xs
xsm
sm
md
lg

โบราณสถานที่เคยใช้เป็นสถานสังเกตการณ์ดาราศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ คณะนักโบราณคดีภายใต้การนำของ Ayman Ashmawy แห่งสถาบัน Ancient Egyptian Antiquities ของอียิปต์ซึ่งรับผิดชอบการอนุรักษ์วัตถุโบราณ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ทีมวิจัยของเขาได้ขุดพบซากปรักหักพังของอาคารที่ชาวอียิปต์โบราณเคยใช้สังเกตการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ตลอดจนตำแหน่งของดาวฤกษ์ต่าง ๆ อาคารหลังนี้ตั้งอยู่บนเนินดินชื่อ Tell El Fara'in ที่อยู่ใกล้เมือง Kafr El-Sheikh ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำ Taly กับแม่น้ำ Thermuthiac และอยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบ Butic




ในอดีตชาวอิยิปต์ได้สร้างเมืองนี้ขึ้นเพื่อบูชาเทพธิดา Wadjet ผู้ทรงเป็นองค์เทพที่ทรงคุ้มครองอาณาจักรอียิปต์ให้ปลอดภัย


ในความเป็นจริงการขุดหาซากอาคารโบราณนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2017 แต่เพิ่งประสบความสำเร็จเมื่อปี 2024 นี้เอง โดยได้พบว่าตัวอาคารมีอายุประมาณ 2,600 ปี มีผนังทำด้วยอิฐดินเหนียว และเป็นสถานที่ให้บรรดาโหรผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการติดตามดูดาวมาสังเกตดูวันที่มีความสำคัญๆ เช่น วันที่ดาวเคราะห์ต่าง ๆ มาเรียงตัวในแนวเส้นตรง หรือโคจรมาบดบังกัน ตลอดจนจับเวลาดูเวลาขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการกำหนดวันที่ฟาโรห์จะต้องจัดพิธีกรรมทางศาสนา และจัดงานเฉลิมฉลองประเพณีต่าง ๆ รวมถึงให้สามารถบอกเวลาแก่ชุมชนชาวเมืองด้วย

อาคารนี้มีโครงสร้างเป็นอักษร L ตรงปากทางเข้ามีหอคอยสูงที่มีลักษณะเหมือนวิหาร มีเวทีหินอยู่ภายในอาคาร พื้นเวทีถูกแกะสลักเป็นลวดลายแสดงตำแหน่งของดาวในฤดูต่างๆ และมีเสาหินเสาหนึ่งที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นนาฬิกาแดด

คณะสำรวจยังได้พบรูปปั้นขององค์ฟาโรห์ อุปกรณ์ที่ใช้วัดระยะทาง และเครื่องปั้นดินเผาที่ชาวบ้านใช้ชีวิตประจำวันด้วย

ข้อมูลเหล่านี้แสดงว่า อาคารนี้เคยถูกใช้เป็นสถานดูดาว จึงเป็นอาคารดาราศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอียิปต์ในยุคนั้นด้วย

การค้นพบนี้ได้ทำให้นักประวัติศาสตร์มีคำถามว่า ผู้คนในชาติอื่นๆ ได้เริ่มศึกษาดาราศาสตร์ตั้งแต่เมื่อใด และ ณ ที่ใดบ้าง


Bill Yidumduma Harney (1931-ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ออสเตรเลีย เชื้อชาติ Aborigine จากมหาวิทยาลัย Cambridge และ Manchester ในอังกฤษได้เสนอความคิดว่า ชาว Aborigine น่าจะเป็นนักดาราศาสตร์คนแรก ๆ ของโลก เพราะคนพื้นเมืองพวกนี้ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในออสเตรเลียตั้งแต่เมื่อ 50,000 ปีก่อน และไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอกเลย จนกระทั่งถึงปี 1788 ก็มีเรือโดยสาร 11 ลำ นำนักโทษ ทหาร และประชาชนจำนวน 1,400 คน เดินทางจากประเทศอังกฤษมาอาศัยที่ออสเตรเลีย การเดินทางที่ใช้เวลานาน 252 วัน ได้ทำให้คน 48 คน ต้องเสียชีวิต


