xs
xsm
sm
md
lg

ตามหา “พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง” ที่หายไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
เรื่อง : จำนง ศรีนคร / ภาพ : Ta trangtoday
 
เมื่อเร็วๆ นี้ “เมืองตรัง” เหมือนกับอีกหลายเมืองทางภาคใต้ที่คึกคักไปทั้งเมืองกับขบวน “เรือพระ” จากวัดต่างๆ รวมทั้งพุทธศาสนิกชนคนตรังผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ต่างออกมาร่วมแรงร่วมใจกันลากเรือพระ และร่วมทำบุญเนื่องในช่วงออกพรรษา..แต่ที่จะเล่าต่อจากนี้คือ คุณรู้ไหมว่า “พระพุทธสิหิงค์” ล้ำค่าของ “คนตรัง” หายไปไหน?...
 
พระพุทธสิหิค์เมืองตรัง องค์จริง
 
“ประเพณีลากพระ” ถือเป็นประเพณีเก่าแก่คู่ “เมืองตรัง” มายาวนาน สำหรับ “ประเพณีลากพระเมืองตรัง” หรือบางคนก็เรียกว่า“ชักพระ” ครั้งนี้ในส่วนของงานสมโภชเรือพระที่เริ่มจัดใหญ่โตเป็นเรื่องเป็นราวก็เป็นครั้งที่ 14 แล้ว แต่ประเพณีเก่าแก่นั้นยาวนานเกินกว่าจะสืบเอาอายุได้
 
งานประเพณีลากพระเมืองตรัง จัดขึ้นที่ลานเรือพระ สนามทุ่งแจ้ง อำเภอเมืองตรัง ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 9 ตุลาคม พี่น้องชาวตรังได้ช่วยกันลากเรือพระออกจากวัดต่างๆ ทั้ง 10 อำเภอมุ่งตรงสู่ลานเรือพระ เพื่อเข้าร่วมการประกวด และโชว์เรือพระ โดยปีนี้มีเรือพระเข้าร่วมงาน 89 วัด 89 ลำ ได้แก่ เรือพระขนาดใหญ่ 68 วัด (ร่วมประกวด 67 วัด ที่เหลือแสดงโชว์) และเรือพระขนาดเล็ก 21 วัด (ร่วมประกวด 19 วัด ที่เหลือแสดงโชว์) มีการจัดกิจกรรมภายในงานตลอด 8 วัน 8 คืน เปิดให้ชมเรือพระ และทำบุญเรือพระทั้ง 89 ลำ การประกวดเรือพระฟังปาฐกถาธรรม หรือแม้แต่กิจกรรมพื้นบ้านหาดูยาก อย่างแข่งขันตะกร้อลอดห่วง ประกวดขบวนแห่เรือพระ การประกวดวงกลองยาว แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน และกิจกรรมอนุรักษ์ภาษาถิ่นใต้อีกมากมาย
 
แต่ภาพเรือพระที่ถูกตกแต่งประดับประดาอย่างงดงาม คงไม่ทรงพลังยิ่งกว่ารอยยิ้ม และสีหน้าเปี่ยมสุขของชาวบ้านที่มาช่วยกันลากเรือพระ ซึ่งมีทั้งคนแก่ หนุ่มสาว เด็กเล็ก บางกลุ่มก็มากันทั้งครอบครัว ลากไปก็ส่งเสียงเฮโลเรียกเรี่ยวแรง และกำลังใจ คนไม่ลากก็ส่งเสียงเชยร์ คนแก่อายุน่าจะเกิน 60 จับหัวเชือกแถวหน้าด้วยสีหน้ามุ่งมั่น พร้อมสอนหลานให้จับเชือกหัดลาก บางกลุ่มมากันทั้งครอบครัว สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ “ทรงพลัง” และช่วยสืบสานประเพณีอันทรงคุณค่าให้ยืนหยัดมาได้จนวันนี้ มากกว่าวัตถุสวยงามที่แต่งอยู่บนเรือพระ ซึ่งภายในความสวยงามบนเรือพระเหล่านั้น คือ “พระธรรม” ที่คนจำนวนไม่น้อยยังคงศรัทธายึดปฏิบัติอยู่
 
