xs
xsm
sm
md
lg

ความทรงจำสุดท้ายของชายชื่อ “เชือน ศิวิโรจน์”(๓) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ลุงเชือน  ศิวิโรจน์  ได้เล่าถึง “ท่านเล็ก” พระนักพัฒนาผู้ริเริ่มก่อสร้างถนน “พระ-ประชาทำ” ว่า  เราได้ยินมาว่า พระที่มีบารมีมากๆ สามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ และพระศาสนานับร้อยล้านพันล้าน  แต่เราไม่ได้ไปเห็นด้วยตาตัวเอง  เพียงแต่ได้ยินแต่ข่าว  เรามาพูดพระบ้านเรากันดีกว่าที่เราเห็นด้วยตา  ได้ยินกับหูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันดีกว่า  พระรูปนี้ร่างบอบบางเหมือนนกชันปาด  ความสามารถบินสูงเหนือเมฆเหมือนนกอินทรี  ความกล้าหาญเหมือนพญาราชสีห์  แม้คนเป็นรัฐมนตรีก็ไม่กล้าต่อกร  นั่นคือ พระครูศาสนการโกวิท  ท่านเล็กวัดจากระโนดไงล่ะ
 
ท่านเล็กเป็นพระพัฒนา  เริ่มพัฒนาตนเองด้วยการศึกษาพระธรรมวินัยจนได้เป็นพระครู และเป็นเจ้าคณะอำเภอระโนด  สุดท้ายท่านได้เป็นพระอุปัชฌาย์  ดูเหมือนว่าท่านเกิดมาเพื่อพระศาสนาอย่างแม้จริง  เมื่อพัฒนาตนเองพอสมควรแล้วคิดพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน  ท่านมองเห็นว่าคนตะเครียะ  บ้านขาว  กับคนทะเลน้อย ซึ่งระยะทางเพียงสิบกว่ากิโลเมตร แต่อดีตกาลนานไกลเราใช้เรือเป็นหลักในการไปมาหาสู่กัน  วันไหนลมแรงพัดจัดไม่สะดวกจะไปมา  บางครั้งเรือล่มจนคนตายกันมากมายหลายครั้งในอดีตนับไม่ถูกแล้ว  มาสมัยนี้บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงจากการใช้เรือหันมาใช้รถ ซึ่งเร็วกว่าจะไปธุระทางทะเลน้อยต้องอ้อมไปอำเภอเชียรใหญ่  เข้าอำเภอชะอวด แล้วมาเข้าอำเภอควนขนุน ลงมาทะเลน้อย  ระยะทางที่ต้องอ้อมไปไม่น้อยกว่าร้อยกิโลเมตร
 
ถ้าจะอ้อมไปทางใต้ปากรอ  อำเภอสิงหนคร ก็พอๆ กัน  ท่านเล็ก เอาสาเหตุอันนี้มาคิดตัดถนนสายหัวป่า-ทะเลน้อยขึ้น  ขั้นแรกท่านไปขอยืมเครื่องบินของกองทัพอากาศที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มาพร้อมกับท่าน  มาบินสำรวจเส้นทางที่จะตัดถนนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ลงมือขอที่ดินที่ติดเส้นทางต่อเจ้าของ  ปรากฏว่า ไม่มีเจ้าของที่ดินคนไหนใครขัดข้อง  เมื่อได้ที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านไปยืมรถขุด  รถแทรกเตอร์จากหน่วยงานบางหน่วย โดยขอบริจาคค่าน้ำมันจากชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา
 
การทำถนนสายนี้ลำบากมาก เพราะที่ดินพรุบางแห่งมีน้ำขังตลอดปี  บางแห่งเป็นโคลนตมลึกตลอดสาย  โดยไม่หวั่นต่ออุปสรรค  ท่านคิดว่าถ้าเสร็จวันไหนจะไม่ได้ใช้แต่คนระโนด  คนควนขนุนก็ต้องมาใช้  คิดถึงเพื่อนสหธรรมิกกัลยาณมิตร  ท่านพระครูกิตติวราภรณ์ (ดร.ทวี  ฤทธิรัตน์)  วัดป่าลิไลย์  ก็ไปปรึกษาดู เหมือนเอาฟางไปยั่วไฟ  ท่านรับทันทีเพราะนิสัยตรงกัน  ตกลงแบ่งงานกันคนละครึ่ง  เขตระโนด ทำถึงคลองนางเรียมเป็นหน้าที่ท่านเล็ก  เขตควนขนุน ก็ทำมาบรรจบกันที่คลองนางเรียมเป็นหน้าที่ของ ดร.ทวี  งานก่อสร้างก็เร็วขึ้น
 
