xs
xsm
sm
md
lg

ไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์ กับ รังสีวินิจฉัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Epicurus (341–270 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นปราชญ์กรีกในสมัยพุทธกาลได้เคยกล่าวว่า เนื้อเพลง นิทาน ตัวบทกฎหมาย ตลอดจนถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ล้วนประกอบด้วยตัวอักษร สระ และวรรณยุกต์ ที่ผู้ประพันธ์ได้นำมาเรียงร้อยเป็นถ้อยคำเป็นประโยค และเป็นเรื่องราว เพื่อสื่อสารความรู้สึก ความคิดเห็น และความฝันได้อย่างซาบซึ้งฉันใด สรรพสิ่งในเอกภพก็ประกอบด้วยอะตอมนานาชนิดที่ได้มายึดโยงกันเป็นสิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายฉันนั้น




วันเวลาที่ผ่านไปร่วม 2,200 ปี ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้เพิ่มเติมว่า ในอะตอม อะตอมยังมีองค์ประกอบที่เล็กกว่าลงไปอีก คือ มีอิเล็กตรอนที่มีประจุลบ และโคจรไปรอบนิวเคลียส (nucleus) ตลอดเวลา นิวเคลียสเองก็ยังประกอบด้วยอนุภาคโปรตอนที่มีประจุบวก กับอนุภาคนิวตรอนที่ไม่มีประจุ

นักฟิสิกส์เรียกชื่อ อนุภาคที่มีอยู่ในนิวเคลียสโดยรวมว่า นิวคลีออน (nucleon) ที่นักทดลองยังสามารถแบ่งแยกมันออกไปได้อีก เพราะ nucleon ประกอบด้วย อนุภาค quark ที่มี 6 ชนิด คือ up down strange charm top และ bottom ดังนั้น nucleon จึงมิได้เป็นอนุภาคมูลฐาน ส่วนอิเล็กตรอนนั้นเป็น เพราะเราไม่สามารถแบ่งแยกอิเล็กตรอนให้มีขนาดเล็กลงไปได้อีก


นักวิทยาศาสตร์ได้กำหนดให้จำนวนโปรตอนที่มีอยู่ในนิวเคลียส เป็นดัชนีที่ใช้ชี้บอกชนิดของธาตุทุกชนิด เช่น H-1 คือ ธาตุ hydrogen ที่นิวเคลียสมีโปรตอน 1 อนุภาค Li-3 คือ ธาตุ lithium ที่นิวเคลียสมีโปรตอน 3 อนุภาค และ U-92 คือ ธาตุ uranium ที่นิวเคลียสมีโปรตอน 92 อนุภาค


แต่ธาตุชนิดเดียวกัน อาจจะมีจำนวนนิวตรอนในนิวเคลียสได้ไม่เท่ากัน ดังเช่น hydrogen ที่นิวเคลียสมีโปรตอน 1 อนุภาคนั้น อาจจะมีนิวตรอนอยู่ด้วยได้มากถึง 7 อนุภาค เป็น H-1, H-2, H-3,… H-7 แม้ทุก hydrogen ในกรณีนี้ จะมีจำนวนโปรตอน เป็น 1 เท่ากันหมด แต่การสามารถมีจำนวนนิวตรอนแตกต่างกันได้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์เรียกกลุ่มธาตุนี้ว่า กลุ่มไอโซโทป (isotope) ของไฮโดรเจน ในทำนองเดียวกัน กลุ่มไอโซโทปของ iodine คือ I-123, I-125 กับ I-131 เป็นต้น

ในปี 1911 (เมื่อ 113 ปีก่อน) Ernest Rutherford (1871-1937) ได้ทดลองยิงอนุภาคแอลฟาที่ธาตุกัมมันตรังสี uranium ปล่อยออกมา ให้พุ่งผ่านแผ่นทองคำเปลว และพบว่า อนุภาคแอลฟาบางตัวสะท้อนกลับ แต่ส่วนใหญ่สามารถผ่านไปได้ Rutherford จึงสันนิษฐานว่า เหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นเพราะอนุภาคแอลฟาได้ปะทะกับแก่นกลางของอะตอมที่กลมทึบ และมีความหนาแน่นมาก มันจึงกระดอนกลับ Rutherford ได้เรียกชื่อแก่นกลางของอะตอมว่า nucleus ด้วยเหตุนี้ Rutherford จึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาของวิชาฟิสิกส์นิวเคลียร์


