xs
xsm
sm
md
lg

หนังสือภาพโบราณที่เขียนด้วยลายมือของ Leonardo da Vinci

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในวันที่ 16 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ที่ศูนย์ประชุม The Lume Convention and Exhibition Centre ณ กรุง Melbourne ในออสเตรเลีย จะมีการจัดนิทรรศการนำหน้าหนังสือภาพโบราณที่เขียนด้วยลายมือ (codex) ซึ่งมีนามเป็นทางการว่า Codex Atlanticus ที่ Leonardo da Vinci (1452-1519) ได้เขียนในระหว่างปี 1478-1519 ออกแสดงภายใต้ชื่อนิทรรศการว่า “500 Years of Genius” เพื่อให้ทุกคนได้เห็นจินตนาการ วิวัฒนาการของความนึกคิด และความสามารถที่หลากหลายด้านของอัจฉริยะมนุษย์ระดับสุดยอดแห่งคริสต์วรรษที่ 16 ท่านนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ฟิสิกส์ ธรรมชาติวิทยา กายวิภาคศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา ตลอดจนวิทยาการการบินด้วยเครื่องร่อน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นองค์ความรู้ที่ da Vinci คิดได้ ก่อนคนทั่วไปจะรู้ (โดยเฉพาะเรื่องเครื่องร่อน ซึ่งเกิดหลังจากที่ da Vinci คิดได้ประมาณ 400 ปี) โดย da Vinci ได้พยายามจะเปลี่ยนโลกในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่ และความพยายามนั้นก็ยังดำเนินต่อไปโดยคนปัจจุบัน ทั้งในวันนี้ และในอนาคต


ในการจัดงานแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ทางศูนย์ประชุมจะนำเอกสารที่เป็นต้นฉบับตัวจริง จำนวน 12 หน้า จาก Codex Atlanticus ที่มีจำนวนหน้าทั้งหมด 2,238 หน้าออกแสดง

ตามปกติหนังสือ Codex Atlanticus ได้ถูกเก็บอยู่ที่ห้องสมุด Biblioteca Ambrosiana ในกรุง Milan ประเทศอิตาลี มาตั้งแต่ปี 1637 และปัจจุบันอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรมแห่งอิตาลี


ในงานนิทรรศการนอกจากจะมีการจัดแสดงต้นฉบับของเอกสารแล้ว ยังมีภาพดิจิทัลของ Mona Lisa และ The Last Supper ปรากฏอยู่บนผนังของศูนย์ประชุมด้วย รวมทั้งยังมีการนำอุปกรณ์จำลองที่ da Vinci ออกแบบ จำนวน 40 ชิ้น ออกแสดงด้วย โดยความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์ Leonardo da Vinci ที่โรม


เพราะเหตุว่า บิดาของ da Vinci มีอาชีพเป็นพนักงานทะเบียนประจำหมู่บ้าน Vinci ดังนั้น da Vinci จึงมีอุปนิสัยชอบจดบันทึกความคิดเห็น และภาพเหตุการณ์ ตลอดจนจินตนาการของตนลงในกระดาษตลอดเวลาที่ไปไหนมาไหนตามถนนหนทาง ต่างๆ ความประทับใจในเหตุการณ์ที่เห็น และอากัปกิริยาของผู้คนที่เดินไป มา ได้ชักนำให้ da Vinci สเก็ตช์ภาพทั้งหมดลงในกระดาษ แล้วนำกระดาษเหล่านั้นมารวมเล่มเป็น codex เล่มเล็กติดตัวโดยการแขวนที่เข็มขัด เวลาเดินไปในที่ทุกหนแห่ง


ความขยันหมั่นเพียร ความกระหายจะเรียนรู้และเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตลอดเวลาไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีชีวิตหรือไร้ชีวิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่บนฟ้าหรืออยู่ในน้ำ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอันตรายหรือไม่เป็น da Vinci ก็สนใจจะศึกษาและบันทึกความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นลงใน codex ได้มากมายหลายเล่ม เช่น Codex Arundel ที่มี 570 หน้า และขณะนี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอังกฤษ Codex Madrid อยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติของสเปน Codex Leicester ซึ่ง da Vinci ได้เรียบเรียงในช่วงปี 1508-1510 และขณะนี้อยู่ในความครอบครองของ Bill Gates ซึ่งได้ซื้อไปจากการประมูลที่สถาบัน Christie ใน New York เมื่อวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน ปี 1994 ในราคา 30 ล้านดอลลาร์ และยังมี Codex on the Flight of Birds ด้วย เอกสารเหล่านี้ได้กระจัดกระจายอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน และอเมริกา


