xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีใครเอียงข้างประชาชน / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

สมัยหนุ่มๆ ข้าพเจ้าเป็นนักกิจกรรมนิสิต เคยมีตำแหน่งแห่งที่สูงสุดเป็นนายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ) ปี ๒๕๒๔ ตอนเรียนปีสุดท้ายในนาม “พรรคเพื่อนเรา” ที่ครองตำแหน่งนายกองค์การนิสิตโดยการชนะการเลือกตั้ง ๔ สมัยติดต่อกัน และในยุคที่ข้าพเจ้าลงแข่งขันเป็นยุคที่แข่งเดือดที่สุดเพราะมีพรรคนิสิตถึง ๔ พรรคลงแข่งขัน และบางพรรคมีอาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิตเป็นผู้หนุนหลัง สมัยนั้นคำว่า “ประชาชน” จะถูกนำมาเอ่ยอ้างกันบ่อยในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นแวดวงกิจกรรมนิสิตนักศึกษา วงการเพลงเพื่อชีวิต กวีและนักเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิต ผู้นำแรงงาน เกษตรกร ฯลฯ

ต่อมา “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของการเมืองไทยคือ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า “ไม่มีใครเอียงข้างประชาชน” เป็นการตัดพ้อต่อว่าใครหลายคนที่เคยแอบอ้างว่าทำทุกอย่างเพื่อประชาชน หรือเอียงข้างประชาชนอย่างที่บางคนบอกว่า “ยืนข้างประชาชน” นั่นแหละ แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นใครจริงใจ9jvประชาชน หรือในยุคหนึ่งมีคำถามจากกวีนักเคลื่อนไหวทางสังคมว่า “ประชาชนของเพื่อนอยู่ที่ไหน” คล้ายๆ จะบอกว่า นักต่อสู้เพื่อประชาชนหลายคนหาประชาชนของตนเองไม่เจอ

๓๐ กว่าปีของการก้าวเดินบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ จนย่างเข้าสู่วัยชราใกล้เกษียณอายุราชการ ข้าพเจ้าก็เห็นปรากฏการณ์ “ไม่มีใครเอียงข้างประชาชน” มาครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งไกลตัว และใกล้ตัวจนหายใจรดต้นคอ โดยเฉพาะคนที่ประกาศตัวเป็น “คนของประชาชน” ส่วนใหญ่พอมีโอกาส และอำนาจก็ไม่ได้เข้าข้างประชาชน พวกเขามักจะเข้าข้างผู้มีโอกาส และอำนาจจนเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อรักษาโอกาส และอำนาจที่พวกเขาแสวงหามาค่อนชีวิตไว้ให้ยืนนานที่สุด ท่ามกลางเสียงสาปแช่งของคนทุกข์ยากทั่วแผ่นดิน
เด็กด้อยโอกาสในทุกสังคมยังรอรับความยุติธรรมและการช่วยเหลือ (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
ในทุกองค์กร และหน่วยงาน หาคนที่เป็นผู้นำที่ “เอียงข้างประชาชน” ยากเหลือเกิน มิหนำซ้ำพวกเขากลับกระทำตรงกันข้ามต่อความต้องการของประชาชน เข้าทำนองว่า “รักคนที่ประชาชนเกลียด และเกลียดคนที่ประชาชนรัก” ไม่เว้นแม้แต่ในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาที่สังคมคาดหวังว่าจะเป็นคนดินแดนที่สถิตของคนมีปัญญาที่เรียกว่า “ปัญญาชน” แต่ส่วนใหญ่พวกเขาก็คิด และทำอะไรไม่แตกต่างจากประชาชนทั่วไป มิหนำซ้ำส่วนใหญ่ประชาชนกลับ “รู้หวันทันโลก” มากกว่าพวกปัญญาชนเหล่านี้ด้วยซ้ำไป

