xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ปัดมาตรา 44 คล้ายยุค “สฤษดิ์” อ้างช่วยเรื่องความสงบ - “วิษณุ” ปัดตอบนั่งรองนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คสช.ยืนยันรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 อำนาจตาม ม.44 ไม่ได้แทรกแซงฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการคล้ายยุค “สฤษดิ์” อ้างช่วยเรื่องความสงบเรียบร้อย ขอเวลาสักพักเลิกอัยการศึก ส่วน ม.48 มีไว้เพื่อตัดปัญหา ไม่เขียนก็จองเวรไม่สิ้น ยันตรวจสอบทรัพย์สิน ครม.ยังปกติ “ไพบูลย์” เชื่อ “ประยุทธ์” คุณสมบัติเหมาะเป็นผู้นำประเทศ ลั่นทุบโต๊ะปลดนายกฯ เองไม่ได้ แค่เสนอแนะแต่ สนช.ไม่จำเป็นต้องรับลูก ไร้ประชามติรัฐธรรมนูญเพราะไม่อยากยืดยาว “วิษณุ” ปัดตอบนั่งรองนายกฯ-ปธ.สปช. ถ่อมตัวไม่เหมาะ สุขภาพไม่ดี



วันนี้ (23 ก.ค.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างการแถลงข่าวถึงความเป็นมาของการจัดทำรายละเอียดของรัฐธรรมนูญปี 2557 ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช.ฝ่ายกฎหมาย ผู้สื่อข่าวถามถึงเนื้อหามาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งให้อำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ค่อนข้างมาก จนอาจจะอยู่เหนือนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี และถูกมองว่าคล้ายคลึงกับสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ศ.พิเศษ พรเพชรอธิบายว่า ยืนยันว่ามาตรา 44 ไม่ได้ให้อำนาจ คสช.ในการแทรกแซงฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายตุลาการ รวมทั้งไม่ได้มีอำนาจที่จะไปสั่งการรัฐบาล หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่อย่างใด ทั้งนี้ การใช้มาตรา 44 ต้องเข้าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ซึ่งมีทั้งทางบวกและทางลบ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป หากกระบวนการของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติต้องใช้ระยะเวลานาน หัวหน้า คสช.ก็อาจจะออกคำสั่งหรือประกาศเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง อย่างไรก็ตามคงไม่ไปไกลถึงขนาดจอมพลสฤษดิ์ที่ไปยุ่งเกี่ยวกับคดีอาญาปกติ

“ผมมีความเชื่อมั่นว่าท่านหัวหน้า คสช.ในขณะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ท่านเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทำได้มากกว่ามาตรา 44 แต่ก็ยังไม่เคยทำ หรือไปลงโทษใครในลักษณะที่ว่าเลย แม้กระทั่งการย้ายข้าราชการก็ทำเพื่อความเหมาะสม ผมกลับมั่นใจว่ามาตรา 44 จะช่วยสร้างสรรค์และคุ้มครองดูแลประเทศไทยในเรื่องความสงบเรียบร้อยมากกว่า” ศ.พรเพชรระบุ

นายวิษณุกล่าวเสริมว่า เรื่องของการใช้อำนาจพิเศษเป็นผลที่ตามมาจากการคง คสช.ไว้ หาก คสช.ไม่มีแล้วก็ไม่มีความจำเป็น การที่ให้มี คสช.อยู่ก็เพื่อให้ทำหน้าที่บางอย่างที่คณะรัฐมนตรีอาจจะกระทำได้ลำบาก ทั้งแบบแผนของการมีมาตรา 44 นี้มีมาในอดีตทุกครั้งที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยมองว่าการที่องค์กรยึดอำนาจยังคงต้องอยู่ต่อ แล้วไม่มีอำนาจพิเศษไว้ในมือ ในบางสถานการณ์ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ลงท้ายก็ต้องเกิดการยึดอำนาจซ้อนขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามในอนาคตว่า คสช.จะใช้ประกาศิตนี้ในทางสร้างสรรค์หรือทำลาย ส่งเสริมหรือกำราบ เป็นเหมือนดาบที่มีสองคม เพราะ คสช.อยู่ภายใต้การจับตาดูของทุกฝ่ายอยู่แล้ว

