แกนนำพรรคเพื่อไทย ยันปรองดองต้องเอาคนขัดแย้งมาคุยกัน เชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันคิด รวมทั้งพวกวางตัวเป็นกลางมาทำข้อสรุป ต้องคุยอย่างเท่าเทียม แนะผู้มีอำนาจไปร่วมด้วยเหตุลิดรอนเสรีภาพคนเห็นต่างมาตลอด ส่วนนิรโทษกรรมก็แล้วแต่ ชี้ข้อเสนอ กก.ปรองดองมีประโยชน์มากควรนำมาใช้
วันนี้ (24 ม.ค.) ที่ศาลทหารกรุงเทพ เมื่อเวลา 09.00 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาศาลทหารเพื่อนัดไต่สวนสืบพยานนัดแรกในคดีความผิด มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพ์ ซึ่งมีพยานเพียงปากเดียว ซึ่งหลังจากอัยการได้สอบถามพยานฝ่ายโจทก์แล้วเนื่องด้วยพยานติดภารกิจศาลจึงเลื่อนการนัดสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 17 พ.ค. 60 เวลา 09.00 น.
จากนั้นนายจาตุรนต์ได้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงการสร้างความสามัคคีปรองดองของรัฐบาลว่า ผู้มีอำนาจเข้าใจผิดเพราะมักมองผู้เรียกร้องว่าต้องการให้นิรโทษกรรม แต่ความจริงการปรองดองทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้งจะต้องมาพูดคุยกันร่วมกัน และควรที่จะมีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้ที่สนใจ ผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมหรือความปรองดองในสังคม รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาช่วยกันคิด อีกทั้งคนที่วางตัวเป็นกลางก็ควรที่จะมาช่วยกันคิดและช่วยกันทำข้อสรุป สำหรับผู้มีอำนาจควรทำหน้าที่ในการอำนวยการ และถ้ามีเวทีที่จะต้องพูดคุยกับผู้ที่ขัดแย้งกันทั้งหลาย ผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบันควรที่จะเข้าไปร่วมด้วยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ส่วนข้อเสนอที่เกี่ยวกับเรื่องการนิรโทษกรรมและการที่จะใช้คำสั่งเดียวกับคำสั่งที่ 66/23 เป็นเรื่องที่เสนอกันขึ้นมาแล้ว ส่วนผู้มีอำนาจจะตัดสินใจอย่างไรก็แล้วแต่
“คสช.ได้จัดการและลิดรอนสิทธิเสรีภาพผู้ที่มีความเห็นต่างมาตลอด 2 ปีกว่าแล้วจะมาบอกว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเป็นไปไม่ได้ การที่มีคนบอกว่าคสช.ไม่ใช่ความขัดแย้งเพราะกลัวว่า คสช.จะเล่นงานเอานั้น แสดงว่าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งชัดเจน ผมมองว่าคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้นได้รวมคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจและไม่มีความตั้งใจมาแก้ปัญหา เพราะการแก้ไขปัญหา คือ คณะกรรมการกลุ่มนี้จะต้องเปิดกว้างให้หลายฝ่ายที่เป็นกลางและมีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยทำข้อเสนอ การทำกันเองอย่างนี้ผมมองว่าทำแล้วไม่มีความคืบหน้ามุ่งหมายของการปรองดอง ที่ผ่านมา คสช.และกองทัพปิดปากปิดตาไม่ได้มีความจริงใจ หากตั้งใจจะปรองดองจริงๆ ก็ต้องมีการพูดคุยอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ว่ามีคนเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็ไปดุหรือขู่เขา ไม่รับฟัง ทั้งหมดต้องอยู่บนหลักการ และความเข้าใจจริงใจที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง” นายจาตุรนต์กล่าว
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาก็มีคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆ จัดทำข้อเสนอไว้ ควรนำมาพิจารณาประกอบด้วยหรือไม่ เพื่อจะได้ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า ตนมองว่าเป็นประโยชน์มาก ข้อค้นพบหรือข้อสรุปของกรรมการชุดต่างๆ ถึงจะเป็นช่วงของการรัฐประหาร ต้องถือว่าเป็นประโยชน์มาก และควรจะนำมาใช้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นใหม่อาจไม่ค่อยมีความรู้ ถ้าจะไปนำข้อเสนอที่เป็นข้อสรุปของคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆ ไปเป็นจุดเริ่มต้นก็จะเป็นประโยชน์มาก