xs
xsm
sm
md
lg

ความทรงจำสุดท้ายของชายชื่อ “เชือน ศรีวิโรจน์” (๔) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเข้ากราบนมัสการสมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธัมโม) วัดโสมนัสวิหาร (ขอบคุณภาพจาก http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=43558)
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
 
ลุงเชือนได้เล่าถึงบรรยากาศชุมชนตะเครียะ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  ปี พ.ศ.2484 ว่า  สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  คนตามชนบทต้องสุมไฟไว้ไม่ให้ดับ (เพราะไม้ขีดไฟแพงมาก กล่องละ  2  บาท  หาซื้อยาก  ต้องซื้อหลังร้าน  ราคาเท่ากับน้ำมันยางข้น  1  ปี๊บ)  ถึงเวลาหุงกินเอาเหยื่อไฟไปจ่อต่อไฟมาหุงต้มทุกครัวเรือน  มันลำบาก เงินมีแต่ไม่มีของที่ต้องการจะซื้อ  ขณะนั้นบ้านเรือนใครหลังคามุงสังกะสีต้องเอาทางมะพร้าวขึ้นไปปิดทับสังกะสี  กลัวข้าศึกมันทิ้งระเบิด…พวกทหาร  ตำรวจชวนกันเข้ามาขอผ้ายันต์ท่าน (หลวงพ่อปลอด วัดหัวป่า) ไม่เว้นวัน
 
ลุงเชือน เล่าถึงการบวชในสมัยก่อนว่า มีความแตกต่างกับในสมัยปัจจุบันเกือบจะสิ้นเชิง  การเป็นสมภารเจ้าอาวาสสมัยก่อนเป็นงานหนักมาก  กลางคืนต้องลงเดินตรวจตราไปทุกกุฏิทุกคืน  สวดมนต์ไหว้พระเสร็จก็เริ่มสั่งสอนอบรมพระเณรว่า  เราบวชกันทำไม  เมื่อไม่มีใครตอบท่านก็ตอบเสียเองว่า  บวชเพื่อเอาอานิสงส์  แล้วท่านถามต่อว่า  อานิสงส์คืออะไร  ท่านตอบเองอีกว่า อานิสงส์คือผลของการปฏิบัติดี  ปฏิบัติชอบ คือ ความสุข  เมื่อบวชเข้ามาแล้วต้องเรียนธรรมวินัย  จึงจะรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ  อะไรดี อะไรชั่ว  อะไรถูก อะไรผิด  ถ้าเราได้ศึกษาแล้วเราจะได้รู้ว่า พระพุทธเจ้าคือใคร  อยู่เมืองไหน  เป็นลูกของใคร  ทำไมท่านถึงบวช  แล้วท่านกล่าวทิ้งท้ายทำนองปรามว่า  ใครไม่เรียนนักธรรมจะขังไว้เอาขี้เหมือนวัวควายไม่ให้สึก
 
ลุงเชือน เล่าถึงโรงเรียนวัดหัวป่า  โรงเรียนที่ข้าพเจ้าเคยเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  เมื่อกว่า  40  ปีมาแล้วว่า  อดีตเจ้าอาวาสวัดหัวป่า (หลวงพ่อปลอด  ปุญญสโร) เป็นผู้ริเริ่มตั้งขึ้น  อาศัยโรงธรรมศาลาวัดปี พ.ศ.2481  ปีที่ลุงเชือนบวช  ครูผัด  จันทน์เสนะ (บิดาของนายบัญญัติ  จันทน์เสนะ  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  อดีตอธิบดีกรมที่ดิน และอดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด) สอนอยู่คนเดียว  เป็นทั้งครูน้อย และครูใหญ่  ในโรงธรรมวัดไม่มีฝากั้น  เด็กนักเรียน ป.1-2  แม่ต้องสานเสื่อกระจูดให้มารองนั่ง  พอฝนตกลมแรงเด็กต้องเอาเสื่อขึ้นห่อตัวกันฝน  ป.3-4  พอได้นั่งเก้าอี้ไม้
 
