xs
xsm
sm
md
lg

ความทรงจำสุดท้ายของชายชื่อ “เชือน ศรีวิโรจน์” (จบ) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบัญญัติ  จันทน์เสนะ (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ลุงเชือน  เล่าถึงความนิยมในเรื่องอยู่ยงคงกระพันของคนพัทลุงในสมัยประมาณ  100  ปีที่ผ่านมาว่า    คนไทยสมัยก่อนนิยมแทงไม่เข้า  ฟันไม่กิน  ยิงไม่ออก  สมัยเมื่อประมาณเกือบ  100  ปีมาแล้ว  ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า คนพัทลุงส่วนใหญ่  เช่น  รุ่ง  ดอนทราย  ทับ  ลำพาย  ยก  คอกวัว  ดำ  หัวแพร  สงฟ้า  เหล่านี้เป็นต้น  โดยเฉพาะสงฟ้า  ปีบ (คำราม) ออกมาเป็นไฟ  ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้  คาถาอาคมของคนโบราณน่ากลัว…เสือทับ  ลำพาย  …ขณะนั้นลุงเชือน อายุราว  17  ปี  ไปเลี้ยงวัวที่ทุ่งต้นข่อย  เวลาตะวันบ่าย เสือทับเดินมาจากบ้านขาวกับเพื่อนอีกคน  มาแวะดื่มน้ำในสระ  มีศาลาเก่าๆ อยู่หลังหนึ่ง  เมื่อตักน้ำดื่มเสร็จแล้วก็นั่งพักที่ศาลา  มีผู้สูงอายุคนหนึ่งทักขึ้นมาว่า มาจากไหน  ได้รับคำตอบว่ามาธุระที่บ้านขาว  พอหายเหนื่อยก็ไปบ้านหัวป่า
 
เสือทับ  ลำพาย  ออกเดินไปแล้ว  ผู้สูงอายุที่นั่งบนศาลาบอกพวกเราที่นั่งอยู่  4-5  คนว่า คนที่เหน็บมีดปลายเคียงปลอกเงินนั่นแหละชื่อ เสือทับ  ลำพาย  รูปร่างสันทัดวัยกลางคน  ผิวเนื้อดำแดง  เช้าตรู่วันต่อมาได้ยินเสียงปืนดังเหมือนใครจุดประทัด  พอเสียงปืนหยุดลงสักครู่ใหญ่ๆ มีคนหัวป่าที่มาทำนาใกล้กันบอกว่าตำรวจกับกำนันจับตายเสือทับ  ลำพาย  สาเหตุเพราะแกเล่นการพนันแพ้ไป  30  บาท  เจ้ามือจะขอเลิก แกไม่ยอม แกเลยชิงเงินที่เสียไป  มีคนวิ่งไปบอกกำนันฉุ้น  แกล้วทนงค์  พอดีสายตรวจมาพักอยู่บ้านกำนัน  5  คนกำนันจึงนำมาที่เกิดเหตุ  พูดเกลี้ยกล่อมให้แกมอบตัว  แกไม่ยอม  จึงรอให้สว่างเพื่อใช้มาตรการเด็ดขาด
 
กำนันฉุ้น ประกาศตั้งแต่วันรับตำแหน่งว่า ในตำบลนี้ (ตำบลตะเครียะ) จะไม่ให้มีโจรผู้ร้ายอย่างเด็ดขาด  พอสว่างกำนันก็วิ่งเข้ากอดรัดฟัดเหวี่ยงกับทับ  ลำพาย  แต่สู้กำลังทับ  ลำพาย ไม่ได้ทั้งๆ ที่ตัวเล็กกว่ากำนัน  เสือทับ ฟัดเหวี่ยงขึ้นนั่งคร่อมกำนัน  ตำรวจทั้ง  5  คนใช้ปืนยิง  แต่ไปโดนโคนขากำนันจนทะลุ  นายบุตร  คงทองเกื้อ  เจ้าของบ้านเห็นเสือทับชักมีดจะปาดคอกำนันก็ใช้หอกปลายปืนแทงทับ  ลำพาย (บางกระแสบอกว่าตีด้วยโคนไม้ไผ่จนคอหักตาย)  เสือทับ ไม่ได้ตายด้วยลูกปืนตำรวจ  ไม่มีแผลสักแผลเดียว  กำนันถูกส่งตัวไปรักษาหลายเดือน  แผลหาย  แต่เดินไม่คล่อง  ตอนหลังเกิดอักเสบ  ถึงแก่กรรมในวัย  50  ปีกว่าๆ  คนตำบลตะเครียะ ถึงกับร้องไห้ เพราะเสียดาย  เนื่องจากกำนันคนนี้ทำให้คนตะเครียะนอนตาหลับไม่มีโจรลักวัวลักควาย
 
