xs
xsm
sm
md
lg

ฝุ่นพิษและอากาศพิษ กับชีวิตของผู้คนในเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณภาพชีวิตของสัตว์น้ำขึ้นอยู่กับคุณภาพของน้ำในแม่น้ำและมหาสมุทรที่มันอาศัยอยู่ฉันใด คุณภาพชีวิตของสัตว์บกและสัตว์อากาศ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของบรรยากาศโลกเช่นกันฉันนั้น นั่นจึงหมายความว่า ผู้คนทุกคนบนโลกต่างก็ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศบนโลก และสาเหตุสำคัญหรือต้นเหตุที่ทำให้บรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงมากเช่นนี้ คือ “มนุษย์” เอง และการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่วินาทีแรกที่มนุษย์รู้จักจุดไฟและใช้ไฟ เพื่อให้ความอบอุ่นและหุงหาอาหาร รวมทั้งใช้ไล่สัตว์ป่า เพราะการจุดไฟได้ทำให้องค์ประกอบของอากาศในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลง จากนั้นการใช้ไฟก็เริ่มมีมากขึ้นๆ ตามลำดับ เช่น ได้จุดไฟเพื่อให้แสงสว่างและให้ความสะดวกสบายแก่ร่างกาย การใช้ไฟนี้ได้เพิ่มปริมาณมากขึ้นตามจำนวนประชากรที่ได้เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา


จนกระทั่งถึงเมื่อ 12,000 ปีก่อน มนุษย์ยุคหินในดินแดน Mesopotamia (Iraq, Kuwait, Syria) ก็ได้เริ่มเปลี่ยนการดำรงวิถีชีวิต จากการเป็นพรานล่าสัตว์และเก็บผักผลไม้ในป่า มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน มีการปลูกพืชในบริเวณใกล้ ๆ เป็นอาหาร จากนั้นเมืองที่มีขนาดเล็กก็เริ่มถือกำเนิด


อีก 4,000 ปีต่อมา ที่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำ Tigris และ Euphrates ก็เริ่มมีการสร้างเมือง และในหุบเขา Indus ของปากีสถาน ก็มีอารยธรรม Harappa บนสองฝั่งของแม่น้ำ Nile ในอียิปต์ และบนฝั่งของแม่น้ำเหลืองในจีนก็เริ่มมีอารยธรรมจีน ครั้นเมื่อมีเมืองประปราย จำนวนคนก็เริ่มมีมากขึ้น ปริมาณขยะปฏิกูลก็เริ่มมีมากขึ้นด้วย และการระบาดของโรคก็เริ่มเกิดตามมา จนทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมากมาย

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมาได้แสดงให้เห็นว่า สาเหตุหนึ่งที่ได้ทำให้เกิดเหตุการณ์เสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก คือ การที่พลเมืองได้ใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศที่มีมลพิษ

ความจริงวิทยาการด้านบรรยากาศวิทยาได้ถือกำเนิดเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ 360 ปีก่อน เมื่อ Robert Boyle (1627-1691) นักเคมีชาวอังกฤษ ได้เสนอความคิดว่า บรรยากาศโลกประกอบด้วยแก๊สที่ถูกขับออกมาจากซากสัตว์ จากควันและเขม่าที่ถูกพ่นออกมา เวลาภูเขาไฟระเบิด ด้าน Joseph Black (1728-1799) นักเคมีชาวสกอตก็ได้พบว่า ในอากาศมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นองค์ประกอบหนึ่ง และมีแก๊สไนโตรเจนเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ซึ่งแก๊สชนิดนี้ Daniel Rutherford (1749-1819) ชาวอังกฤษ เป็นผู้พบเมื่อปี 1772 สำหรับแก๊สออกซิเจนนั้น Carl Scheele (1742–1786) นักเคมีชาวเยอรมันกับ Joseph Priestley (1733-1804) ชาวอังกฤษ ได้รับเครดิตว่า เป็นผู้พบร่วมกัน


