xs
xsm
sm
md
lg

ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในชนบทภาคใต้ (2) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย และคณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย / รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ / บุญเลิศ จันทระ
 
ในภาคใต้การศึกษาเกี่ยวกับการเมือง และการเป็นประชาธิปไตยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มุ่งให้ความสำคัญ พุ่งเป้าความสนใจไปที่ปรากฏการณ์ และการอธิบายที่มาของการการตื่นตัวทางการเมืองของคนในชนบทภาคใต้กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สะท้อนผ่านในรูปแบบต่างอันเป็นเอกลักษณ์การอธิบายคุณลักษณะ ตัวตน และความเป็นท้องถิ่นนิยม “คนใต้” ในฐานะเงื่อนไข ที่มาของความตื่นตัว และกระตือรือร้นทางการเมืองแบบเหมารวม และตายตัว  
 
“คนปักษ์ใต้เป็นคนหยิ่ง ทระนง มีท่าทีไว้เชิง ไม่เปิดตัวก่อนเมื่อพบคนแปลกหน้า ฉับไวในการตั้งกระทู้หาข้อโต้แย้ง ชอบทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ ชอบชิงการนำ ดิ่งเดี่ยว และเสี่ยงสู้ ไม่ยอมรับและเสียเปรียบใครง่ายๆ  เล่นพรรคเล่นพวก สะตอสามัคคี มีนิสัยบริการและปรนนิบัติต่ำ ไม่ยอมทำงานรับจ้าง และไม่สบายใจที่จะทำตามบงการของคนอื่น...คนใต้หัวแข็ง กระด้าง หัวหมอ ขาดคารวะธรรม หยิ่ง ดุ ดื้อรั้น ปกครองยาก อัตตาสูง เป็นนักเลง พูดไม่ถนอมน้ำใจคนอื่น ไม่เก็บกักอารมณ์ โผงผาง พูดจาขวานผ่าซาก เมื่อเผชิญหน้ากับหมู่คณะอื่นมักออกมาเผชิญหน้าและปกป้องกันเอง”
 
บทความของอนุสรณ์ (2554) เรื่อง “คนใต้ พรรคประชาธิปัตย์ และการเมืองเสื้อสี” วิเคราะห์ว่า  “ความเป็นคนใต้” ถูกวาดภาพให้เป็นคนใจนักเลง กล้าได้กล้าเสีย หัวหมอ รักพวกพ้อง เชื่อมั่นในตนเอง รักความเป็นอิสระ เชื่อมั่นในตนเอง ไม่ไว้ใจ และไม่หวังพึ่งรัฐ มักโต้เถียงคัดค้านเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการอยู่เสมอซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งยวดกับระบบสังคมวัฒนธรรม และคตินิยมของคนในภาคใต้ที่ยึดถือความเป็น “พรรคพวก” “เครือญาติ” และระบบ    “เกลอ” ดังที่จรูญ (2555)  ให้ความเห็นไว้ว่า“สังคมปักษ์ใต้เป็นสังคมเครือญาติ มีญาติมาก พวกมากสามารถทำอะไรก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ระบบเครือญาติมีที่มาทั้งญาติที่สืบสายโลหิต การผูกดองเพื่อขยายอิทธิพล และผลประโยชน์ตามภูมิปัญญาการขยายอำนาจการปกป้องตนเองและเครือญาติ เช่นเดียวกับการผูกเกลอเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับคนนอกสายเลือดให้แน่นแฟ้น”
 
แฟ้มภาพ
 
แต่ Marc Askew (2008) ได้ชี้ว่าการตัดสินใจทางการเมืองของ “คนใต้” ไม่สามารถใช้คุณลักษณะได้อย่างเด็ดขาด เพราะส่วนหนึ่งของการเป็นคนใต้ที่ตื่นตัวทางการเมือง เป็นผลมาจากการการประดิษฐ์กรรมทางสังคมโดยพรรคการเมืองที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานในพื้นที่ภาคใต้ ในการสร้างภาพ (Socio Drama) คนใต้ในฐานะที่เป็นผู้มีความกระตือรือร้น ชื่นชอบนักการเมืองที่มีคุณธรรม และต่อต้านอำนาจรัฐที่อยุติธรรม ด้วยเหตุนี้การเลือกพรรคการเมืองดังกล่าวอย่างเหนียวแน่นจึงเป็นผลทั้งจากความสำเร็จในการประดิษฐ์สร้างพร้อมๆ กับการที่คนใต้เองต้องสร้างตัวตน และชุมชนทางการเมืองในอุดมคติตามแบบฉบับของตนด้วย รูปธรรมที่เด่นชัดก็คือ การชูประเด็น/สถาปนา “พรรคของเรา คนของเรา” เป็นตัวแทนต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นในระดับชาติระหว่างขั้วที่เรียกว่า “พรรคเทพ-พรรคมาร” หลังเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535  เป็นต้น 
 