ตามปกติใครๆ ก็มีโอกาสเห็นและชื่นชมภาพวาด Mona Lisa, The Last Supper, Saint Jerome, The Virgin of the Rocks ที่ระยะใกล้ แต่แทบไม่มีใครได้เห็น codex ต่างๆ ที่ระยะใกล้เลย เพราะมันเป็นเอกสารที่ล้ำค่า เพราะมีอายุประมาณ 500 ปี กระดาษที่ใช้บันทึกจึงเปราะ กรอบ และแตกหักง่าย ในขั้นตอนการอนุรักษ์กระดาษของ codex นั้น ทางการอิตาลีได้มีกฎห้าม มิให้นำ codex ออกไปรับแสงสว่างเป็นเวลานานกว่า 90 วัน ในแต่ละครั้ง และเมื่อสิ้นสุดการนำออกแสดงแล้ว ก็ต้องนำเอกสาร codex กลับไปเก็บในที่มืดสนิทเป็นเวลานานกว่า 5 ปี จึงจะมีโอกาสนำมันออกแสดงอีก

แต่ถ้าใครได้เห็นและอ่านเนื้อหาที่อยู่ใน codex อย่างละเอียด ก็จะเห็นวิวัฒนาการด้านความคิดของ da Vinci ว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีความสนใจด้านใดบ้าง และคิดขณะบันทึกนั้น da Vinci กำลังคิดอะไรอยู่ ตลอดจนถึงการได้เห็นความพยายามจะตอบคำถามว่า ทำไมเหตุการณ์นั้น ๆ จึงเกิดขึ้น และอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิด ภาพสเก็ตช์บนหน้ากระดาษแต่ละหน้าของ codex จะทำให้เราเห็นการก้าวกระโดดของความคิด จากความคิดหนึ่ง ไปอีกความคิดหนึ่ง ที่อาจจะแตกต่างกันมาก การที่เป็นเช่นนี้ เพราะในสมัยนั้นกระดาษเป็นของหายาก และมีราคาแพง ดังนั้น da Vinci จึงต้องพยายามเขียนข้อความและภาพสเก็ตช์ทุกภาพอย่างประหยัดพื้นที่ โดยเขียนทั้งที่ขอบกระดาษและที่มุมกระดาษ เป็นภาษาอิตาเลียน โดยเขียนเป็นตัวอักษรตามที่เห็นในกระจกเงา และเขียนจากขวาไปซ้าย เพราะ da Vinci เป็นคนถนัดซ้าย


ความยากลำบากอีกประการหนึ่งของนักประวัติศาสตร์ในการจะรู้วิวัฒนาการด้านความคิดของ da Vinci ก็คือ da Vinci ไม่ชอบจดวันเวลาที่ลงบันทึก และในบางครั้งก็จะหวนกลับไปเพิ่มเติมภาพและข้อความในบันทึกเก่า ๆ อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะ da Vinci เป็นคนที่ชอบทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน แต่ไม่ได้บังคับตัวเองให้ทำเรื่องแต่ล่ะเรื่องให้เสร็จเป็นเรื่องๆ ไป และมักจะหวนกลับมาทำเพิ่มเติม เมื่อตนมีอารมณ์ ดังเช่นเมื่อครั้งที่วาดภาพ Mona Lisa เขาใช้เวลานานร่วม 10 ปี จึงจะเสร็จ ดังนั้นการจัดเรียงประวัติความคิดของ da Vinci จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก และนี่ก็คือปัญหาที่ Pompeo Leoni ได้เผชิญเวลาเขาพยายามรวบรวมเอกสารที่เป็นกระดาษมาเข้าเล่มเป็น codex เมื่อปี 1533