ลุถึงปี 1894 Lord Rayleigh (1842-1919) นักเคมีและฟิสิกส์ชาวอังกฤษ กับ William Ramsay (1852-1916) ชาวอังกฤษก็ได้พบว่า ในบรรยากาศโลกยังมีแก๊สเฉื่อยอีกหลายชนิด เช่น helium, neon, argon, krypton, xenon ฯลฯ ด้วย

บรรยากาศโลกจึงมีไนโตรเจนประมาณ 78% เป็นหลัก และออกซิเจนประมาณ 20% กับที่เหลือเป็นแก๊สชนิดต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นอีกจำนวนนับพันชนิด เช่น benzene (C6H6) ซึ่งมักถูกขับออกมาจากยานพาหนะรถยนต์ และจากโรงกลั่นน้ำมัน มีแก๊ส carbon monoxide (CO) ที่ออกมาจากท่อไอเสียของรถยนต์ โรงงานถลุงถ่านหิน โรงถลุงเหล็ก ฯลฯ ซึ่งถ้าร่างกายสูดหายใจแก๊สชนิดนี้เข้าไปมาก ๆ ก็จะรู้สึกปวดศีรษะและมีอาการมึน อาเจียน เจ็บหน้าอก และอาจจะมีความจำสับสนได้ แก๊ส formaldehyde (CH2O) ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากโรงงานผลิตสารเคมี ถ้าเข้าตา ตาจะมีอาการระคายเคือง ในบรรยากาศอาจจะมีแก๊ส nitric oxide (HNO2) ด้วย ซึ่งแก๊สนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของฝนกรดที่เป็นอันตรายต่อตา ผิวหนัง และเยื่อบุจมูก จนทำให้ระบบหายใจของร่างกายหมดสภาพทำงานได้

นอกจากนี้ในอากาศอาจจะมีแก๊ส hydrogen sulfide (H2S) ที่ออกมาจากโรงกลั่นน้ำมัน จากโรงงานบำบัดของเสีย ซึ่งเป็นแก๊สอันตราย เพราะกลิ่นฉุนของแก๊สชนิดนี้ จะทำให้ตาระคายเคือง และท้องไส้ปั่นป่วนเหมือนจะอาเจียน ด้าน nitrous acid (HNO2) ที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างแก๊ส NO2 กับไอน้ำนั้น ก็มีผลต่อการทำงานของระบบการหายใจ ในบางเวลาบรรยากาศอาจจะมีแก๊ส sulfur dioxide (SO2) ด้วย ซึ่งถ้าแก๊สชนิดนี้ทำปฏิกิริยากับ hydroxyl ion โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา กรดกำมะถัน H2SO4 ที่ได้ ก็สามารถทำร้ายระบบหายใจของร่างกายได้เหมือนกัน

ในประเทศที่มีการทำอุตสาหกรรมหนักมาก โรงงานอาจจะปลดปล่อยแก๊ส chlorine (Cl2) ซึ่งเมื่อรวมตัวกับ hydrogen จะได้ hydrogen chloride (HCl) ที่ทำให้เยื่อบุผิวในช่องจมูกและปากที่สร้างน้ำเมือกหล่อลื่น มีอาการอักเสบได้ สำหรับแก๊ส hydrogen fluoride (HF) ที่มักออกมาจากโรงงานผลิตปุ๋ยนั้น ก็สามารถทำให้ผิวหนังและตามีอาการระคายเคืองได้ และสุดท้าย คือ แก๊ส sulfur dioxide (SO2) ที่ถูกขับออกมาจากโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก็มักเป็นพิษต่อตา จมูก และลำคอ ซึ่งถ้ารับแก๊สชนิดนี้เข้าร่างกายมาก จะทำให้การหายใจติดขัด

ดังนั้นถ้าจะพูดสั้น ๆ ก็คือ โรงงานอุตสาหกรรมทุกโรง จะมีการปลดปล่อยแก๊สพิษชนิดต่าง ๆ ออกมาไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าไม่มีการบำบัดแก๊สเหล่านี้เลย ผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบโณงงานก็มีสิทธิจะเป็นโรคได้ ไม่ช้า ก็เร็ว


