xs
xsm
sm
md
lg

ความทรงจำสุดท้ายของชายชื่อ “เชือน ศิวิโรจน์” (๒) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ข้าพเจ้าเขียนบทความเกี่ยวกับข้อเขียนของลุงเชือน (ชายชราวัยเกือบร้อยปีที่พยายามจะบันทึกความทรงจำอันยาวนานร่วมร้อยปีของตนให้ลูกหลานในชุมชนตะเครียะ ได้รับรู้เรื่องราวอันดีงามของบรรพชน) ตอนที่ ๑ ออกเผยแพร่แล้ว ก็ทิ้งช่วงเงียบหายไปแรมเดือน จนมีผู้ติดต่อสอบถามมาว่าบทความตอนที่สอง หรือตอนจบเขียนยัง และจะเข้าถึงข้อมูลนี้ได้อย่างไร
 
ก่อนหน้านี้ หญิง-ชีวพร  แกล้วทนงค์  ลูกสาวอดีตกำนันสุชล  แกล้วทนงค์  ทายาทของผู้กว้างขวาง “นุ่ม  แกล้วทนงค์” หรือ “ขุนตระการตะเครียะเขต” ได้โทร.มาสอบถามว่า ข้าพเจ้าเขียนอะไรเกี่ยวกับลุงเชือนไปลงมติชน  เพราะมีคนใต้ในมติชนบอกมา  ข้าพเจ้าจึงต้องมาเขียนถึงลุงเชือนต่อในฉบับนี้
 
ประกอบกับเมื่อวันอาทิตย์ที่  ๒๐  กรกฎาคม  เวลาย่ำค่ำ  ข้าพเจ้าได้รับโทร.จากพี่สถิต  ศิวิโรจน์  ลูกชายผู้ดูแลลุงเชือน และภรรยาอยู่ที่บ้านหนองลาน  ตำบลตะเครียะ แจ้งว่า ลุงเชือน ไม่สบาย  ติดเชื้อในปอด  มีอาการไอและเจ็บหน้าอก มานอนพักรักษาตัวอยู่ที่ห้องพิเศษ  ตึกอายุรกรรมชาย  รพ.สงขลา  บ่ายวันจันทร์ที่  ๒๑  กรกฎาคม  ข้าพเจ้าจึงแวะไปเยี่ยมเยือนให้กำลังใจลุงเชือน ในฐานะคนเคารพนับถือเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง  แม้ว่าข้าพเจ้าจะเพิ่งรู้จักลุง และพี่สถิตเมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม
 
ทันทีที่เห็นหน้าข้าพเจ้า  ลุงเชือน ก็เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง ทั้งเรื่องการทำหน้าที่ของหมอ และพยาบาลที่ลุงไม่ค่อยพึงพอใจเท่าไหร่  และเรื่องการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ทำคุณประโยชน์แก่ชุมชนตะเครียะที่เขียนค้างไว้  บอกว่าค่อนข้างเหนื่อยกับการเขียน  เหนื่อยทั้งมือ และเหนื่อยทั้งตาที่หาเลนส์มาใช้ไม่ได้แล้ว  ข้าพเจ้าเลยแนะนำให้ลุงพูดใส่เทป  แล้วข้าพเจ้าค่อยไปทำหน้าที่ถอดเทปให้  แต่ก็คงยากเพราะเรื่องนี้ลุงต้องเล่าโดยมีคนนั่งฟังด้วย  ไม่ใช่นั่งพูดอยู่คนเดียวทั้งวัน  อาจจะถูกมองว่า “ไม่บาย” (ที่ไม่เกี่ยวกับป่วยไข้) ได้
 
