xs
xsm
sm
md
lg

ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนสร้างประชาธิปไตยใน “ชนบท” ไทย / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย 
 
(ต้องขออภัยผู้อ่านที่ไม่สามารถจะนำเสนอบทความต่อเนื่องจากฉบับก่อนได้ เนื่องจากโครงการสะพานไม่ประสงค์ให้เผยแพร่ เพื่อเป็นไปตามข้อตกลงที่มีต่อกัน  จึงเปลี่ยนมาเสนอโครงการวิจัยของ สกว.แทนครับ)
 
ข้าพเจ้า  รศ.ดร.ณฐพงศ์  จิตรนิรัตน์ และนายบุญเลิศ  จันทระ  เข้าร่วมโครงการวิจัย “ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนสร้างประชาธิปไตยใน “ชนบท” ไทย”  ที่มี ศ.ดร.อรรถจักร  สัตยานุรักษ์  อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ  และมีนักวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาทุกภาคเข้าร่วมศึกษาวิจัยใน  7  พื้นที่  ประกอบด้วย  ภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่)  ภาคเหนือตอนล่าง (สุโขทัย)  ภาคกลาง (นครปฐม)  ภาคตะวันออก (ปราจีนบุรี-สระแก้ว)  ภาคอีสาน  ภาคใต้ตอนบน (นครศรีธรรมราช และตรัง)  ภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  โครงการใช้เวลา  2  ปี จาก  2556-2558
 
สำหรับภาคใต้ ที่มาและความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมไทย นับแต่ต้นทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา ได้นำมาซึ่งความตื่นตาตื่นใจ และความตระหนกตกใจไปพร้อมๆ จากการตื่นตัวอย่างขนานใหญ่ของประชาชน-พลเมือง ที่อาจกล่าวได้ว่า ได้บรรลุขั้นหนึ่งของแรงปรารถนาในการปลดปล่อยตัวเองออกจากจากความเฉื่อยชา ไม่ยี่หระ/พินอบพิเทาต่อผู้มีอำนาจโดยปราศจากคำถาม ก้าวสู่การเป็นพลเมืองที่มีความรู้ เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง ไม่แตกต่าง และความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเต็มที่  (Fuller, 2011) โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในภาคต่างๆ ของประเทศไทย ในท่ามกลางพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ที่ส่งผลต่อการจัดตั้งทางสังคมในรูปลักษณะใหม่ๆ การจินตนาการ และ/หรือความคาดหวังที่มีต่อรัฐ สังคม และคนกลุ่มใหม่ๆ ในสังคมชนบท (และเมือง)
 
ปรากฏการณ์ที่แหลมคมคือ  การเกิดขึ้นของการเมืองแบบเสื้อสี “เหลือง-แดง” แม้ที่ผ่านมา อาจถูกอธิบายว่าเป็นปรากฏการณ์แบบพื้นผิวของ “กลุ่มตื่นตัวทางการเมือง” มากกว่า “ขบวนการทางการเมือง” แต่ในด้านหนึ่งคือ หมุดหมายสำคัญของพัฒนาการทางการเมือง การมีส่วนร่วมและการตื่นตัวทางการเมืองที่เทียบเทียมของคนกลุ่มต่างๆ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองในสังคมไทย ดังการศึกษาของ Walker  (2012) ที่ได้ศึกษาชุมชนชาวนาในจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย พบว่า ชาวนาไม่ใช่ผู้ทำการผลิตแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากเป็นชาวนาที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ทั้งยังมีข่ายความสัมพันธ์ของครอบครัวข้ามท้องถิ่นที่เรียกว่า “Extra local Residents” ทำให้มีรายได้ที่ข้ามพ้นความยากจน กลายเป็นชาวนาที่มีรายได้ระดับปานกลาง หรือชนชั้นกลางระดับล่าง ที่ไม่เพียงมุ่งรักษา ยกระดับคุณภาพของการเป็นชนชั้นใหม่เท่านั้น หากยังมุ่งปรารถนาสร้างมีส่วนร่วมการตัดสินใจทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของตน ผ่านการสร้างธรรมนูญชุมชน (Rural Institution) มากยิ่งขึ้น  สอดคล้องต่อความเห็นของนิธิ (2551) ที่เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในชนบทมีส่วนสำคัญต่อการตื่นตัว และการแสดงออกทางการเมือง “นับแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ชนบทประสบความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกษตรกรรมเพื่อยังชีพที่เป็นรายได้สำคัญของประชาชนเริ่มพังสลายลง เศรษฐกิจตลาดรุกเข้าไปในชีวิตมากขึ้น ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรม และธุรกิจก็รุกเข้าไปสู่ชนบท เพื่อใช้ทั้งทรัพยากร และกำลังแรงงาน ทำให้การผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองในไร่นาขนาดเล็กทำได้ยากขึ้น ส่วนหนึ่งจึงหันเข้าหางานอื่นในเศรษฐกิจสมัยใหม่ โดยเฉพาะลูกหลานของชาวนารวยที่ได้รับการศึกษา มีสายสัมพันธ์กว้างขวางนอกหมู่บ้าน เช่น เป็นนายหน้าของบริษัทปุ๋ย, บริษัทรับซื้อพืชผลการเกษตร, ทำงานประจำในเมือง, เป็นผู้รับเหมารายย่อย, เป็นนายหน้าแรงงาน ฯลฯ เป็นต้น ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ที่ส่วนใหญ่มีรายได้จากงานจ้าง และธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ กระนั้นความมั่นคงทางเศรษฐกิจเหล่านี้เกี่ยวโยงกันกับนโยบายของรัฐบาล มากกว่าการพึ่งพาธรรมชาติ และความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แต่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่มีเครื่องมือทางการเมืองที่จะเข้าไปกำหนดนโยบายสาธารณะ และพื้นที่การแสดงออกทางการเมือง จึงเป็นธรรมดาที่ยังต้องเกาะอยู่กับกลไกทางการเมืองแบบเดิม หรือการประท้วงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง”
 
