xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” ซัดแม่น้ำ 5 สาย ซ้ำเติมปัญหาของประเทศ วางกับดักสู่วิกฤตร้ายแรงในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำพรรคเพื่อไทย ชี้ บทบาทแม่น้ำ 5 สาย ไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญของประเทศ ซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แย่ลง วางกับดักให้รัฐบาลเลือกตั้งหลังจากนี้ทำงานลำบาก ทำผู้เดือดร้อนหลายอาชีพแสดงออกไม่ได้ ชี้ ไม่เข้าใจกระบวนการปรองดอง กลายเป็นคู่ขัดแย้ง และการใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่อ ทำระบบป้องกันทุจริตเสียหายกว่าเดิม ชี้การปลดบอร์ด สสส. ล้มเหลวเชิงระบบ

วันนี้ (17 ม.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการดำเนินการของแม่น้ำ 5 สาย คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ผ่านมา ว่า สิ่งที่แม่น้ำ 5 สายดำเนินการกันอยู่ ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติพ้นวิกฤต ซ้ำยังเป็นการวางกับดัก สร้างเงื่อนไขไปสู่วิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดในอนาคต จะทำให้ประเทศเสียโอกาส ย่ำอยู่กับที่ รัฐบาลหลังเลือกตั้งบริหารงานไม่ได้ และอยู่ได้ไม่นาน เมื่อรัฐบาลยุบสภา วงจรเก่าทั้งหมดจะกลับมา แต่จะแตกต่างจากที่ผ่านมา ตรงที่ไม่ต้องมีการรัฐประหาร ฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถอยู่ได้นาน ๆ โดยเงื่อนไขปัจจัยที่สะสมไว้เพื่อให้เกิดวิกฤตในอนาคต ข้อหนึ่งก็คือ การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ การกดโดยใช้อำนาจเด็ดขาด กดผู้เดือดร้อน หรือผู้เห็นต่างไม่ให้แสดงความคิดเห็น ทำให้มีผู้เดือดร้อนจำนวนมากในอาชีพ องค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถแสดงออกได้ ปัญหาต่าง ๆ ก็ไม่ได้การเปิดเผย ไม่ได้รับการแก้ไข จะเป็นลักษณะระเบิดเวลาในวันข้างหน้า หากไม่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล คสช. ก็จะมีโอกาสปะทุขึ้นมาได้ง่ายหลังการเลือกตั้ง

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า อีกปัจจัยที่ทำให้วิกฤตยังคงอยู่ต่อไปหรือมากยิ่งขึ้นอีกอย่างคือ ช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏว่า มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง กระบวนการปรองดองยังไม่เริ่มต้นขึ้น ไม่มีการรวบรวมความรู้ที่มีการศึกษามา ประสบการณ์ ความคิดเห็นการปรองดอง โดย คสช. และรัฐบาล ไม่มีการริเริ่มหรือใส่ใจอยากปรองดอง อย่างที่กล่าวอ้างเป็นสาเหตุเข้าสู่อำนาจ

“ความจริงแล้วถ้าติดตามพูดของนายกรัฐมนตรี ไม่เข้าใจกระบวนการปรองดองเลย มักจะแสดงความคิดเห็นที่ทำให้เห็นว่า เข้าใจผิดว่าการปรองดองคือเรื่องนิรโทษกรรมเท่านั้น ใครพูดเรื่องปรองดองขึ้น นายกฯ มักจะพูดเรื่องนิรโทษกรรม หรือการอภัยโทษ โดยไม่พยายามรับฟังความเห็นฝ่ายต่าง ๆ ว่า มองปัญหาความขัดแย้งอย่างไร และจะแก้วิกฤตประเทศกันอย่างไร เมื่อนานเข้าจากสภาพที่อ้างว่าตัวเองเป็นคนกลางที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง หรือกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยไม่รู้ตัว หรือแม้แต่พูดถึงการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมยังไม่พูดเลย ดังนั้น จะให้ประเทศพ้นวิกฤตความขัดแย้งจึงเป็นไปได้ยาก และเมื่อเรากำลังมีรัฐธรรมนูญที่สร้างเงื่อนไขไปสู่วิกฤตด้วย ยิ่งทำให้เราไม่มีทางพ้นจากวิกฤต” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ปัญหาอีกเรื่องที่เป็นข้ออ้าง คสช. เข้ามาอยู่ในอำนาจ คือ การปราบปรามการทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายปีครึ่งที่ผ่านมา ไม่ได้รับการดำเนินการใด ๆ กลับทำให้เสียหายมากขึ้น ไม่ปรับปรุงระบบป้องกันการทุจริต ล้มเลิกระบบที่องค์กรอิสระเป็นผู้ดูแลปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เปลี่ยนมาอยู่ใต้ฝ่ายบริหาร ทั้งรัฐบาล และ คสช. ใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ทำให้เกิดปัญหามากกว่าเป็นประโยชน์ ทำระบบการป้องกันและปราบปรามเสียหายยิ่งกว่าเดิม อย่างกรณีจัดการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งการปลดกรรมการ สสส. เป็นตัวอย่างของความล้มเหลวเชิงระบบ อาศัยการใช้อำนาจผ่านเบ็ดเสร็จโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้อง และทำให้ไม่มีกระบวนการไปตรวจสอบ สสส. อย่างโปร่งใส และยุติธรรม

ดังนั้น เมื่อใช้มาตรา 44 ไม่เป็นธรรมกับองค์กรและคนจำนวนมากที่ถูกใช้คำสั่ง อันมีผลทำให้ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากเกิดอาการเกียร์ว่าง เพราะบรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ กลัวว่าไม่รู้ว่าวันไหนจะถูกดำเนินการด้วยมาตรา 44 โดยไม่สามารถไปร้องขอความเป็นธรรมกับใครได้ จากที่ต้องเสียสิทธิประโยชน์และเกียรติยศไปแล้ว และต้องสับสนกับนายกฯ ไม่รู้ว่าอะไรกันแน่ ตอนแรกให้กลับมา แล้วมาบอกให้สรรหาใหม่ เพราะฉะนั้นโดยรวมแล้ว บทบาทของแม่น้ำ 5 สายไม่ได้กำลังแก้ปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ แต่กำลังซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่แล้วแย่ลง กำลังทำให้ประเทศเสียโอกาสไปทุกวัน โดยที่มีแนวโน้มว่าปัญหาเหล่านี้ จะมีมากขึ้น และวิกฤตนี้จะยืดเยื้อยาวนานต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น