xs
xsm
sm
md
lg

“มิเลย์” ยอมรับกับบีบีซีกลางอากาศ “เกาะฟอล์กแลนด์” ยังอยู่ในมืออังกฤษแต่ไม่เลิกตามทวง หลังปฏิบัติการช็อกเศรษฐกิจได้ผลสภาล่างไฟเขียวให้อำนาจ ปธน.อาร์เจนตินาไม่จำกัดตาม “ทรัมป์โมเดล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี ฆาบิเอร์ มิเลย์ ยอมรับกับบีบีซีว่า “หมู่เกาะฟอล์กแลนด์” ยังคงเป็นของอังกฤษแต่ยืนยันไม่ล้มความพยายามทวงคืนทางการทูตถึงแม้จะไร้ความหวัง เกิดขึ้นหลังสภาผู้แทนราษฎรอาร์เจนตินาเดือนที่แล้วไฟเขียวร่างกฎหมายงบประมาณพร้อมเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีใหม่หมดไร้ข้อจำกัด “สามารถสั่งยุบหน่วยงานได้” ตามแบบทรัมป์โมเดล หลังประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ปฏิบัติการช็อกเศรษฐกิจได้ผลเห็น “งบเกินดุล” เกิดขึ้นครั้งแรกในไตรมาส

บีบีซีรายงานวานนี้ (5 พ.ค.) ว่า ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ฆาบิเอร์ มิเลย์ ให้สัมภาษณ์บีบีซีที่ทำเนียบประธานาธิบดีอาร์เจนตินา กรุงบัวโนสไอเรส ถึงสถานะของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ เป็นการยอมรับโดยดุษณี ว่า “ยังคงอยู่ในมืออังกฤษ”

เกิดขึ้นหลังในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ลอร์ด เดวิด คาเมรอน เดินทางไปเยือนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์พร้อมยืนยันเสียงแข็งว่า อำนาจอธิปไตยหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ไม่สามารถนำมาหารือได้

ในการให้สัมภาษณ์ประธานาธิบดีมิเลย์ กล่าวว่า “หากว่าดินแดนปัจจุบันยังคงอยู่ในมือของอังกฤษ เขามีสิทธิทำได้เช่นนั้น ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นการยั่วยุ”

สื่ออังกฤษชี้ว่า การออกมายอมรับโดยดุษณี ของมิเลย์นั้นต่างจากอดีตผู้นำอาร์เจนตินาคนอื่นๆ ที่ปฏอเสธจะยอมรับว่าหมู่เกาะฟอล์กแลนด์เป็นของลอนดอน

ในปี 2013 ในขณะที่คาเมรอนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประชาชนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ลงประชามติโหวตให้หมู่เกาะยังคงเป็นดินแดนอาณานิคมภายใต้อังกฤษต่อไป

มิเลย์วางแผนเพื่อนำหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กลับมาเป็นของอาร์เจนตินาผ่านช่องทางการทูตอีกครั้ง แต่ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี ผู้นำอาร์เจนตินาชี้ไปที่เกาะฮ่องกงที่อังกฤษต้องส่งมอบคืนให้จีนไปในปี 1997 และยืนยันว่า บางทีลอนดอนอาจจะยอมหันกลับมาเจรจาอีกครั้งเมื่อเวลาเปลี่ยนไป

“พวกเขาอาจจะไม่ต้องการเจรจาในวันนี้ แต่ทว่าบางทีหลังจากนี้ในช่วงหนึ่งของเวลาบางทีพวกเขาอาจจะอยากกลับมาหารือ มีจุดยืนมากมายที่เปลี่ยนไปในช่วงเวลา” ประธานาธิบดีอาร์เจนตินากล่าว

สื่ออังกฤษชี้ว่า ดูเหมือนท่าทีของมิเลย์ที่มีต่ออังกฤษและหมู่เกาะฟอล์กแลนด์นั้นลดความแข็งกร้าวไปเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตผู้นำอาร์เจนตินาคนอื่นๆ ตัวอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดี อัลเบร์โต เฟร์นันเดซ (Alberto Fernandez) ออกมาเรียกหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ว่า “เกาะที่ถูกขโมย” และคำอ้างของอังกฤษเหนือหมู่เกาะ “ช่างน่ารังเกียจ”

ขณะที่ก่อนหน้าเขาได้รับไฟเขียวจากสภาล่างบัวโนสไอเรสตามการรายงานของบลูมเบิร์กวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา สำหรับกฎหมายร่างงบประมาณประจำปีและแผนปฏิรูปอำนาจประธานาธิบดีอาร์เจนตินาตามแบบทรัมป์

สภาผู้แทนราษฎรอาร์เจนตินาโหวตเห็นชอบให้มิเลย์สามารถเพิ่มอำนาจให้ตัวเองด้านการบริหารทางการเงิน เศรษฐกิจ และพลังงาน ที่สำคัญมิเลย์ จะมีอำนาจสามารถสั่งยุบหน่วยงานพิเศษหลายสิบแห่งที่ได้รับงบประมาณรัฐ และสภาล่างอาร์เจนตินายังไฟเขียวให้สามารถโอนกิจการของรัฐเป็นของเอกชนได้ รวมบริษัทสายการบิน Aerolineas Argentinas องค์การประปา องค์การไฟฟ้า องค์การรถไฟ ไปรษณีย์อาร์เจนตินา และการขยายฐานภาษีรายได้อาร์เจนตินาใหม่หมด

รอยเตอร์เคยรายงานเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ล่าสุดว่า ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า ปฏิบัติการช็อกเศรษฐกิจ (shock therapy) ได้ผลหลังอาร์เจนตินาในไตรมาสแรกได้เห็นงบประมาณเกินดุลเป็นครั้งแรก

มิเลย์ประกาศว่า รัฐบาลบัวโนสไอเรสประสบความสำเร็จได้เห็นงบประมาณเกินดุลกว่า 275 พันล้านเปโซ (315.4 ล้านดอลลาร์) ในเดือนมีนาคมของไตรมาสแรกของปี และเป็นงบประมาณเกินดุลครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 คิดเป็น 0.2% ของจีดีพี

บลูมเบิร์กชี้ว่า และหากประสบความสำเร็จไปตามแผน ประธานาธิบดีมิเลย์ จะมีอำนาจสามารถสั่งปลดเจ้าหน้าที่รัฐ ยกเลิกงบช่วยเหลือและลดจำนวนองค์กรของรัฐที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความสมดุลทางงบดุล แสดงให้เห็นในความสามารถการเมืองของเขาต่อนักลงทุน

“นี่จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อทำให้อาร์เจนตินาออกไปจากน้ำเน่า (swamp) ที่ประเทศต้องติดหล่มมานาหลายสิบปี” มิเลย์โพสต์บนแพลตฟอร์ม X

มิเลย์ใช้วาทะอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้คำว่า swamp รวมไปถึงแผนการขยายอำนาจประธานาธิบดีของตัวเองไม่ต่างจากแผนการของทรัมป์ที่เตรียมปลดล็อกอำนาจประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้มีได้ไม่จำกัดหากได้รับเลือกตั้งต่อเป็นสมัย 2 เหมือนที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์เคยรายงานเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งในการขยายอำนาจรวมไปถึงการสั่งไล่ออกเจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นขัดแย้งกับเขา






กำลังโหลดความคิดเห็น