ทุกครั้งที่เกิดการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ผู้ที่ออกมาประกาศตัว และเข้าร่วมกับการขับเคลื่อนที่เสี่ยงภัยอันตรายจากอำนาจรัฐและลิ่วล้อ มักจะเป็นประชาชนคนชั้นล่างผู้ด้อยสิทธิ และโอกาส หากเกิดความรุนแรง หรือมีการสูญเสีย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือ “ชนชั้นใต้ถุนสังคม”เหล่านี้เสมอมา แต่ครั้นการต่อสู้นั้นจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายประชาชน ผู้ที่เข้ามาเสวยสุขจากการต่อสู้ครั้งนั้นๆกลับเป็น “ชนชั้นกลาง” หรือพวก “เทคโนแครต” (พวกเสมอนอก) ทุกที

กว่าจะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสาระเอื้อต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ ประชาชนต้องสังเวยชีวิตเพื่อบวงสรวงเซ่นไหว้ความบ้าอำนาจป่าเถื่อนของรัฐบาลถ่อยครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับคนที่เข้ามารับผลประโยชน์เสวยสุขจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกลับเป็นคนอีกพวกหนึ่งที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในการต่อสู้เรียกร้อง มิหนำซ้ำบางคนยังทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อการขับเคลื่อนของประชาชนด้วยซ้ำ
(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
วันนี้ วาทกรรม “ไม่มีใครเอียงข้างประชาชน” ยังคงใช้ได้ดีอยู่กับสังคมไทย สังคมอำนาจนิยม ที่มีระบบอุปถัมภ์เข้มแข็งมากในทุกระดับชั้นของสังคม ยิ่งมีช่องว่างทางสังคมขยายออกมากเท่าไหร่ความเข้มแข็งของระบบอุปถัมภ์-อำนาจนิยมก็จะยิ่งเพิ่มดีกรีความแกร่งมากขึ้นจนลบเลือนสัจพจน์-สัจธรรมที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” เพราะคนดีไม่มีที่ยืน แต่คนชั่ว ประจบสอพลอตอแหลกลับได้ดิบได้ดีมีอำนาจอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง

จึงเป็นหน้าที่ของนักต่อสู้เพื่อสังคม (ที่ยังไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโต) ที่จะต้องพิสูจน์ให้ลูกหลานเห็นว่า การยืนยันหยัดบนเส้นทางสายความดีจะมีความจีรังยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจบารมีของคนถ่อยที่แผ่ขยายเครือข่ายเต็มบ้านเต็มเมือง เพื่อตอกย้ำว่า “เรามีอิสระได้โดยไม่ต้องยิ่งใหญ่ แต่เราจะยิ่งใหญ่ไม่ได้ถ้าไม่มีอิสระ”

วันนี้มีคนจำนวนหนึ่งกำลังท้าทายว่าคนชั่วช้าสามานย์อย่างพวกเขาในสายตาของ “คนดี” ทั่วไปเท่านั้นที่จะมีอำนาจ และโอกาสในการครอบครองตำแหน่งแห่งที่สำคัญในสังคมแล้วใช้อำนาจและโอกาสนั้นไปในการสร้างอาณาจักรแห่งอำนาจต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมโดยส่วนรวม จนเกิดภาพลักษณ์คล้ายที่ผู้นำจีคนหนึ่งเคยกล่าวว่า “ใช้ประโยชน์ส่วนรวมไปตอบแทนส่วนตัว” นั่นเอง
(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
ศาสดาทุกพระองค์ของทุกศาสนาในโลก (ยกเว้นศาสนซาตาน) ต่างยืนยันตรงกันว่า “คนดี” คือ ปรารถนาสูงสุดของทุกศาสนา แต่ศาสดาเหล่านั้นไม่มีใครยืนหยัดมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงวันนี้ วันที่ความเป็นมนุษย์เสื่อมถอยลง ความเป็นเดรัจฉานฉายชัดขึ้น และมนุษย์กำลังวัดคุณค่ากันที่การมีโอกาส และอำนาจทางเศรษฐกิจ และสังคมมากกว่าบุญญาบารมี หรือคุณความดี

“ความหวังถ้ายังมีก็อยู่ที่ประชาชน” อย่างที่ยอร์จ ออร์เวลส์ ว่าไว้จริงๆ แต่สำคัญว่า “ประชาชน” ที่ว่านี้ “อยู่ที่ไหน?” (ใครบอกได้ยกมือหน่อย)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น