ปราจีนบุรี เป็นจังหวะที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ มีพื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางกิโลเมตร มีอุทยานป่าที่เป็นมรดกโลก นอกจากจะมีโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่งแล้ว ปราจีนบุรียังมีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากด้วย จังหวัดจึงมีโรงงานอุตสาหกรรม และโรงงานเกษตรกรรมมากมาย รวมถึงมีโรงไฟฟ้าไอน้ำด้วย
เมื่อเวลา 13.19 น. ของวันที่ 14 มีนาคม ปี 2566 นี้ คนไทยทั่วประเทศได้ตื่นตระหนกตกใจกลัว เมื่อได้ยินแถลงการณ์ว่า โรงไฟฟ้าไอน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตลาดท่าตูม ในอำเภอศรีมหาโพธิ์ ของจังหวัดปราจีนบุรี ได้รายงานการสูญหายของอุปกรณ์จับฝุ่นไปอย่างไร้ร่องรอย ลำพังอุปกรณ์อย่างเดียวก็ไม่น่าจะทำให้คนทั้งประเทศตื่นเต้น แต่เมื่อทุกคนรู้ว่า ในอุปกรณ์ดังกล่าวมีสารประกอบกัมมันตรังสีของธาตุ caesium-137 (Cs-137) บรรจุอยู่ในแคปซูลด้วย ความวิตกกังวลที่เกิดตามมา คือ ถ้าขโมยคนใด ได้เปิดฝาแคปซูลนั้นออก ร่างกายของเขาก็จะได้รับรังสีแกมมาที่แผ่ออกมาจาก caesium-137 นั้นทันที และถ้าการรับรังสีได้เกิดอย่างติดต่อกันเป็นเวลานาน ผิวหนังของเขาก็จะถูกรังสีเผาไหม้ และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายก็อาจจะบาดเจ็บ จนอวัยวะส่วนนั้นเน่า หรือเปลี่ยนสภาพเป็นมะเร็งก็ได้
แต่ถ้าอุปกรณ์ดักฝุ่น มิได้ถูกโจรขโมยไป และอุปกรณ์นั้นได้ถูกนำไปแปรสภาพ โดยการหลอมรวมกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือเศษวัสดุอื่นๆ caesium-137 ที่อยู่ในแคปซูลก็จะถูกเผาไหม้จนกลายสภาพเป็นฝุ่นละออง หรือฝุ่นที่จะถูกพ่นออกมาจากปล่องไฟของโรงหลอมเหล็ก ให้แพร่กระจายไปในบรรยากาศ และในที่สุดฝุ่นละอองกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้น ก็จะตกลงสู่พื้นดิน ให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบของโรงงานได้หายใจเข้าไป ส่วนที่ตกในน้ำก็จะให้สัตว์น้ำได้บริโภคเข้าไป เหตุการณ์หายใจรับฝุ่นกัมมันตรังสีเข้าร่างกาย อาจจะเป็นอันตรายต่อทุกชีวิตได้ในระยะยาว
การไม่รู้ธรรมชาติที่เป็นภัยของ caesium-137 การไม่รู้ปริมาณของสารกัมมันตรังสีที่สูญหายไปว่ามีมาก-น้อยเพียงใด และการไม่รู้ว่ามันได้กลายสภาพไปเป็นรูปแบบใดบ้าง ได้ทำให้ทุกคนที่รับฟังข่าวรู้สึกกังวลมาก แม้ว่าคนงานในโรงงานหลอมเหล็กจำนวน 70 คน จะได้เข้ารับการตรวจร่างกาย และพบว่าร่างกายไม่ได้รับสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใดก็ตาม ความกังวลของสังคมก็ยังมิได้น้อยลง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นความบกพร่องในการบริหารจัดการสารกัมมันตรังสีอันตรายของผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่กำจัดขยะ ก็ไม่มีความรู้ว่า ธาตุ caesium-137 ที่มีอยู่ในอุปกรณ์นั้น มีพิษรุนแรงเพียงใด ถ้ามีใครเข้าไปยืนใกล้ ๆ หรือสัมผัสมันนาน ๆ และเมื่ออุปกรณ์จับฝุ่นนั้นแตกหัก ตกร่วงจากปล่องไฟ เจ้าหน้าที่โรงงานไฟฟ้าก็ได้จัดการส่งอุปกรณ์ไปที่โรงงานหลอมเหล็ก โดยมิได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบในทันที เสมือนว่ามันเป็นเศษเหล็กธรรมดา ๆ ชิ้นหนึ่ง ที่จะต้องถูกนำออกจากโรงงานให้หมด ๆ ไปในทันที
จวบจนวันนี้ก็ยังไม่มีใครพบแคปซูลบรรจุ caesium-137 นั้นอีกเลย เราจึงสันนิษฐานได้ว่า caesium-137 ได้ถูกหลอมรวมไปกับขยะวัสดุอื่น ๆ แล้ว และได้กลายสภาพเป็นฝุ่นกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกไปในบรรยากาศเรียบร้อยแล้ว
บทความในวันนี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์รูปแบบเดียวกันนี้ ที่ได้เกิดขึ้นในออสเตรเลียและบราซิล เพื่อให้รู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่นั่น ได้จัดการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นบทเรียน
แต่ก่อนที่เราจะเรียนรู้เรื่องนี้ เราต้องทำความรู้จักกับธาตุ caesium-137 ก่อน caesium เป็นธาตุธรรมชาติชนิดหนึ่ง ที่มีเลขเชิงอะตอม (atomic number) เท่ากับ 55 ซึ่งหมายความว่า ในนิวเคลียสของมันมีโปรตอนอยู่ 55 อนุภาค และอาจจะมีนิวตรอนได้หลายอนุภาค เช่น 78, 79 หรือ 82 ดังนั้น มวลเชิงอะตอม (atomic mass) ของ caesium จึงเป็น 133 (จาก 55+78) หรือ 134 (จาก 55+79) และ 137 (จาก 55+82) ด้วยเหตุนี้ เราจึงมี Cs-133, Cs-134 และ Cs-137 เป็นกลุ่ม isotope เพราะมีจำนวนโปรตอน 55 เท่ากัน แต่มีจำนวนนิวตรอนแตกต่างกัน
เรามักจะพบธาตุ caesium-137 ในเตาปฏิกรณ์ปรมาณู หรือจากผลการระเบิดของระเบิดปรมาณู เพราะเวลานิวเคลียสของ uranium-235 หรือ plutonium-239 ได้รับอนุภาคนิวตรอนเข้าไป มันจะแบ่งแยกตัวแบบ fission ออกเป็นนิวเคลียสขนาดเล็ก เช่น iodine-131, xenon-133, caesium-137 ได้ และ caesium-137 นั้น เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่ไม่เสถียร คือ สลายตัวได้ง่าย โดยจะเปลี่ยนไปเป็นธาตุ barium-137 และให้อนุภาคอิเล็กตรอนออกมา (คือ เป็นรังสีบีตา) แล้วจากนั้น barium-137 ก็จะสลายตัวต่อไป ให้รังสีแกมมาในเวลาต่อมา
ดังนั้นในภาพรวม เวลา caesium-137 สลายตัว ก็จะให้รังสีบีตาและรังสีแกมมา ที่แพทย์ใช้รักษามะเร็ง และนักอุตสาหกรรมใช้วัดความหนาของวัสดุ ตรวจความชื้นของอาหาร วัดความหนาแน่นของฝุ่นละออง หรือตรวจดูลักษณะการไหลของของเหลวภายในท่อ ฯลฯ