ด้านนิธิ (2556) เห็นว่าสังคมภาคใต้นั้นหลุดออกไปจากสังคมชาวนาเข้าสู่เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจสมัยใหม่ก่อนคนกลุ่มอื่นในสังคมไทย  โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐมากนัก จึงต้องสร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงขึ้นใหม่ขึ้นมาด้วยตนเองด้วยลำพังมากกว่าการรอรับการช่วยเหลือจากรัฐ ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนใต้จึงค่อยสร้างความเป็น “ใต้” ที่มีนัยของการพึ่งตนเองเอาตัวออกห่าง และสร้างภาพความสัมพันธ์ทางสังคม และการเมืองแบบคู่ตรงข้าม ภายใต้วาทกรรมทางการเมืองที่เรียกขานกันอย่างกว้างขวางที่ว่า “ไม่รบนายไม่หายจน” ที่ก่อตัวและเข้าสู่กระแสสูงของการปฏิบัติการ การเคลื่อนไหวในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นต้นมา  ทั้งการเคลื่อนไหวทางทางการเมืองผ่านการชุมนุมเรียกร้อง เดินขบวน  และการแสดงออกในพื้นที่ และปริมณฑลทางวัฒนธรรม ดังความตอนหนึ่งในเนื้อเพลงไม่รบนายไม่หายจนที่ว่า “...เราทำนา ราคาข้าวไม่มี   ยางแผ่นดีๆ ทำไมไม่มีราคาปล่อยให้นายทุน ฝรั่งมันเข้ามา มากดราคา ชาวประชาจะอดตาย คนจนๆ ทนกล้ำกลืนเรื่อยมา ถูกว่าถูกด่า ถูกเหยียดหยามประณามคนที่ดีๆ เจ้านายปราบปราม ปล่อยคนเลวทรามมาคุกคามประชาชนโอ๊ยไม่รบนายก็ไม่หายจน...” หรือบทหนังตะลุงพื้นบ้าน ที่ว่า “เลือกคนโกงเข้ามาเป็นสุขาภิบาล เอาแต่ผลาญเงินรัฐแต่ไม่พัฒนา เลือกคนไม่มีความรู้เป็นผู้ใหญ่ หน้าที่ไก่ให้เป็ดขันเป็นปัญหา โกงเงินรัฐ เงินราษฎร์ แต่ขาดการพัฒนา เป็นปัญหารำคาญ คนบ้านเรา” หรือ “นี่เสือผาดเสือโผนโจรนิ้วด้วน ผู้ก่อกวนประชาชนปล้นสังหาร เป็นลูกน้องของหัวหน้าราชการ สองโจรพาลยิ่งใหญ่ใจเด็ดเดี่ยว” (อ้างถึงในจรูญ, 2548 ; 2556)
 