นอกเหนือจากแก๊สนานาพิษเหล่านี้แล้ว บรรยากาศก็ยังมีฝุ่นละอองที่มีขนาดต่าง ๆ ล่องลองไปมาในบรรยากาศได้ตลอดเวลาด้วย เช่น ละออง arsenic (As) ที่เกิดจากการเผาถ่านหินจากเตาน้ำมัน จากโรงงานทำแก้ว ซึ่งถ้าร่างกายได้รับละออง arsenic เข้าไปมาก จะทำให้เป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งผิวหนัง บรรยากาศก็อาจจะมีละออง cadmium (Cd) ซึ่งเกิดจากการปลดปล่อยแก๊สเสียในโรงงานกลั่นน้ำมัน และจากการเผาถ่านหิน ซึ่งละอองธาตุชนิดนี้อาจทำให้ไตและปอดอักเสบได้ในระยะยาว ฝุ่นปรอท (Hg) ที่เกิดจากการเผาถ่านหินและน้ำมัน ก็อาจทำให้ร่างกายมีอาการสั่น นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ปวดศีรษะ และระบบการเคลื่อนไหวทำงานผิดปกติ ส่วนคนที่อยู่ใกล้โรงงานถลุงเหล็กกล้า หรือโรงเตาเผาถ่านหิน ก็อาจได้รับละออง manganese (Mn) และ nickel (Ni) ซึ่งอาจทำให้เป็นโรค Parkinson และมะเร็ง ละอองสุดท้ายที่อาจจะมีในบรรยากาศก็คือ ผงตะกั่ว lead (Pb) ที่เกิดจากการเผาขยะ ซึ่งสามารถทำให้สมองอักเสบ ความดันเลือดสูง และการเติบโตของทารกผิดปกติ จนกลายเป็นคนแคระ


ดังนั้นในภาพรวม อากาศในเมืองที่มีทั้งผู้คนจำนวนมากเดินทางด้วยการขับรถยนต์ไป-มาตลอดเวลา และมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหนักและเบา ตลอดจนถึงมีการก่อสร้างอาคารที่ใช้ทั้งทรายและซีเมนต์ในปริมาณมาก โดยวิศวกรได้ปลดปล่อยให้ละอองทรายและผงซีเมนต์ฟุ้งกระจายอย่างไร้การควบคุม ผนวกกับถ้ามีการเผาป่าในบริเวณใกล้ ๆ นอกเมือง ซึ่งมักสร้างฝุ่นและควันในปริมาณอีกต่างหาก กิจกรรมเหล่านี้ก็ล้วนมีบทบาทในการทำให้อากาศที่ถ่ายเทภายในเมืองมีสภาพเหมือนเป็นซุปอากาศที่เป็นพิษต่อสุขภาพอย่างรุนแรง


ด้านสารประกอบ hydrocarbon ที่เกิดจากแก๊สโซลีนเวลามีการเผาไหม้ไม่หมด ก็อาจจะรวมตัวกับ nitrogen oxide และแสงแดดกลายเป็น smog ที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศอยู่ในทุกวันนี้ เพราะประชากรในเมืองใหญ่ ๆ จำเป็นต้องหายใจเอาฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร หรือ PM 2.5 (จาก particulate matter) เข้าปอด จนทำให้เป็นโรคหอบหืดหรือโรคถุงลมโป่งพอง ส่วนคนทั่วไปที่ยังไม่เป็นโรคอะไร ก็ควรใช้ผ้ากรองคลุมจมูกไว้ และคนที่เป็นโรคหอบหืดก็ควรพำนักอยู่ในบ้าน เวลาสภาพอากาศนอกบ้านมีความเข้มข้นของ PM 2.5 ค่อนข้างสูง และถ้าคนป่วยสามารถเดินทางออกไปนอกเมืองได้ ก็ให้ออกไปรักษาตัวนอกเมืองเป็นการชั่วคราว