ในความเป็นจริงบรรยากาศของโลกเรา ได้มี caesium-137 มาเป็นเวลานานร่วม 70 ปีแล้ว นับตั้งแต่เวลาที่บรรดาประเทศมหาอำนาจได้เริ่มทดลองระเบิดปรมาณูในบรรยากาศ และอะตอม caesium-137 ก็ได้แพร่อยู่ในบรรยากาศโลก และให้กัมมันตรังสีภูมิหลัง ดังนั้นเวลาร่างกายคนเราหายใจ caesium-137 เข้าไป ถ้าเข้าไปในปริมาณน้อย มันก็จะคงสภาพอยู่ในร่างกายได้ไม่นาน เพราะมันจะสลายตัวไปเร็ว โดยเฉพาะในร่างกายของเด็ก ซึ่งสามารถจะกำจัดมันออกไปได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ ด้วยการขับถ่ายออกทางปัสสาวะ ส่วนผงฝุ่นที่ติดอยู่ตามผิวหนังนั้น ก็สามารถจะถูกกำจัดออกได้ง่าย โดยการทำความสะอาดผิว
ตามปกติ caesium-137 จะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง (30 องศาเซลเซียส) และมีสมบัติทางเคมีที่ดี คือ สามารถทำปฏิกิริยากับคลอรีนได้ดี คือ ได้ caesium chloride ที่อยู่ในสภาพฝุ่น (caesium-137 ในแคปซูลที่ปราจีนบุรีก็อยู่ในสภาพผงฝุ่นเช่นกัน)
นักวิทยาศาสตร์ยังมีวิธีบอกความรวดเร็วในการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี ด้วยการใช้ตัวเลขครึ่งชีวิต (half life) ซึ่งในกรณี caesium-137 นั้น มีครึ่งชีวิตเท่ากับ 30 ปี อันหมายความว่า ถ้าเมื่อเริ่มต้นเรามีนิวเคลียสของ caesium-137 อยู่ 100 อนุภาค หลังจากที่เวลา ผ่านไป 30 ปี นิวเคลียส caesium-137 จำนวน 50 อนุภาคก็จะสลายตัวไป เหลือที่ไม่สลายอยู่ 50 อนุภาค
อีก 30 ปี ต่อมา คือ 60 ปี นับจากเวลาเริ่มต้น จำนวนนิวเคลียสที่ยังคงอยู่เหมือนเดิมก็จะเหลืออยู่ 25 อนุภาค
และอีก 30 ปี คือ 90 ปี นับจากเวลาเริ่มต้น จำนวนนิวเคลียสที่จะยังคงอยู่เหมือนเดิม ก็จะเหลือ 12.5 อนุภาค ต่อไปเช่นนี้เรื่อยๆ
ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใดก็ตาม เราก็จะมี caesium-137 อยู่เรื่อยไปไม่มีวันหมด
โดยสรุปภัยที่ร่างกายได้รับจากสารกัมมันตรังสี จึงขึ้นกับระยะทางที่เราอยู่ห่างจากแหล่งให้กำเนิดรังสี เวลาที่ร่างกายได้รับ และชนิดของรังสี ซึ่งมีหน่วยวัดเป็น becquerel
ก่อนเกิดเหตุการณ์ caesium-137 ล่องหนที่ปราจีนบุรี ประมาณ 2 เดือน คือ ในระหว่างวันที่ 10-16 มกราคมปีนี้ ก็ได้มีเหตุการณ์อันตรธานของ caesium-137 เช่นกัน ที่ออสเตรเลีย โดยแคปซูลที่บรรจุสาร caesium-137 ได้ตกหายไปจากรถบรรทุกที่ใช้ขนสารกัมมันตรังสีจากเหมืองเหล็กชื่อ Gudai-Darri ซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้าน Rio Tinto ของเมือง Newman เพื่อนำไปซ่อมที่คลังพัสดุเก็บสารกัมมันตรังสีใกล้หมู่บ้าน Malaga นอกเมือง Perth ที่อยู่ไกลออกไปประมาณ 1,400 กิโลเมตร
หลังจากที่ได้เดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว วันเวลาได้ล่วงเลยไปจนถึงวันที่ 27 มกราคม เจ้าหน้าที่ก็ได้ตรวจพบว่า มีแคปซูลหนึ่ง ได้ตกหล่นหายไปกลางทาง จึงได้ส่งกำลังคนออกค้นหา จนได้พบแคปซูลดังกล่าวตกอยู่ข้างถนนใกล้เมือง Newman เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