ในเวลาต่อมานักฟิสิกส์ก็ได้ใช้เทคนิคยิงนิวเคลียสของธาตุต่างๆ ด้วยอนุภาค นิวตรอน โปรตอน แอลฟา คาร์บอน ฯลฯ เพื่อสร้างธาตุใหม่ๆ และบางครั้งได้ธาตุใหม่ที่เสถียร คือ สามารถทรงรูปอยู่ในสภาพใหม่ได้อย่างถาวร โดยไม่สลายตัว แต่บางครั้งก็ได้ธาตุใหม่ ที่อยู่ในสภาพกัมมันตรังสี คือ สลายตัวด้วยการปลดปล่อยอนุภาคแอลฟา และบีตา กับรังสีแกมมาออกมา ธาตุเหล่านี้เป็นธาตุประดิษฐ์ที่ไม่มีในธรรมชาติ และนักวิทยาศาสตร์ได้สังเคราะห์ขึ้นในห้องทดลอง จนได้พบว่า ธาตุประดิษฐ์มีประโยชน์มากมาย ทั้งในทางการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ การเกษตรกรรม ฯลฯ และแม้แต่ในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เอง

นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ในปัจจุบัน จึงทำหน้าที่เสมือนเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุในอดีต และได้ประสบความสำเร็จ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ใช้เครื่องเร่งอนุภาค และเครื่องเร่งลำไอออนที่มีพลังงานสูงในการยิงนิวเคลียสของธาตุที่มีในธรรมชาติ เพื่อสร้างธาตุใหม่ และไอโซโทปใหม่ที่ พระเจ้าทรง “ลืม” สร้าง เพื่อจะได้เข้าใจธรรมชาติของแรงนิวเคลียร์ระหว่าง quark ในนิวเคลียสของธาตุที่มีมวลมาก และมีความหนาแน่นมาก เช่น ในดาวนิวตรอน และหลุมดำ เพื่อจะได้นำความรู้ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้พัฒนาวิทยาการสาขาต่างๆ










นักเคมีสองคนแรกที่ประสบความสำเร็จในการสร้างไอโซโทปกัมมันตรังสี ประดิษฐ์ (artificial radioisotope) คือ Frederic Joliot (1900-1958) กับ Irene Joliot-Curie (1897-1956) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลเคมีประจำปี 1935 ร่วมกัน Irene เป็นบุตรสาวของ Marie Curie (1867–1934) กับ Pierre Curie แต่ Marie โชคร้ายที่ไม่ได้เห็นลูกสาวของเธอเข้ารับรางวัลโนเบล เพราะได้เสียชีวิตไปก่อนนั้นในปี 1934 ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

บุคคลทั้งสอง Frederic และ Irene จึงนับเป็นคู่สามี-ภรรยาคู่ที่สองของโลก ที่ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกัน หลังจากที่ Pierre และ Marie Curie ได้เคยรับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ร่วมกันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1903


Frederic Joliot เกิดที่ Paris เป็นบุตรของพ่อค้า เขาเรียนจบปริญญาตรีจาก Ecole de Physique et Chimie ที่ Paris เมื่ออายุ 25 ปี ได้ไปทำงานที่สถาบัน Radium Institute ในตำแหน่งผู้ช่วยของ Marie Curie และได้แต่งงานกับ Irene ซึ่งเป็นบุตรสาวของผู้อำนวยการสถาบัน Joliot สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในปี 1930 ด้วยการทำวิทยานิพนธ์เรื่อง สมบัติเคมีเชิงไฟฟ้าของธาตุกัมมันตรังสี

ในเบื้องต้น สองสามีภรรยาสนใจการทำวิจัยเรื่องโครงสร้างของนิวเคลียสมาก และได้ทำการทดลองหลายเรื่อง ที่ได้ปูทางไปสู่การค้นพบอนุภาค neutron โดย James Chadwick (1891-1974) เมื่อปี 1932 และสู่การค้นพบอนุภาค positron โดย Carl Anderson (1945-2004) ในปี 1932

แต่การค้นพบที่สำคัญที่สุดของสองสามีภรรยา คือ การสร้างธาตุกัมมันตรังสีประดิษฐ์ เมื่อปี 1934 โดยได้ทดลองยิงนิวเคลียสของ boron, aluminum และ magnesium ด้วยอนุภาค alpha และนิวตรอน ทำให้ได้ไอโซโทปของ nitrogen-13, phosphorus-30, silicon-27 และ aluminum-28


