xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา : กึ่งศตวรรษชุมชนตะเครียะ ทะเลเปลี่ยนไป ชุมชนเปลี่ยนแปลง (๕) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
การเปลี่ยนแปลงในการจัดตั้งทางสังคม  การเมืองเชิงสถาบัน และการเมืองนอกสถาบันของชุมชนตะเครียะ
 
การเปลี่ยนแปลงการจัดตั้งในระบบการเมืองเชิงสถาบันของชุมชนตะเครียะ
 
ยุคแรกๆ ของการเมืองเชิงสถาบันในชุมชนตะเครียะ บทบาทในทางการเมืองการปกครองตกอยู่ในการควบคุมดูแลของการปกครองส่วนภูมิภาค  ผ่านกำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ซึ่งเป็นเครื่องมือของนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัด  ทำหน้าที่ในส่วนปกครองท้องที่และประสานงานกับอำเภอ และจังหวัด  กลุ่มคนที่มีบทบาทในสถานภาพนี้คือ ทายาทของตระกูลผู้จับจอง และครอบครองที่ดินรายใหญ่ของชุมชน  เช่น  ตระกูลศิรินุพงศ์  มีผู้ใหญ่บ้านจวน  ศิรินุพงศ์  บิดาของนายสุรใจ  ศิรินุงพงศ์  อดีต ส.ส. และ ส.ว. จ.สงขลา  ตระกูลแกล้วทนงค์  เช่น  กำนันนุ่ม  แกล้วทนงค์ (ขุนตระการตะเครียะเขต)  ผู้พ่อ และลูกๆ  ได้แก่  กำนันฉุ้น  แกล้วทนงค์  กำนันเลื่อน  แกล้วทนงค์  กำนันใจ  แกล้วทนงค์  และกำนันสุชล  แกล้วทนงค์  ต่อมา ก็มีตระกูลช่วยแท่น  ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ที่สุด และมีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นของชุมชนตะเครียะมากที่สุดในปัจจุบันคือ  กำนันเปรียบ  ช่วยแท่น  และปัจจุบันคือ  นายวิโรจน์  สุรวิโรจน์  ทายาทของอดีตครูประชาบาล
 
เมื่อการเมืองเชิงสถาบันเข้าสู่ระบบการเมืองท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.องค์การบริการส่วนตำบล เมื่อ พ.ศ.2540  ตระกูลผู้เป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ และเครือข่ายก็เข้ามามีบทบาทในการเมืองเชิงสถาบัน  นั่นคือ  ตระกูลเดชดี  ตระกูลช่วยแท่น  ซึ่งเป็นญาติและดองกับตระกูลแกล้วทนงค์  โดยสมัยแรกที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะเครียะมาจากการเลือกกันเองของสมาชิก ส.อบต. คือ นายเหิม  เดชดี  อดีตครูประชาบาล  คนต่อมาที่เป็นนายก อบต.ที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปของประชาชนเป็นคนแรกคือ ส.จ.เอื้อน  เดชดี  ส.จ.หลายสมัย  แต่มาโดนปลดก่อนหมดวาระ และเสียตำแหน่งนายก อบต.ให้แก่เครือญาติรุ่นลูกหลานคือ  นายชายณรงค์  แกล้วทนงค์  ลูกชายของอดีตกำนันสุชล  แกล้วทนงค์  พี่ชายของ ส.จ.ไกรธนู  แกล้วทนงค์ หรือ ส.จ.เต้ง ทายาทสายตรงของขุนตระการตะเครียะเขต  อดีตกำนันตำบลตะเครียะผู้มากบารมี
 
การเมืองเชิงสถาบันในยุค อบต.ไม่ใช่มีแต่เครือญาติของตระกูลเจ้าของที่ดินรายใหญ่ผู้มากบารมีแต่เพียงกลุ่มเดียว  แต่ยังเป็นพื้นที่ของลูกหลานชาวนาที่อาจจะมีเงินไม่มาก หรือฐานะทางเศรษฐกิจไม่ได้เหนือกว่าคนอื่น  แต่เป็นคนมีญาติเยอะ  พรรคพวกเพื่อนฝูงรัก และชาวบ้านให้ความไว้วางใจ ให้ความเชื่อถือในบทบาทการทำหน้าเป็นปากเสียงแทนพวกเขา  เช่น   นายสุจิตต์  คงชู (อบต.โม่ง) ส.อบต. 5 สมัย และประธานสภา อบต.คนปัจจุบัน  ที่ทำหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบมาทุกสมัย  มีความรู้สูงสุดแค่ ป.7 เคยเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ไม่จบ  ฐานะทางบ้านก็ไม่ดีนัก  ญาติพี่น้องก็ไม่มาก แต่ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านในหมู่ที่  3 อย่างท่วมท้นมาโดยตลอด  แม้ว่าจะถูกกีดกันจากฝ่ายนายก อบต.มาทุกสมัยก็ตาม
 
