รอยเตอร์ - ชาย สีลา ชาวกัมพูชาที่เดินทางมายาวไกลนับตั้งแต่ได้ลงทุนเงินออมทั้งชีวิต จำนวน 500 ดอลลาร์ ไปกับร้านค้าขนาดเล็กในเมืองหลวงเพื่อขายเพลง และหนังละเมิดลิขสิทธิ์
แต่อีก 16 ปีต่อมา ชาวกัมพูชาในเวลานี้นั่งชมภาพยนตร์ที่เขาเป็นผู้จัดจำหน่าย ผ่านโรงหนังมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์ และจับจ่ายในห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่ของบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นที่มีผู้ใช้บริการมากถึง 2 ล้านคนแล้วนับตั้งแต่เปิดให้บริการ
อดีตมัคคุเทศก์อายุ 39 ปี ผู้นี้ เป็นหนึ่งในเรื่องราวของผู้ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศที่เคยตกอยู่ในภาวะสงครามนานหลายปี และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ
แม้ความยากจนยังคงปกคลุมทั่วพื้นที่ชนบท แต่ชุมชนเมืองกลับเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วอันเนื่องจากภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แก่สินค้าหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Nike หรือ Gap ที่ทำให้ชนชั้นผู้บริโภคที่มีรายได้สูงกว่ารายได้เฉลี่ย 3 เท่า เพิ่มจำนวนขึ้น
“เราเห็นกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ผู้คนสามารถจ่ายได้ ตอนนี้เราพร้อมสำหรับแบรนด์ใหญ่ที่จะเข้ามายังกัมพูชา วัตถุนิยมอยู่ในใจผู้คนอยู่แล้ว สิ่งที่คุณสวมใส่ สิ่งที่คุณขับขี่ ล้วนเป็นตัวแทนของสิ่งที่คุณเป็น” ชาย สีลา กล่าว
ด้วยประชากรวัยทำงานที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และอัตราส่วนการเป็นภาระที่ลดลง ทำให้กัมพูชามีประชากรที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
เยาวชนคนหนุ่มสาวชาวเขมรในตอนนี้ซื้อสมาร์ทโฟน ทีวีจอแบน รถมอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่น พวกเขาก้าวเข้าธนาคารเพื่อทำสินเชื่อ และบัตรเครดิต เพิ่มพูนวัฒนธรรมทุนนิยม
บริษัทอิออน วางแผนที่จะเพิ่มศูนย์การค้าตามเมืองต่างๆ ของกัมพูชา และเปิดดำเนินการกิจการสินเชื่อขนาดเล็กเพื่อให้บรรดานักช้อปสามารถจับจ่ายผ่านแผนการชำระเงิน และศูนย์การค้าของอิออนในตอนนี้มีคนใช้บริการมากถึง 100,000 คนต่อวันนับตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในเดือน มิ.ย.
“ชนชั้นกลางกำลังขยายตัว อายุเฉลี่ยของชาวกัมพูชาอยู่ในช่วง 20 ต้นๆ เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญต่อแฟชั่น” โฆษกบริษัทอิออน กล่าว
ชาย สีลา เกิดในปีเดียวกับที่เขมรแดงเข้าสู่อำนาจ เขาสูญเสียญาติพี่น้องนับไม่ถ้วนไปกับแนวคิดสังคมอุดมคติของพลพต
เศรษฐกิจของกัมพูชาเติบโตเฉลี่ย 8.1% ตั้งแต่ปี 2543-2555 และขยาย 7.4% เมื่อปีก่อน ตามการรายงานของธนาคารโลก ห่างไกลจากความนึกคิดของเขมรแดงที่ยกเลิกระบบความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สังหารเจ้าของกิจการ และทำลายธนาคารแห่งชาติ
40 ปีหลังจากกรุงพนมเปญว่างเปล่า ผู้คนถูกเกณฑ์ไปยังค่ายแรงงาน เวลานี้เมืองเต็มไปด้วยศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และร้านอาหารฟาสต์ฟูดที่ผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว รถ SUV ทันสมัย หรือแม้แต่ลัมโบร์กินี พอร์ช ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่บนถนนที่เคยเป็นหลุมเป็นบ่อ
ธนาคารโลก ระบุว่า กัมพูชา ประเทศที่มีประชากรประมาณ 15 ล้านคน สามารถลดอัตราความยากจนลงจาก 53% ในปี 2547 เหลือ 20% ในปี 2554 ขณะเดียวกัน การลงทุนทางตรงจากต่างชาติขยายตัว จาก 2,650 ล้านดอลลาร์ในปี 2550 เป็น 10,800 ล้านดอลลาร์ ในปีต่อๆ มา ตามการรายงานของคณะกรรมการการลงทุนกัมพูชา
อัตราเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารในปี 2547 อยู่ที่ 3,895 ดอลลาร์ ประมาณ 1 ใน 5 ของอัตราเฉลี่ยปีก่อน ที่ 19,096 ดอลลาร์ ตามที่ธนาคาร Acleda ธนาคารรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชาระบุ
“เงินกู้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนหนุ่มสาวเช่นเรา เราไม่มีเงินพอที่จะซื้อของที่เราต้องการ” เฮา วาสนา อายุ 20 ปี กล่าวขณะเซ็นชื่อซื้อกล้องถ่ายรูปราคา 600 ดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับเงินเดือน 5 เดือน
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 เงินฝากธนาคารขยายตัว 13% และเงินกู้ยืมให้ภาคเอกชนขยายตัว 28% ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชาระบุ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชาวกัมพูชา 3 ล้านคน ฝากเงินกับธนาคารเพิ่มขึ้น 18% จากปีก่อน และมีผู้ใช้บัตรเครดิต และเดบิตประมาณ 600,000 คน
แม้กรุงพนมเปญจะพบกับความร่ำรวย แต่ยังมีชาวเขมรอีกมากที่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน และมีีรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 950 ดอลลาร์ หรือวันละ 2.60 ดอลลาร์ ซึ่งมีสัดส่วนเกือบครึ่งของเวียดนาม และเพียงแค่ 1 ใน 5 ของไทย
“เศรษฐกิจเติบโตเฉพาะในเมือง ส่วนชนบทไม่มีการพัฒนา” ชาวนาเขมรคนหนึ่ง กล่าว.