วันหนึ่งครูผัดไปบอกเจ้าอาวาสว่า  ปีนี้กระทรวงธรรมการ ให้งบประมาณสร้างโรงเรียนหลังหนึ่ง  600  บาท  ขนาด  4  ห้องเรียน  ทำตามแบบแปลนของกระทรวง  เจ้าอาวาสไปเอาหินจากควนทะเลโมงมาหล่อเสาโรงเรียน  โดยล่องเรือไปทางบ้านพราน  เอาทรายจากลำปำ พัทลุง  ซื้อไม้เสาจากบางแก้ว พัทลุง  20  กว่าเสา  บรรทุกเรือพ่วงมาใช้เวลาเดินทาง  3  วัน  2  คืน  เมื่อได้ไม้กระดานจากพ่อค้าไม้ชาวบ้านดอน นครศรีธรรมราชแล้ว  เจ้าอาวาสก็ให้ชิกแผ้ว ช่างคนจีนจากทะเลน้อยผู้ชำนาญเรื่องงานปูนลงมือหล่อเสาสูง  1.70  เมตร  เมื่อหล่อเสาเสร็จจีนเจ้าสุกเข้ามาเหมาทำจนเสร็จในราคา  350  บาท  มีลูกน้อง  3  คน  รับค่าแรงวันละ  1  บาท
 
งบประมาณ  600 บาท  ให้ช่างสุกเสีย  350  บาท เหลือเงินเพียงเล็กน้อยท่านต้องเป็นหนี้เถ้าแก่จู้ทิ่นจำนวนมาก  เถ้าแก่คนนี้เคารพนับถือท่านมาก  ปีนั้นโชคดีที่ชาวบ้านทำนาได้ผลดีทั่วทุ่ง  พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จท่านออกเดินขอข้าวเลียงทุกหมู่บ้าน  ทั้งบ้านเสาธง  ล่องลม  บ้านขาว  บ้านพราน  บ้านคูวา  เก็บรวบรวมไว้ที่บ้านที่มีพื้นที่กว้างขวางพอ  ส่วนบ้านตะเครียะมีลำคลองให้ใส่เรือมาเก็บไว้ที่สัดในวันสงกรานต์  ปรากฏว่า ได้ข้าวเลียงไม่น้อยกว่า  10  เกวียน  แต่ยังไม่พอใช้หนี้  จนต้องจัดงานเทศน์มหาชาติจึงหมดนี้
 
โรงเรียนประชาบาลตะเครียะ  3  วัดหัวป่า ได้งบประมาณมา  600  บาท แต่ต้องใช้งบประมาณจริงถึง  3,000  กว่าบาท  เทียบเงินสมัยนี้ไม่ต่ำกว่า  3  ล้านบาท  เสาธงไม้ตะเคียนทองยาว  10  เมตรเศษ  ได้มาจากตำบลเคร็ง  อำเภอชะอวด  จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
ลุงชวน เล่าถึงประวัติท่านสมเด็จพระวันรัตน์ (จับ  ฐิตธัมมเถระ) เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร  ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวตะเครียะว่า  เริ่มบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ  17  ปี ที่วัดตะเครียะบน (วัดเกษตรชลธี)  สอบนักธรรมตรีได้ในปีเดียวกัน  ปีต่อมาสอบได้นักธรรมโท  ไปเยี่ยมพระอุปัชฌาย์ที่วัดประดู่หอม  อำเภอควนขนุน  จังหวัดพัทลุง  พระอุปัชฌาย์ขอร้องให้ท่านเป็นครูสอนนักธรรมแก่พระเณรทั้งๆ ที่ท่านเป็นสามเณร  จนอายุครบอุปสมบท ท่านก็เรียนนักธรรมชั้นเอก  สอบนักธรรมชั้นเอกที่กรุงเทพฯ ได้ในปี พ.ศ.2473  สอบ ปธ.3  ได้ในปี  2472  สอบ ปธ.4  ได้พร้อมกับนักธรรมชั้นเอก  สอบ ปธ.5  ได้ในปี  2474  สอบ ปธ.6  ได้ใน ปี 2475  สอบ ปธ.7 ได้ในปี  2477  สอบ ปธ.8  ได้ในปี  2480  สอบ ปธ.9  ได้ในปี  2485  ปี  2497  ท่านได้รับนิมนต์ไปเป็นกรรมการร่วมในพิธีทำสังคายนาพระธรรมวินัย  ครั้งที่  6  ที่ประเทศพม่า  ได้รับสมัญญานามว่า พระไตรปิฎกเคลื่อนที่แต่นั้นมา
 
