xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” เชื่อ แม่น้ำ 5 สาย แบ่งบทกันเล่น หลัง สปท.ชงคำถามพ่วง ให้รัฐสภาโหวตนายกฯ หวังนายกฯคนนอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง (แฟ้มภาพ)
“จาตุรนต์” วิเคราะห์แม่น้ำ 5 สาย แบ่งบทกันเล่น หลัง สปท. ชงคำถามพ่วง “ให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกฯ” เชื่อเป้าหมาย คือ นายกฯ คนนอก เตือนเป็นดาบสองคม ยิ่งผสมกับบทลงโทษผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง รธน. และการจัดหลักสูตรอบรมคนที่เห็นต่างจากรัฐบาล รวมถึงคำสั่งให้อำนาจทหารลุยผู้กระทำผิด ทำให้เห็นภาพชัด เตือนระวังทำคนส่วนใหญ่รับไม่ได้ สุดท้ายจะมีการต่อต้านนำไปสู่ความไม่สงบ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีมติเห็นชอบคำถามพ่วงประชามติ เรื่องให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า อาจเป็นดาบสองคม สำหรับร่างรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการเปิดเผยว่า จริงแล้วแม่น้ำ 5 สาย ต้องการอะไร ที่มีความเห็นต่างกันอยู่บ้าง เป็นเพียงการแบ่งบทกันเล่น แล้วสุดท้ายเปิดเผยออกมาว่า ให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทันที หลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแนวความคิดที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ยอมทำตาม เพราะเห็นว่ามีแรงต่อต้านมากเกินไป และเมื่อประเด็นคำถามพ่วงจาก สปท. ส่งไปยัง สนช. จะทำให้เห็นภาพชัดขึ้น

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เข้าใจว่า ผู้ที่เสนอ และได้คะแนนเสียงท่วมท้นอาจเป็นเพราะเขาประเมินว่า การลงประชามติจะผ่านได้ง่าย เสนออะไรก็ผ่านได้หมด เพราะว่ายังมีความเข้มงวดปิดกั้นผู้ที่เห็นต่างด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้หมด เพราะฉะนั้นเลยถือโอกาสโกยได้โกยเอา คือ ได้มาอีกขั้นหนึ่งแล้วจะเอาถึงขั้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ทันที ซึ่งถ้าเป็นไปตามนั้น ก็จะทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แม่น้ำทั้ง 5 สาย ได้ในสิ่งที่ตั้งใจ หลายส่วนของแม่น้ำทั้ง 5 สาย ก็จะไปอยู่ในส่วนของ ส.ว. และบางส่วนอาจจะมีอำนาจในรัฐบาล หรือแม้เป็นนายกฯเองเลย

ทั้งนี้ การที่บอกว่าเป็นดาบสองคม เมื่อมีการเสนอโจ่งแจ้งชัดเจนกันแบบนี้ ก็อาจจะเกิดความรับไม่ได้ของคนส่วนใหญ่ เพราะว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นความละโมบของผู้มีอำนาจมากเกินไป ทำให้ประเทศถอยหลังมากเกินไป กลายเป็นแรงต้านมากขึ้น คือ คนอาจจะไม่แยกลงประชามติเป็นสองประเด็น จะปฏิเสธก็ควบไปทั้ง 2 ประเด็น และจากการดูร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด คนนอกมีโอกาสมาเป็นนายกฯได้ตั้งแต่ต้นได้ไม่ยากอยู่แล้ว เพราะตามที่ออกแบบระบบเลือกตั้ง ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก แต่เสียงจะได้ไล่เลี่ยกัน พรรคขนาดกลางทั้งหลายเป็นคนตัดสินว่า จะให้ใครเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรืออาจตัดสินว่า จะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ จะให้พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

หากพรรคขนาดกลางรวมใจกันไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลย ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้เหมือนกัน เพราะการตั้งรัฐบาลต้องใช้เสียงเกินครึ่งสภา มันก็จะเข้าประเด็นการตั้งรัฐบาลที่มีคนนอกเป็นนายกฯ ซึ่งใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภา โอกาสที่พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาก็มีมาก หมายความว่า การตั้งนายกฯคนนอก โดยเสียงของสภา 2 ใน 3 ตั้งนายกฯคนนอกก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เขาคงไม่ต้องการเสี่ยง หรือต้องไปลุ้นให้เกิดสภาพแบบนั้น เลยเสนอประเด็นลักษณะควบแบบนี้