ลุงเชือน กล่าวถึง  นายบัญญัติ  จันทน์เสนะ  นักเรียนรุ่นเดียวกับลูกชายไว้ว่า  สมัยเรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดเกษตรชลธี (เลื่อนประชาคาร) วันไหนว่างท่านก็ไปช่วยแม่ลากเรือไปขายผ้าที่ตลาดนัดบ้านขาว  ปากเหมือง  สามพาน (คลองน้ำตื้นต้องลงลากเรือ) เพราะแม่เป็นเสาหลักของครอบครัวนี้  หลังจากพ่อแม่ถึงแก่กรรมไป ต้องทำงานหาเงินให้น้องๆ เรียนหนังสือถึง  7  คน  แม่ของท่านเป็นแม่ค้าผ้าสมัยนั้น  หาคนเทียบไม่ได้  ขายดีเหมือนเทน้ำเทท่า  พูดจาอ่อนหวานอ่อนน้อมถ่อมตนกับคนทุกเพศทุกวัย  เป็นที่รักใคร่นับถือของคนทั่วไป  ที่สำคัญไม่มีเงินก็ซื้อได้  มีวันไหนค่อยมาจ่ายให้  น้องๆ ทั้ง  7  คนเรียนจบ มีงานทำเป็นล่ำเป็นสันหมด  ท่านบัญญัติ เป็นคนไม่ลืมถิ่นที่ให้กำเนิดวิชาความรู้  หาเงินได้จากผู้มีจิตศรัทธาไปสร้างโรงเรียนแทนหลังเก่าที่ชำรุด  สร้างขึ้นใหม่  2  ชั้น  เสร็จแล้วเห็นว่าครัว  เมรุเผาศพยังไม่มี  จัดการสร้างอีกจนเรียบร้อยหมด  แล้วท่านมาพัฒนาคลองตะเครียะ โดยใช้รถแบ็กโฮคอยาว  ขุดสองข้างคลอง ตั้งแต่ปากบางตะเครียะ ตลอดไปบ้านหนองถ้วย  แม้ว่าไม่มีเรือใช้กันแล้ว  แต่ทำให้คลองกว้าง และลึก  ขอบคลองโล่งเตียนมองดูสวยงาม  ชาวนาต้องการน้ำวันไหนก็สูบน้ำสะดวกสบาย  นี่เป็นการกตัญญูกตเวทีต่อบ้านเกิดเมืองนอนของท่านบัญญัติอย่างแท้จริง
 
ลุงเชือน เล่าถึงการเกิดวัดในนิกายธรรมยุตินิกาย ในตำบลตะเครียะว่า  สมัยก่อนตะเครียะเราไม่มีวัดธรรมยุติ  ในอำเภอระโนด มีตาวัดมหานิกายทั้งนั้น  เจ้าคุณธรรมนิโรธ (เดิมชื่อท่านพลับ)  เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง)  สงขลา ได้มาตั้งวัดตะเครียะบน (วัดเกษตรชลธี) ขึ้น  เมื่อก่อนถ้าจะบวชบุตรหลานต้องไปบวชที่วัดหัวป่าทั้งนั้น  พ่อท่านคง  ฆํงคัสโร  เป็นพระอุปัชฌาย์  พอวัดตะเครียะบนเกิดขึ้น  คนศรัทธาให้บุตรหลานบวชกันมาก  อุบาสกอุบาสิกาก็เคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติมาก  เมื่อวัดมีสองนิกาย  พระทำท่าจะชิงดีชิงเด่น  แย่งศรัทธาจากประชาชน  พระธรรมยุติ บางรูปหาว่าพระมหานิกายย่อหย่อนการปฏิบัติพระธรรมวินัย  พระมหานิกาย หาว่าพระธรรมยุตินิกายเพิ่งเกิดมีขึ้นรุ่นเดียวกับไตรหัวหงส์  คนที่เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่เคร่งครัดจริงๆ สมัยนั้นถ้าไหว้ถูกพระมหานิกายต้องไปล้างมือล้างบาปติดมือ  สมัยโน้นธรรมยุติกนิกาย กับมหากนิกายเหมือนขมิ้นกับปูน
 
ท่านแดง  ปุบผโก  บุตรของ ตาเส้ง  ปานสีเส้ง  บ้านท่าคลองตกตะเครียะ  หมู่ที่  3  ตำบลตะเครียะ  เมื่ออายุครบบวช  พ่อก็พาไปเข้าวัดหัวป่า กับพ่อท่านคง  ฆังคัสโร  เจ้าอาวาสละเป็นพระอุปัชฌาย์  ท่านเรียนเก่ง  วัตรปฏิบัติดี  เป็นที่ชอบพอของพ่อท่านคง  วันหนึ่งมีผู้ถวายน้ำมันก๊าดหนึ่งปี๊บ  ท่านทำพวยไส้ตะเกียงเจาะปี๊บเพื่อไม่ต้องตัก หรือถ่ายน้ำมันก๊าดให้เสียเวลา  แต่วันหนึ่งพวยตะเกียงหลุดลงในปี๊บเกิดระเบิดไฟไหม้กุฏิหมดทั้งหลัง  ท่านตัดสินใจไปอยู่วัดตะเครียะบน  ต่อมา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส มีสมณศักดิ์เป็นพระครูวิจารณ์ศีลคุณ  เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะอำเภอระโนดจนมรณภาพ
 