ในขณะที่วิธีการแก้ไขปัญหานี้ยังมิได้มีการดำเนินการใดๆ อย่างมีมาตรการจริงจัง การรู้สภาพของคุณภาพอากาศอย่างทันที จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับคนที่มีสุขภาพเปราะบาง เช่น คนสูงอายุหรือเด็กทารก โดยอาจใช้อุปกรณ์พกพาที่สามารถรายงานสภาพของฝุ่นพิษ และแก๊สพิษได้อย่างถูกต้อง โดยอุปกรณ์ที่ใช้ควรมีราคาไม่แพง

แต่เมื่อแก๊สพิษมีมากนับร้อยชนิด อุปกรณ์พกพาก็มิสามารถรับรู้ความเข้มข้นของแก๊สพิษทุกชนิดได้พร้อม ๆ กัน ดังนั้นถ้าจะให้อุปกรณ์รับรู้หมด ราคาของอุปกรณ์ก็จะสูงมาก นอกจากนี้ความไวในการทำงานของอุปกรณ์ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะตามปกติอุปกรณ์จะทำงานได้ดี ถ้าพื้นที่นั้นมีความเข้มข้นของแก๊สพิษและละอองพิษมากถึงระดับหนึ่งเท่านั้น สำหรับคนทั่วไปที่มีปัญหาในการหายใจ ส่วนใหญ่ก็ต้องการจะรู้เพียงว่า ภัย PM 2.5 กำลังจะมาถึงเมื่อไหร่ ก็ให้รีบหายามาเตรียมรักษาตัว และหน้ากากมาป้องกันภัยเท่านั้นเอง ก็นับว่าเพียงพอแล้ว เรายังมีอีกมาตรการหนึ่งของการป้องกันภัย คือ การตรวจสอบการปลดปล่อยแก๊สพิษและฝุ่นพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างตลอดเวลาด้วย นี่เป็นการควบคุมการบริหารและการทำงานของโรงงานว่า ควรจะได้รับการแก้ไขอย่างไร หรือไม่ และเมื่อใด


เพราะเหตุว่าตัวแปรที่ทำให้อากาศเป็นพิษนั้นมีมากมาย และต้นเหตุที่ทำให้ตัวแปรเหล่านี้เกิดขึ้นมีนับแสน นับล้าน (ประชากรในเมืองทุกคนมีบทบาทในการสร้างมลภาวะ) การแก้ปัญหาเรื่องสุขภาวะของคนในเมือง จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก นอกจากในประเด็นเรื่องจำนวนของตัวแปรแล้ว ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะปฏิสัมพันธ์นี้ขึ้นกับสถานที่และเวลา ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงเป็นปัญหาใน 4 มิติที่มีความซับซ้อนมาก เพราะมีเงื่อนไขของสภาพแวดล้อม ของสังคม ของเศรษฐศาสตร์ และของวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ระบบเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่มากมาย จึงเป็นระบบซับซ้อน (complex system)


