ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เริ่มชัดเจนแล้วว่า เรื่องนี้จะจบอย่างไรกับ “โครงการสร้างโรงแรมครูที่ จ.เชียงใหม่” ที่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2554 เมื่อมีข่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย” รมว.ศึกษาธิการ ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง
กรณีที่มีการร้องเรียนในเรื่องที่ “นายสมคิด หอมเนตร” สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) และสมาชิกเครือข่ายภาคประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ได้ยื่นหนังสือผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 3 สมัย ตั้งแต่ สมัยนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา จนถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง
กล่าวหาพฤติการณ์ของผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ในการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ วงเงิน 360 ล้านบาท ส่อมีเจตนาทุจริต โดยร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน เพื่อให้ติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมาธิการการศึกษา กมธ.ปปช.ในรัฐบาลที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
คำสั่งดังกล่าว ระบุว่า เป็นโครงการที่มีการนำเงินของสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) มาใช้ในการดำเนินการก่อสร้าง จึงเป็นที่สนใจของสมาชิก ช.พ.ค. และสังคมเป็นอย่างมาก หากมีการดำเนินการในทางที่ไม่โปร่งใส ย่อมเกิดผลเสียกับสมาชิก โดยให้คณะกรรมการสอบสวนฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ขณะที่“นายสมคิด” เชื่อว่าคำสั่งดังกล่าวจะเป็นการสอบสวนตั้งแต่ต้นเรื่อง จนถึงการกล่าวหา “ผู้บริหาร สกสค.” ว่ามีความไม่โปร่งใส ในการอย่างไรดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือ จริงหรือไม่ หรือมีความล้มเหลวจริงหรือไม่ รวมทั้งสืบสวนกรณีความไม่โปร่งใส ในองค์การค้าของ สกสค. โดยให้บุคคลภายนอก สกสค.มาเป็นคณะกรรมการสืบสวน
จะทำให้เกิดความกระจ่างต่อสมาชิก ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นครูอยู่ทั่วประเทศราว 7 แสนคน
เรื่องนี้ “นายศรีราชา เจริญพานิช” ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายมาสอบปากคำผู้ยื่นใหม่อีกครั้ง ในกรณีที่ยื่นร้องเรียนกล่าวหา “โครงการสร้างโรงแรมครูที่ จ.เชียงใหม่” ดังกล่าวด้วย เพื่อเป็นฟื้นการสอบสวนเรื่องนี้ใหม่ หลังจากที่ยุคก่อนหน้านี้ได้สอบสวนไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์
ประเด็นนี้ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 โครงการดังกล่าวนี้ ผู้บริหาร สกสค. ได้ชี้แจงระหว่างได้นำคณะสื่อมวลชนคณะหนึ่งลงไปดูความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูและ บุคลากรทางการศึกษา ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมสำนักงานสนามโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์ฯ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้าง กรรมการตรวจการจ้าง ผู้แทนบริษัทผู้รับเหมา ตัวแทนผู้ควบคุมงานจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าชี้แจงด้วย
ผู้บริหาร บอกว่า เป็นนโยบายของคณะกรรมการ สกสค. ที่จะให้มีทั้งที่พักรวมทั้งที่ประชุมสัมมนาสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นการจัดสวัสดิการด้านที่พักตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงได้มีมติให้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์พัฒนาดังกล่าวในภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่เป็นภูมิภาคแห่งแรก สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ได้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการ สกสค. โดยจัดหาสถานที่ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ อยู่ในความครอบครองของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ คือ สถานที่ของสำนักงานศึกษาธิการ ภาค 1 ถนนห้วยแก้ว ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้อนุญาตการใช้สถานที่ดังกล่าว
ขณะที่เมื่อปี 2556 “นายสมคิด” ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนอีกครั้งต่อนายจาตุรนต์ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ปปช.) สภาผู้แทนราษฎร และนายประเสริฐ ชิตพงศ์ อดีตส.ว.สงขลา ในฐานะอดีตประธาน กมธ.การศึกษา วุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบการกระทำที่ส่อมิชอบด้วยกฎหมาย และส่อมีเจตนาทุจริตของผู้บริหาร สกสค. ในโครงการดังกล่าวฯ
