คอลัมน์..คนคาบสมุทรมลายู
โดย..จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ในวันเวลาที่ทหารเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ผู้นำทางทหา รและผู้นำรัฐบาลเป็นคนคนเดียวกัน และมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่มีใครกล้าสวนกระแสความคิดความเห็นของผู้นำสูงสุด แต่ทำไมคนใต้ในนามของ “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน”หรือ “โหมไม่บาย” จึงกล้าออกมาแสดงออกทางสังคมโดยยอมให้ทหารควบคมตัวไป “ปรับทัศนคติ” ในขณะที่นักการเมือง และกลุ่มขั้วอำนาจต่างๆ พากันสงบเสงี่ยมเจียมตัวแบบ “นกรู้” หรือ “จิ้งจกเปลี่ยนสี”
โดยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ คนใต้มีทัศนคติที่ไม่กลัวนายมาตั้งแต่สมัยบรมกาลนานมาแล้ว ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวติดปากติดหูลูกหลานคนใต้ในยุคสมัยต่างๆ ที่ว่า
“นายรักเหมือนเสือกอด หนีนายรอดเหมือนเสือหา”
อันเป็นทัศนคติที่คนใต้มีต่อนายในสมัยเจ้าภาษีนายอากรที่นายจากส่วนกลาง หรือราชธานีรีดไถเอากับคนใต้ในรูปแบบของส่วยสาอากรตั้งแต่สมัยเงิน “รัชชูปการ” หรือ “เงินสี่บาท” แทนการเกณฑ์แรงงาน นอกจากนั้น ยังมีส่วยที่เป็นทรัพยากรท้องถิ่นในเมืองต่างๆ เช่น ส่วยขี้ค้างคาว ส่วยไม้กระดาน ส่วยดีบุก ส่วยสาดเตย เป็นต้น
ทำให้คนใต้ทั้งเกลียด และกลัวนายจนเกิด “ชุมชนหนีนาย” คือ อพยพไปให้พ้นจากเงื้อมมือของนายที่เอื้อมเข้ามารีดนาทาเร้น รวมทั้งการพยายามหลีกเลี่ยงการมีคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลเพราะต้องเสียเงินเสียทอง รับภาระค่าใช้จ่ายมากมายในการมีคดีความ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ หรือจำเลย ไม่แตกต่างไปจากกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน จนเกิดคำกล่าวที่ว่า
“กินขี้หมาดีกว่าค้าความ” เพราะคนใต้เชื่อว่า “คุกตะราง (คนใต้เรียกว่าหราง) มีไว้ขังหมากับคนจน”
ยุคต่อมาสมัยที่มีการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ฐานที่มั่นสำคัญในภาคใต้อยู่แถบเทือกเขาบรรทัด เขตรอยต่อพัทลุง-สงขลา-ตรัง-สตูล และเทือกเขานครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในพื้นที่นาสาร-พรุพี-ช่องช้าง-พระแสง-บ้านส้อง-เวียงสระ-เคียนซา ฯลฯ เกิดคำกล่าวขานสะท้านสะเทือนไปทั้งภาคใต้ว่า
“ไม่รบนายไม่หายจน”
ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอย่าง แสง ธรรมดา และพรรคพวกได้ประพันธ์เพลงขึ้นมาขับขานปลุกเร้าให้คนใต้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับนายอย่างไม่ยอมจำนน แม้ว่าจะมีมวลชนจำนวนนับครึ่งหมื่นพลีชีพเพื่อแย่งชิงมวลชน แม้ในที่สุดด้วยสถานการณ์ความขัดแย้งภายใน และภายนอกในระดับสากลจะทำให้ต้องพ่ายแพ้ในสงครามเย็น หรือสงครามลัทธิ แต่ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ก็ตรึงตราในความทรงจำร่วมสมัยของคนใต้ไม่รู้ลืม
