xs
xsm
sm
md
lg

ใครทำร้ายโลกและสังคม ? / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
 
คอลัมน์..คนคาบสมุทรมลายู
โดย..จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

จากบทความ “ทำไมคนใต้ไม่กลัวทหาร” ของข้าพเจ้าในวันก่อน มีเสียงสะท้อนจากผู้อ่านหลายท่านในทางย้อนแย้ง และเยาะเย้ยถากถางต่างๆ นานา ทำนองว่าข้าพเจ้ายั่วยุบ้าง พวกถูกประวัติศาสตร์จำขังบ้าง ท้องถิ่นนิยมบ้าง มองไม่รอบด้านบ้าง ฯลฯ เอาเป็นว่าใครคิดอย่างไร เห็นอย่างไรก็ว่ากันไปตามนั้น ขอเพียงแต่ว่าสิ่งไหนที่ข้าพเจ้าไม่ได้คิดไม่ได้เขียนก็อย่าพยายามยัดใส่มือ และสมองของข้าพเจ้าก็แล้วกัน ข้าพเจ้าเคารพทุกความคิดเห็น แต่จะไม่ยอมรับการเยาะเย้ยถากถาง เพราะมันไม่มีประโยชน์ และเสียเวลาที่จะแลกเปลี่ยนถกเถียงครับ

โลกและสังคมปัจจุบันกำลังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงในหลายด้าน หลายวิกฤต แต่วิกฤตที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ วิกฤตเกี่ยวกับสังคม และวัฒนธรรม หรือวิกฤตเกี่ยวกับคน ทั้งสิ่งที่คนสร้าง และวิธีคิดของคนเป็นสำคัญ เพราะวิกฤตต่างๆ ในโลกนี้ล้วนมีต้นเหตุมาจากการกระทำของคนเป็นหลัก

อัลเบิร์ต ไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์และปรัชญาสังคมคนสำคัญเคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“โลกใบนี้จะไม่พินาศด้วยน้ำมือของคนชั่ว แต่มันจะพินาศด้วยน้ำมือของคนที่ได้แต่มอง แต่ไม่คิดจะทำอะไรเลยต่างหาก”

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตในสังคม จะมีคนจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับคนที่มีอยู่ในสังคม และจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์นั้นๆ ลุกขึ้นมาแสดงความรับผิดชอบ หรือมีส่วนร่วมในการคัดค้าน ต่อต้าน หรือจัดการให้มันเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร และเอื้อประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ แต่จะมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมที่วางตัวนิ่งเฉยอยู่เหนือความขัดแย้ง ปรากฏการณ์นั้นๆ บางคนพยายามแสดงความมีวุฒิภาวะที่เหนือกว่าคนที่เสียสละออกมามีส่วนร่วมโดยการสร้างวาทกรรม เช่น เรียกร้องให้ “ปรองดอง” บ้าง “สามัคคีกัน” บ้าง หรือไม่ก็นิ่งเฉยไม่สนใจไยดีต่อชะตากรรมของบ้านเมือง

คำกล่าวข้างต้นจึงน่าจะตกผลึกจากประสบการณ์ในการเฝ้ามองพฤติกรรมของคนในสังคมของนักวิทยาศาสตร์สังคมท่านนี้ มันเป็นสัจพจน์ที่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ โดยเฉพาะในสังคมด้อยพัฒนาอย่างสังคมไทย ที่เต็มไปด้วย “พวกโง่ที่อวดฉลาด” หรือ “คนเกาะรั้วเสมอนอก” มากเกินไป สังคมจึงพบกับความวิกฤต และไร้ทางออกเกือบทุกทาง

ในขณะเดียวกัน ปราชญ์ทางตะวันออกอย่างจูกัดเหลียง หรือขงเบ้ง ก็เคยกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจเหมือนกันว่า

“ที่บ้านเมืองวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะคนดียอมสยบแด่คนชั่ว แต่เพราะคนชั่วมันคิดว่าตัวเองเป็นคนดีต่างหาก”

แน่นอน สังคมด้อยพัฒนา หรือสังคมอำนาจนิยมแบบอุปถัมภ์ย่อมศิโรราบให้แก่อำนาจไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง อำนาจทางการปกครอง อำนาจทางการบริหาร หรือแม้แต่อำนาจของคณะสงฆ์ ภายใต้ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ที่ว่า “ผู้มีอำนาจ” คือ “คนมีอำนาจวาสนา” เป็นคนดีที่ทำบุญ หรือความดีไว้แต่ชาติปางก่อน ชาตินี้จึงมาเสวยสุขตามกุศลผลบุญที่เคยทำไว้ ส่วนคนด้อยโอกาสก็คือ คนที่ไม่มีบุญวาสนาตั้งแต่ชาติปางก่อน จึงต้องมารับกรรมในชาตินี้ และหากจะเป็นอย่างเขาบ้างก็ต้องทำบุญกุศลให้มากๆ เข้าไว้

สังคมแบบนี้จึงฟังแต่คนมีอำนาจ ทุกคนวิ่งเข้าหาศูนย์กลางของอำนาจที่กลายเป็น “ศูนย์กลางของจักรวาล” โดยไม่คำนึงถึงความเป็นมา ธาตุแท้ของคนที่มีอำนาจ ไม่เว้นแม้แต่ในสถาบันอุดมศึกษา อธิการบดีหลายคนกลายเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยเสมือนเป็นมรดกตกทอดประจำวงศ์ตระกูลของตนเอง สามารถที่จะดลบันดาลตำแหน่ง หน้าที่ ผลประโยชน์ให้ใครก็ได้ที่ตนเองและลิ่วล้อเชื่อว่าเป็น “พวกเดียวกัน”

ข้าพเจ้าเป็นนักมนุษย์นิยม เชื่อมั่นในความดีของความเป็นมนุษย์มากกว่า “สัตว์สอพลอ” แม้จะรู้ว่าการเป็น “สัตว์สอพลอ” มีโอกาสจะก้าวหน้า เจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานมากกว่า “มนุษย์ผู้ทระนง” แต่ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าการเป็น “มนุษย์ผู้ทรงนง” อย่างน้อยๆ ในวันตายงานศพคงไม่มีเฉพาะ “พระ-หมา-เจ้าภาพ” อย่างแน่นอน

สังคมและโลกอยู่มาได้ไม่ใช่เพราะคนประเภทที่อัลเบิร์ต ไอสไตน์ และขงเบ้ง กล่าวถึงอย่างแน่นอน แต่มันอยู่มาได้เพราะคนที่ไม่ยอมนิ่งเฉยต่อความชั่วร้ายที่เกิดขึ้น หรือคนที่ไม่สำคัญผิดคิดว่าคนเองเป็นคนดี ทั้งๆ ที่เป็นคนชั่ว ซึ่งสังคมปัจจุบันมันมีคนที่สำคัญผิดคิดว่าตัวเองเป็นศาสดาทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเขาคือ “ซาตาน”

ปัจจุบัน เรากราบไหว้ “เทวทัต” กันเพราะสำคัญผิดคิดว่าเป็น “สิทธัตถะ” อยู่ก็เยอะแยะ เราจึงจำเป็นต้องจำแนกแยกแยะให้ออกว่าอะไรเป็นแค่ “ปรากฏการณ์” อะไรคือ “ธาตุแท้” ไม่งั้นสังคมจะหายนะ เพราะในความเป็นจริง

“งาช้างไม่มีทางจะงอกจากปากสุนัข” หรือ “การตักน้ำรดหัวตอ ไม่มีทางที่มันจะแตกกิ่งก้านสาขา” อย่างแน่นอน.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น