ในวงการฟิสิกส์ก็มีการศึกษาเรื่องทำนองนี้เช่นกัน แต่เป็นระบบของอะตอมและอนุภาคซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยใช้ทฤษฎีความซับซ้อน (Complexity Theory) ซึ่งเป็นผลงานของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ปี 1982 ชื่อ Philip W. Anderson (1923–2020) ที่ได้เสนอความคิดหลักๆ ของทฤษฎีนี้ว่า “More Is Different” ในปี 1972 ซึ่งลงในวารสาร Science ฉบับที่ 177 หน้า 393-396 เพื่ออธิบายพฤติกรรมของระบบที่ประกอบด้วยอะตอมจำนวนมากว่า เวลาอะตอมอยู่รวมกัน เหตุใดระบบจึงแสดงพฤติกรรมที่แตกต่างจากพฤติกรรมของอะตอมแต่ละตัวอย่างสิ้นเชิง เหมือนคน ๆ เดียวมีนิสัยอย่างหนึ่ง แต่เวลาอยู่กันหลายคน เขาจะมีพฤติกรรมอีกแบบหนึ่งที่ใคร ๆ ก็คาดไม่ถึง โดย Anderson ได้ชี้แจงว่า การที่เป็นเช่นนี้ เพราะความซับซ้อนของระบบนั้น มีได้หลายระดับ และทุกระดับจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมัน เช่น เราอาจมองอะตอมที่อยู่โดดเดี่ยวว่ามีลักษณะเหมือนทรงกลมที่สมบูรณ์แบบ แต่เวลาอะตอมนั้นอยู่ในสภาพแวดล้อมอื่น เช่น อยู่ใกล้อะตอมชนิดเดียวกัน หรืออยู่ใกล้อะตอมชนิดอื่น รูปทรงและความว่องไวในการเข้าทำปฏิกิริยาของมันจะเปลี่ยนไป และถ้าเราไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ การอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดตามมา ก็จะเป็นไปไม่ได้

ในกรณีของเมืองก็เช่นกัน เมื่อเมืองมีประชากรมากขึ้น เมืองก็เติบโตขึ้น การขยายตัวของเมืองจะทำให้คนในเมืองมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น กับคนในชนบทมากขึ้นและบ่อยขึ้น ความซับซ้อนของปฏิสัมพันธ์ก็จะมากขึ้นด้วย

หลักการคิดของ Anderson ในเรื่อง ทฤษฎีของระบบซับซ้อนนี้ ได้รับการต่อยอดไปใช้อธิบายพฤติกรรมของระบบสิ่งมีชีวิตในชีววิทยา และเป็นหลักการในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ด้วย

Luís Bettencourt แห่งสถาบัน Santa Fe ที่รัฐ New Mexico ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทฤษฎีของเอกภพ ในขณะที่มีอายุยังน้อย ได้หันมาสนใจทฤษฎีฟิสิกส์ของเมือง เพื่อให้สามารถพยากรณ์ความเป็นไปที่จะเกิดขึ้นภายในเมืองได้อย่างถูกต้อง โดยได้พิจารณาเครือข่ายของคนทุกคนในเมือง ธุรกิจที่แต่ละคนทำ ตลอดจนถึงโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และวิเคราะห์สถิติต่าง ๆ ในเมืองนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถิติของการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น ประสิทธิภาพการขนส่งสาธารณะ ฯลฯ จนได้พบตัวแปร หลัก และปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญของเมือง จนทำให้ได้เห็นภาพของเมือง และสามารถสรุปได้ว่า การกินดีอยู่ดีของคนในเมือง ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง ทฤษฎีของเขายังช่วยให้เขาสามารถทำนายได้อีกว่า เมื่อเมืองเติบโตขึ้น คือ ขยายขนาด จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จะทำให้จำนวนอาชญากรรมเพิ่มมากเพียงใด จำนวนคนที่จะเสียชีวิตมีกี่คนได้ ฯลฯ

ข้อสังเกตหนึ่งที่ได้จากการสร้างทฤษฎีการจัดการเมืองนี้ก็คือ การมีวงจรย้อนกลับ (feedback loop) เป็นจำนวนมากที่แฝงอยู่ในระบบ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรหนึ่ง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอีกหลายตัวแปร ซึ่งจะมีผลย้อนกลับมาสู่ตัวแปรแรก คือ อาจจะเสริมหรือต่อต้านตัวแปรแรกก็ได้ เหมือนในกรณี thermostat ที่ใช้ควบคุมอุณหภูมิของห้องให้คงที่ เวลาอากาศภายในห้องเปลี่ยนแปลง