“วิธีใช้อำนาจในมาตรา 44 คงไม่ใช่อำนาจประจำวัน หรือนึกจะใช้ก็ใช้ได้ หากไม่เขียนไว้ก็ไม่ได้ เพราะบางเรื่องกฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอ แต่มีแล้วจะใช้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง 2 เดือนที่ผ่านมา คสช.มีอำนาจล้นพ้นมากกว่ามาตรา 44 แต่ไม่ใช้ จนหลายคนสงสัยด้วยซ้ำ อย่างคดีฆาตกรรมเด็กหญิงแล้วโยนร่างออกจากรถไฟ มีเสียงเรียกร้องให้ คสช.ใช้อำนาจพิเศษเพื่อให้การดำเนินคดีรวดเร็ว แต่ คสช.ก็เชื่อว่าใช้กระบวนการยุติธรรมปกติได้” นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เมื่อหัวหน้า คสช.มีอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งใหญ่กว่ากฎอัยการศึกอยู่แล้ว คสช.มีแนวคิดที่จะยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า สำหรับการประกาศหรือยกเลิกกฎอัยการศึกนั้นต้องพิจารณาตามสถานการณ์และความจำเป็นในอนาคต ต้องเข้าใจเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค.ใช้กฎหมายทุกอย่างแล้วแต่ไม่ช่วยอะไรได้ ขอเวลาอีกสักพักในการพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อความมั่นใจ

เมื่อถามถึงบทบัญญัติในมาตรา 48 ที่คุ้มครองการกระทำของ คสช.ที่เกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครอง แต่ไม่มีเนื้อหาครอบคลุมความผิดของบุคคลอื่น อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย หรือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง จนอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างความปรองดอง นายวิษณุกล่าวตอบว่า เนื้อหาที่สำคัญของมาตรา 48 คือช่วงที่กล่าวว่า “หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย...” แต่ไม่ได้พูดว่าที่แล้วมา คสช.ทำผิดกฎหมาย เพราะเมื่อมีความเป็นรัฏฐาธิปัตย์สิ่งที่กระทำไปนั้นก็ไม่ผิด แต่ที่ต้องระบุไว้ก็เพราะอาจมีบางฝ่ายมองว่า คสช. ทำผิดกฎหมาย แล้วนำไปสู่การฟ้องร้อง แทนที่จะต้องเสียเวลาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงบอกไว้ในมาตรานี้เพื่อตัดปัญหา

“จะกล่าวว่าเป็นบทนิรโทษกรรมก็ได้ แต่เป็นความจำเป็นที่เป็นแบบอย่างของการเขียนรัฐธรรมนูญภายหลังการยึดอำนาจทุกครั้งตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา หากไม่เขียนไว้ก็จะเกิดการจองล้างจองผลาญกันไม่จบสิ้น” นายวิษณุระบุ

สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง การชุมนุมทางการเมือง หรือผู้ที่ต่อต้าน คสช. และกระทำผิดกฎอัยการศึกนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพูดถึงเพียงในส่วนของ คสช. และบุคคลที่ได้รับคำสั่งจาก คสช. ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่เข้าข่ายนั้นยังไม่ได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ ส่วนจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่อย่างไรก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องไปตรากฎหมายในอนาคต