โดยระบุว่า โครงการนี้ผู้บริหาร สกสค.ได้เซ็นต์สัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2554 -55 มีกำหนดเวลา 2 ปี สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 แต่ก่อสร้างไปได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นการผิดสัญญาการก่อสร้าง และทำให้เกิดความเสียหาย ขณะที่บริษัทก่อสร้างคู่สัญญาได้เบิกเงินล่วงหน้าจากธนาคารที่นำสัญญาไปวางค้ำประกันแล้ว 15 เปอร์เซ็นต์ หรือ 54 ล้านบาท แต่กลับไม่มีทีท่าจะเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จดังกล่าว โดยถึงวันนี้มีเพียงโครงเหล็กที่สานไว้เพื่อหล่อเสาเอกและเสาโท จำนวน 2 ต้นเท่านั้น
เป็นการยื่นร้องเรียนให้ตรวจสอบมีทั้งหมด 10 ประเด็น คือ คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงชุดของนายสมบัติ สุวรรณพิทักษ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้ตรวจสอบพบพิรุธการว่าจ้าง ผู้รับเหมาออกแบบก่อสร้างอาคารในหลายประเด็น เช่น ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้รับเหมาออกแบบดังกล่าวเป็นนิติบุคคลผู้มีอาชีพรับจ้างงานออกแบบก่อสร้างอาคารตรงตามประกาศเชิญชวนเข้าเสนอราคาของ สกสค.หรือไม่
นอกจากนี้ไม่พบว่า สกสค.มีหลักฐานการประมาณการค่าจ้าง และกำหนดเวลาแล้ว รวมทั้งกรณีที่ผู้บริหา ร สกสค.สมัยที่แล้ว ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัทก่อสร้างเพิ่มพื้นที่ชั้นจอดรถยนต์อีก 1 ชั้น พื้นที่อเนกประสงค์อีก 1 ชั้น ซึ่งเพิ่มเติมจากแบบแปลนเดิมที่อาคารสูง 7 ชั้น เป็นอาคาร 9 ชั้น เข้าข่ายแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาที่ต้องเพิ่มวงเงิน โดยไม่ได้เสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการ สกสค. หรือคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. และยังมีหนังสือแจ้งให้บริษัทก่อสร้างเสนอราคางานที่เพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 และบริษัทมีหนังสือเสนอราคา 45 ล้านบาท และได้พยายามติดตามทวงถามเรื่องนี้กับผู้บริหารฯ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนเป็นเหตุให้บริษัทสั่งชะลองานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา
ส่วน“กมธ.การศึกษา วุฒิสภา”ขณะนั้นพบว่า โครงการก่อสร้างโรงแรมครูดังกล่าว ทราบว่าทาง สกสค.มีแผนจะสร้างในอีกหลายจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี สงขลา และอุดรธานี แต่จากปัญหาความไม่ชอบมาพากลในโครงการแรกที่ เชียงใหม่ดังกล่าว ส่งผลทำให้การก่อสร้างในจังหวัดอื่น ๆ ต้องหยุดชะงักไปด้วย และคณะกรรมาธิการ ก็ได้รับเรื่องนี้ไว้ดำเนินการตรวจสอบ ก่อนที่จะมีการประกาศยุบสภา และเข้าบริหารราชการโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
แต่แปลกตรง “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ ดีเอสไอ ขณะนั้น (ปี2556) ก็ได้เข้ามาดำเนินการสืบสวนโครงการนี้ แต่ดีเอสไอ กลับไม่ปรากฏพบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่าการจัดจ้างตามโครงการก่อสร้าง อาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตและหรือขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงสั่งยุติเรื่อง และยุติการสอบสวนดังกล่าว
ย้อนกลับมาปี 2557 เรื่องนี้ ในคราวประชุมบอร์ด สกสค.ครั้งล่าสุด สำนักงาน สกสค.ได้หยิบยกกรณีนี้มาหารือ ซึ่งทางบริษัทผู้รับเหมาได้ขอให้มีการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดการขยายระยะเวลาในการก่อสร้างใน วันที่ 7 ก.ค.2557 เนื่องจากทางบริษัทไม่สามารถดำเนินงานได้เพราะมีข้อจำกัดหลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องค่าวัสดุที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยผู้บริหารของ สกสค.บางคนได้เสนอว่าน่าจะมีการขยายเวลาการก่อสร้าง หรือยกเลิกสัญญาให้ตามที่บริษัทร้องขอ แต่กรรมการหลายคนเห็นว่าที่ผ่านมาก็มีการขยายเวลาให้แล้วถึง 2 ครั้ง ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นว่าไม่สมควรขยายระยะเวลาให้อีก และหากจะยกเลิกสัญญาก็ควรให้ครบกำหนดสัญญาการก่อสร้างก่อน แล้วค่อยให้ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของ สกสค.ไปพิจารณายกเลิกสัญญากับทางบริษัท รวมทั้งดำเนินการเรียกค่าเสียหายด้วย เพราะถือว่าราชการได้รับความเสียหาย จากนั้นจึงพิจารณาหาผู้ดำเนินงานก่อสร้างรายใหม่
เรื่องนี้ “ดีเอสไอ” สั่งยุติการสอบสวนฯ แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็สั่งให้มีการรื้อมาสอบใหม่
แต่เมื่อถึงมือ...”ครูเข้” จะจบยังไงคงเดากันถูก