xs
xsm
sm
md
lg

GISTDA ร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการสำรวจอวกาศอย่างสันติระดับนานาชาติ ในหัวข้อประชุม “the 3rd Edition of the Artemis Accords Workshop”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เข้าร่วมกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการสำรวจอวกาศอย่างสันติระดับนานาชาติ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “the 3rd Edition of the Artemis Accords Workshop” เพื่อส่งเสริมการสำรวจอวกาศที่ปลอดภัย โปร่งใสและยั่งยืน สำหรับประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)


ผู้แทนจากประเทศไทย โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “the 3rd Edition of the Artemis Accords Workshop” ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต่อยอดความพยายามในการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการอวกาศ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และส่งเสริมการสำรวจอวกาศที่ปลอดภัย โปร่งใส และยั่งยืนสำหรับประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) ในฐานะหนึ่งในผู้ลงนามในข้อตกลงอาร์เทมิส 


ผู้แทนไทยนำโดย นายพีร์ ชูศรี รองผู้อำนวยการ GISTDA ได้เข้าร่วมหารือ - แลกเปลี่ยน กับผู้แทนจากประเทศที่ลงนามในข้อตกลงอาร์เทมิสอีก 30 ประเทศ (กว่า 60 ราย) จากทั่วโลก เพื่อกำหนดทิศทางของกิจกรรมการสำรวจอวกาศภาคพลเรือนระหว่างประเทศ โดยในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ได้มีการหารืออย่างเข้มข้นถึงหัวข้อสำคัญต่างๆ ได้แก่ ความโปร่งใส การไม่แทรกแซงกิจกรรมระหว่างกัน การทำงานร่วมกัน การจดทะเบียนวัตถุอวกาศ การเปิดเผยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การบริหารจัดการและการกำจัดขยะอวกาศในวงโคจร ความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมภายใต้ข้อตกลงอาร์เทมิสกับคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศส่วนนอกในทางสันติ (UN-COPUOS) และการขยายการมีส่วนร่วมของประเทศอุบัติใหม่ด้านอวกาศ (Emerging Space Country) ซึ่งที่ประชุมล้วนให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีและได้ข้อสรุป/ข้อเสนอแนะ ร่วมกัน สำหรับการดำเนินการต่อไปในอนาคต


ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งและมอบหมายให้ GISTDA ซึ่งเป็นองค์การอวกาศของไทย ลงนามในข้อตกลงอาร์เทมิสเมื่อเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2024 และปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักทั้งสำหรับกิจกรรมภายใต้ข้อตกลงอาร์เทมิสและโครงการอาร์เทมิสของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ไทยได้เพิ่มบทบาทและสถานะในเวทีด้านนโยบายอวกาศนานาชาติ โดย GISTDA มีความมุ่งมั่นทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศผู้ลงนามในข้อตกลงอาร์เทมิสทั้งหมดเพื่อให้เกิดแนวทางสำหรับกิจกรรมการสำรวจอวกาศที่โปร่งใสและยั่งยืนสูงสุด โดยจะสนับสนุนผลลัพธ์ที่สำคัญจากการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในเวทีการประชุม UN-COPUOS และแพลตฟอร์มอื่นๆ ร่วมนำเสนอประสบการณ์/ความต้องการ ของไทยในแวดวงอวกาศระดับโลก รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของประเทศผู้ลงนามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กิจการอวกาศกำลังเติบโต ในขณะเดียวกัน GISTDA ก็ยังคงมุ่งผลักดัน/แสวงหา โอกาสสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่หลากหลายของโครงการอาร์เทมิสอีกด้วย

อนึ่ง ในปัจจุบันมีประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงอาร์เทมิสแล้วจำนวน 55 ประเทศ จากทุกมุมโลก และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น