xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรมของระบอบประชาธิปไตยไทย / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
--------------------------------------------------------------------------------
 
 
แม้ว่าส่วนใหญ่เราจะรับรู้กันอยู่ว่า  ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อวันที่  ๒๔  มิถุนายน  ๒๔๗๕ หรือเมื่อประมาณกว่า ๘ ทศวรรษมาแล้ว  แต่ในความเป็นจริงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อวิวัฒน์ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕  รัชกาลที่ ๖ มาแล้ว
 
แต่ทำไมระบอบประชาธิปไตยไทยจึงล้มลุกคลุกคลาน มีการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยข้ออ้างเดิมๆ ว่า  มีการทุจริตคอร์รัปชัน  มีความขัดแย้งแตกแยกนำสังคมไปสู่ความรุนแรง  กลายเป็น “วัฏจักรอุบาทว์” คู่การเมืองไทยจนมาถึงปัจจุบัน
 
คำกล่าวอ้างที่ว่า “ประชาชนยังไม่พร้อม” ถูกนำมาอ้างตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันนี้  แรกๆ อ้างเพื่อให้รัฐสภาไทยมีสมาชิกรัฐสภา ๒ ประเภท คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะเชื่อว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอาจจะมีความรู้ ความสามารถไม่มากพอในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ และกำกับการบริหารประเทศของรัฐบาล จึงต้องมี ส.ว.มาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงของ ส.ส.อีกทีหนึ่ง
 
บางยุคบางสมัยเราถกถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายว่า “เราควรจะมี ส.ว.ต่อไปหรือไม่ ถ้ามีจะให้ทำหน้าที่อะไร และมีที่มาอย่างไร แต่ในที่สุดเราก็ยังคงมี ส.ว.จนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่หลังๆ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งบ้าง โดยการสรรหาบ้าง และมีแนวโน้มว่า ส.ว.จะมาจากการแต่งตั้งแบบกลายๆ อีกครั้ง
 
กว่า ๘ ทศวรรษที่แล้ว ระดับการศึกษาของประชาชน สมัยก่อนตอนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ปวงชนส่วนใหญ่ยังด้อยการศึกษา ชาวชนบทส่วนมากได้รับการศึกษาแต่ภาคบังคับ ต่อมา ประชาชนไทยได้รับการศึกษาสูงกว่าระดับภาคบังคับมากขึ้น เมื่อมีการขยายการศึกษาไปสู่ชนบทมากขึ้น โดยการมีโรงเรียนมัธยมประจำตำบล ประจำอำเภอ และประจำจังหวัด ต่อมา มีโรงเรียนขยายโอกาส จนปัจจุบันการคมนาคมติดต่อ ถนนหนทาง และเทคโนโลยีทางการคมนาคมเจริญก้าวหน้า และทั่วถึง ปัจจุบันประชาชนคนไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างต่ำ ม.๓ และ ม.๖ และขยายภาคบังคับจาก ป.๔ เป็น ป.๖
 
แต่ข้อจำกัดในทางการเมืองก็ยังคงมีเหมือนเดิม คือ รัฐสภาก็ยังมีสมาชิก ๒ สภาเหมือนเดิม แต่ยังดีที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ขยายโอกาสในการทำหน้าที่เลือกตั้งของพลเมืองจากอาย ๒๐ ปีบริบูรณ์ หรือบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายมาเป็น ๑๘ ปีบริบูรณ์ แต่ดุลพินิจในการเลือกตั้งของประชาชนก็ยังไม่เป็นที่ไว้วางใจของทางราชการ และนักการเมือง โดยเฉพาะประชาชนในชนบทยังถูกมองว่ามีพฤติกรรม “ขายเสียง” และตกเป็นเหยื่อของ “นักเลือกตั้ง” ที่ไม่มีอุดมการณ์ และใช้เงินเป็นใบเบิกทางเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่เรียกว่า “เอาคืน”
 
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี ๒๕๓๕  กระแสการกระจายอำนาจ หรือคืนอำนาจให้แก่ท้องถิ่น ได้รับการขานรับจากประชาชน จนนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ จนได้ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๔๐ ที่เพิ่มสิทธิ เสรีภาพให้แก่ประชาชน และชุมชนมากขึ้น มีองค์กรอิสระ และองค์กรทางการเมืองที่มีความสำคัญ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ  คณะกรรมการการเลือกตั้ง ฯลฯ
 