พระครูวิจารณ์ศีลคุณ (ท่านแดง)  เรียนเก่ง  ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย  เทศนาสั่งสอนคนในวันพระ และวันสำคัญโดยใช้ปฏิภาณโวหาร  จนคนจำได้  เช่น  “เรือดีพายดีไม่ขี่ไม่ข้าม  เอาเรือรั่วน้ำมาข้ามขี่  เอาคนผีๆ มาใช้การงาน” หรือ “บุญมาวาสนาช่วย  ความป่วยก็หาย  ความหน่ายก็รัก  บุญไม่มาวาสนาไม่ช่วย  ความป่วยก็หนัก  ความรักก็หน่าย”  ท่านมีศิษย์มากมาย  ท่านสมเด็จพระวันรัตน์  วัดโสมนัสวิหาร ก็เป็นศิษย์ท่านคนหนึ่ง  อีกท่านหนึ่งคือ  พระธรรมเธาจารย์  รองเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร (ท่านอิ่ม)  แจกทุนการศึกษาให้เด็กทางภาคใต้ที่ตำบลตะเครียะ  3  โรง  ที่ควนพนางตุง
 
ลุงเชือน เน้นความกตัญญูกตเวทีทั้งต่อบุคคล และถิ่นฐานบ้านเกิด  เพราะลุงเองก็สร้างคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเกิดเมืองนอนในรูปแบบต่างๆ มากมาย  ทั้งด้านวัตถุ  คุณธรรม  มนุษยธรรม และศีลธรรม  ดังบทกลอนที่สอดแทรกในคำบอกเล่าเป็นระยะๆ  ดังนี้
 
“ถึงวันครูเด็กชายหญิงรีบวิ่งหา
ธูปเทียนพวงมาลาพาไปไหว้
เพื่อแสดงความกตัญญูต่อครูไซร้
เด็กทำได้ทำดีทุกปีมา
แต่พ่อแม่ก็คือครูอยู่ที่บ้าน 
น่าสงสารนั่งคิดน่าอิจฉา
ไม่เห็นลูกคนไหนใครนำพา
มาบูชาพ้อแม่ให้แท้จริง”
 
“อาจารย์ไหนใครเล่าเท่าพ่อแม่
เริ่มสอนแต่มือเท้าเท่าฝาหอย
เฝ้าภิรมย์ชมเชยเลยรอคอย
ตั้งแต่น้อยจนโตให้โสภา
เริ่มแต่อนุบาลการจ้างเลี้ยง
ขอแต่เพียงให้โสมนัสสา
เช้าไปส่งเย็นไปรับเอากลับมา
ถ้าคิดเป็นเงินตราราคาแพง”
 
นับว่าอัตชีวประวัติ  “ประวัติชีวิต  ลิขิตกรรมเท่าที่จำได้” ของ  ลุงเชือน  ศรีวิโรจน์  ชายวัยใกล้  8  รอบที่ตั้งใจบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้อ่านในวันครบรอบ  96  ปี ในวันที่  23  กุมภาพันธ์  2558  มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวผู้คน และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  ในลักษณะประวัติศาสตร์บอกเล่าเป็นอย่างยิ่ง  เพราะจะหาแหล่งข้อมูลที่พูดได้ และมีความทรงจำอันเยี่ยมยอดที่มีอายุยาวนานอีก  ทั้งเป็นชีพจร และดัชนีชี้วัดความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างน่าเชื่อถือ และศรัทธาได้ไม่ง่ายนักแล้วในสังคมแบบปัจเจกชนเช่นปัจจุบัน
 
ความทรงจำสุดท้ายของชายชื่อ “เชือน  ศรีวิโรจน์”  จึงเป็นความทรงจำร่วมของคนร่วมยุคสมัย  โดยเฉพาะคนที่มีถิ่นฐานบ้านเกิด และมีความเกี่ยวพันกับ “ทุ่งตะเครียะ” ดินแดนที่เคยมี “เหล้าเครียะและช้างแคระ” อันเป็นตำนานของคนนักเลงแห่งคาบสมุทรสทิงพระ หรือแผ่นดินบกอันทระนง และองอาจยิ่ง  ดังคำกล่าวที่ว่า  “ดีเหมือนเหล้าเครียะ  เมาเหมือนสงเคร็ง  เบ่งเหมือนอ้ายเฉี้ยง” ตามคำกล่าวเสริมของลุงเชือน  ศรีวิโรจน์
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น