xs
xsm
sm
md
lg

แนวคิดในการปฏิรูปประเทศเบื้องต้น / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์..คนคาบสมุทรมลายู
โดย..จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

ประเทศไทยมีการพูดคุยถกเถียงถึงการปฏิรูปประเทศมาหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ นอกจากการปฏิรูปในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ผู้ให้กำเนิดการปกครองแบบจตุสดมภ์ เวียง วัง คลัง นา สมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการปกครองแบบกระทรวง และระบบต่างๆ ที่แตกต่างกับยุคก่อนๆ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยจนปัจจุบัน (ซึ่งยังไม่เป็นประชาธิปไตย)

การที่การปฏิรูปประเทศของไทยไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีเหตุปัจจัยมากมายหลายประการ ทั้งปัจจัยด้านผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยด้านจิตสำนึกทางการเมืองของคน ปัจจัยด้านการศึกษาที่ล้าหลังไม่ได้สร้างพลเมืองที่มีความรู้ความสำนึก ตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตน รู้ไม่ทันชนชั้นนำที่ครอบงำสังคมไทยด้วยความเชื่อ ความรู้สึกมากกว่าความรู้ และเหตุผล ที่สำคัญไม่เคยมีพรรคการเมือง หรือรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมือใดมีความจริงใจ และเอาจริงในการปฏิรูปประเทศส่วนใหญ่ทำเพื่อหาเสียง หรือสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี มีวิสัยทัศน์เท่านั้นเอง

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูของการปฏิรูปประเทศตามโรดแมปแม่น้ำ 5 สายของผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากมีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ขั้นตอนต่อไปคือการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จากจังหวัดต่างๆ จังหวัดละ 5 คน ส่งให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 1 คน รวมกับผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อีก 11 ด้าน รวมแล้วไม่เกิน 250 คน มาทำหน้าที่สำคัญคือ ศึกษา ให้คำแนะนำ และให้ความเห็นชอบแก่รัฐบาล คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ต่อไปนี้
 

 
ด้านการเมือง การบริหาราชการแผ่นดิน กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ พลังงาน สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน สังคม และอื่นๆ เพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความเหมาะสมต่อสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริต และเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีการบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเป็นธรรม

อำนาจหน้าที่ของสมาชิกสภาปฏิรูปการเมือง ประกอบด้วย 1) ศึกษา วิเคราะห์และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการประชมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก 3) พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น 4) เสนอผู้ที่จะเป็นกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน 5) ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่แต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมาธิการฯ ที่ คสช. เสนอ 1 คน สปช.เสนอ 20 คน ครม.เสนอ 5 คน สนช.เสนอ 5 คน คสช.เสนอ 5 คน 6) เสนอแก้ไขเรื่องใดๆ ที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญยกร่างแต่ไม่ผูกพันกรรมาธิการในการแก้ไข 7) ลงมติในการพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิรูปต้องมาพิจารณาถึงปัญหาต่างๆ ที่นำไปสู่ภาวะวิกฤตจนต้องมีการปฏิรูปประเทศกันครั้งใหญ่ว่าประกอบด้วยปัญหาอะไรบ้าง 1.วิกฤตด้านการเมืองที่กลุ่มประชาชนขัดแย้งรุนแรง และยืดเยื้อ 2.วิกฤตด้านเศรษฐกิจที่พัฒนาไปอย่างไม่สมดุล ไม่เป็นธรรม 3.วิกฤตด้านสังคมที่ทำให้ชุมชน ครอบครัว วัฒนธรรมอ่อนแอ คุณภาพชีวิตของประชาชนตกต่ำ เสื่อมถอย 4.วิกฤตด้านระบบนิเวศ ทำให้ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม สังคม และสุขภาพอนามัยประชาชนถูกทำลาย มีสภาพตกต่ำ
 

ปัญหาหลักของประเทศไทยซึ่งอยู่ในขั้นวิกฤต มีดังนี้

1.ปัญหาการเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาซึ่งเน้นเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนและผู้แทนไป
เลือกนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล มีข้อบกพร่องมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยากจนขาดความรู้ ความเข้าใจว่ารัฐบาลที่มาจาก ส.ส.เสียงข้างมากไม่ได้แปลว่าประเทศจะมีประชาธิปไตยแล้ว

2.ปัญหาเศรษฐกิจ เป็นระบบทุนนิยมกึ่งผูกขาดที่ครอบงำโดยบรรษัทขนาดใหญ่ พึ่งพาการลงทุน และการค้ากับต่างประเทศมากกว่าภายในประเทศ ทำให้ประชาชนเสียเปรียบทุนขนาดใหญ่มาก เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยที่เป็นเจ้าของทุนและปัจจัยการผลิต กับคนจนผู้ขายแรงงานมากขึ้น

3.ปัญหาสังคม มีปัญหาการจัดการศึกษา การกล่อมเกลาทางสังคมด้านความรู้ ความคิดอ่าน วัฒนธรรมประเพณีที่ส่งเสริมความคิด ความเชื่อ ค่านิยมแบบเจ้าขุนมูลนาย อำนาจนิยม จารีตนิยม อาวุโสนิยมสูง สอนผู้เรียนให้ท่องจำและเชื่อฟัง ไม่สอนให้รักการอ่าน ใฝ่รู้ คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล

4.ปัญหาระบบนิเวศ ถูกทำลายอย่างมาก และรวดเร็ว มีการใช้พลังงานและสารเคมีมาก ก่อให้เกิดมลพิษ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหาสุขภาพอนามัย ฯลฯ

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น