เมื่อได้คู่หูที่มีจิตใจตรงกันดีใจจนลืมตัวกลัวอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น  คิดสร้างเรือเร็วส่วนตัววิ่งระหว่างวัดจากกับวัดป่าลิไลย์ขึ้น  ๑  ลำ  เท่าเปลือกแตงโมขนาดใหญ่  คนขับกับเครื่องยนต์พอดีแล้ว  คนอื่นไม่ต้องพลอยโดยสาร  เพื่อสะดวกและรวดเร็วทันใจเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น  ท่านลืมกลัวอันตรายที่โบราณว่า “คืบก็ทะเล  ศอกก็ทะเล” ไม่ควรประมาท  ระยะทางฝั่งระโนด  ลำปำไม่ต่ำกว่า  ๑๐  ไมล์ทะเล  ท่านคิดว่า  ๓๐  นาทีก็พ้นแล้ว  แต่ถ้าเกิดเครื่องเสีย  พายุจัดน่ากลัวจริงๆ  ซึ่งลุงเชือนเองเคยเจอด้วยตัวเองมาแล้วตอนอยู่วัดหัวป่า  เจ้าอาวาสให้ไปตัดไม้ที่คลองยวน  มาถึงแหลมดินทั้งลมทั้งฝนพัดอย่างแรงจนต้องหลบเรือ  ๓  แจวเข้าไปในอ่าว
 

 
เป็นโชคดีของประชาชนที่เรามีพระ  ๒  รูปนี้  ได้เนรมิตถนนสายนี้ขึ้นมาให้ไปมาหาสู่กันสะดวกสบาย  และเป็นโชคดีของชาวใต้ทั้งภาคที่พรรคประชาธิปัตย์  โดยเฉพาะนายชวน  หลีกภัย  อดีตนายกรัฐมนตรีตกเก้าอี้ไป  ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังอยู่  ถนนสายนี้เกิดมีขึ้นไม่ได้แน่นอน  เพราะขัดต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม นกน้ำ 
 
“ทำดีให้คนชม  ดีกว่าทำชั่วให้คนชัง”
 
ต่อมา ลุงเชือน ก็กล่าวถึงคนตำบลตะเครียะที่ไปเป็นใหญ่เป็นโต  แล้วกลับมาสร้าง หรือบูรณะวัด หรือบ้านเกิดของตน  คนแรกได้แก่  คุณสุรใจ  ศิรินุพงศ์  เกิดที่บ้านเสาธง  หมู่ที่  ๔  ตำบลตะเครียะ  อำเภอระโนด  เมื่อสมัยยังไม่แยกเป็นตำบลบ้านขาวเช่นปัจจุบัน  เมื่อตนเองสบายแล้วจะให้พี่น้องเพื่อนบ้านสบายบ้าง  คิดตัดถนนเข้าไปในบ้านเสาธง และลาดยางให้เสร็จเรียบร้อย  แล้วคิดพัฒนาบูรณะวัดบ้านขาวอันเป็นวัดที่บรรพบุรุษได้ร่วมกันสร้าง  เริ่มสร้างโบสถ์ และจัดการฝังลูกนิมิต  สร้างโรงธรรมศาลา  ตลอดถึงเมรุเผาศพครบถ้วนในวัดบ้านขาวสะดวกสบายหมด  คุณสุรใจ มาเป็นผู้นำริเริ่มเดี๋ยวนี้วัดบ้านขาวเจริญกว่าวัดใดๆ ในแถบนี้
 
คนที่สอง  ว่าที่ ร.ต.วิจิตร  ศิวิโรจน์  ซึ่งเป็นบุตรของคุณครูแคล้ว  ศิวิโรจน์  เห็นว่าพ่อเป็นครูใหญ่โรงเรียนชุมชนวัดบ้านขาวนานถึง  ๒๔  ปี  แต่ไม่มีอะไรเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมาย  จึงมาสร้างซุ้มประตูวัด และโรงเรียน  พร้อมกับหอนาฬิกา  และประติมากรรมรูปเหมือนพ่อและแม่ไว้ใต้หอนาฬิกาในปี  ๒๕๔๘
 
คนที่สามคือ คุณเปรม  ชูเกลี้ยง  เป็นเทพเจ้าที่ขจัดความยากจนของชาวนาด้านทิศเหนือของอำเภอระโนด ไปถึงอำเภอหัวไทรบางส่วนบางตำบลได้ทำนาปีละ  ๒  ครั้ง  จนลืมตาอ้าปาก  ขจัดความยากฝ่าหนามฝากความจนมาได้  อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ  เมื่อก่อนชาวนาตะเครียะ เราบางคนเรือนหลังคามุงจาก  เสาเรือนไม้หมาก  ฟากเรือนไม้ไผ่  หัวบันไดไม้พาด  เดี๋ยวนี้หาดูไม่ได้แล้ว กลายเป็นเสาคอนกรีต   ฝาก่ออิฐ  พื้นปูกระเบื้อง  หลังคาขาวโพลนไปทั่วทุกหัวระแหงก็เพราะได้ทำนาปีละ  ๒  ครั้งนั้นเอง…เราอย่าลืมคุณเปรม  ชูเกลี้ยง  ผู้ให้กำเนิดชลประทานทุ่งระโนด  หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ควรจะนิมนต์พระมาทำบุญหน้ารูปเหมือน  ซึ่งยืนตระหง่านอยู่หน้าโรงสูบน้ำชลประทานทุ่งระโนดให้เป็นประจำทุกปี  จะเป็นเดือนมีนาคม หรือเมษายนแล้วแต่จะเห็นสมควร
 
(อ่านต่อตอนที่ ๔)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น