“ช้างเผือกเชือกไหนเกิดในเมือง
มันเป็นเรื่องน่าคิดปริศนา
และช้างเผือกเชือกไหนอยู่ในป่า
ของคู่ควรพระราชามาคู่กัน
ดุจมนุษย์สุดเลิศเกิดในทุ่ง               
เข้าอยู่กรุงปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
สร้างประโยชน์นานาสารพัน
ให้โลกลั่นเลื่องลือชื่อขจร”
 
เท่าที่รู้ และเห็นมา พระผู้ใหญ่มักจะรวยทั้งทรัพย์สิน และเงินทองทั้งนั้น  แต่ท่านสมเด็จพระวันรัตน์องค์นี้ตอนมรณภาพ ไม่ปรากฏว่าท่านมีเงินเหลือใช้อยู่มากน้อยเท่าใด  ไม่มีลูกหลานคนไหนได้เงินท่านไปร่ำรวย  นอกจากส่งเสียให้เรียนหนังสือ
 
สำหรับชลประทานท่งระโนด หรือ “โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์”  ลุงเชือนเล่าว่า  มาเริ่มตั้งหัวงานที่บ้านหัวป่า  ท่านไปสมัครเป็นคนเดินนำติดต่อเจ้าของที่นา  มีเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทานท่านหนึ่ง ชื่อ  สมร  จันทรบุปผา  เดินตามไปติดต่อชาวบ้านถึงบ้านศาลาหลวง  ขี้นาค  เดินเท้าไป-กลับวันละหลายกิโลเมตร  เจ้าของที่บางคนไม่ยอมให้ที่ดิน  ต้องใช้เวลาพูดกันนานๆ ถึงจะยอมให้  รถลงมือปรับที่สร้างคลองสายใหญ่ และคลองเล็กๆ ถึงบ้านหนองอ้ายแท่น
 
ลุงเชือน พูดถึงความนิยมส่งลูกหลานให้เรียนหนังสือสูงๆ ของคนตะเครียะว่า  ท่านเจ้าคุณวัดโสมนัสฯ ท่านออกมาเยี่ยมโยมท่านปีละครั้งสองครั้ง  ชาวบ้านมาต้อนรับกราบไหว้  ท่านจะสั่งสอนให้ส่งเสริมการเรียนการศึกษาของบุตรหลานเสมอ  คนจึงตื่นตัวให้ลูกเรียนมากเพราะท่านชักนำ
 
ความเป็นมาของข้าวพันธุ์ กข  กรมการข้าว  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศผ่านทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ว่า  บัดนี้กรมการข้าวได้ผสมพันธุ์ข้าวเจ้า  กข 1-3  ประเมินผลผลิตแล้วได้ไร่ละ  80-90  ถัง  ถ้าดูแลดีอาจจะได้ถึง  100  ถัง  ซึ่งตอนนั้นข้าวพันธุ์อื่นๆ อย่างดีก็ได้ไร่ละ  30  ถังกว่าๆ  กรมการข้าวยินดีนำเมล็ดพันธุ์ให้ผู้ที่ต้องการจะปลูก  พร้อมด้วยปุ๋ย  ยาปราบศัตรูพืช  เครื่องพ่นยา  ลุงเชือนเขียนจดหมายแจ้งความจำนงไปยังกรมการข้าว  ไม่ถึงสองอาทิตย์เจ้าหน้าที่จากกรม  3  คนก็นำทุกอย่างมาให้ถึงบ้าน  แนะนำการใช้เครื่องพ่นยา และอื่นๆ  ก่อนเดินทางกลับสั่งว่า ก่อนจะเกี่ยวข้าวให้รายงานไปให้ทราบจะมาประเมินผลให้
 
(อ่านต่อตอนที่  5)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น