กระนั้น ในท่ามกลางพลวัตการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ยังมีพลังฉุดรั้ง หน่วงดึงจากกลไกเชิงสถาบัน ความเชื่อ ค่านิยม ฯลฯ มากมายในสังคมไทย  ดังความเห็นของอรรถจักร์ (2555) ที่ระบุว่า การเติบโตของของระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่ปัจเจกบุคคลต้องแบกรับความเสี่ยงโดยลำพัง ทำให้เกิดการตระหนักถึงศักยภาพในการปกป้องตนเองการปฏิเสธความ อยุติธรรม ความไม่เสมอภาคทางสังคม ด้วยการจัดตั้งเป็นกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายทางสังคมแบบใหม่ๆ และร่วมกันผลักเปลี่ยนเพื่อสร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคม และอำนาจที่ไม่เท่าเทียม แต่ในด้านหนึ่งมีความพยายามแช่แข็งสังคมไทยไว้ในระบบความสัมพันธ์ทางสังคม หรือความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมที่เคยจรรโลงความไม่เท่าเทียมไว้ได้ตลอดเวลา ซึ่งมีแต่จะนำพาสังคมไปสู่ความขัดแย้งให้บาดลึกลงไปในสังคม ซึ่งก็ตรงกับทัศนะของ คายส์ (Keyes, 2012) ที่เห็นว่าเกิดความไม่ลงรอยของสัญญาประชาคมแบบเดิมๆ กับการตื่นตัวอย่างกล้าหาญของพลเมือง ทำสังคมไทยเข้าสู่ภาวะพังทลายได้ (Broken Down) สอดคล้องต่อความเห็นก่อนหน้าของนิธิ (2551) ที่เห็นว่า ภาวการณ์เผชิญหน้าทางการเมืองอาจส่งผลทำลายกันและกันชนิด “แหลกลาญ” ได้
 
“เรากำลังเผชิญกับความตื่นตัวทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท (และในเมืองด้วย) และความตื่นตัวทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเขตเมือง ทั้งสองฝ่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร และทั้งสองฝ่ายต่างมีสำนึกถึงความจำเป็นในวิถีชีวิตที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ...ตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุระบบการเมืองที่เปิดให้การมีส่วนร่วมของตนเป็นไปได้ในระดับที่ต่างฝ่ายต่างพอใจ...การเมืองไทยก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ไม่มีทางออกอย่างที่เราเผชิญอยู่เวลานี้”
 
กระนั้นแม้ว่าภาวะความไม่ลงรอยเช่นนี้จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยเต็มไปด้วยปัญหาความขัดแย้งนานัปการ ไม่เข้มแข็ง และยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร แต่ด้านหนึ่งได้ชี้ชวนให้เห็นอย่างแจ้งชัดมากขึ้นว่า ไม่มีคนกลุ่มใดสามารถครอบงำอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกต่อไป แต่ผู้คนจำนวนมาก มากหน้าหลายตาได้เข้ามามีส่วนในพื้นที่การต่อสู้ ต่อรองทางการเมือง ในรูปแบบ ลีลา แรงปรารถนา และจินตนาการที่หลากหลายอย่างไม่เคยเป็นมา
 
ดังนั้น การหาทางออกให้แก่กระบวนการไปสู่ประชาธิปไตยนั้น จำเป็นต้องมีความรู้อย่างชัดเจนว่าประชาธิปไตยของไทยได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด มีเงื่อนไขแวดล้อม หรือบริบททางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และบริบทเหล่านั้นส่งผลต่อการคลี่คลายเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการความเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตยใน “ชนบท”  ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม และเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่โลดแล่นแสดงบนเวทีการเมือง และประชาธิปไตยในแบบฉบับที่วาดหวัง ต้องการ และ/หรือให้เป็นไป  แต่กระนั้นพบว่า การศึกษาเกี่ยวกับชนบทในมิติการเมืองและการเป็นประชาธิปไตยในช่วงต้นทศวรรษดังกล่าวกลับมีไม่มากนัก และมุ่งไปที่การการศึกษาคุณลักษณะของกลุ่มคน “เสื้อสี” และมากกว่า  เช่น งานถูกกล่าวถึงกันมากในสังคมไทยของ Charles Keyes  (2012) เรื่อง “From Peasant to Cosmopolitan Villagers : The Refiguring of the "Rural" in Northeastern Thailand”, นิธิ (2554) เรื่อง “ปฏิรูปสังคมไทยหลังการเลือกตั้ง : บทบาทชนชั้นนำและการเมืองภาคประชาชน”, อรรถจักร์ (2553) เรื่อง “พลังสีแดง : การจัดตั้งของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ”  Narumon Thabchumpon and Mccargo Doncan (2011) เรื่อง ”Ubanized Villagers in the 2010 Thai Redshirt Protests” ธเนศ  และคณะ (2555) “เรื่องโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน”, อภิชาต และคณะ (2555) เรื่อง “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย”  และสมชัย (2555) เรื่อง “การเมืองของสังคมหลังชาวนา : เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในอีสาน” สุริยะใส (2554) เรื่อง “วิวัฒนาการการเมืองภาคประชาชนสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม : กรณีศึกษาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น 
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น