xs
xsm
sm
md
lg

วุ่นหนัก! ชาวบ้านนบพิตำ จ.นครศรีฯ นั่งขวางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้ารื้อสวนยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - ชาวบ้านนบพิตำ จ.นครศรีฯ รวมตัวสร้างกำแพงมนุษย์นั่งขวางถนน หลังเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายสนธิกำลังเข้ารื้อถอนพืชสวน และผลอาสินที่อ้างว่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขานัน แต่ชาวบ้านยืนยันทำกินมาแล้วมากกว่า 30 ปี ก่อนมติ ครม.ปี 2541

วันนี้ (29 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ถนนทางเข้าเขตเกษตรกรรมบ้านเขาโพธิ์ หมู่ที่ 9 ตำบลนบพิตำ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวบ้านหลายสิบคนพร้อมแผ่นป้ายข้อความคัดค้านการเข้ารื้อถอนผลอาสินของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขานัน ที่มีการสนธิกำลังกับฝ่ายตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ตามแผนการรื้อถอนสวนยางพารา และไม้ผลรวม 9 แปลง เนื้อที่เกือบ 60 ไร่

โดยชาวบ้านได้รวมตัวนั่งขวางถนนทางขึ้นไปยังสวนผลไม้ และยางพาราของพวกเขา ที่เป็นเป้าหมายในการรื้อถอนของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขานัน ทำให้สถานการณ์เป็นอย่างตึงเครียด เนื่องจากระยะแรกก่อนมีการเข้าเจรจา เจ้าหน้าที่ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าไปเจรจาพูดคุยกับชาวบ้านด้วยท่าทีแข็งกร้าว

ต่อมา นายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 เข้าเจรจาแทน ทำให้บรรยากาศคลี่คลายมากขึ้น ขณะที่ชาวบ้านร้องเรียนว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นไปอย่างไม่เป็นธรรม สืบเนื่องจากไม่มีการตรวจสอบสิทธิอย่างละเอียด ทำให้ชาวบ้านที่มีสวนผลไม้ และสวนยางพาราที่เป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นบิดา และพืชสวนที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และหลายแปลงที่ถูกเจ้าหน้าที่หักหาญเข้ารื้อถอนโดยไม่ฟังเหตุผลของผู้ครอบครอง

นางกัลยา โฮย อายุ 45 ปี ชาวหมู่ที่ 9 ตำบลนบพิตำ ระบุว่า สวนยางแปลงที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปรื้อนั้นได้รับมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อที่ทำสวนยางแปลงนี้มาก่อนแล้ว และตนเองได้เข้าทำต่อมามากกว่า 30 ปี ส่วนพ่อได้ถึงแก่กรรมไปเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา การเข้ามาสำรวจของเจ้าหน้าที่เพื่อรื้อถอนนั้นเขาแค่มาติดป้าย แต่ไม่ได้สอบหาข้อเท็จจริงที่มาของสวนเลย

เช่นเดียวกับ นายสาธิต ยังผ่อง อายุ 34 ปี เจ้าของสวนยางพาราเนื้อที่ 10 ไร่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าโค่นทำลายเมื่อ 3 ปีก่อน ระบุว่า รับมรดกสวนยางแปลงนี้มาพร้อมกับภรรยา โดยก่อนหน้านั้นตกทอดมาแล้ว 2 รุ่น คือ รุ่นพ่อของภรรยา มาถึงรุ่นพี่สาวของภรรยา จนมาถึงครอบครัวของตน “อาชีพทำสวนยางต้องจบลงทันที ยอมรับว่าแทบผูกคอตาย ไม่รู้จะไปต่อสู้เอากับใคร เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดป้ายแล้วเข้าตัดโค่นทำลาย จนถึงตอนนี้มีอาชีพแค่รับจ้างไปวันๆ”

ขณะที่ นายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จะยุติการรื้อถอนไว้ก่อน และร่วมทำบันทึกกับชาวบ้านเจ้าของพื้นที่รื้อถอนทั้ง 9 แปลง เพื่อตรวจสอบพิกัดที่ชัดเจน และพิสูจน์ผลอาสินว่ามีมาก่อนมติ ครม.2541 และตามการแปลภาพถ่ายทางอากาศปี 2547 ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และหากพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าหลังปี 2541 ชาวบ้านที่บันทึกทั้ง 9 แปลงจะต้องถูกดำเนินคดี ขณะที่ชาวบ้านยอมรับข้อพิสูจน์นี้จึงทำให้บรรยากาศคลี่คลายลงไป และเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าจับพิกัดทางดาวเทียมเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น