จะว่าไปสำหรับ “เมืองตรัง” ในด้าน “พระพุทธศาสนา” ก็มีวัดวาอารามมากมาย วัดหลายแห่งเก่าแก่โบราณอายุหลายร้อยปี แต่หลายแห่งก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และตามจำนวนคนเข้าวัดที่น้อยลงทุกที จากบันทึก และหนังสือหลายเล่มใน “หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ ของตรัง” ได้เล่าเรื่องราวของวัดในเมืองตรังไว้มากมาย ทั้งในแง่โบราณวัตถุอันล้ำค่า ตำนาน ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ ที่ล้วนเชื่อมโยงกับรากเหง้าการก่อกำเนิดเมือง รวมทั้งบรรพบุรุษของเรา เป็นเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจหลายวัดได้เป็นอารามหลวง หลายวัดเป็นแหล่งปฏิบัติธรรม หลายวัดมีพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณหายาก
 
พระพุทธสิหิค์เมืองตรัง องค์จำลอง
 
ก่อนหน้านี้ ในช่วงยังไม่ออกพรรษา ผมได้มีโอกาสร่วมทีมกับคณะถ่ายทำสารคดีคณะหนึ่งจากกรุงเทพฯ เราเดินทางไปตามวัดเก่าแก่ต่างๆ หลายวัดในเมืองตรัง เพื่อตามรอยประวัติศาสตร์ ตำนาน และเรื่องราว
 
และเพื่อตามหา “ความจริงที่ถูกลืมเลือน” ของเรื่องหนึ่งคือ “พระพุทธสิหิงค์เมืองตรังที่หายไป” 
 
สำหรับ “พระพุทธสิหิงค์” และ “วัดพระพุทธสิหิงค์” ในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่องค์ ไม่กี่วัด ซึ่งล้วนมีตำนานต่างกันไป เช่น ที่เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช กรุงเทพฯ และที่ “เมืองตรัง”
 
“วัดพระพุทธสิหิงค์” ของ “เมืองตรัง”ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลนาโยงเหนือ อำเภอนาโยง ห่างตัวเมืองตรัง 10 กว่ากิโลเมตร เป็นวัดโบราณ ตำนานว่าเรียก “วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์” เดิมชื่อ “วัดกลาง” แต่เปลี่ยนไปเรียกตามชื่อพระพุทธรูปที่ประดิษฐานว่า “วัดพระพุทธสิหิงค์” ซึ่งปัจจุบันมีเพียง “พระพุทธสิหิงค์” องค์หล่อจำลองเท่านั้นที่ประดิษฐานอยู่
 
ส่วน “พระพุทธสิหิงค์” องค์จริงที่หล่อด้วยสำริด ซึ่งตำนาน “พระนางเลือดขาว” ตำนานผู้มีบุญญาธิการสร้างวัดเมืองตรังเป็นผู้สร้าง และนำมาจาก “ลังกา” อายุหลายร้อยปีนั้น ได้ถูกขโมยไป และยังตามหาไม่เจอจนวันนี้
 
แต่กระนั้นไม่ได้หายไปจาก “วัดพระพุทธสิหิงค์” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในตอนแรก แต่กลับหายไปในช่วงที่องค์สำริดถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่ “วัดหัวถนน” ตำบลนาพละ อำเภอนาโยง อย่างมีเงื่อนงำใน พ.ศ.2526
 
เรื่องนี้ “พระอธิการชู จนฺทโน” เจ้าอาวาสวัดพระพุทธสิหิงค์ และ “พระครูสุทธิโสภณ” เจ้าอาวาสวัดสวัสรัตนาภิมุข เจ้าคณะตำบลนาโยงเหนือ เล่าว่า “ไม่ได้หายไปอย่างปาฏิหาริย์ แต่คนใจบาปเป็นผู้เอาไป”
 
ในช่วงบ่ายที่ฝนค่อนข้างหนาเม็ด เราเดินทางไปที่ “วัดหัวถนน” เพื่อสืบสาวเรื่องราวของ “พระพุทธสิหิงค์เมืองตรังที่หายไป” เราได้สนทนากับคนเฒ่าคนแก่ และผู้ที่เคยได้เห็น “พระพุทธสิหิงค์” องค์สำริดดังกล่าว ทุกคนเล่าด้วยแววตาเศร้าสร้อยเสียดาย แม้เรื่องจะผ่านมากว่า 31 ปีแล้ว
 
คนแก่เล่าว่า ในอดีตชาวตรังเลื่อมใสศรัทธา “พระพุทธสิหิงค์” มาก ช่วงหลังที่นำมาประดิษฐานที่ “วัดหัวถนน” ในทุกเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีทางจังหวัดจะต้องจัดขบวนยิ่งใหญ่มาอัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” จาก “วัดหัวถนน” ไปให้พี่น้องประชาชนชาวตรังสักการบูชา สรงน้ำที่ศาลากลางจังหวัด มีการจัดงานสมโภชยิ่งใหญ่กันทุกปี ทั้งคหบดี ข้าราชการ ประชาชน จำนวนมากมาสรงน้ำ
 