เมื่อคนอังกฤษได้เห็นชาว Aborigine เป็นครั้งแรก ก็รู้สึกดูแคลนชนพื้นเมืองพวกนี้มากว่า เป็นคนโง่ เถื่อน และไร้วัฒนธรรม เพราะไม่มีภาษาเขียนของตนเอง นับเลขก็ไม่เป็น ชอบเร่ร่อนไปในป่า เพื่อหาอาหาร ไม่นับถือศาสนาใดๆ ไม่รู้จักทำการเกษตร ไม่รู้วิธีสร้างบ้าน และเวลาจะถ่ายทอดความรู้ ก็ใช้วิธีท่องจำ แล้วบอกเล่าจากปากสู่ปาก

ดังนั้นในมุมมองของชาวอังกฤษ ชาว Aborigine จึงเป็นคนป่าที่มีวัฒนธรรมคุณธรรม และจริยธรรมด้อยกว่าชาวอังกฤษในทุกมิติ

แต่ Hermey กลับคิดว่าชาว Aborigine มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อมบ้าง จากงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีคนในอดีตได้ศึกษา เช่น Bill Gammage (1942-ปัจจุบัน) ซึ่งได้เขียนตำราชื่อ “The Australian Aborigines : How to Understand Them” เมื่อปี 1938 และในปี 2011 Gammage ยังได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ “The Biggest Estate on Earth: How Aborigines made Australia” เนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือเหล่านี้มีว่า ชาวพื้นเมือง Aborigine ในความเป็นจริง รู้วิธีเพาะปลูกพืช รู้วิธีสร้างสถานที่อยู่อาศัย มีภาษาใช้ นับจำนวนเลขที่น้อยกว่า 5 เป็น และมีความสามารถในการเดินเรือใกล้ฝั่งได้เป็นอย่างดี

แต่เมื่อชาวพื้นเมืองเหล่านี้ ต้องเผชิญหน้ากับทหารอังกฤษที่มีปืนเป็นอาวุธ นักรบชาว Aborigine ได้แสร้งทำเป็นคนโง่ และยอมทำตามทุกคำสั่งของทหารอังกฤษ เพื่อจะได้มีชีวิตรอด และการจำนนในลักษณะนี้ จึงทำให้ทหารอังกฤษเข้าใจผิดมาโดยตลอด

Gammage ได้อ้างถึงชาว Aborigine ชนเผ่า Yolngu ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียว่า คนชาติพันธุ์นี้รู้ว่าน้ำขึ้น-น้ำลงเป็นปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ข้างขึ้น-ข้างแรมของดวงจันทร์ ซึ่งความรู้นี้แม้แต่ Galileo Galilei (1564-1642) ก็ยังไม่รู้เลย เพราะ Galileo เชื่อว่า เหตุการณ์ข้างขึ้น-ข้างแรม ของดวงจันทร์มิได้มีอิทธิพลใดๆ ต่อน้ำบนโลกเลย


ชาว Aborigine ยังรู้อีกว่า เวลาใดที่เห็นกลุ่มดาว Emu ปรากฏในท้องฟ้า โดยอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) กับกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) นั่นเป็นเวลาที่นก emu ได้ออกมาวางไข่ให้คนเก็บไปกินแล้ว นอกจากนี้ชาว Aborigine ก็มีความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในท้องฟ้าดีพอสมควรด้วย ชาว Aborigine จึงนับเป็นนักดาราศาสตร์ชนชาติแรกของโลก