ภาพหลายภาพใน codex เป็นภาพที่ได้มาจากจินตนาการ เช่น ภาพเครื่องร่อน เรือดำน้ำ รถถังหุ้มเกราะ สะพาน hydraulic ฯลฯ และเมื่อผู้คนได้เห็นภาพเหล่านี้ ทุกคนมักรู้สึกตื่นเต้น และสนุกเพลิดเพลิน เหตุการณ์นี้ได้ชักนำให้กษัตริย์และเจ้าเมืองต่าง ๆ ตลอดจนถึงเศรษฐีตระกูล Medici กับ Sforza ได้ให้เงินอุปการะแก่ da Vinci เพื่อให้คิดและวาดภาพอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับคนรุ่นหลังจะได้พัฒนาต่อยอด ดังนั้น ในแง่มุมนี้ da Vinci จึงเป็นนักการตลาดที่โปรดปรานการขายความคิดสร้างสรรค์ด้วย


สาระสำคัญที่มีใน codex ของ da Vinci มีหลากหลายทั้งเรื่องการบินของนก ว่านกสามารถบินได้เพราะเหตุใด ตลอดจนถึงศึกษาการไหลวนของน้ำว่ามีลักษณะการไหลแบบปั่นปวนหรือแบบราบเรียบ และการไหลที่แตกต่างกันนี้เกิดขึ้นได้เพราะเหตุใด codex บางเล่มมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องกายวิภาคศาสตร์แสดงอวัยวะภายในร่างกาย ตลอดจนถึงการไหลของเลือดในร่างกายคน และในประเด็นนี้ da Vinci เกือบจะรู้การทำงานของหัวใจก่อน William Harvey (1578–1657) เสียอีก


ขณะเป็นวิศวกรสงครามที่เมือง Milan da Vinci ได้ออกแบบสร้างอนุสาวรีย์ม้าที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวจริง แต่ความพยายามหล่อม้าโลหะนี้ ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะขาดทั้งวัสดุและเทคโนโลยีที่จะสร้าง กระนั้นภาพม้าที่ da Vinci สเก็ตช์อย่างหยาบๆ ก็ดูมีชีวิตชีวา เพราะมีกล้ามเนื้อและท่าทางคึกคะนองที่สมจริง


ในทางด้านธรณีวิทยา เมื่อ da Vinci ได้เห็นเปลือกหอยและกระดูกปลาบนภูเขา ในขณะที่คนทั่วไปคิดว่า เหตุการณ์นี้แสดงว่าน้ำได้ท่วมโลกจริง และเมื่อน้ำลด หอยและปลาได้พยายามว่ายน้ำลงจากยอดเขา แต่ไม่ทัน จึงตกค้างอยู่บนเขานั้น ในการอธิบายเรื่องนี้ da Vinci ได้สันนิษฐานว่า พื้นแผ่นดินที่เป็นท้องน้ำได้ยกตัวขึ้นเป็นภูเขา จึงทำให้เราเห็นซากสัตว์น้ำตกค้างอยู่บนยอดเขา การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผิวเปลือกโลกนี้ ได้เกิดขึ้นก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะรู้ประมาณ 300 ปี


ในภาพรวม da Vinci จึงเป็นพหูสูตผู้รอบรู้ในวิทยาการสาขาต่างๆ มากมาย โดยรู้ก่อนเป็นเวลาหลายศตวรรษ และได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะในหลายๆ เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ในกระดาษหน้าหนึ่งของ Codex Atlanticus มีภาพของชายชราจมูกโง้ง คางหุบ สวมชุด toga (ซึ่งเป็นผ้าผืนที่ยาวราว 6 เมตร และใช้พันไปรอบตัวแบบชาวโรมัน) ทำให้ดูเสมือนเป็นรูปคนที่มีบารมีและยศศักดิ์ และภาพคๆ นี้ได้ปรากฏหลายครั้งใน codex ต่ำลงมาจากภาพของคนชรา เป็นภาพต้นไม้ ที่มีกิ่งแต่ไม่มีใบ นี่เป็นการเชื่อมโยงระหว่างการไหลของเลือดในร่างกายคน กับการไหลของน้ำในต้นไม้ ว่ามีการทำงานในลักษณะเดียวกัน