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจสอบคณะรัฐมนตรียังเป็นไปตามปกติหรือไม่ รวมไปถึงการแจ้งบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายวิษณุกล่าวว่า การตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังคงเป็นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แม้รัฐธรรมนูญฉบับเดิมจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รองรับอยู่ เพราะฉะนั้นกลไกการตรวจสอบ ทั้งหลายยังมีอยู่ต่อไป ในส่วนของ สนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ยังไม่มีการระบุในกฎหมายที่มีอยู่ ก็เป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.มีอำนาจในการกำหนดตำแหน่งเหล่านั้นเพิ่มตามความจำเป็น

ต่อข้อถามถึงจุดประสงค์ที่ระบุให้ คสช.สามารถแต่งตั้งบุคคลเข้าร่วม คสช.เพิ่มเติมไม่เกิน 15 คนนั้น นายวิษณุกล่าวว่า ในทางกฎหมายแล้วต้องการให้มีผู้ที่เข้าร่วมกันทำงาน จากเดิมที่มีเพียง 6 คน ซึ่งในอนาคตบางคนอาจได้รับตำแหน่งทางการเมือง หรือมีภาระอื่นที่ต้องทำ ก็จำเป็นที่ต้องมีคนเข้ามาช่วยงานแทน แต่ก็ไม่จำเป็นที่ต้องตั้งคนเข้ามา เพียงแต่ว่าหากไม่กำหนดตัวเลขไว้ ก็อาจจะแต่งตั้งเข้ามามากเกินไป จึงกำหนดไว้ที่ 15 คน

ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แต่ง คสช.ได้ 15 คน ขณะนี้ยังไม่รู้ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคนที่เป็นหัวหน้า คสช.กับนายกฯ จะแยกกันหรือไม่ จำนวน คสช.ที่มีทุกวันนี้เพียงพอต่องานในอนาคตหรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้าม คสช.มาเป็นรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า หากหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่ง เหตุใดยังต้องคงอำนาจ คสช.ไว้ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า การดำเนินการของ คสช.ดำเนินการไปตามโรดแมป วันที่เข้ามาควบคุมอำนาจรัฐบาล เป็นการควบคุมโดย คสช. และ คสช.เป็นคนทำสัญญาประชาคมตามที่ประชาชนต้องการให้เกิดความสุข ทุกอย่างเป็นความรับผิดชอบ เพราะคนที่ทำในวันนั้น คสช.เป็นคนทำ ส่วนการดำเนินการหลังการเกษียณของผู้นำเหล่าทัพ เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการคุยกัน แต่ได้ตั้งไว้ คสช.มีไม่เกิน 15 คน และการที่จะให้หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยนั้นก็ยังไม่ใช่แนวคิดของ คสช. แต่ก็มีการคุยกันถึงหน้าตาคณะรัฐมนตรี และตัวนายกรัฐมนตรี คสช.คิดทุกแง่มุมว่าอะไรจะทำให้โรดแมปที่เราทำสัญญาประชาคมไว้ นำไปสู่ความสำเร็จที่บ้านเมือง จะกลับมาสงบสุข ต้องคิดทุกปัจจัย ทั้งปัจจัยรัฐบาล กฎหมาย ทุกอย่างเป็นที่มา บทเรียนที่ผ่านมาสอนเรา

ส่วน คสช.ที่จะเกษียณอายุราชการแล้วจะต้องมีตำแหน่งรองรับหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ต้องถามหัวหน้า คสช.ซึ่งคงจะดูว่าใครจะเหมาะสม บริหารแต่ละกระทรวง รวมถึงทีมที่ปรึกษา คสช.ด้วย ตนไม่ทราบว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ตนทราบแค่หลักการ

“ส่วนตัวเห็นว่าหัวหน้า คสช.มีคุณสมบัติ การปฏิบัติหน้าที่ทุกวันนี้ก็ถือเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว การปฏิบัติงานของหัวหน้า คสช.2 เดือนที่ผ่านมาก็ทำเรียบร้อยดี นั่งหัวโต๊ะบริหารกระทรวงมาได้อย่างเรียบร้อย” พล.อ.ไพบูลย์ระบุ

นายวิษณุกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญให้หัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ ได้ แต่ได้เป็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับ สนช.ที่ต้องเป็นผู้เลือก และมีอำนาจในการปลดนายกฯ ด้วย ดังนั้นคงต้องรอสอบถามเมื่อมี สนช.แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คสช.มีอำนาจในการยับยั้งการกระทำของคณะรัฐมนตรีมากน้อยเพียงใด นายวิษณุกล่าวว่า คสช.ไม่มีอำนาจแทรกแซงรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี มีเพียงการให้คำปรึกษา หรือแนะนำรัฐบาล รวมทั้งแจ้งความจำนงค์ในการขอประชุมร่วมกันในบางกรณี เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีที่แจ้งขอเปิดประชุมร่วมกับ คสช.ได้ ถือเป็นการทำงานควบคุมกันไป

เมื่อถามต่อว่า ในมาตรา 19 วรรค 3 ตีความว่าให้อำนาจ คสช.ในการเสนอปลดนายกฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านมากระบวนการถอดถอนนายกฯ ได้ให้ ส.ส.เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนที่จะลงมติ ครั้งนี้เมื่อ สนช.มีอำนาจแต่งตั้งนายกฯ ก็สมควรมีอำนาจในการถอดถอนด้วย แต่หากให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนที่ผ่านมา สุดท้ายลงมติแล้วนายกฯ ชนะ ก็เกรงว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีเหตุจำเป็น จึงกำหนดให้ คสช.มีอำนาจยื่นญัตติเสนอแนะ สนช.ว่าสมควรที่จะปรับเปลี่ยนผู้ที่เป็นนายกฯ แล้วให้ สนช.เปิดอภิปรายก่อนที่จะลงมติอีกครั้งซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ สนช.

“คสช.ทุบโต๊ะเปรี้ยงปลดนายกฯ เองไม่ได้ แต่ญัตติถอดถอนนายกฯ เริ่มจาก สนช. ไม่ได้ ต้องให้ คสช.เป็นผู้เสนอแนะ อย่างไรก็ดี สนช.ก็ไม่จำเป็นต้องรับลูกก็ได้” นายวิษณุระบุ

ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงกรณีที่ว่าเหตุใดจึงไม่ระบุขั้นตอนประชามติไว้ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร นายวิษณุกล่าวว่า หากกำหนดหรือบังคับว่าต้องทำประชามติ อาจทำให้ใช้เวลายืดยาวเนิ่นนานออกไป ส่งผลกระบวนการให้ไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปีที่กำหนด อาจจะต้องใช้เวลาอีก 4-6 เดือนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะบังคับใช้ได้ จึงไม่ได้กำหนดไว้ แต่จะทำประชามติหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม อีกทั้งบรรยากาศปรองดองยังไม่เกิดขึ้น การทำประชามติอาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมากกว่า สุดท้ายขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันของรัฐบาล คสช. และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญด้วย

นอกจากนี้ นายวิษณุเปิดเผยด้วยว่า มีแนวคิดที่จะเสนอให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวกับการห้ามความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถเปิดประชุมและเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ามาร่วมเป็น สปช. เพราะหากไม่ปลดล็อกตรงนี้ก็จะไม่มีตัวแทนของฝ่ายการเมืองเข้ามาในกระบวนการปฏิรูปประเทศ

ผู้สื่อข่าวถามนายวิษณุอีกว่า คิดว่าตัวเองเหมาะสมกับหน้าที่รองนายกฯ หรือประธาน สปช.มากกว่า นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เหมาะกับตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น ตนอยู่ของตนอย่างนี้สบายกว่า และตนก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่อย่างน้อยตนก็ไม่ได้เลวขนาดว่าไม่ควรเป็นอะไร

เมื่อถามย้ำว่า หากหัวหน้า คสช.ขอให้เข้ามาช่วยงาน นายวิษณุปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่า “ไม่ตอบ”


กำลังโหลดความคิดเห็น