ความสามารถทางดาราศาสตร์ของผู้คนในโลก มิได้มีจำกัดเฉพาะแต่ชาวอียิปต์ และคนเผ่า Aborigine ในออสเตรเลียเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับบรรดาชาวเกาะที่เดินเรือข้ามมหาสมุทร Pacific ในสมัย เมื่อ 3,000 ปีก่อนด้วย ทั้งที่คนเหล่านั้นไม่มีแผนที่ และไม่มีเข็มทิศ จะมีก็แต่สายตาที่ใช้ดูตำแหน่งของดาวบนท้องฟ้าเท่านั้น แต่ความสามารถในการรู้ทิศจากการดูดาว ก็ได้ช่วยให้ชาวเกาะออกเดินทางจากหมู่เกาะ Hawaii ถึงหมู่เกาะ Tahiti ที่อยู่ห่างออกไป 3,800 กิโลเมตร ได้อย่างไม่ผิดพลาด เพราะชาวเรือ ได้แบ่งขอบฟ้าออกเป็น 32 ทิศ ตามทิศที่กลุ่มดาว Altair, Pleiades และ Orion ฯลฯ อยู่ เช่นเมื่อเรือแคนูเดินทางถึงเกาะ Hawaii ลูกเรือก็ได้เห็นดาว Arcturus ครั้นเมื่อถึงเกาะ Tahiti ก็ได้เห็นดาว Sirius โดยใช้วิธีดูดาวเช่นนี้ บรรพบุรุษของชาวเกาะ Polynesia และ Micronesia ก็สามารถเดินทางไปอาศัยและครอบครองบรรดาเกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทร Pacific ได้หมด ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1000


ส่วนที่เมือง Chankillo ในประเทศ Peru ก็มีสิ่งก่อสร้างโบราณที่เป็นป้อมอยู่บนภูเขา ป้อมนี้มีหอคอยสำหรับดูดาว 13 หอ โดยหอคอยทั้ง 13 หอ ตั้งอยู่ห่างกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามดูดวงอาทิตย์ป้อมถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษประมาณ 300 ปี โดยชนชาว Casma เป็นผู้สร้างหอดูดาวนี้ ในปี 2021 หอดูดาว Chankillo ได้รับการยกย่องโดย UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ในฐานะที่เป็นหอดูดาวโบราณที่สุดในทวีปอเมริกา ซึ่งสร้างขึ้นโดยชนชาว Casma


มีพีระมิดโบราณที่ถูกสร้างขึ้นในปี 300 พีระมิดนี้มีชื่อว่า El Castillo ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สังเกตดูดาวศุกร์และทำปฏิทิน โดยด้านข้างของพีระมิดทั้ง 4 ด้านแต่ละด้านมีบันไดทั้งหมด 91 ขั้น และเมื่อนับรวมขั้นบนสุดอีก 1 ขั้น จำนวนขั้นบันไดก็จะมี 91*4+1=365 ชิ้น ซึ่งก็เท่ากับจำนวนวันที่มีในหนึ่งปีพอดี


ที่นี่ยังมีหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ชื่อ El Caracol ด้วย (คำนี้แปลว่า หอยทากในภาษาสเปน) ตัวอาคารมีรูปร่างเป็นทรงกระบอก มีหน้าต่างและประตู เจาะที่ผนังซึ่งได้มีการวางตำแหน่งให้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดาวศุกร์ ทั้งนี้เพราะชาว Maya มีความผูกพันกับดาวศุกร์มาก ในหนังสือรวบรวมภาพวาดชื่อ Dresden Codex ก็มีบทความที่เกี่ยวกับวิทยาการดาราศาสตร์ของชาวมายา หลายเรื่องซึ่งแสดงเวลา ลักษณะ และตำแหน่ง การเคลื่อนที่ของดาวศุกร์ได้อย่างละเอียดและถูกต้องมาก คือ ผิดพลาดไม่เกิน 1 วันใน 500 ปี และชาวมายาได้ใช้หอดูดาวนี้