ล่าสุด ข้าพเจ้ามีต้นฉบับลายมือเขียนของลุงเชือน ที่ถ่ายสำเนาจาดสมุดสำหรับนักเรียน  ๒  ชุด  จำนวน  ๑๖๔  หน้า กับ  ๑๑๒  หน้า ที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน เพราะชุดหนึ่งเป็นชุดร่างแรก อีกชุดหนึ่งเป็นชุดที่ลุงลอกใหม่พร้อมทั้งปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  เนื้อหาที่ต่อเนื่องจากเรื่องราวในครอบครัวของลุงเอง  แล้วก็เป็นเรื่องราวของความเป็นมาของชุมชนตะเครียะ ที่คนเฒ่าคนแก่เคยเล่าให้ฟังว่า  ตา หรือพ่อเฒ่าของลุงชวนพี่ๆ น้องๆ หลายคนมาจับจองที่ดินว่างเปล่า  ตัดแบ่งเป็นแปลงๆ แบ่งปันกันตั้งแต่บ้านปากบางตะเครียะขึ้นไป  แถวนั้นมีต้นตะเถียะต้นใหญ่อยู่ปากคลอง  อันเป็นที่มาของ “ตะเครียะ” ที่ลุงเชื่อว่าเพี้ยนมาจาก “ตะเถียะ”  ต่อมามีคนอื่นๆ มาจับจองเรียงรายกันไปทางทิศเหนือ  เมื่อมีคนมาอยู่มากขึ้นทางราชการก็แต่งตั้ง “ตาหมื่นศักดิ์” เป็นกำนัน  ตาหมื่นศักดิ์ เป็นพี่ชายของตาแก้ว พ่อเฒ่าของลุงเชือน
 
เมื่อกำนันหมื่นศักดิ์ เกษียณอายุราชการไปแล้ว  ทางราชการได้แต่งตั้ง นายจุไล่  นิตย์โชติ (บิดาของยายของนายบัญญัติ  จันทเสนะ  อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด  อดีตอธิบดีกรมที่ดิน  และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย) เป็นกำนัน  เมื่อกำนันจุไล่ ถึงแก่กรรม  ทางราชการจึงแต่งตั้ง นายนุ่ม  แกล้วทนงค์  เป็นกำนันสืบมา  ต่อมาได้เลื่อนเป็น “ขุนตระการตะเครียะเขต” ชาวบ้านเรียก “ท่านขุนฯ” หรือ “ท่านขุนเครียะฯ”
 
ลุงบอกว่า ท่านขุนฯ มีภรรยา  ๕  คน  แต่นายประเสริฐ  แกล้วทนงค์  บอกว่า  ๗  คน  ภรรยาคนแรกชื่อ มี มีบุตรด้วยกัน  ๓  คน  ภรรยาคนที่สองชื่อ ทองคง  ไม่มีบุตร  ภรรยาคนที่สามชื่อ ทองสุ้น  มีบุตร  ๕  คน  ภรรยาคนที่สี่ชื่อ คล้าย  มีบุตร  ๕  คน  ภรรยาคนที่ห้าชื่อ พราก  มีบุตร  ๒  คน
 
ต่อจากนั้น ลุงเชือน ก็เขียนถึงผลงานของกำนันตระกูล “แกล้วทนงค์” แต่ละคนด้วยความชื่นชมยกย่องในความเก่งกล้าสามารถ  เริ่มจากท่านขุนฯ ที่ชักชวนชาวบ้านพัฒนาคลองโพธิ์  ร่วมกับผู้ใหญ่จวน  ศิรินุพงศ์ (บิดาของนายสุรใจ  ศิรินุพงศ์  อดีตอธิบดีกรมสรรพากร  อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา  จ.สงขลา)  ใช้เป็นเส้นทางสำคัญไปตัดไม้ในพรุ และหาปลาในฤดูฝนได้สะดวกสบาย
 
กำนันฉุ้น  แกล้วทนงค์  ลูกชายท่านขุนฯ ได้พัฒนาตลองโพธิ์ต่อจากท่านขุนฯ โดยขยายให้กว้าง  ลึก และยาวไปถึงพรุคลองกก  ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน  นอกจากนั้น กำนันฉุ้น ยังมุ่งมั่นในการปราบปรามโจรผู้ร้าย และการพนัน  กวดขันเรื่องภาษีที่นา  การดูแลริมคลองหน้าบ้านของแต่ละคนไม่ให้รกเรื้อเป็นที่รกหูรกตา หรือกีดขวางการสัญจรไปมาทางเรือในคลอง  กำนันฉุ้น เสียชีวิตเพราะมีบาดแผลจากการต่อสู้กับ “ทับ  ลำพาย” นักเลงการพนัน-พ่อค้าวัวจากบ้านลำพาย  จังหวัดพัทลุง
 