ใน Codex Atlanticus ที่ da Vinci เขียนเมื่อปี 1492 ยังมีภาพของสี่เหลี่ยมจัตุรัสและวงกลม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า da Vinci กำลังคิดปัญหาคณิตศาสตร์ที่จะสร้างสี่เหลี่ยมจัตุรัสให้มีพื้นที่เท่าวงกลมอย่างสมบูรณ์ โดยใช้เพียงไม้บรรทัดกับวงเวียนเท่านั้น ถึงวันนี้ปัญหานี้ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่มีนักคณิตศาสตร์คนใดสามารถทำได้ da Vinci ได้เห็นความคล้ายคลึงระหว่างรูปกรวยกับภูเขาด้วย ในมุมมองนี้ da Vinci จึงเห็นความเกี่ยวโยงระหว่างวิชาเรขาคณิตกับธรรมชาติ

ภาพทั้งหลายเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในหน้าเดียวกัน ทั้งๆ ที่เนื้อหาของภาพมิได้มีความเกี่ยวข้องกัน นี่แสดงให้เห็นว่า ขณะสเก็ตช์ภาพ ความคิดของ da Vinci ได้ฟุ้งกระจายไปหลายทิศทาง และในหลากหลายเรื่อง เช่นในหน้าหนึ่งมีภาพเมฆ cumulus และใต้เมฆลงไปเป็นภาพของสายน้ำตกกับภาพปอยผมของผู้หญิงที่ม้วนเป็นเกลียว และมีคำบรรยายเรื่องการทำสีย้อมผม ภาพเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่า da Vinci ซึ่งในเวลานั้นมีอายุประมาณ 30 ปี กำลังวิตกเรื่องผมจะหงอก จึงกำลังจะหาวิธีย้อมผม

สำหรับ Codex Leicester ซึ่งขณะนี้อยู่กับ Bill Gates นั้น มีทั้งหมด 72 หน้า มีรูปวาดทั้งหมด 360 รูป และมีเนื้อหาเป็นบทความสั้น ๆ ที่เกี่ยวกับความรู้ทางธรณีวิทยา ดาราศาสตร์ อุทกศาสตร์ สรีรวิทยา การอ่านคำอธิบายประกอบภาพเหล่านี้ ทำให้เราเข้าใจการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายคน การโคจรของดาวเคราะห์ การไหลของเลือดในเส้นโลหิต และการไหลของน้ำในแม่น้ำ จนทำให้เรารู้ว่าน้ำพุบนภูเขาเกิดขึ้นได้อย่างไร หุบเขาเกิดจากสาเหตุอะไร แสงจันทร์เกิดจากสาเหตุใด ฟอสซิลของซากสัตว์ขึ้นไปอยู่บนภูเขาได้อย่างไร และเหตุใดท้องฟ้าจึงมีสีฟ้า เป็นต้น

da Vinci ยังรู้จักเปรียบเทียบระหว่างชีวิตคนกับชีวิตโลกว่า เนื้อหนังของคนคือดิน กระดูกคือภูเขา เส้นเอ็นในร่างกายคือหินปูน เลือดคือน้ำในทะเลและมหาสมุทร กระบวนการหายใจของคน อาจเปรียบเทียบได้กับการไหลวนของน้ำใต้โลก นั่นคือ
da Vinci มองเห็นโลกว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ความจริงหนึ่งที่เราสามารถพบได้จากการอ่าน codex ที่ da Vinci เขียนก็คือ ในหลายเรื่อง da Vinci ได้เปลี่ยนความคิดของตน เมื่อข้อมูลที่ได้มาใหม่ ทำให้เขารู้ว่าความเชื่อเดิมนั้นผิด นี่คือความใจกว้างของปราชญ์ผู้พร้อมจะเปลี่ยนความเชื่อเดิม เมื่อได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้น ความสามารถในประเด็นนี้ ได้ทำให้ da Vinci มีพรสวรรค์ในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพราะเป็นคนที่ไม่ยึดติดกับความคิดเก่าๆ ตลอดเวลา