สมัยก่อนการคมนาคมลำบาก มีถนนลูกรังเส้นเดียวคือ “ถนนตรังพัทลุง” รอบๆ “วัดหัวถนน” ยังเป็นทุ่งนาทั้งหมด ทางการจึงต้องตัดขบวนลงทาง “บ้านท่าปาบ” แล้วเดินกันมาตามคันนาลุยน้ำเพื่อมาอัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” ที่วัด
 
“คุณสีนวล” หรือ “เอื้อน คำวร” อดีตผู้ใหญ่บ้านหญิง หมู่ 6 ตำบลนาพละ ผู้รับรู้เรื่องราวของการตามหา “พระพุทธสิหิงค์” อย่างใกล้ชิด เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ว่า “พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง” จะมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนแห่งใดในประเทศไทย เพราะหล่อฐานด้านหน้าองค์พระให้มีห่วง เข้าใจว่าเพื่อเอาไว้ร้อยเชือกระหว่างเดินทางขนย้ายมาทางเรือที่ต้องเจอกับคลื่นลม ส่วนด้านหลังก็จะมีห่วงไว้เสียบฉัตร
 
ชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาก็จะมาบนบานศาลกล่าวความว่า.. “เดชะ พระพุทธสิหิงค์ ข้าพเจ้าของให้....” ไม่ว่าเรื่องเจ็บป่วย วัวควายหายให้ได้คืน หรือเรื่องทุกข์ต่างๆ ซึ่งเมื่อพ้นทุกข์ชาวบ้านก็จะมาแก้บนด้วย “ต้มเปียก” คือ การต้มข้าวแล้วปรุงรสด้วยการใส่น้ำตาล
 
ดังนั้น การหายไปของ “พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง” นอกจากจะเป็นการสูญเสียโบราณวัตถุทรงคุณค่าแล้ว ยังกระทบจิตใจพุทธศาสนิกชนคนตรังอย่างรุนแรง
 
คนเฒ่าคนแก่ในแถบนั้นเล่าเพิ่มเติมว่า ในช่วงหลังก่อนพระจะหายไป “วัดหัวถนน” ต้องตกเป็นวัดร้างบ้างในบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่จะมีพระสงฆ์มาจำวัด โดยในช่วงหลังมีเจ้าอาวาสท่านหนึ่งนำองค์พระที่ประดิษฐานในอุโบสถไปเก็บไว้ในกุฏิ แล้วหลังจากนั้นไม่นาน “พระพุทธสิหิงค์” ก็หายไปอย่างไร้ร่องรอยใน พ.ศ.2526 ชาวบ้านสอบถามอย่างไรก็ไม่ได้ความ
 
ประเพณีลากพระเมืองตรัง
 
นาฬิกาแห่งกาลเวลาหมุนเวียนไปกว่า 31 ปี พร้อมๆ กับเรื่องราวที่เริ่มเลือนออกจากความทรงจำคนรุ่นใหม่ แต่สำหรับคนเฒ่าคนแก่ “ฝันร้าย” นี้ได้ฝังลึกลงในหัวใจ จนยากที่จะล้างออกตราบใดที่ยังไม่ได้ “พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง” กลับคืนมา...
 
วันนี้ พ.ศ.2557 แล้ว คนรุ่นใหม่ ผู้เกี่ยวข้อง ผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองตรังว่าอย่างไรกับเรื่องนี้?...
 
ไปถามคนแก่ๆ แถบนาพระ นาหมื่นศรี นาโยง เกือบทุกคนที่เข้าวัดบอกตรงกันทุกคนว่า “พระพุทธสิหิงค์เมืองตรัง” ถูกคนใหญ่คนโตระดับประเทศเอาไปเป็นสมบัติส่วนตัว กระทั่งบุคคลดังกล่าวถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้คืน และไม่รู้ว่าครอบครัว และลูกหลานของคนใหญ่คนโตคนนั้น ได้เก็บรักษาไว้ต่อไปหรือไม่...
 
-----------------------------
 
เกี่ยวกับผู้เขียน
 
“จำนง (โต) ศรีนคร” จบปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต นิเทศศาสตร์ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม เดินออกจากอาชีพสื่อสารมวลชนมาเป็นนักข่าวและนักเขียนอิสระ ส่วนใหญ่พำนัก และทำงานอยู่ใน จ.ตรัง บ้านเกิด และยังคงเขียนงานสารดี บทความ ข่าว สกู๊ปพิเศษ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ newstoe@hotmail.com

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น