ในการบอกวันที่เปลี่ยนฤดู พยากรณ์วันที่เกิดสุริยคราส ตลอดจนบอกสภาพดินฟ้าอากาศตามฤดูกาล เพราะชาวมายาทำการเกษตรกรรมมาก ดังนั้นท้องฟ้าสำหรับชาวมายาจึงเปรียบเสมือนแผนที่ที่สามารถบอกวันที่ชาวไร่จะต้องปลูกพืช และบอกวันที่ชาวไร่จะต้องเก็บเกี่ยวด้วย นักดาราศาสตร์ชาวมายาที่หอดูดาว El Caracol ยังได้พบอีกว่า ดาวศุกร์มักขึ้นที่ขอบฟ้าทางทิศตะวันตก แล้วตกหายไปทางทิศตะวันออก ณ เวลาต่าง ๆ กันตลอดทั้งปี และจะปรากฏตัวในทิศเหนือสุดกับทิศใต้สุด ภายในช่วงเวลา 8 ปีด้วย โดยเป็นดาวเคราะห์ ที่ชื่อดาวประกายพรึก (morning star) และดาวประจำเมือง (evening star)




ในหุบเขา Chaco Canyon ของรัฐ New Mexico ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีหอดูดาวโบราณ ซึ่งอยู่บนที่ราบสูง 2,000 เมตร ที่นี่ในฤดูร้อน อุณหภูมิอากาศจะร้อนจัด และหนาวจัดในฤดูหนาว แม้อุณหภูมิอากาศจะแปรปรวนอย่างสุดขั้ว แต่ก็มีมนุษย์อาศัยอยู่ตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน โดยคนเหล่านี้เป็นพวกพเนจรเร่ร่อนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง จนกระทั่งถึงปี 850 จึงมีผู้คนเข้ามาอาศัยและเริ่มรู้จักทำการเกษตร จากนั้นก็เริ่มสร้างบ้านเรือนที่ทำด้วยหินเป็นอาคาร 4-5 ชั้น ที่มีขนาดใหญ่ โดยมีห้องจำนวนนับร้อย

แต่อีก 300 ปีต่อมา อาคารนี้ก็ถูกทิ้งร้าง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะได้เกิดภัยแล้ง และชาว Chaco ได้อพยพไปอาศัยอยู่รวมกับชนเผ่าอื่น ที่ Mesa Verde และที่ภูเขา Chuska นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ได้ทำให้ชาวอินเดียนแดงอพยพทิ้งถิ่นฐาน ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งก็คือบริเวณนั้นได้ถูกทหารสเปนคุกคาม ปล้น ฆ่า และจับตัวไปเป็นทาส ขณะอาศัยอยู่ที่หุบเขา Chaco ชาวอินเดียนแดงเผ่านี้ได้พิสูจน์ว่า มีความสามารถทางดาราศาสตร์ด้วย โดยมีการสังเกตดูดาวอย่างเป็นระบบ รู้ฤดูของปีที่เกิดอย่างเป็นวัฏจักรว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ การที่หุบเขามีท้องฟ้าที่มืดสนิทในเวลากลางคืน ได้ทำให้นักดูดาวสามารถเห็นดาวได้ชัด

ภายในหุบเขามีสิ่งก่อสร้างที่มีรั้วล้อมรอบเป็นวงกลม (kiva) เพื่อให้คน 20,000 คนได้ประกอบพิธีกรรม โดยกำแพงบ้านจะถูกสร้างให้วางตัวอยู่ในแนวเหนือใต้ มีหน้าต่างให้ชาวบ้านสามารถเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตก มีหินก้อนใหญ่ ชื่อ Piedra del Sol (หินจากดวงอาทิตย์) ซึ่งมีรอยจารึกบอกตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ณ เวลาที่เป็น solstice ด้วย


หุบเขานี้ยังมีเนินโดดเดี่ยวชื่อ Fajada Butte ที่มีก้อนหินวางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ให้ดวงอาทิตย์ฉายแสงผ่านระหว่างก้อนหิน ซึ่งจะทำให้เห็นแสงเป็นรูปกริช ภาพวาดที่ปรากฏบนก้อนหินยังบอกอีกว่าชาว Chaco ได้เห็นการระเบิดของ supernova เมื่อปี 1054 และเห็นดาวหาง Halley เมื่อปี 1066 ด้วย