งานวิจัยในช่วงหลังจึงเน้น/พุ่งความสนใจไปที่การชุมชนการเมือง “อธิปัตย์” และ “การย่องเงียบ” ของการเมืองชุมชน หรือที่เรียกอย่างลำลองว่า “ประชาธิปไตยชุมชน” เช่น คณะกรรมการจัดงานสร้างสุขภาคใต้ (2551) ได้เสนอแนวคิดการเมืองภาคประชาชนจากการสังเคราะห์แนวคิดประประชาธิปไตยชุมชนในมิติการจัดการตนเอง ประชาธิปไตยชาวบ้าน ผ่านการสร้างธรรมนูญชุมชน การเมืองว่าด้วยการประสานความร่วมมือแบบสมานฉันท์ระหว่างการเมืองในและนอกสถาบัน, งานของณฐพงศ์ (2556) ที่ถึงแม้จะเป็นการศึกษาชุมชนในเขตเมือง แต่รากฐานส่วนใหญ่ของสมาชิกในชุมชนมาจากชนบทโดยเฉพาะแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา ฉายให้เห็นว่าชีวิตผู้คนในปัจจุบันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโครงสร้าง ผู้คนจำนวนมากทั้งที่ใกล้ และไกลออกไปจากเงื่อนไขการดำรงชีวิต เศรษฐกิจในระบบตลาดและทุน เป็นต้น ทำให้สามารถสร้างจินตนาการชีวิตที่หลายหลาก สลัดวัฒนธรรมอุปถัมภ์ และก้าวสู่พรมแดน “ชุมชนสำนึก” ที่มีศักยภาพรังสรรค์ เปลี่ยนแปลงชีวิต ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างมีคุณภาพ ทั้งในฐานะ “พลเมืองที่ตื่นตัว” (Cosmopolitan)  หรือปฏิบัติการทางการเมืองภาคชุมชนครั้งสำคัญของภาคใต้ที่รู้จักกันในนาม “ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 : คนใต้กำหนดอนาคตตนเอง เมื่อปี พ.ศ.2554 เพื่อร่วมกันคัดค้านแผนพัฒนาภาคใต้จากอุตสาหกรรมเลื่อนลอย ไม่ว่าจะเป็น นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงถลุงเหล็กต้นน้ำ สะพานเศรษฐกิจที่เน้นการขนส่งน้ำมันและผลผลิตต่อเนื่อง ท่าเรือน้ำลึก  โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ่านหิน เป็นต้น
 
จะเห็นได้ว่า แม้จะมีการศึกษาที่จะช่วยให้เกิดการความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนในชนบทภาคใต้จำนวนหนึ่ง แต่ยังคงขาดการศึกษาความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ “ชนบท” อย่างละเอียด รอบด้าน ในอันที่จะช่วยให้มีความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อน และรวดเร็วของชุมชนในช่วงที่ผ่านมา  ดังนั้น ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทภาคใต้ในมิติต่างๆ นอกจากจะช่วยให้เกิดการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนในมิติอย่างโยงใยแล้ว ยังจะช่วยให้เกิดแนวทางวางแผน การสร้าง/ รังสรรค์ความเป็นประชาธิปไตย และการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเคารพ เสมอภาค และเท่าเทียม
 
แฟ้มภาพ
 
1.2 วัตถุประสงค์การศึกษา
 
เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทภาคใต้ในมิติทางเศรษฐกิจ ตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม  โครงสร้างอารมณ์ความรู้สึก การจัดตั้งทางสังคม  ระบบการเมืองวัฒนธรรม และการเมืองของประชาชน และชุมชนอันส่งผลต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่ทำให้ชุมชนมีตัวตน ตำแหน่งแห่งที่ ที่สามารถแสดงออกบนเวทีการเมืองระดับต่างๆ ตลอดจนการปรับเปลี่ยน/ต่อรองเชิงอำนาจกับคนกลุ่มอื่นในสังคมทั้งที่ใกล้และไกลออกไป 
 
1.3 แนวทางในการศึกษา
 
การศึกษาความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยใน “ชนบท” ทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เน้นศึกษาการเปลี่ยนแปลงในมิติพื้นที่ “ชนบท” เพื่อเข้าใจพัฒนาการและปัญหาของ “ประชาธิปไตย” ในชนบท ใน 4 มิติหลัก ประกอบด้วย
 
แฟ้มภาพ
 
1.3.1 มิติการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของคนในชนบท
 
เป็นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเคลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของคนในชนบท ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง การทำความเข้าใจในระบบการเมือง กระบวนการประชาธิปไตยในชนบทภาคใต้ โดยเน้นศึกษาช่วงเวลานับแต่การเชื่อมต่อของชุมชนชนบทเข้ากับการพัฒนาสมัยใหม่ในยุคเริ่มต้นวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา แต่อาจยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนช่วงเวลาให้เหมาะสมต่อบริบทของชุมชนที่อาจมีจุดเริ่มต้น/เข้าสู่การเชื่อมต่อไม่พร้อมกัน 
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น