ดังนั้นถ้าคนไข้ได้รับการฉีดไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์เข้าร่างกาย การสลายตัวของไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์ โดยการปล่อยอนุภาค และรังสีต่าง ๆ ออกมา จะสามารถบอกสถานภาพของโรคในร่างกายได้ว่า โรคร้ายอยู่ ณ ตำแหน่งใดบ้าง มีขนาดใหญ่-เล็กเพียงใด และตำแหน่งนั้นอยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง หรือหัวใจของร่างกายเพียงใด โดยแพทย์จะใช้ฟิล์มถ่ายภาพหรือเซนเซอร์ (sennor) เพื่อบันทึกรังสีและอนุภาคที่ไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์ปล่อยออกมา และเมื่อ ไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์สลายตัวจนหมดสิ้นแล้ว ร่างกายของคนไข้ก็จะปลอดภัย


ทันทีที่ Frederic กับ Irene รู้ความจริงนี้ คนทั้งสองได้โทรเลขไปบอก Ernest Orlando Lawrence (1901-1958) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1939 ซึ่งเวลานั้น ทำงานวิจัยประจำที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต Berkeley ว่า ให้หยุดเดินเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron เป็นการชั่วคราว เพราะ Lawrence ได้ทดลองยิงนิวเคลียสของธาตุต่าง ๆ ด้วยอนุภาคนิวตรอนมาเป็นเวลานานแล้ว จึงขอให้ตรวจสอบเป้ายิง เพราะที่เป้าอาจจะมีไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์เกิดขึ้น โดยใช้เครื่องตรวจจับแบบ Geiger counter และ Lawrence ก็ได้พบไนโตรเจน N-13 ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์จริงๆ


ในปี 1939 สองสามีภรรยาได้ทดลองยิงอนุภาคนิวตรอนให้พุ่งชนนิวเคลียส uranium-235 แต่ไม่เคยคิดแม้แต่น้อยว่า uranium-236 จะแบ่งตัว (fission) ได้ คนทั้งสองจึงพลาดการพบปรากฏการณ์ fission ไปอย่างน่าเสียดาย ครั้นเมื่อ Otto Hahn (1879–1968) แถลงข่าวการพบปรากฏการณ์ fission คนทั้งสองก็ได้ออกมายืนยันว่า การค้นพบของ Hahn เป็นเรื่องจริง และการค้นพบ fission นี้ ทำให้ Otto Hahn ได้รับรางวัลโนเบลเคมี ปี 1944

ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 Frederic Joliot เป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญคนหนึ่งของฝรั่งเศสในการต่อต้านกองทัพนาซีของเยอรมัน และได้สั่งให้ทหารขนย้ายน้ำมวลหนัก (heavy water) ที่หนัก 185 กิโลกรัม จากเมือง Telemark ใน Norway ไปที่อังกฤษ เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพนาซีได้ใช้น้ำมวลหนักในการสร้างระเบิดปรมาณู

เมื่อ Frederic Joliot เสียชีวิตในปี 1958 รัฐบาลฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าภาพแสดงความอาลัยในการสูญเสียเขา ในฐานะบุคคลสำคัญของชาติ

ด้าน Irene Curie เธอเกิดที่ปารีส เมื่อปี 1897 และเป็นบุตรีของ Pierre กับ Marie Curie ในวัยเด็ก เธอมีแม่เป็นครูสอนฟิสิกส์ มี Jean Perrin (1870-1942) เจ้าของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1926 เป็นคนสอนเคมีให้เธอ และมี Paul Langevin (1872-1946) ซึ่งเป็นชู้รักของแม่ (หลังจากที่สามี Pierre เสียชีวิต) และเป็นผู้พบปรากฏการณ์ piezoelectricity เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ให้เธอ

การได้รับรางวัลโนเบลปี 1935 ร่วมกับสามี ทำให้คนตระกูล Curie ได้รางวัลโนเบลมากถึง 5 ครั้ง ( คือ มาดาม Curie ได้ 2 ครั้ง Pierre Curie ได้ 1 ครั้ง และ Frederic Joliot กับ Irene Curie ได้ 2 ครั้ง) ส่วนสถิติการเป็นแม่-ลูกสาวที่ต่างก็ได้รับรางวัลโนเบลก็เป็นของตระกูล Curie สำหรับรางวัลโนเบลที่พ่อได้รับ และลูกชายก็ได้รับนั้น มีคนที่ได้รับแล้วถึง 6 คู่

