม จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นของรัฐ
สี่ จัดโซนนิ่งพื้นที่ผลิตอาหารและการท่องเที่ยวกับพื้นที่ผลิตพลังงานออกจากกัน
ห้า มีนโยบายพลังงานหมุนเวียนที่เป็นธรรมโดยเร็ว
ถ้าว่าไปแล้วข้อเรียกร้องของ “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ในครั้งนี้ก็คือการชวนให้คนไทยทั้งประเทศมาร่วมกันลงหุ้นส่วนเพื่อสู้หรือล้ม “คิงคอง (King CONG)” ที่ทั้งสกปรกและโหดร้ายต่อมนุษยชาติทั้งมวลนั่นเอง
จึงสามารถกล่าวได้ว่าจิตใจของพวก “ขาหุ้น” เหล่านั้นเป็นจิตใจเพื่อสาธารณะ และลงมือปฏิบัติจริงด้วยความเสียสละ ด้วยการเดินเท้าทางไกลนับพันกิโลเมตรฝ่าพายุร้ายลมแรงเพื่อบอกกล่าวกับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศให้ตื่นมารับรู้ความจริงเสียที
ผมตั้งใจว่าจะไม่เขียนยาวๆ จึงขอยกคำพูดของประธานาธิบดีบารัค โอบามาเพื่อให้เห็นภาพรวมที่ใหญ่กว่าว่า
“ชาติใดก็ตามที่ไม่สามารถควบคุมแหล่งพลังงานของตนเองได้ย่อมไม่สามารถควบคุมอนาคตของชาติได้ (A nation that can't control its energy sources can't control its future.)”
คำถามสั้นๆ ก็คือว่า
(1) ทั้งๆ ที่ประเทศเราไม่มีแหล่งถ่านหินเป็นของตนเอง ต้องใช้ถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งไม่ต้องอาศัยความรู้ระดับผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานก็ทราบดีว่ามันเป็นการสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น แต่ทำไมต้องส่งเสริมให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นจำนวนมาก “King CONG” ตัวไหนได้ประโยชน์
(2) เรามีแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นของตนเองเป็นจำนวนมาก ประชาชนผู้เป็นเจ้าของบ้านสามารถติดตั้งได้ในราคาที่แม้ไม่มีการชดเชยจากรัฐเลยก็พอจะทำได้โดยได้รับผลตอบแทนมากกว่าการนำเงินไปฝากธนาคารแต่ถูกปิดกั้นโอกาส
(3) การส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพิ่งผ่านมติไปเมื่อไม่ถึง 10 วันที่ผ่านมานั้น เป็นการบิดเบือนหลักการที่สำคัญที่ประเทศเยอรมนีทำสำเร็จจนเป็นแชมป์โลกไปแล้ว นั่นคือ การไม่จำกัดโควตา และรัฐต้องเปิดทางรับซื้อไฟฟ้าให้กับผู้ร่วม “ปฏิวัติบนหลังคา”ก่อนบริษัทพลังงานขนาดใหญ่
ในหนังสือเล่มที่ผมนำปกมาลง (ดังข้างต้น) ได้นำเสนอผลการคาดหมายของDepartment of Energy ของสหรัฐอเมริกาว่าภายในปี 2015 ประมาณ 2 ใน 3 ของบ้านในสหรัฐอเมริกาจะประหยัดเงินด้วยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และจากการสำรวจของหน่วยงานของรัฐพบว่า ภาคอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์มีอัตราการจ้างงานเพิ่มเร็วกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ถึง 10 เท่าตัว
แหล่งพลังงานที่พอจะมีเป็นของตนเองก็ยกให้บริษัทต่างชาติมาเอาสัมปทานไป แหล่งพลังงานที่เรามีอย่างเหลือเฟือก็ถูกปิดกั้นไม่ให้ทำ แล้วอย่างนี้อนาคตของประเทศชาติ (ตามที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าว) จะมีได้อย่างไร
ผมดีใจมากที่ท่านประธาน คสช.พูดครั้งล่าสุดว่า “เรื่องพลังงานทำอย่างไรให้ยั่งยืน” ผมขอฝากการ์ตูนนี้มาถึงท่านครับ แล้วกรุณาคิดดูว่าการ์ตูนนี้กำลังบอกอะไร
อย่างไหนยั่งยืน อย่างไหนไม่ยั่งยืน อย่างไหนผูกขาดได้ง่าย อย่างไหนประชาชนสามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย อย่างไหนเป็นมิตร อย่างไหนเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไหนเป็น “คิงคอง”
ป.ล. คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านพลังงาน 3 ใน 7 คนเป็นอดีตผู้ว่าการ ปตท. นี่เขาจะ “ปฏิรูปพลังงาน” หรือ “ปฏิรูป ปตท.” กันแน่ ผมไม่เข้าใจ!