“ผมพี่น้องมีน้อย  ส่วนมากชาวบ้านให้ความเชื่อถือมากกว่า  ผมคลุกคลีทุกหัวไดลงดิน ไม่ว่าชาวบ้านจะเดือดร้อนเรื่องอะไร  ถ้าช่วยได้  เช่น  น้ำชลประทานไม่ค่อยสมบูรณ์  ผมไปคุยให้  เรื่องบนอำเภอ…ชาวบ้านชอบ  เพราะผมค้าน  ถ้าแพ้ผมไปบอกชาวบ้าน…” (สุจิตต์  คงชู.2557)
 
การเปลี่ยนแปลงการจัดตั้งทางสังคมในระบบการเมืองนอกสถาบันของชุมชนตะเครียะ
 
ก่อนทศวรรษ  2500  ชุมชนตะเครียะมีวัฒนธรรมการสร้างเครือข่ายด้วยภูมิปัญญาการผูกเกลอ-ผูกดอง  อันเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  ดินแดนที่ได้ชื่อว่าไกลปืนเที่ยง หรือ “หัวเมืองบังคับยาก”  วัฒนธรรมการผูกเกลอคือ  การให้ทายาท หรือลูกหลานอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ทั้งผู้หญิง และผู้ชายที่ไม่ใช่ญาติสืบสายโลหิตเป็นเกลอ หรือเป็นเพื่อนกัน  มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับพ่อแม่ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่ายเหมือนญาติโดยสายเลือด  หรือหากโตแล้วก็อาจจะผูกเกลอกันเองได้  เมื่อเป็นเกลอกันแล้วต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเจือจุนกันในทุกๆ เรื่อง  จนถึงขนาดว่าสามารถจะตายแทนกันได้ หรือแม้แต่ชีวิตก็เสียสละให้เกลอได้  ความช่วยเหลือเจือจานส่วนใหญ่จะเป็นการเอื้อเฟื้อกันในเรื่องปัจจัยในการดำเนินชีวิต  เช่น  ข้าวปลาอาหาร  พืชผัก  ผลไม้  เข้าลักษณะ “เกลอเขา-เกลอเล”  คือเพื่อนที่อยู่ชายทะเล  ทุ่งราบ  ก็เจือจานเกลอที่อยู่ชายเขาชายควนด้วยข้าวปลาจากทุ่งนา และทะเล  ส่วนเกลอที่อยู่ชายเขาควนก็เอื้อเฟื้อด้วยผลหมากรากไม้  มะพร้าว  พืชผัก  เวลามีงานบวช  งานแต่ง หรืองานศพ
 
ส่วนการผูกดองคือ  การให้ลูกหลาน หรือทายาทของแต่ละตระกูลที่มีชื่อเสียงเป็นที่นับหน้าถือตาแต่งงานกัน  เพื่อสร้างเครือข่ายในการปกปักรักษาวงศ์วานว่านเครือเหล่ากอให้กว้างขวางออกไป  จนสามารถจะคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชุมชน หรือเครือญาติได้  ดังคำกล่าวขานที่ว่า “เวลาใครไปสู่ขอลูกสาวใคร  พ่อแม่หรือญาติพี่น้องฝ่ายหญิงจะถามอยู่สองอย่างคือ  หนึ่งรำโนราเป็นไหม  สองลักวัวควายคนอื่นเป็นไหม”  หากฝ่ายชายคนไหนไม่มีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งแม้แต่ข้อเดียว  ฝ่ายหญิงก็จะไม่ยินยอมให้ลูกสาว  เพราะคุณสมบัติของการรำโนรา หรือศิลปินพื้นบ้าน  เป็นลักษณะของ “คนลักเลง” หรือคนที่มีความรู้  มีเครือข่ายกว้างขวาง  เช่นเดียวกับนักเลงลักวัวลักควายที่ต้องมีความกล้าหาญ  เป็นคนนักเลง  เป็นที่เกรงอกเกรงใจของคนอื่น  ย่อมเหมาะที่จะคุ้มครองชีวิต และทรัพย์สินของฝ่ายหญิง และเครือญาติได้
 
หรือทุกท้องที่  ชุมชน  เวลาจะหาคู่ครองให้ลูกหลานจะมองหาครอบครัวที่มี “ลอมข้าวใหญ่” หรือ “ใต้ถุนขี้กรากว้าง” เพราะการมี “ลอมข้าวใหญ่” หมายถึงเป็นครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี  ส่วนการมี “ใต้ถุนขี้กราใหญ่” หมายถึงเป็นครอบครัวที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องอาหารการกิน ไม่อดอยากจน  ใต้ถุนครัวไม่เคยแห้งจากน้ำล้างถ้วยล้างชาม  หรือเป็นครอบครัวของคนกว้างขวาง  มีใครต่อใครมาติดต่อสัมพันธ์บ่อยๆ  จนใต้ถุนครัวไม่เคยแห้งน้ำจากการประกอบอาหารต้อนรับ  กล่าวได้ว่าทั้งโจร ทั้งนาย (ตำรวจ)  มาแวะพักอาศัยก็ว่าได้
 
อ่านต่อฉบับหน้า
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น