ความรู้ดาราศาสตร์ของชาวมายา อินคา และอินเดียนแดงได้ช่วยให้ชาวพื้นเมืองใน Peru และ Bolivia สามารถเห็นกลุ่มดาวลูกไก่ Pleiades (plee-uh-deez) ที่มักปรากฏในยามฟ้าสาง ซึ่งจะบอกเวลาให้ชาวไร่เริ่มปลูกมันฝรั่ง และถ้าชาวบ้านเห็นกลุ่มดาวลูกไก่นี้สว่างไสวก็ให้ปลูกมันฝรั่งในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเวลาที่จะทำให้ไร่ได้รับน้ำฝนในปริมาณพอเหมาะ แต่ถ้ากลุ่มดาว Pleiades ดูมัวสลัวและเลือนลาง นั่นแสดงว่าในปีนั้นฝนจะตกช้า ดังนั้นชาวไร่จึงควรปลูกมันฝรั่งในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม

ความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศในปีที่มีปรากฏการณ์ El Niño เป็นเหตุการณ์ที่บอกคนพื้นเมืองว่า ทิศของลมกำลังจะเปลี่ยน และเมฆ cirrus จะเกิดในปริมาณมากทางทิศตะวันออก ซึ่งได้ทำให้เราเห็นกลุ่มดาวลูกไก่ไม่ชัด เพราะมีปรากฏการณ์ El Niño ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า ในปีนั้นฝนจะตกช้า

เหล่านี้เป็นองค์ความรู้ที่ชาวพื้นเมืองในอเมริกาใต้ได้จากการศึกษาดาราศาสตร์ในสมัยโบราณ

สำหรับนักดาราศาสตร์ในเอเชียก็มีสถานที่สำหรับสังเกตเหตุการณ์เช่นกัน เช่นในอินเดีย ณ เมือง Jaipur (ชัยปุระ) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้น Rajasthan ก็มีสถานดูดาวที่สร้างด้วยหิน โดยมหาราชา Sawai Jai Singh เพราะเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 พระองค์ทรงปรารถนาจะรู้วันเวลาที่เกิดสุริยุปราคา และบรรดาโหราจารย์ประจำราชสำนักเวลานั้นได้ทำนายถูกบ้างและผิดบ้าง

พระองค์จึงทรงดำริจะปฏิรูปวิทยาการดาราศาสตร์ในอินเดีย ด้วยการสร้างปฏิทินใหม่ และเพื่อให้ความประสงค์นี้สำเร็จลุล่วง พระองค์จึงทรงดำริว่าอินเดียจะต้องมีหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ อยู่ที่เมือง Delhi, Jaipur และ Ujjain


โดยเฉพาะที่เมือง Jaipur นั้น ให้มีนาฬิกาแดดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีเสาสูง 27 เมตร จึงสามารถบอกเวลาได้แม่นยำระดับนาที หอดูดาวนี้ยังสามารถใช้พยากรณ์อากาศได้ด้วย และสามารถบันทึกตำแหน่งของดาวเคราะห์ต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด จนทำให้พระองค์ทรงมีตารางดาวในพระราชา (Zij Muhammad Shahi) ที่เขียนเป็นภาษาเปอร์เซียและสันสกฤตด้วย


พระองค์ทรงปรารถนาจะรอบรู้วิชาดาราศาสตร์ของชาวยุโรป และความประสงค์ของพระองค์ในด้านนี้ก็ได้ทำให้หอดูดาวที่เมือง Ujjain เป็นเสมือนเมือง Greenwich แห่งอินเดีย และ เอง ได้อยู่ในความทรงจำของประชากรอินเดียและของโลกว่า พระองค์ คือ Newton แห่งเอเชีย

Echoes of the Ancient Skies : The Astronomy of Lost Civilizations  โดย Edwin C. Krupp. ISBN 0-486-4282-6 ปี 2003


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน- ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ"  ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น