รัฐบาลไทยต้องไม่ลืมว่า ในประวัติศาสตร์นานมาแล้วในยามที่เมืองหลวงอ่อนแอ และเกิดความขัดแย้งระส่ำระสาย หัวเมืองภาคใต้มีผู้ประกาศตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินเกิดขึ้นแล้วทั้งในเมืองลิกอร์หรือนครศรีธรรมราช และเมืองสงขลาหัวเขาแดง และในบางยุคบางสมัย หัวเมืองในลุ่มทะเลสาบสงขลา ๓ เมืองถูกขนานนามจากเจ้านายในราชธานีที่มาตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ว่า “เป็นหัวเมืองบังคับยาก” ประกอบด้วย เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา และเมืองพัทลุง”
หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในยุค “หอยครองเมือง” นิสิต นักศึกษา ประชาชน ศิลปิน นักเขียน ฯลฯ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และการเมืองถูกปราบปรามต้องเนรเทศตัวเองสู่ป่าเขา บ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศของความเงียบเหงาอับจนทางปัญญา วรรณกรรมเพื่อชีวิต บทเพลงเพื่อชีวิต ไม่ได้รับการต้อนรับ เกิดการนำเสนอนวนิยายน้ำเน่าเป็นตอนๆ ในนิตยสาร และวารสารแทน บทกวีสายลมแสงแดด หาผัวหาเมียเข้ามาแทนที่บทกวีเพื่อชีวิต
มีแต่กวี นักดนตรี นักร้อง นักเขียน ศิลปินพื้นบ้าน และแกนนำชาวบ้านในภาคใต้นี่แหละที่เริ่มสานต่อเจตนารมณ์ของคนรุ่น ๑๔ และ ๖ ตุลาคม อย่างคึกคัก ดังจะเห็นได้จากบทกวีในนิตยสารวิเคราะห์การเมืองรายสัปดาห์ยุค “พิราบขาวคืนเมือง” เช่น อาทิตยฺวิวัฒน์, สยามใหม่, ตะวันใหม่, มาตุภูมิ ฯลฯ
นอกจากนั้น ภาคใต้หลังสงครามกลางเมือง เกิดกลุ่มวรรณกรรมในสถาบันอุดมศึกษาอย่างคึกคัก ขับเคลื่อนทั้งกิจกรรมทางความคิด และการออกค่ายพัฒนาชนบทในนามของชมรมอาสาพัฒนาและชมรมบำเพ็ญประโยชน์ มีกลุ่มนักเขียนที่น่าสนใจ ประกอบด้วย กลุ่มประภาคาร-ทะเลสาบสงขลา ในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (มศว) สมาชิก ได้แก่ ประมวล มณีโรจน์,’รูญ ระโนด (จรูญ หยูทอง), มาบ หัวทีง (นิรัติศรัย หล่ออรโณทัย), ทัศนวิไล (ทัศนัย นวลวิลัย), ปอพอ ศรออน (คล้ายเทพ นนทพุทธ), สายธารสิโป (นิพล รัตนพันธ์), ธัช ธาดา (เกษม จันทร์ดำ)
กลุ่มสานแสงทอง พัทลุง สมาชิกประกอบด้วย เจน สงสมพันธุ์ และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ กลุ่มประกายพรึก พัทลุง สมาชิกประกอบด้วย ไพฑูรย์ ธัญญา (ธัญญาสังขพันธานนท์), ยงยุทธ ชูยลชัด (ยงยุทธ ชูแว่น), สมพร รัตนพันธ์, สวาท สุวรรณวงศ์ กลุ่มเพื่อนวรรณกรรม ในวิทยาลัยครูสงขลา สมาชิกประกอบด้วย เชื้อ ชูไท (ชาญวิทย์ คงเมือง), ปัทมราช เชื้อศูทร (ประทุม เรืองฤทธิ์) ชมรมดอกไม้นครศรีธรรมราช สมาชิประกอบด้วย โอภาส สอดจิตต์, พระมหาจตุรงค์ ศรีจงกล, รัตนธาดา แก้วพรหม (บุญเสริม แก้วพรหม), สายใจ ปุญญานุพงศ์, แก่นเพชร ภักดีพันธุ์ กลุ่มคลื่นทะเลใต้ สุราษฎร์ธานี สมาชิกประกอบด้วย สมใจ สมคิด และบุญชัย ตันสกุล เป็นต้น
ปลายปี ๒๕๒๕ กลุ่มเหล่านี้รวมตัวกันเป็น “กลุ่มนาคร” ขับเคลื่อนทั้งวรรณกรรม บทเพลงและกิจกรรมทางสังคมที่หลากหลาย สร้างปรากฏการณ์ใหม่ทางสังคมจนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มวรรณกรรมในภาคเหนือ เช่น กลุ่มลมเหนือ และกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลในภาคอีสานจนปัจจุบัน
นี่คือส่วนหนึ่งของรากเหง้า และความเป็นตัวตนของคนใต้ทั้งการขับเคลื่อนในสถานการณ์ล้มระบอบทักษิณจนถึงภารกิจ “ปฏิรูปพลังงาน” ในวันนี้ และอนาคตอีกยาวไกล.
“เราจะไม่ศิโรราบให้แก่ความอยุติธรรมทุกรูปแบบอย่างแน่นอน”