xs
xsm
sm
md
lg

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
 
“สังคมจะไม่เปลี่ยนแปลง จนกว่าความเจ็บปวดจากความเฉยเมยจะมากกว่าความเจ็บปวดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง” (นิรนาม)
 
สรรพสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง  เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ในทางพุทธศาสนาคือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ไม่มีสิ่งใดอยู่ค้ำฟ้า หรืออยู่เหนือกาลเวลาเป็น อกาลิโก  โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรม  แต่ทุกบริบทของการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งปัญหาแห่งความขัดแย้งระหว่างความคิดเก่า กับความคิดใหม่  ระหว่างผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
 
ทุกสังคมที่กำลังเผชิญหน้าต่อการเปลี่ยนแปลง จะมีกลุ่มคนอย่างน้อย ๓ กลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเผชิญหน้าต่อการเปลี่ยนแปลง  กลุ่มแรกคือ  กลุ่มที่เห็นด้วยต่อการเปลี่ยนแปลง  ทั้งในทางดี และทางไม่ดี ด้วยเหตุผลส่วนตัวบ้าง  ส่วนรวมบ้าง  หรือผลประโยชน์ตอบแทนบ้างแตกต่างกันไป  กลุ่มที่ ๒  คือ  กลุ่มที่ต่อต้าน หรือไม่เห็นด้วยต่อการเปลี่ยนแปลง  ด้วยอาจจะเห็นว่าของเดิมดีอยู่แล้ว หรือของใหม่มันแย่กว่า หรือเหตุผลอื่นๆ ก็ตามที
 
กลุ่มแรกกับกลุ่มที่ ๒ มักจะมีปริมาณใกล้เคียงกัน  ในขณะที่กลุ่มที่ ๓ มักจะมีมากที่สุด
 
กลุ่มที่ ๓  คือ  กลุ่มที่เฉยเมย ไม่ยินดียินร้ายต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง  อาจจะด้วยคิดว่าทั้งพวกสนับสนุน และต่อต้าน  ล้วนเป็นพวกสร้างปัญหา  ไม่มีสติปัญญา  สู้อยู่เฉยๆ แบบพวกตนดีกว่า  ไม่เปลืองตัว  เพราะถึงยังไงองค์กร หรือหน่วยงาน หรือสังคมนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว  หรือไม่ก็ในที่สุดผู้มีอำนาจมันก็ทำได้ทุกอย่างตามที่มันอยากให้เป็น  อะไรต่างๆ นานาทำนองนี้
 
ตามประสาของวัฒนธรรมการเมืองแบบ “คับแคบ-ไพร่ฟ้า”  ไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองแบบ “มีส่วนร่วม”
 
ในบางหน่วยงานมีผู้บริหารชั้นต้นมาจากการสรรหา แบบพวกมากลากไป ในระบบอุปถัมภ์แบบล้าหลังในสังคมบุรพกาล  แต่ยังนิยมนำมาใช้ในสังคมอุดมศึกษาไทยหลายแห่ง  จึงได้ผู้นำที่ไม่มีวุฒิภาวะ  ขาดสติปัญญา  ความรู้ความสามารถที่จะบริหารองค์กร  ไม่เป็นที่รู้จักของแวดวงองค์กรที่เกี่ยวข้องภายนอก  ไม่มีศักยภาพในการปฏิบัติงาน แม้แต่การดำเนินการประชุมให้บรรลุตามเป้าหมาย  เกริ่นนำการประชุมไม่เป็น  ดำเนินการประชุม และสรุปการประชุมไม่เป็น  จึงพยายามหลีกเลี่ยงการประชุม  ในรอบ  ๓  ปีที่บริหารมีการประชุมใหญ่แค่ครั้งเดียว นอกนั้นจะแยกการประชุมเป็นกลุ่มย่อย และไม่เคยมีการบันทึก และรายงานการประชุม  แต่อาศัยว่าเอาใจนายเก่ง จึงได้ดิบได้ดีมีโอกาสขึ้นมาเป็นหัวหน้าองค์กรอันมีเกียรติมีศักดิ์ศรีได้
 
การบริหารจัดการองค์กรแบบแบ่งแยกแล้วปกครอง  แบ่งเป็นพวกเขาพวกเรา  ไม่มีการแจ้งนโยบายในการบริหารจัดการ  ไม่มีการจัดทำข้อตกลงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี  ครั้นถึงเวลาให้ประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากร  ก็สร้างเอกสารหลักฐานเท็จขึ้นมา  แล้วลงวันที่ย้อนหลังว่าเป็นข้อตกลง  และการพิจารณาให้ขึ้นขั้นเงินเดือนก็ดำเนินการเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักธรรมาภิบาล  โดยเฉพาะหลักนิติธรรม  หลักคุณธรรม  หลักโปร่งใส  และหลักการมีส่วนร่วม  มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้รับการประเมิน  คนทำงานที่มีผลงานเป็นที่ปรากฏ  แต่ถ้าไม่พินอบพิเทา ประจบสอพลอ สนองตัณหาของตน ก็จะได้รับผลการประเมินเปอร์เซ็นต์เพิ่มเงินเดือนต่ำกว่าคนที่ไร้ผลงาน  แต่ทำตัวเป็น “สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง” หรือ “พวกลิ้นยาว”
 
องค์กรแห่งนั้นจึงมีความพิกลพิการ และอัปลักษณ์มานาน ตั้งแต่มีคณะทำงานที่มีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักธรรมาภิบาล  หรือการบริหารจัดการกิจการบ้านเมืองที่ดี  แต่คนในองค์กรก็แบ่งเป็น  ๓  กลุ่ม  ตามลักษณะดังกล่าวข้างต้น  และแน่นอนคนที่ต่อต้านผู้บริหารแบบนี้ย่อมพบต่อการกลั่นแกล้งต่างๆ นานา  โดยเฉพาะความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่เกี่ยวกับการเพิ่มเงินเดือนประจำปีที่ขาดความชอบธรรม  เลือกปฏิบัติ และไร้คุณธรรม  บางคนส่งผลงานให้ประเมินเต็มที่  แต่ผลการประเมินได้เลื่อนเงินเดือนแค่ ๔ เปอร์เซ็นต์  ปีต่อมาจึงไม่ยอมส่งผลงานแม้แต่ชิ้นเดียว  แต่กลับได้รับผลการประเมิน ๖ เปอร์เซ็นต์  และยังพยายามให้ส่งผลงานเพื่อรับการพิจารณาเป็นผู้มีผลงานระดับดีเด่นอีกต่างหาก  นี่คือความไม่มีมาตรฐานของคนกลุ่มนี้
 
แน่นอน องค์กรแห่งนี้ย่อมมีกลุ่มที่เฉยเมยมากกว่ากลุ่มไหนๆ คนเหล่านี้กลายเป็นเหยื่อของคนบ้าอำนาจที่ขาดคุณธรรม จริยธรรม คนส่วนใหญ่รอคอยคนส่วนน้อยที่กล้าพูด กล้าคัดค้านความอยุติธรรมทั้งหลายในที่แจ้ง แต่คนส่วนน้อยเหล่านั้นก็หวังว่า ปรากฏการณ์ทางสังคมจะเป็นไปตามที่ “นิรนาม” เคยกล่าวไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดขึ้นได้เมื่อความเจ็บปวดจากความเฉยเมย มีมากกว่าความเจ็บปวดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้เห็นมันหรือไม่
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น