ในการศึกษาเรื่องแสง da Vinci ก็สงสัยว่า อะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์รุ้งกินน้ำ และเหตุใดท้องฟ้าจึงมีสีฟ้า แต่ da Vinci ไม่สามารถตอบคำถามทั้งสองนี้ได้ เพราะ da Vinci ไม่รู้ว่าแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยแสงสีต่าง ๆ อีกเจ็ดสี เหมือนดังที่ Isaac Newton (1642–1726) ได้พบ โดยการใช้ปริซึมแยกแสง และการไม่รู้ว่าความยาวคลื่นของแสงสีฟ้าน้อยกว่าแสงสีแดง ดังนั้นการกระเจิงคลื่นแสงสีฟ้าจึงเกิดขึ้นได้มากกว่าแสงสีแดง ทำให้ท้องฟ้าดูเป็นสีฟ้า ตามที่ John William Strutt, Lord Rayleigh (1875–1947) ได้พบว่า ภาคตัดขวางในการกระเจิงคลื่นแสงโดยฝุ่นละอองในอากาศ แปรผกผันกับ (ความยาวคลื่น)4


สำหรับความรู้ทางดาราศาสตร์นั้น ในปี 1510 da Vinci ได้เขียนใน codex ว่า “Il sole no si muove” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “The sun does not move” (ดวงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่) แต่โลกเคลื่อนที่” ซึ่งความรู้นี้ da Vinci ได้รู้ก่อน Copernicus (1473-1543) และ Galileo (1554-1642) เสียอีก และ da Vinci ก็ยังรู้อีกว่าแสงจันทร์เป็นแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบดวงจันทร์ แล้วสะท้อนมาสู่โลก และแสงสลัวที่ปรากฏบนดวงจันทร์ซึ่งเรียกว่า แสงโลก ก็เป็นแสงอาทิตย์ที่โลกได้สะท้อนกลับไปสู่ดวงจันทร์ แต่ da Vinci ก็รู้ผิด เพราะคิดว่า แสงจากดาวฤกษ์ทุกดวงเป็นแสงอาทิตย์ที่สะท้อนมาจากดาวฤกษ์ทั้งหมด

บรรดา codex ทั้งหมดที่เขียนด้วยลายมือโดย da Vinci มีประมาณ 7,200 หน้า และเอกสารที่มีความสำคัญระดับมรดกโลก ซึ่งมหาบุรุษท่านนี้ได้ทิ้งไว้ให้โลกได้อ่าน ได้เข้าใจวิธีคิด วิธีถาม และตระหนักรู้เกี่ยวกับคำถามที่ยังไม่มีใครในเวลานั้นสามารถตอบได้ จนทุกคนพากันชื่นชมและยกย่องว่า da Vinci เป็นคนที่กระหายจะรู้เรื่องราวต่าง ๆ มากที่สุดในประวัติของมนุษย์ชาติ

โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเรียกว่า ยุค Renaissance ที่มีบุคคลสำคัญ เช่น Leonardo da Vinci (1452-1519), Christopher Columbus (1451-1506) และ Johannes Gutenburg (1393-1406) เป็นผู้นำโลกเข้าสู่ยุคการสร้างสรรศิลปและวิทยาศาสตร์ เปิดศักราชของการสำรวจโลกใหม่ และบุกเบิกการนำเทคโนโลยีไปเผยแพร่ความรู้ ตามลำดับ


แม้ Leonardo da Vinci จะเป็นคนที่วาดภาพไม่เสร็จสิ้นหลายภาพ เช่น ภาพ Adoration of Magi, ภาพ Saint Jerome in the Wilderness และภาพ The Battle of Anghiari การกระทำเช่นนี้ได้ทำให้ นักจิตวิทยาหลายคนคิดว่า da Vinci เป็นโรคสมาธิสั้น Attention deficit hyperactivity disorder (ADHD) แม้จะเป็นลูกนอกกฎหมายของบิดา เพราะมารดาเป็นทาส อีกทั้งเป็นคนที่มีบุคลิกแปลก เพราะเขียนหนังสือมือซ้าย และกินอาหารมังสะวิรัต แต่ชาวอิตาเลียนทุกคนในสมัยนั้นก็ยอมรับ เพราะ da Vinci เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่ไม่มีใครเสมือนและจะไม่มีวันเหมือนอีกเลย

อ่านเพิ่มเติมจาก Leonardo da Vinci โดย Walter Isaacson จัดพิมพ์โดย Simon & Schuster ปี 2017


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น