xs
xsm
sm
md
lg

“หน้ากากผ้าฝ้ายมัสลิน” ตัวเลือกที่ดีที่สุด ยุค “หน้ากากอนามัย” ขาดตลาด!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หน้ากากอนามัยไม่พอใช้ หาซื้อยาก ทำให้หลายคนตัดสินใจทำหน้ากากผ้าใช้เอง แต่ก็ยังมีคำถามว่า ต้องใช้ผ้าแบบไหนถึงจะเหมาะที่สุด และสกู๊ปนี้จะช่วยไขทุกข้อสงสัย เพื่อให้ทุกคนพร้อมสู้ไวรัสร้าย!!


“ผ้าฝ้ายมัสลิน” เหมาะสมที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในตอนนี้ สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับช่วงที่มีไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก นั่นก็คือ “หน้ากากอนามัย” ตัวช่วยหลักที่ใช้ป้องกันเชื้อโรค แต่เมื่อสินค้ามีความต้องการมากขึ้น การหาซื้อก็ยากลำบากมากขึ้นเช่นกัน ส่งให้ขณะนี้ไม่สามารถหาได้ตามห้าง หรือตามท้องตลาดทั่วไป ถ้าจะมีก็มาในรูปแบบสินค้ากักตุนจากพ่อค้าแม่ค้า จนทำให้ราคาพุ่งพรวดเกินปกติ

และเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้มีการผลิต “หน้ากากผ้ากันน้ำ (Tham Mask)” ขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่แตกต่างจากหน้ากากผ้าทั่วๆ ไป คือสามารถ “กันน้ำ” ได้เทียบเท่ากับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ โดยใช้ “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” หรือ Cotton-Silk ที่มีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะสม


“หน้ากากผ้ากันน้ำ (Tham Mask)” ที่ มธ.ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษ

เมื่อนำเทคโนโลยีสะท้อนน้ำ ที่มีสาร NUVA-1811 ซึ่งมีอนุภาคเป็นระดับไมครอน จนสามารถแทรกเข้าไปเนื้อผ้า เคลือบต้านไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไป ไม่ดูดซับความชื้น จึงช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อ และสามารถทำให้หน้ากากชนิดนี้ซักได้หลายครั้ง ซึ่งตอบโจทย์การผลิตให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์

คำถามคือ ประชาชนทั่วไปจะไปหา “ผ้าพิเศษ” แบบนั้น มาผลิตหน้ากากใช้เองได้อย่างไร เพื่อให้ปลอดภัยจากไวรัสที่กำลังคุกคามผู้คนทั่วโลก ในเมื่อผลงานจากโครงการพิเศษดังกล่าว ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อขายหรือแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป


ผลการทดสอบผ้าที่ควรใช้ในการทำ “หน้ากากผ้า”

ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ช่วยหาคำตอบเอาไว้แล้ว จากผลการศึกษาชนิดของผ้าต่างๆ ที่น่าจะมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ทำ “หน้ากากผ้า” ซึ่งควรมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. สามารถกันอนุภาคขนาดเล็ก 2. ป้องกันการซึมผ่านของละอองน้ำ 3. สามารถนำไปซักได้หลายครั้ง และ 4. ควรหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไปด้วย



ในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพ “การต้านการซึมผ่านของละอองน้ำ” พบว่า “ผ้าฝ้ายมัสลิน” และ “ผ้าสาลู” สามารถต้านการซึมผ่านได้ดี และเมื่อทดสอบด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อศึกษา “เส้นใยในการกันอนุภาค” ทดสอบการเป็นขุยด้วยการซัก พบว่า “ผ้าฝ้ายดิบ” และ “ผ้าฝ้ายมัสลิน” สามารถซักได้มากกว่า 100 ครั้ง โดยคุณภาพของเนื้อผ้าไม่เสื่อม

ส่วน “ผ้าฝ้ายดิบ” และ “ผ้านาโน” เมื่อนำผ้ามาประกอบกัน 2 ชั้น และส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ เส้นใยผ้าสามารถกันอนุภาคได้ ใกล้เคียง “หน้ากากอนามัยทางการแพทย์” แต่ผ้านาโนซักได้น้อยกว่า 10 ครั้ง อีกทั้งประสิทธิภาพการต้านการซึมผ่านของละอองน้ำ ยังมีน้อยกว่า “ผ้าสาลู” และ “ผ้าฝ้ายมัสลิน”


“ผ้าฝ้ายมัสลิน” ทำหน้ากากผ้าได้ปลอดภัยที่สุด

ผลสรุปจากการทดลอง ก็คือ “ผ้าฝ้ายมัสลิน” เหมาะที่จะนำมาทำหน้ากากอนามัยที่สุด เพราะผ้าดังกล่าว เป็นผ้าฝ้าย 100% มีคุณสมบัติถ่ายเทอากาศได้ดี แห้งเร็ว มีน้ำหนักเบา ไม่ระคายเคืองผิว มีความแข็งแรงทนต่อการซัก ก่อนหน้านี้ จึงเป็นผ้าที่นิยมนำมาทำชุดชั้นใน ผ้ากันเปื้อน และผ้าอ้อมสำหรับเด็ก

นอกจากนี้ ผ้าฝ้ายชนิดดังกล่าว ยังมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบขาว แบบสี แบบมีลาย ทำให้เหมาะแก่การปรับให้เข้ากับการแต่งตัวของผู้คนได้หลากหลายด้วย