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เรื่องการลงประชามติยังดูเหมือนกฎหมายที่พูดกันใน สนช. ยิ่งทำให้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและเป็นการลงประชามติที่ไม่มีประโยชน์อะไร คนที่มีความเห็นต่างแสดงความเห็นไม่ได้ การที่บอกห้ามชี้นำคนให้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นั้น ก็คือ การห้ามประชาชนสื่อสารกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องขัดกับการลงประชามติอย่างร้ายแรง การลงประชามติต้องให้ประชาชนสื่อสารกันได้ จึงจะสามารถรับฟังข้อมูลข่าวสาร รับฟังความเห็นได้อย่างทั่วด้าน และการลงประชามติ จึงจะเป็นประโยชน์

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การจัดทำหลักสูตรอบรมนักการเมืองที่มีความเห็นต่างกับรัฐบาล และ คสช. ส่งลงไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นการส่งสัญญาณทำให้เห็นว่าการลงประชามติจะถูกบิดเบือน จนฝ่ายที่เห็นต่างไม่สามารถพูดอะไรไม่ได้เลย และจะเป็นอันตรายอยากมาก ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ โดยผู้ที่เห็นต่างไม่ได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็นแบบนี้ หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว แม่น้ำทั้ง 5 สาย ก็จะเดินหน้า ออกกฎหมายลูก ทำการปฏิรูป หรืออะไรต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ อย่างย่ามใจ อยากทำอะไรก็ได้แล้ว ด้วยข้ออ้างประชาชนเห็นชอบลงประชามติแล้ว

ดังนั้น ช่วงนั้นจะเกิดปัญหาสะสมอย่างมาก ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป ทำให้บ้านเมืองล้าหลัง และเสียหาย เพราะทำในกระบวนการที่ไม่รับฟังความเห็นของใคร และเกิดความย่ามใจว่า ฝ่ายค้านคงไม่มีใครมากล้าค้านอีกแล้ว เมื่อทำไป.สะสมปัญหามากขึ้นเรื่อย ประชาชนเห็นปัญหามากขึ้น ก็จะกลายเป็นความขัดแย้ง และคนก็จะคิดย้อนกลับมาในระหว่างการลงประชามตินั้น ประชาชนถูกปิดหูปิดตา

การกำหนดบทลงโทษหนักของกฎหมายการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ การจัดหลักสูตรอบรมผู้เห็นต่าง และการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/59 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหาร เข้าป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภัยอันตรายต่อความสงบเรียบร้อย หรือบ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้น กลายเป็นการออกกฎหมายร่วมกันที่ขัดหลักความชอบธรรม ขัดหลักประชาธิปไตยในเรื่องการลงประชามติ และการใช้อำนาจที่เกิดจากคำสั่งของบุคคล ที่กลายมาเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม การเอาคนไปเข้าค่ายปรับทัศนคติ การจัดหลักสูตรอบรม ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารมากกว่าที่ตำรวจทำ โดยไม่เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่มีการคุ้มครองผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหาวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างนี้ เมื่อถูกใช้โดยการชี้นำว่าต้องการจัดการกับผู้เห็นต่าง ไม่ให้แสดงความคิดเห็นกันอีกต่อไป มันจะทำให้เกิดสภาพที่ผู้ใช้อำนาจทั้งหลาย ตั้งแต่ระดับสูงไปจนถึงระดับล่าง เกิดทัศนคติที่ผิด อาจนำไปสู่การทำลายผู้ที่เห็นแตกต่าง

“เรื่องนี้ความจริงให้สติธรรม ว่า การทำอย่างนี้ มันจะทำให้สังคมจะยิ่งแตกแยก และเกิดการทำลายล้างผู้ที่เห็นแตกต่างในสังคม โดยเฉพาะกระบวนการจัดหลักสูตรอบรมที่คิดกัน เหมือนเหตุการณ์ในหลายประเทศ ที่บางประเทศปกครองสังคมนิยม จับคนไปเข้าค่ายสัมมนา เข้าค่ายแรงงาน แล้วจัดการข่มขู่บังคับให้เปลี่ยนความคิด หรือในอดีตบางประเทศใช้ค่ายกักกัน ใช้แรงงาน เห็นคนต่างเป็นศัตรูก็ทำลายล้าง กลายเป็นการสูญเสียของมนุษยชาติ ดังนั้น ไม่ควรทำเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่น การพูดเหมือนมีอำนาจอยากทำอะไรก็ได้ ทำให้มีผลกับผู้ที่ตำแหน่งรองลงมา หากขาดความเข้าใจ อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้


กำลังโหลดความคิดเห็น