xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนา “สาวใส่ต่างหูมุก” พบธาตุที่ทำให้ภาพโดดมีชีวิตมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิจัยค้นพบเพิ่มเติมถึงเทคนิคและการใช้สีวาดภาพ “สาวใส่ต่างหูมุก” (AFP Photo/Bart MAAT)
นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์ภาพ “สาวใส่ต่างหูมุก” ภาพอันโด่งดังของศิลปินดัตช์ แม้ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าหญิงสาวคนนี้คือใคร แต่ได้ค้นพบองค์ประกอบในภาพที่ทำให้หญิงสาวยิ่งมีชีวิตชีวา

พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมาริซ (Mauritshuis art museum) ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเก็บรักษาภาพวาด “สาวใส่ต่างหูมุก” (Girl with a Pearl Earring) ของโยฮันเนิส เฟอร์เมร์ (Johannes Vermeer) ศิลปินชาวดัตช์ เปิดเผยการวิเคราะห์ภาพด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ด้วยวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก

ผลการวิเคราะห์เผยให้เห็นองค์ประกอบที่ทำให้ภาพวาดหญิงสาวดูมีชีวิตชีวา โดยหนึ่งในการค้นพบนั้นคือ การค้นพบขนตาเล็กๆ รอบดวงตาหญิงสาว ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และยังเผยให้เห็นผ้าม่านเป็นริ้วสีเขียว แต่กาลเวลาได้ทำให้ภาพที่วาดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1665 นั้นเปลี่ยนสีผ้าม่านไปเป็นฉากหลังสีดำ

รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า ภาพวาดนี้สร้างความหลงใหลให้แก่ผู้รักงานศิลปะและนักวิจัยทั่วโลกมาเป็นเวลานาน โดยภาพวาดชิ้นเอกของศิลปินดัตช์นี้ได้เผยเสน่ห์หญิงสาวที่มีรูปลักษณ์ยากจะอธิบาย สวมใส่ผ้าโพกศรีษะเหมือนชาวมุสลิมสีเหลืองและน้ำเงิน และใส่ต่างหูมุกเม็ดใหญ่ ภาพวาดดังกล่าวยังเป็นแรงบันดาลใจสู่นวนิยายและภาพยนตร์ที่โด่งดัง

การวิเคราะห์ภาพวาดด้วยเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ดำเนินภายใต้โครงการวิจัย “หญิงสาวท่ามกลางจุดสนใจ” (The Girl in the Spotlight) ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ระบุว่า โครงการได้เผยเบาะแสที่ทำให้ภาพวาดมีลักษณะบุคคลมากกว่าที่คาดคิดก่อนหน้านี้

เทคนิคที่ใช้ในการวิจัยนี้คือเทคนิคถ่ายภาพที่ไม่ทำลายตัวอย่าง รวมถึงเทคนิคส่องกราดด้วยกล้องจุลทรรศน์ดิจิทัล และการวิเคราะห์ตัวอย่างภาพถ่าย ซึ่งเริ่มดำเนินการโดยทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติตั้งแต่เดือน ก.พ.2018 โดยการศึกษานี้ทำให้เห็นถึงการใช้เม็ดสีและเฟอร์เมร์พัฒนาผลงานในการวาดเป็นลำดับชั้นอย่างไร

งานวิเคราะห์เผยให้เห็นว่า ศิลปินใหญ่ได้ดัดแปลงการจัดวางองค์ประกอบของภาพ ย้ายตำแหน่งของหู ย้ายตำแหน่งด้านบนของผ้าโพกศรีษะ และต้นคอ นอกจากนี้เขายังใช้วัตถุดิบจากทั่วโลก เช่น ใช้หินแปรสีน้ำเงินเข้มลาพิส ลาซูลี (Lapis lazuli) จากอัฟกานิสถาน เพื่อวาดสีฟ้าเข้ม ซึ่งหินดังกล่าวในศตวรรษที่ 17 นั้นมีค่ามากกว่าทอง ส่วนมุกที่โดดเด่นนั้นก็ถูกวาดให้ “ลวงตา” ด้วยสีขาวโปร่งแสงและทึบ ขณะที่ตะขอเกี่ยวนั้นหายไป

ทว่า การทดสอบนี้ยังไม่สามารถระบุตัวตนของหญิงสาวในภาพได้ หรือหาคำตอบว่าจริงๆ แล้วเธอมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ หรือเธอเป็นเพียงผลงานจากจินตนาการของเฟอร์เมร์ แต่ทาง มาร์ไตน์ กอซลิงก์ (Martine Gosselink) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมาริซ กล่าวว่าตอนนี้เราก็รู้จักเธอเพิ่มขึ้นเล็กน้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น