ใน thermostat นั้น มีวงจรย้อนกลับจริง ๆ แต่ในกรณีของเมืองจริง ๆ วงจรย้อนกลับที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมี กลับมีมากมาย เช่น ในกรณีเมือง Hanoi ประเทศเวียดนาม เมื่อปี 1902 ที่เคยมีปัญหาเรื่องหนูที่มีมากจนชาวเมืองรู้สึกรำคาญ ทางรัฐบาลฝรั่งเศสในเวลานั้นจึงจัดให้มีโครงการกำจัดหนู โดยประกาศให้เงินแก่คนที่นำหางหนูมาให้เจ้าหน้าที่ดู ซึ่งจะให้เงินมากตามจำนวนหางที่นำมา และได้พบว่า โครงการนี้ไม่เวิร์คเพราะชาวเมืองขี้โกง โดยได้จัดตั้งฟาร์มหนูขึ้น แล้วตัดหางหนู เพื่อไปรับเงินจากทางการ


วงจรย้อนกลับในกรณีของเมืองอาจจะเห็นได้จากตัวอย่างเรื่องการขยายเครือข่ายถนนเพื่อทำให้การจราจรอย่างแออัดที่เกิดขึ้นภายในเมือง มีสภาพคล่องตัวขึ้น เพราะการตัดถนนเพิ่มเติม ได้ทำให้ผู้บริหารเมืองคิดในตอนแรกว่า สามารถลดความแออัดได้ แต่ในความเป็นจริงเมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ ผู้คนจำนวนมากก็จะพากันออกมาขับรถยนต์ (เพราะเห็นว่าถนนมีจำนวนมากขึ้น รถก็ไม่น่าจะติดมากอีกต่อไป) อุบัติเหตุก็จะเกิดตามมามากขึ้น การปลดปล่อยแก๊สพิษต่าง ๆ จากรถยนต์ก็จะมากขึ้นด้วย และถ้ามีถนนมากสายขึ้น การสร้างบ้านเรือน และการใช้พลังงานของคนในบ้านก็จะมากขึ้นตามไปด้วย การจราจรที่แออัดก็จะเกิดตามมา คือ รถจะติดมากเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้คนขับรถต้องใช้เวลาอยู่ในรถนาน และมีผลทำให้มีเวลาออกกำลังกายน้อยลง โรคอ้วนของคนก็จะมีมากขึ้นด้วย

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า นโยบายที่จะนำมาใช้ในการจัดการเมือง มีตัวแปรที่ขึ้นกับกันและกันมากมาย จนทำให้การประเมินประโยชน์หรือโทษของนโยบาย จำเป็นต้องใช้เวลานานเป็นปีจึงจะประจักษ์ผล และผลกระทบที่เกิดใหม่อย่างไม่คาดฝัน ก็อาจจะมีหลายเรื่อง

ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องมลภาวะในเมือง จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจของคนทุกคนในเมือง และวิธีการแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก เพราะต้องการความรู้ และความร่วมมือจากองค์ประกอบของระบบทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นการคิดแก้ปัญหาแบบ system thinking ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องทำ เพื่อให้ชาวเมืองมีสุขภาพดี


ในขณะที่ทางการยังไม่มีมาตรการบรรเทาภัยมลภาวะใด ๆ วิธีง่าย ๆ ที่เราอาจใช้ป้องกันภัยได้ คือ พยายามอยู่บ้าน เวลาอากาศนอกบ้านมีความเข้มข้นของ PM 2.5 สูง ไม่สนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมเดินเครื่องในเมืองขนาดใหญ่อย่างเด็ดขาด ลดการใช้รถยนต์ที่มีอายุมากเกิน 10 ปี และพยายามใช้แก๊สธรรมชาติแทนแก๊สโซลีน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมทั้งควรห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งในเมือง และให้วิศวกรที่ก่อสร้างอาคารใหม่ ปกคลุมอาคารที่กำลังสร้างด้วยผ้าคลุมพลาสติก เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และห้ามชาวบ้านเผาป่าในบริเวณใกล้เมือง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติมจาก “Urban Physics” โดย Kevin Pollock ใน Nature ฉบับที่ 531 ประจำวันที่ 17 มีนาคม ปี 2016


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น