Irene เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเหมือนมารดา เพราะได้รับรังสีจากธาตุ polonium และรังสีเอกซ์ในปริมาณมากผิดปกติ อย่างไม่รู้ตัว

การค้นพบของเธอกับสามี ในการแปลง aluminum ด้วยรังสีแอลฟา ดังสมการ


เพราะการค้นพบนี้เอง ที่ได้ทำให้กระบวนการสร้างธาตุกัมมันตรังสีประดิษฐ์สามารถทำได้ง่ายขึ้น และในปริมาณที่มากขึ้น ผลผลิตจึงมีราคาถูกลง การค้นพบนี้ จึงคุณประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติมาก จนสมควรแก่การได้รับรางวัลโนเบลเคมี

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ในปี 1948 สองสามีภรรยาได้เริ่มการสร้างเตาปฏิกรณ์ปรมาณูของฝรั่งเศส เพื่อผลิตไฟฟ้ากำลัง 5 กิโลวัตต์ นี่คือการให้กำเนิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานปรมาณู โรงแรกของฝรั่งเศส

เมื่อ Irene เสียชีวิต เธอได้รับเกียรติจัดพิธีอาลัยโดยรัฐบาลฝรั่งเศส แต่เธอได้ขอไม่ให้มีพิธีกรรมทางศาสนาและพิธีทางราชการใดๆ

ลูกสาวของเธอชื่อ Helene Langevin-Joliot (1927-ปัจจุบัน) เป็นนักฟิสิกส์นิวเคลียร์เหมือนบิดา-มารดา และลูกชายชื่อ Pierre Joliot (1932-ปัจจุบัน) เป็นนักชีวเคมี

สำหรับประโยชน์ของไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์นั้น มีมากมาย

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการสำรวจที่แสดงให้เห็นว่ามะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนมากเป็นอันดับสองรองจากโรคหัวใจ สถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้ระบุอีกว่า ในปี 2014 โลกมีคนป่วยเป็นมะเร็ง 14 ล้านคน และเสียชีวิต 10 ล้านคน ในปี 2022 มีคนป่วยที่เป็นมะเร็ง 20 ล้านคน และเสียชีวิต 14 ล้านคน เมื่อถึงปี 2042 WHO คาดว่าจะมีคนเป็นมะเร็งมากถึง 40 ล้านคน และ 25 ล้านคนจะเสียชีวิต


สถิตินี้ได้แสดงให้เห็นว่า คนที่ป่วยมะเร็งมีโอกาสจะหายได้ ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ที่ทันการ และเหมาะสม โดยอาจจะใช้วิธีต่างๆ เช่น เคมีบำบัด รังสีบำบัด อนุภาคบำบัด (proton, carbon ion, helium, argon) ใช้วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมนบำบัด โดยใช้วิธีรักษามะเร็ง ทั้ง 34 ชนิด ที่พบในร่างกายคน ในลักษณะที่เป็นการรักษาแบบตรงเหตุและมุ่งเป้า ดังนั้นการรู้ตัวล่วงหน้าว่าใครกำลังจะเป็นมะเร็ง ที่อวัยวะส่วนใด และการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง และรวดเร็วที่สุด จะทำให้รู้ว่า เนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งนั้นมีขนาดใหญ่หรือเล็ก และโรคมีอันตรายความร้ายแรงเพียงใด ส่วนแพทย์ก็จะรู้ว่าควรรักษาด้วยวิธีใด และการรักษาจะต้องใช้เวลานานเพียงใด คนไข้จึงจะหายเป็นปกติ

เทคนิคการวินิจฉัยเซลล์มะเร็งในอดีตนิยมใช้วิธีตัดเนื้อเยื่อของร่างกายส่วนที่สงสัยไปตรวจ เพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซม การรู้ข้อมูลอย่างสมบูรณ์จะช่วยแพทย์ในการพยากรณ์การลุกลาม และการแพร่ระบาดของเซลล์มะเร็งได้อย่างถูกต้อง โดยแพทย์จะใช้เข็มฉีดยาขนาดใหญ่ ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร (เข็มเจาะเลือดธรรมดาทั่วไป มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร) เพื่อเจาะเนื้อให้เป็นรู ที่มีขนาด 1-2 มิลลิเมตร รูที่ใหญ่เช่นนี้จะทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บ และแผลอาจจะอักเสบหรือฟกช้ำได้ เพื่อแพทย์จะได้ค้นหาเซลล์มะเร็ง 1-2 เซลล์จนพบในเลือดปริมาตร 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร เมื่อได้ข้อมูล DNA ของคนไข้แล้ว แพทย์ก็จะวางแผนการรักษาที่ตรงเหตุ (precision medicine) เพราะคนแต่ละคนในโลก ไม่มีใครเหมือนใคร 100%

