ซินหัว,ปักกิ่ง —คณะวิจัยจีนได้ชันสูตรพลิกศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) 29 ราย พบว่ารอยโรคในปอดนั้นรุนแรงมาก ทั้งยังเกิดความเสียหายกับระบบภูมิคุ้มกัน ขณะที่ยังคงมีไวรัสหลงเหลืออยู่ในปอดของผู้ป่วยหลังจากเสียชีวิต
หวังกุ้ยเฉียง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อจากโรงพยาบาลหมายเลข 1 แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง แถลงข่าว (24 มี.ค.) ว่าผลการชันสูตรพลิกศพบ่งชี้ว่าปอดมีลักษณะเนื้อแข็ง (consolidation) มีไซโตคายน์ (cytokine) หรือโปรตีนต่าง ๆ ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่หลั่งออกมาโดยเซลล์ภูมิคุ้มกัน รวมถึงเซลล์ที่อักเสบต่างๆ ไหลและซึมออกมาจำนวนมาก ทั้งยังมีก้อนเลือด เนื้อเยื่อตาย และเลือดอยู่ในปอดอีกด้วย
การค้นพบสำคัญด้านพยาธิวิทยากายวิภาคอีกประการหนึ่งคือการพบการหลั่งสารในหลอดลมขนาดเล็กจำนวนมาก การหลั่งสารเหล่านี้ออกมาจะขวางทางเดินใจ ส่งผลกระทบกับการแลกเปลี่ยนแก๊ส และส่งผลโดยตรงต่อการจับออกซิเจนในร่างกาย
นอกจากนี้ เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนส่อง ยังพบเชื้อไวรัสอยู่ในปอด และเมื่อใช้วิธีทดสอบกรดนิวคลิอิกและการย้อมพิเศษทางอิมมูโนฮีสโตเคมี (Immunohistochemistry) ก็ยังพบแอนติเจน ซึ่งบ่งชี้ว่ายังคงมีเชื้อไวรัสเหลืออยู่ในปอดของผู้ป่วย โดยหวังวิเคราะห์ว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมแนวทางที่สำคัญทางคลินิก นั่นคือการพ่นละอองยา การใช้ท่อดูดเสมหะ การขจัดสิ่งที่ขวางการเดินหายใจ และการรักษาด้วยสารกันเลือดแข็งตัว รวมถึงการรักษาเชิงต้านไวรัส ล้วนเป็นข้อมูลที่สำคัญในการแนะนำวิธีปฏิบัติทางคลินิกต่อไป
ผลชันสูตรพลิกศพยังเผยให้เห็นความเสียหายรุนแรงที่เกิดกับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็น “ปัจจัยสำคัญยิ่ง” ในการเสียชีวิต โดยเกิดการลดระดับลงของเซลล์ภูมิคุ้มกันในม้าม ต่อมน้ำเหลือง และไขกระดูกอีกด้วย
หวังเสริมว่าในทางคลินิก การเปิดทางเดินหายใจของผู้ป่วยและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากระบบภูมิคุ้มกันที่เสียหาย ผู้ป่วยจะติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ง่ายกว่าเดิม ซึ่งพบเห็นได้บ่อยในผู้ป่วยอาการรุนแรง อีกทั้งการติดเชื้อซ้ำซ้อนเช่นนี้มักเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อาการของผู้ป่วยทรุดลงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต
นอกจากนั้น หวังระบุว่าจากผลการชันสูตร หัวใจ ตับ และไต ยังพบความเสียหายในระดับที่ต่างกันไปอีกด้วย