แต่จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนคือ สิทธิเสรีภาพ หรือสิ่งดีๆ ใหม่ๆ ตามรัฐธรรม ถูกคุมกำเนิด หรือบอนไซด้วยข้อความในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ว่า “…ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และผู้มีอำนาจและหน้าที่ในช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ยอมบัญญัติกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ และต่อการพัฒนาการเมืองไทย โดยเฉพาะกฎหมายประชาพิจารณ์ กฎหมายประชามติ กฎหมายการมีส่วนร่วมในการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายของประชาชน เป็นต้น
 
มาถึงสถานการณ์โค่นล้มระบอบทักษิณด้วยข้อหาเดิมๆ จนทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีฉายาว่า “ตาดูดาว เท้าติดดิน” เพราะเป็นเจ้าพ่อการสื่อสาร และมีนโยบายช่วยเหลือคนจน “ทำสงครามกับยาเสพติด และทำสงครามกับความยากจน” แต่ในที่สุดตัวเองต้องไปนอนนับดาว และเท้าไม่ติดดินอยู่ในต่างประเทศจนทุกวันนี้ โดยมีคนที่เป็น “นอมินี” คนแล้วคนเล่า บางคนเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่มีโอกาสได้นั่งในทำเนียบแม้เพียงวันเดียวก็มี
 
สถานการณ์หลังวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นับเป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นอีก หลังจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ แต่มันก็เกิดขึ้นอีก เพราะความไม่สมประกอบของพรรคการเมือง และนักการเมืองที่ไม่ยอมปฏิรูปตัวเองตามรัฐธรรมนูญ และตามความคาดหวังของประชาชน
 
นับจากเดือนกันยายน ๒๕๔๙ เป็นต้นมา สังคมไทยก็แตกเป็น ๒ ขั้วใหญ่ๆ ภายใต้อุดมการณ์เสื้อสี และทั้งสองกลุ่มก็ยึดโยงกับพรรคการเมือง และสถาบันหลักของสังคม จนนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกอย่างไม่จำแนกแยกแยะ แม้ว่าเครื่องมือสื่อสาร หรือเทคโนโลยีในยุคข่าวสารไร้พรมแดนจะมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งกว่าสมัยใดๆ แต่ “คน” ก็ยังอยู่ในสังคม “ด้อยพัฒนา” เหมือนเดิม คือ ยังยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าเหตุผลตามระบอบประชาธิปไตย  ยึดมั่นอยู่กับความเชื่อ หรือสิ่งที่ตัวเองอยากเชื่อมากกว่าความจริง  ใช้ความรู้สึก และความศรัทธาในการขับเคลื่อนความต้องการทางการเมืองของตน และของกลุ่ม มากว่าใช้ปัญญาหรือความรู้ในการตัดสินใจ
 
ผมเคยทดลองโยนประเด็นความเห็นเกี่ยวกับผู้นำของแต่ละฝ่ายลงไปในสื่อสาธารณะ ปรากฏว่า แรงเสียดทานที่โต้กลับมาเต็มไปด้วย “ความคิดแบบขยะ” หรือ “ความคิดที่ไม่ผ่านสมอง” หลั่งไหลเข้าหาจนผมต้องหยุดทดลองนำเสนอกับทั้งสองฝ่ายที่มีความเชื่ออย่างฝังหัวด้านเดียว ไม่เปิดใจรับฟังความเห็นที่แตกต่างแบบ “สาวก” ไม่ใช่ “สมาชิกกลุ่มธรรมดาๆ” ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่า เราน่าจะยังห่างไกลจากสังคม “หลังสมัยใหม่” ตามที่เราใฝ่ฝันและพยายามจะเดินไปสู่
 
ต้องขอบคุณความเห็นแย้งที่แลกเปลี่ยนกันบนพื้นฐานของความรัก ความเข้าใจ และขอแผ่เมตตาให้แก่ความรู้สึกที่เต็มไปด้วยอารมณ์กักขฬะ เถื่อนถ่อยทั้งหลาย (ซึ่งมีเพียงส่วนน้อย) ซึ่งธรรมดาโลกในวัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมด้อยพัฒนา ย่อมมีวัฒนธรรม ๓ แบบคละเคล้ากันไป นั่นคือ วัฒนธรรมการเมืองแบบไพร่ฟ้า-คับแคบ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ-มีส่วนร่วม และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า-มีส่วนร่วม.
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น