แคปซูลนั้นเป็นรูปทรงกระบอกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 6 มิลลิเมตร และยาว 8 มิลลิเมตร ซึ่งใช้เป็น sensor เพื่อตรวจดูปริมาณผงเหล็กที่ผลิตได้ในเหมือง caesium-137 นี้ เป็นแหล่งปล่อยกัมมันตรังสีที่รุนแรง 19 gigabecquerel (1 giga มีค่า 10^9) ซึ่งถ้าใครได้รับรังสีนี้ ผิวหนังจะรู้สึกแสบร้อน และร่างกายจะมีอาหารแพ้รังสีจนอาจจะเสียชีวิตได้
ลำดับเหตุการณ์ติดตามหาแคปซูล caesium-137 ที่หายไปในครั้งนั้น เป็นดังนี้
วันที่ 10 มกราคม ปี 2023 แคปซูลได้ถูกนำขึ้นรถบรรทุก เพื่อนำไปซ่อม ที่ Perth
วันที่ 11 มกราคม ปี 2023 แคปซูลได้ออกเดินทางจากเหมืองไปถึงเมือง Perth เมื่อวันที่ 16 มกราคม จากนั้นก็ถูกนำไปเก็บใน
คลังพัสดุ และเมื่อจะมีการตรวจสภาพ ในวันที่ 25 มกราคม เจ้าหน้าที่ก็ได้พบว่า มีแคปซูลหนึ่งที่ได้หล่นหายไป โดยตกผ่านรูโหว่ที่พื้นรถ เจ้าหน้าที่จึงได้รายงานหน่วยฉุกเฉินที่ Perth ทราบ ในตอนเย็นวันที่ 25 นั้นเอง
หน่วยฉุกเฉินจึงได้ออกแถลงข่าวด่วน ให้สื่อมวลชน และประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบ อีก 2 วันต่อมา หน่วยฉุกเฉินก็ได้ออกแถลงการณ์เตือนประชาชนว่า ถ้าใครเห็นแคปซูลอันตราย ก็ให้ยืนอยู่ห่าง ๆ เป็นระยะทางอย่างน้อย 5 เมตร
การค้นหาแคปซูลตลอดระยะทาง 1,400 กิโลเมตร จึงเป็นเรื่องใหญ่และยาก เปรียบได้กับการค้นหาเข็มในมหาสมุทรทีเดียว เพราะต้องใช้คนจำนวนมากกว่า 100 คนเพื่อการนี้ และในที่สุดก็ได้พบแคปซูล เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่าตกอยู่ข้างถนน โดยอยู่ห่างจากเมือง Newman ไปทางใต้ประมาณ 74 กิโลเมตร เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ใช้ยานในการหา ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตร/ชั่วโมง (คือประมาณ 20 เมตร/วินาที) ในการค้นหา การพบสถานที่ ๆ แคปซูลอยู่ และสภาพภายนอกของมัน แสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครได้สัมผัสแคปซูลนั้นเลย ตั้งแต่มันได้หายไป
นี่จึงเป็นกรณีที่จบลงด้วยดี แต่ในกรณีการสูญหายของแคปซูล caesium-137 ที่บราซิลนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ร้ายยิ่งกว่า เพราะมีคนตายหลายคน
เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นที่หมู่บ้าน Goiania ซึ่งอยู่ใกล้เมือง Goias ในบราซิล โดยที่นั่น มีโรงพยาบาลโรงหนึ่ง ซึ่งมีอุปกรณ์บำบัดโรคด้วยสารกัมมันตรังสี caesium-137 และแพทย์ได้ตัดสินใจเลิกใช้อุปกรณ์นี้แล้ว และเมื่อผู้บริหารโรงพยาบาลได้ตัดสินใจย้ายโรงพยาบาลไปอยู่อีกที่หนึ่ง โรงพยาบาลเก่าจึงอยู่ในสภาพร้าง เมื่อไม่มีแพทย์และเจ้าหน้าที่มาดูแลเครื่อง ชาวบ้านได้แอบเข้าไปในโรงพยาบาล แล้วพยายามถอดอุปกรณ์ออกเป็นชิ้นส่วน เพื่อนำไปขายเป็นเศษวัสดุ ผลปรากฏว่า การได้สัมผัสสารกัมมันตรังสีในอุปกรณ์ ได้ทำให้มีคนเสียชีวิตไป 4 คน และชาวเมือง Goiania จำนวน 113,000 คน ต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพ ผลการตรวจแสดงให้เห็นว่า มีคน 249 คน ที่ร่างกายได้รับสารปนเปื้อนกัมมันตรังสี