ทำเองได้ง่ายๆ “หน้ากากผ้าสู้ไวรัส”

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่า จะลองทำ “หน้ากากผ้า” ใช้เอง ขั้นตอนต่อไป ก็คือ การหาซื้อ “ผ้าฝ้ายมัสลิน” หรือ “ผ้าฝ้ายสาลู” มาใช้เป็นวัตถุดิบ โดยสามารถหาได้ตาม “ตลาดสำเพ็ง” ซึ่งจะขายทั้งแบบยกม้วน ราคาประมาณหลาละ 44 บาท 1 ม้วน ยาวประมาน 120 หลา

ตอนนี้ ราคาขายแบบปลีกของ “ผ้าฝ้ายมัสลิน” อยู่ที่หลาละ 59 บาท เป็นผ้า cotton 100% ส่วน “ผ้าฝ้ายสาลู” นั้น ราคาปลีกอยู่ที่ประมาณ 40 บาท/หลา ส่วนแบบยกม้วน ตกอยู่ที่ 30 บาท/หลา


“ผ้าสาลู” ผ้าอีกหนึ่งชนิด ที่ทำหน้ากากได้ประสิทธิผล

แหล่งต่อมาที่มีผ้า 2 ชนิดนี้วางขาย คือ “ตลาดพาหุรัด” โดย “ผ้าฝ้ายมัสลิน” ราคาปลีก อยู่ที่เมตรละ 75-90 บาท ส่วน “ผ้าสาลู” ราคาขายปลีกแบบไม่มีลาย เมตร 65-80 บาท แบบมีลาย เมตรละ 80-90 บาท

ส่วน “ยางยืด” ที่ใช้คล้องหูของหน้ากาก ขายอยู่ที่ราคาเมตรล่ะ 5 บาท ซึ่งราคาในแต่ละร้าน จะมีความใกล้เคียงกัน จะต่างกันเพียงไม่กี่บาทเท่านั้น


ขั้นตอนการทำหน้ากากอนามัยใช้เอง

แต่ถ้าหากใครที่ไม่อยากออกจากบ้าน เพื่อไปสั่งซื้อผ้าด้วยตัวเอง ก็สามารถสั่งซื้อได้ตามร้านค้าทางออนไลน์ ได้ทั้ง Lazada และ Shopee ซึ่งจะมีขายอยู่หลายชนิดด้วยกัน โดยราคาของผ้าก็จะความใกล้เคียง กับราคาที่ขายตามท้องตลาด

เมื่อได้วัตถุดิบครบแล้ว ก็มาถึง “วิธีการทำหน้ากาก” ซึ่งทางกองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำ “วิธีการทำหน้ากากอนามัยใช้เองแบบง่ายๆ” เอาไว้ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชน ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย โดยวิธีดังนี้


ขั้นตอนการทำหน้ากากผ้า

1. ตัดผ้ามัสลิน ขนาดกว้าง 16 ซม. ยาว 19 ซม. จำนวน 2 ชิ้น และ ตัดยางยืด สำหรับทำสายคล้องหู ยาว 18-20 ซม. (ให้เหมาะสมกับความกว้างของใบหน้าแต่ละคน) จำนวน 2 เส้น

2. นำยางยืดมาเย็บติดที่มุมผ้าด้านนอกของผ้าชิ้นแรก

3. นำผ้าทั้ง 2 ชิ้นมาวางซ้อนกัน หันผ้าด้านนอกหรือด้านถูกเข้าหากัน จะสังเกตได้ว่ายางยืดจะอยู่ด้านในระหว่างผ้า 2 ชิ้น

4. เย็บมือหรือเดินจักรโดยรอบห่างจากริมผ้าประมาณครึ่งเซนติเมตร โดยเว้นช่องว่างประมาณ 10 ซม. สำหรับไว้กลับผ้า และเมื่อกลับตะเข็บผ้าแล้วให้สอยปิดริมผ้าที่เว้นไว้ให้เรียบร้อย

5. จีบทวิสตรงกลางผ้า โดยพับครึ่งตามแนวยาว วัดจากกึ่งกลางลงมา 3 ซม. ใช้เข็มหมุดกลัด 2 ด้าน

6. จับทวิส กลางผ้าให้กางออก แล้วเย็บตรึงด้านข้างทั้ง 2 ด้านให้เรียบร้อย จะได้หน้ากากอนามัยชนิดผ้าที่พร้อมใช้งาน

7. จะได้หน้ากากอนามัยแบบผ้าตามต้องการ ถ้าไม่มีจักรเย็บผ้าก็สามารถใช้การเย็บมือได้โดยการเย็บด้นถอยหลัง เพื่อให้หน้ากากอนามัยมีความทนทานในการใช้งาน



เมื่อได้ “หน้ากากผ้า” ที่ต้องการแล้ว จุดสำคัญอีกเรื่อง ก็คือ ควรซักล้างและตากแห้งหน้ากากทุกวัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และไม่ควรเอามือไปสัมผัสกับหน้ากาก ในขณะที่ยังสวมใส่ เพื่อไม่ให้หน้ากากติดเชื้อโรค จนอาจส่งเชื้อเข้ามาทางปาก หรือจมูกของเราได้









ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ: “กองสุขศึกษา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข”, “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



กำลังโหลดความคิดเห็น