เมื่อกำนันฉุ้น ถึงแก่กรรมชาวบ้านได้ไปเชิญ นายเลื่อน  แกล้วทนงค์  พี่ชายกำนันฉุ้น ที่ไปตั้งรกรากอยู่ที่ป่าพะยอม  จ.พัทลุง  มาเป็นกำนันโดยไม่มีคู่แข่ง  นายเลื่อน ได้พัฒนาคลองที่ตื้นเขิน  ตั้งแต่ปากคลองบ้านสามอ่างไปบ้านหนองถ้วย  จากบ้านมาบกำลงมาบ้านสามพาน  ไปบ้านพราน  ซื้อที่ดินสร้างวัดหนองถ้วย  ชื่อวัดแกล้วทรงธรรม”  สร้างโรงเรียนวัดเกษตรชลธี (เลื่อนประชาคาร)  เป็นต้น
 
เมื่อกำนันเลื่อน เกษียณอายุ  นายใจ  แกล้วทนงค์  น้องชายต่างมารดาลงสมัครโดยไม่มีคู่แข่ง  กำนันใจ ลงมือขุดคลองจากบ้านปากเหมือง ไปบ้านล่องลม  ต่อมา หันมาตัดถนนสายปากบางตะเครียะ ไปบ้านปากเหมือง  จากบ้านปากเหมืองไปบ้านหนองถ้วย  จากปากเหมืองฝั่งตะวันตกผ่านหน้าโรงเรียนบ้านดอนแบกไปสุดเขตบ้านหนองนุ้ย  ถึงเขต อ.หัวไทร  จ.นครศรีธรรมราช  สายหัวป่า-บ้านขาว  ดำเนินการวิ่งเต้นก่อตั้งโรงเรียนตะเครียะวิทยาคม  แต่มาถูกฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดเสียก่อนในปี  ๒๕๒๐
 
เมื่อกำนันใจ ถึงแก่กรรม  นายสุชล  แกล้วทนงค์  น้องชายลงสมัครรับเลือกตั้ง  มีคนแข่งหนึ่งคน  แต่คนคนนั้นไม่ได้รับการเลือกตั้ง  กำนันสุชล เริ่มทำหน้าที่กำนันโดยการตัดถนนสายปากบาง-ปากเหมือง ฝั่งคลองตะวันตก  ตัดถนนซอยถึงหนาบันไดบ้านทุกครัวเรือน  แล้วราดยางถนนสายดอนแบก-บ้านขาว
 
เมื่อหมดสมัยของกำนันสุชล  ลูกๆ หลานๆ ในตระกูลแกล้วทนงค์ ไม่มีใครสืบทอดตำแหน่งกำนัน  แต่หันไปเป็นนักการเมืองท้องถิ่นระดับ อบต. และ อบจ. การเมืองท้องถิ่นระดับต่างๆ เริ่มเข้าสู่ยุค “ล้มวัวแจกเนื้อ” ในวันรู้ว่าชนะการเลือกตั้งนับแต่นั้นเป็นต้นมา
 
(อ่านต่อตอนที่ ๓)
 
 

ไม่มีใครเอียงข้างประชาชน / จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
ไม่มีใครเอียงข้างประชาชน / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
๓๐ กว่าปีของการก้าวเดินบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ จนย่างเข้าสู่วัยชราใกล้เกษียณอายุราชการ ข้าพเจ้าก็เห็นปรากฏการณ์ “ไม่มีใครเอียงข้างประชาชน” มาครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งไกลตัวและใกล้ตัวจนหายใจรดต้นคอ โดยเฉพาะคนที่ประกาศตัวเป็น “คนของประชาชน” ส่วนใหญ่พอมีโอกาสและอำนาจก็ไม่ได้เข้าข้างประชาชน พวกเขามักจะเข้าข้างผู้มีโอกาสและอำนาจจนเป็นเนื้อเดียวกันเพื่อรักษาโอกาสและอำนาจที่พวกเขาแสวงหามาค่อนชีวิตไว้ให้ยืนนานที่สุด ท่ามกลางเสียงสาปแช่งของคนทุกข์ยากทั่วแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น