หลังจากมีการค้นพบวัตถุอวกาศจากนอกระบบสุริยะเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่มีการสำรวจอวกาศองค์การนาซา (NASA) ได้มีการเผยว่า วัตถุอวกาศดังกล่าวเป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ และมีวงโคจรมาจากนอกระบบสุริยะ ซึ่งได้มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการให้กับวัตถุอวกาศนี้ว่า “3I/ATLAS”
3I/ATLAS ถูกรายงานครั้งแรกโดย ทีมนักดาราศาสตร์ภายในโครงการเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ ATLAS (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System) ประเทศชิลี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ดาวหางดวงนี้โคจรมาจากทิศทางของกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) โดยปัจจุบันดาวหางโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ประมาณ 670 ล้านกิโลเมตร ในพื้นที่ระหว่างวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยและดาวพฤหัสบดี และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งถือเป็นดาวหางที่เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าวัตถุอวกาศนอกระบบสุริยะชนิดอื่นที่เคยพบมาก่อน และจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ดึงดูดวัตถุนี้
จอนตี ฮอร์เนอร์ ( Jonti Horner) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย กล่าวว่า .....
"วัตถุนี้เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่น่าเหลือเชื่อมาก ไม่มีวัตถุอวกาศใดในระบบสุริยะที่สามารถทำแบบนี้ได้"
แม้จะมีขนาดที่ใหญ่และมีการโคจรที่รวดเร็ว แต่ ดาวหาง 3I/ATLAS ก็ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อโลก โดยจะโคจรเข้าสู่ระบบสุริยะชั้นใน และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดประมาณวันที่ 30 ตุลาคม 2025 ซึ่งอยู่ภายในวงโคจรของดาวอังคารพอดี และจะเริ่มโคจรออกจากระบบสุริยะประมาณช่วงต้นเดือนธันวาคม 2025
ข้อมูลจากเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์และการสำรวจวงโคจรจากฐานข้อมูลย้อนหลังทำให้พบว่ากล้องโทรทรรศน์อื่นในโครงการ ATLAS และ Zwicky Transient Facility ได้มีการบันทึกภาพวัตถุอวกาศนี้ ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2025 และได้ยืนยันว่า 3I/ATLAS เป็นวัตถุอวกาศที่มาจากนอกระบบสุริยะจริง ซึ่งการค้นพบในครั้งนี้ ถือเป็นเพียงครั้งที่ 3 เท่านั้น ที่เคยมีวัตถุนอกระบบสุริยะโคจรเข้ามาในระบบสุริยะของเรา โดยก่อนหน้านี้ คือ โอมูอามูอา (Oumuamua) ที่ถูกพบในปี ค.ศ. 2017 และ ดาวหางนอกระบบ 2I/Borisov ในถูกพบในปี ค.ศ. 2019
ข้อมูล – ภาพอ้างอิง
- - - - - - - - - - - - - - - -
- science.nasa.gov (NASA Discovers Interstellar Comet Moving Through Solar System)
- thaiastro.nectec.or.th (สมาคมดาราศาสตร์ไทย)