แหล่งปล่อยกัมมันตรังสีที่อยู่ในแคปซูลของโรงพยาบาล คือ caesium chloride ที่หนัก 93 กรัม ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในภาชนะที่มีผนังทำด้วยตะกั่วและเหล็กกล้า ตัวแคปซูลมีลักษณะเป็นทรงกระบอกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ยาว 51 มิลลิเมตร และสูง 48 มิลลิเมตร และมีกัมมันตภาพเฉพาะ (specific activity) ของ caesium chloride เท่ากับ 814 TBq/kg (1 TBq = 10^12 becquerels)
สำหรับ caesium-137 ที่ใช้นี้ เป็นธาตุที่ได้มาจากห้องปฏิบัติการ Oak Ridge National Laboratory ซึ่งได้ขาย caesium-137 ในฐานะขยะกัมมันตรังสี ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ต้องการใช้รังสีแกมมา ในการรักษาโรค
องค์การ International Atomic Energy Agency (IAEA) ได้ตรวจเอกสารพบว่า เมื่อซื้อ caesium-137 มาในปี 1971 นั้น มันมีกัมมันตภาพ 50.9 TBq และหลังจากที่มีคนตาย และหลายคนได้รับรังสีแล้ว กัมมันตภาพได้ลดลงเหลือ 44 TBq นั่นจึงหมายความว่ากัมมันตภาพ 7 TBq ได้ไปตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว
ลำดับเหตุการณ์ที่เกิด ณ โรงพยาบาลแห่งนั้นในบราซิล เป็นดังต่อไปนี้
ในปี 1985 สถาบันรังสีบำบัดในโรงพยาบาล ที่เมือง Goiania ได้แจ้งความประสงค์ว่า จะย้ายที่ทำงานใหม่ และคณะผู้บริหารฯ ได้ตัดสินใจทิ้งอุปกรณ์บำบัดที่ใช้ caesium-137 ในการรักษาไว้ที่โรงพยาบาลเดิม และห้ามไม่ให้ใครเข้าไปแตะต้องอุปกรณ์นั้น เพราะจะได้รับอันตราย
ลุถึงวันที่ 7 พฤษภาคม ปี 1987 ศาลได้กำหนดให้โรงพยาบาลจัดหายามมา 1 คน เพื่อเฝ้าดูโรงพยาบาลทั้งโรง
ในวันที่ 13 กันยายน ปี 1987 ยามซึ่งมีหน้าที่ดูแลโรงพยาบาล มิได้มาปฏิบัติหน้าที่ ขโมยสองคน จึงได้ลอบเข้าไปในอาคาร แล้วนำอุปกรณ์บำบัดออกจากโรงพยาบาล เพื่อนำไปขายเป็นขยะ และได้นำอุปกรณ์กลับไปที่บ้านของตนก่อน
เมื่อถึงเวลาเย็นของวันนั้น คนทั้งสอง ได้เริ่มมีอาการอาเจียน เพราะแพ้รังสี แต่ก็ได้พยายามถอดชิ้นส่วนต่าง ๆ ของอุปกรณ์ออกมา และในวันต่อมาขโมยคนหนึ่งได้เริ่มมีอาการท้องเสีย และรู้สึกวิงเวียนศีรษะ อีกทั้งมือข้างหนึ่งก็มีอาการบวมจนเห็นได้ชัด (ในที่สุดมือข้างนั้นก็ต้องถูกตัดทิ้ง เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม เพราะเนื้อเน่า)
ในวันที่ 15 กันยายน ขโมยอีกคนหนึ่งได้ไปหาหมอ ซึ่งก็ได้วิเคราะห์อาการมือบวมของเขาว่า เกิดขึ้นเพราะได้บริโภคอาหารที่ไม่สะอาด จึงบอกให้กลับไปนอนบ้าน ขโมยคนนั้นจึงกลับบ้าน และได้พยายามถอดชิ้นส่วนอุปกรณ์ออก จนได้เห็นแคปซูลที่อยู่ภายใน
