เอเอฟพี - ศาลเขมรแดงที่สหประชาชาติให้การสนับสนุนของกัมพูชา เริ่มพิจารณาคดีต่อ 2 อดีตแกนนำเขมรแดงในวันนี้ (30) ในข้อหาที่ประกอบด้วย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเวียดนาม และชาวมุสลิม การบังคับแต่งงาน และการข่มขืน
คดีความที่ซับซ้อนของ 2 อดีตแกนนำเขมรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แบ่งการพิจารณาออกเป็นคดีย่อยๆ โดยเบื้องต้น มุ่งไปที่การบังคับประชาชนอพยพไปยังค่ายแรงงานในชนบท และคดีที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
การพิจารณาคดีครั้งแรกต่อ นายนวน เจีย “สหายหมายเลข 2” อายุ 88 ปี และนายเคียว สมพร อดีตประธานแห่งรัฐ อายุ 83 ปี เสร็จสิ้นไปเมื่อปลายปีก่อน และคาดว่าศาลจะอ่านคำพิพากษาตัดสินในวันที่ 7 ส.ค. นี้
และในการเปิดการพิจารณาคดีครั้งที่ 2 ผู้พิพากษานิล นน ได้อ่านข้อหาต่อจำเลยทั้งสองคน โดยมีผู้เข้าร่วมรับชมกระบวนการพิจารณาคดีมากกว่า 300 คน
ช่วงเริ่มต้นของการพิจารณาคดีครั้งที่ 2 มุ่งเน้นไปที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และผู้พิพากษาจะหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น การชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เหยื่อ
“การพิจารณาคดีครั้งที่ 2 มีความสำคัญเท่ากับครั้งแรก ทั้งเหยื่อ และพยานจะมีโอกาสให้การเกี่ยวกับประสบการณ์ และความทุกข์ทรมานที่ได้รับระหว่างการปกครองของเขมรแดง” ลาร์ส โอลเซ่น โฆษกศาล กล่าว
การสังหารหมู่มุสลิมชาวจามราว 100,000-500,000 คน และชาวเวียดนาม 20,000 คน เป็นฐานในการตั้งข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อ นายนวน เจีย และนายเคียว สมพร
จำเลยทั้งคู่เผชิญกับข้อหาจำนวนมากจากการเสียชีวิตของประชาชนมากถึง 2 ล้านคน อันเนื่องจากความอดอยาก การทำงานหนัก หรือถูกสังหาร ระหว่างการปกครองของเขมรแดงในปี 2518-2522
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ตกอยู่ในขอบเขตของข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่สหประชาชาติให้คำจำกัดความว่าเป็นการกระทำผิดด้วยเจตนาที่จะทำลายทั้งหมด หรือบางส่วนของชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา
โฆษกศาลเขมรแดง ระบุว่า ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาการพิจารณาคดีครั้งที่ 2 นี้ได้ แต่คาดว่าอาจใช้เวลาไปจนถึงปี 2559 เนื่องจากการพิจารณาคดีครอบคลุมถึงการก่ออาชญากรรมที่ค่ายแรงงานเขมรแดง และเรือนจำต่างๆ ซึ่งรวมทั้งเรือนจำตูลสเลง ที่รู้จักในชื่อ s-21
“การพิจารณาคดีครั้งนี้มีความสำคัญมากสำหรับฉันที่ตกเป็นเหยื่อ เพราะต้องสูญเสียพ่อกับแม่ไปในตูลสเลง อาชญากรที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และสังหารประชาชนของตัวเองต้องถูกลงโทษอย่างหนัก” นอง จัน พัน อายุ 45 ปี กล่าว
ภายใต้การนำของพล พต เขมรแดงได้รื้อถอนสังคมกัมพูชาเพื่อสร้างสังคมอุดมคติแบบชนบท และการพิจารณาคดีรอบใหม่นี้จะนำความยุติธรรมมาสู่คู่สามีภรรยาหลายหมื่นคู่ที่ถูกบังคับแต่งงาน อันเป็นส่วนหนึ่งในแผนของเขมรแดง ที่ต้องการเพิ่มจำนวนประชากร ทั้งยังรวมถึงข้อหาการข่มขืนซึ่งเกิดขึ้นจากการบังคับแต่งงานนี้ด้วย
ในการพิจารณาดคีแรกของศาลเมื่อปี 2553 ศาลได้ตัดสินโทษจำคุก นายกาง กึ๊ก เอียว อดีตผู้บัญชาการเรือนจำตูลสเลง เป็นเวลา 30 ปี และต่อมา ได้ปรับเพิ่มเป็นจำคุกตลอดชีวิต จากการเป็นผู้ควบคุมการเสียชีวิตของผู้คน 15,000 คน
แต่บรรดาผู้สังเกตการณ์ และเหยื่อเขมรแดงต่างวิตกกันว่า แกนนำเขมรแดงสูงอายุเหล่านี้อาจไม่อยู่รอดจนถึงวันพิพากษา
เอียง สารี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเขมรแดง เสียชีวิตลงขณะอายุ 87 ปี เมื่อปีก่อน ระหว่างการพิจารณาคดีการก่ออาชญากรรมสงคราม และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ส่วนนางเอียง ธิริธ ที่เป็นภรรยา ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเดือน ก.ย.2555 หลังมีวินิจฉัยว่า ไม่พร้อมเข้ารับการพิจารณาคดีเพราะปัญหาสุขภาพจิต.