ทุกปีจะมีคนเข้ารับการตรวจมะเร็งประมาณ 100 ล้านคน โดยใช้วิธีตรวจต่าง ๆ กัน สำหรับการตรวจโดยการจับรังสีที่ไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์ปล่อยออกมา โดยการให้โมเลกุลที่มีไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์ไปเกาะยึดติดกับเซลล์มะเร็ง แล้วใช้ sensor ตรวจจับรังสีที่ไอโซโทปปล่อยออกมา ซึ่งจะบอกตำแหน่ง ขนาด และพยาธิสภาพของเซลล์มะเร็ง


ไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์ที่นิยมใช้กันก็คือ technetium-99m (m แสดงสภาพ metastable คือ สถานะกระตุ้นของนิวเคลียสที่เสถียรนานกว่าปกติ) ในโมเลกุลของสารประกอบที่ถูกฉีดเข้าไปในเลือด แล้ว Tc-99m จะสลายตัวให้รังสีแกมมา เพื่อแสดงให้แพทย์รู้ว่ากล้ามเนื้อหัวใจของคนไข้ทำงานปกติหรือไม่ กระดูกในร่างกายถูกเซาะกร่อนไปมากเพียงใดแล้ว และการไหลของเลือดในสมองเป็นอย่างไร

ณ วันนี้ ทั่วโลกใช้ Tc-99m ในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง ประมาณวันละแสนครั้ง

ในส่วนโรงงานการผลิต Tc-99m นั้น ก็มีการผลิตในปริมาณที่ห้องปฏิบัติการ Chalk River ในแคนาดา ที่เมือง Petten ในเนเธอร์แลนด์ ที่ Australia, Argentina South Africa และ China โดยการยิงอนุภาคนิวตรอนที่ได้มาจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ซึ่งมี uranium-235 เป็นเชื้อเพลิง




หรือใช้วิธีฉายอนุภาคแสง (photon) ให้กระทบ Mo-100 ซึ่งจะทำให้ Mo-100 สลายตัวให้ Mo-99 ที่สลายตัวต่อให้ Tc-99m ก็ได้


หรือใช้เครื่องเร่ง cyclotron เร่งอนุภาค proton ให้มีพลังงานสูง พุ่งเข้าชนนิวเคลียส Mo-100 ก็จะให้ Tc-99m นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถกระทำได้

การผลิตไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์ Tc-99m จึงสามารถทำได้หลายวิธี ในทำนองเดียวกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถทำได้ โดยใช้เตาปฏิกรณ์ปรมาณู หรือใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือจากพลังงานถ่านหิน หรือจากพลังงานลมและพลังงานน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้นแพทย์ผู้รักษาคนไข้ก็จะต้องเลือก Tc-99m ที่เหมาะสม มาใช้ในการวินิจฉัย แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่แพทย์ทุกคนต้องการ คือ การมี Tc-99m ใช้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลาที่แพทย์ต้องการ เพราะการขาดแคลน Tc-99m ที่อาจจะเกิดขึ้น สามารถทำให้การรักษาคนไข้ต้องหยุดชะงัก และการรักษาคนไข้ของแพทย์จะเป็นไปอย่างไม่มั่นใจ เพราะแพทย์ไม่มีวิธีที่จะรู้ และเห็นอาการโรคของคนไข้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

ดังนั้น แพทย์จะรู้สึกเสียใจเป็นอย่างที่สุด ถ้าจะต้องบอกคนไข้ว่า โรงพยาบาลของเราไม่มีไอโซโทปกัมมันตรังสีประดิษฐ์ ที่จะช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยสภาพมะเร็งก่อนลงมือรักษา

อ่านเพิ่มเติมจาก Fassò, Alberto; Silari, Marco; Ulrici, Luisa (October 1999). Predicting Induced Radioactivity at High Energy Accelerators (PDF). Ninth International Conference on Radiation Shielding, Tsukuba, Japan, October 17–22, 1999. Stanford, CA: SLAC National Accelerator Laboratory, Stanford University. SLAC-PUB-8215. Retrieved December 10, 2018.


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น