ถึงวันที่ 16 กันยายน เขาก็ประสบความสำเร็จในการเปิดฝาแคปซูลออก และได้เห็นแสงสีฟ้าอ่อน ๆ พุ่งออกมาจากผงที่อยู่ภายใน จึงคิดไปว่า ผงนั้นเป็นดินปืน และได้พยายามจุดไฟที่ผง แต่ไม่ติด
อีกสามวันต่อมา จึงได้ขายแคปซูลขยะให้แก่พ่อค้าเหล็ก และเมื่อพ่อค้าคนนั้นได้เห็นแสงเรือง ก็คิดว่าเป็นอัญมณีมีค่า หรืออาจจะเป็นผงมหัศจรรย์ที่สามารถรักษาโรคร้ายได้หลายชนิด จึงนำกลับไปบ้านให้สมาชิกในครอบครัว และเพื่อนบ้านดู
ถึงวันที่ 21 กันยายนในเวลาเย็น ภรรยาของพ่อค้าเหล็กก็ได้ล้มป่วย และเธอได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนหลายคนที่เธอรู้จักก็ได้ล้มป่วยในเวลาไล่เลี่ยกัน
ถึงวันที่ 25 กันยายน พ่อค้าจึงได้ขายแคปซูลให้แก่พ่อค้าเหล็กอีกคนหนึ่ง ซึ่งได้นำแคปซูลนั้นกลับไปที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจจับกัมมันตรังสี และนักฟิสิกส์ประจำโรงพยาบาลได้ใช้เครื่องวัดรังสี แบบ scintillation counter ตรวจพบกัมมันตรังสีว่ามีมาก จึงต้องประกาศเตือนภัยให้ประชาชนทุกคนรับรู้ข่าวนี้ เหตุการณ์นี้ได้ทำให้คน 113,000 คน ต้องเข้ารับการตรวจอาการแพ้รังสีที่โรงพยาบาล ผลปรากฏว่า มีคน 249 คน ที่ร่างกายได้รับสารกัมมันตรังสี และมี 20 คน ที่ต้องเข้ารับการรักษา เพราะมีอาการผมร่วงมาก และอวัยวะภายในของคน 129 คน อาจจะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้
ผลกระทบด้านกฎหมายที่เกิดตามมา คือ ในปี 2000 ศาลแห่งเมือง Goias ได้ตัดสินให้ทางโณงพยาบาลต้องจ่ายเงินชดเชยให้คนที่ประสบภัยที่เกิดจากกัมมันตรังสี และให้บรรดาลูกถึงหลาน ทั้ง 3 รุ่น ได้รับการรักษา
ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น คือ หน้าดินที่อยู่โดยรอบโรงงานต้องถูกขุดออก บ้านหลายหลังที่อยู่ในบริเวณนั้นต้องถูกทำลาย วัสดุใดก็ต้องได้รับการตรวจว่า ได้รับกัมมันตรังสีเข้าไปหรือไม่ ซึ่งถ้าได้รับก็จะถูกนำไปกำจัดให้เป็นขยะ แล้วนำไปฝังกลบในสถานที่ไกล ๆ ในส่วนของการทำความสะอาดนั้น ก็ให้ใช้สาร potassium alum ละลายใน hydrochloric acid แล้วนำมาละเลงบนผนังคอนกรีตและหลังคา เพื่อทำความสะอาด หรือใช้สารละลาย sodium hydroxide ทาบนผิวอุปกรณ์ คนบางคนได้กินสาร prussian blue เข้าไป เพื่อบรรเทาอาการแพ้รังสี
และท้ายที่สุด แคปซูลมหาภัยนั้น ก็ได้ถูกนำไปติดตั้งที่ School of Specialized Instruction ในเมือง Rio de Janeiro เพื่อให้ทุกคนได้เห็น และรับทราบโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น
ประเทศของเราก็น่าจะมีสถานที่เก็บขยะกัมมันตรังสีให้เป็นที่เป็นทาง เพราะถ้าปล่อยให้ทุกคนต่างคนต่างทิ้งเก็บหรือทิ้ง ความวุ่นวายก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ดูคลิปเรื่อง “The Goiania Accident: South America’s Nuclear Tragedy ” ใน YouTube โดย Kyle Hill
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์