xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ‘ตะวันตก’ยังกลืนไม่ค่อยลง เมื่อต้องลอกเลียนยุทธศาสตร์สู้ไวรัสของ‘จีน’มาใช้งาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>โรงพยาบาลสนาม 1 ใน 2 แห่งที่จีนสร้างขึ้นในเมืองอู่ฮั่น เพื่อใช้รักษาคนไข้ไวรัสโควิด-19 โดยใช้เวลาในการก่อสร้างไม่ถึง 10 วัน </i>


ในระยะเวลา 4 วันหลังสุดนี้ จีนรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งเป็นการติดต่อจากภายในท้องถิ่นเองเพียง 1 รายเท่านั้น จึงดูเหมือนกับเป็นการเลี้ยวกลับ 180 องศาอันน่าตื่นใจ เมื่อเทียบกับความปั่นป่วนโกลาหลซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปตอนที่การระบาดปะทุขึ้นช่วงต้นๆ ในนครอู่ฮั่น

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญบางรายซึ่งระแวงไม่เลิกว่าข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ของทางการปักกิ่งจะเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เทดรอส อาดานอม เกรเบรเยซุส นายใหญ่ของ WHO ยืนยันว่า ความสำเร็จของจีน “เป็นสิ่งที่ให้ความหวังแก่พื้นที่อื่นๆ ของโลก”

ทว่าในสายตาของชาวตะวันตกไม่ใช่น้อยๆ จีนยังคงเป็นกรณีพิเศษ เป็นรัฐที่มีพรรคการเมืองพรรคเดียวกุมอำนาจแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งสามารถที่จะควบคุมสั่งการจากส่วนกลาง และจากบนลงล่าง โดยไม่ยินยอมให้มีพวกที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับทางการ รวมทั้งยังสามารถที่จะเรียกระดมทรัพยากรต่างๆ อย่างมากมายกว้างขวางมาใช้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ปิดเมืองและควบคุม

เดือนมกราคมที่ผ่านมา จีนประกาศมาตรการที่เท่ากับเป็นการปิดเมืองอู่ฮั่น และนำเอาชาวเมืองประมาณ 11 ล้านคนของนครทางภาคกลางของประเทศแห่งนี้เข้าสู่การกักกันโรคในความเป็นจริง ต่อจากนั้นไม่นานนักก็มีการขยายนำเอาวิธีการทำนองเดียวกันนี้ไปใช้กับส่วนอื่นๆ ของมณฑลหูเป่ยด้วย ทำให้ประชากรที่ถูกแยกตัวออกไปมีจำนวนรวม 50 ล้านคน

ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ชาวบ้านชาวเมืองได้รับคำแนะนำอย่างแข็งขันแรงกล้า ให้อยู่กับบ้านอย่าไปไหนมาไหน

ชาวจีนจำนวนหลายร้อยล้านคน พำนักอาศัยอยู่ตามกลุ่มอาคารที่พักอาศัยแบบปิด โดยที่คณะกรรมการของย่านที่พำนักหรือของสายถนน สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของผู้คนที่เข้าออก --นี่หมายความว่าสามารถที่จะติดตามได้อย่างใกล้ชิดว่ามีการกระทำตามกฎระเบียบกันแค่ไหน

“การควบคุมจำกัดความเคลื่อนไหว เป็นมาตรการที่ใช้ได้ผลนะ” ชารอน เลวิน อาจารย์ด้านการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นกับสำนักข่าวเอเอฟพี “สองอาทิตย์หลังจากการปิดเมืองอู่ฮั่น ซึ่งก็เป็นช่วงระยะเวลาในการฟักตัวของเชื้อไวรัสด้วย ปรากฏว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มลดต่ำลง”

<i>ทางการจีนระดมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากไปปฏิบัติหน้าที่ในเมืองอู่ฮั่นและพื้นที่อื่นๆ ของมณฑลหูเป่ย  ซึ่งในช่วงต้นๆ ที่การระบาดปะทุรุนแรงอย่างรวดเร็ว ระบบการดูแลรักษาเรียกได้ว่าพังครืนเพราะรับไม่ไหว  สำหรับในภาพนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ส่งมาจากกองทัพจีน </i>
เวลานี้ มาตรการกระตุ้นส่งเสริมให้อยู่ห่างกันทางสังคมอย่างสุดโต่ง ตลอดจนการกักกันโรคตัวเองอยู่ที่บ้าน ได้ถูกลอกเลียนนำมาใช้ในระดับที่ต่างๆ กัน โดยพวกชาติยุโรปจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มลรัฐหลายแห่งของสหรัฐฯก็กระทำตามเช่นเดียวกัน

แต่การศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งของวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ กรุงลอนดอน เตือนเอาไว้ว่า ขณะที่ยุทธศาสตร์เช่นนี้จนถึงตอนนี้ดูเหมือนประสบความสำเร็จในจีน ทว่ามันก็มี “ค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาลทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ” ทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

“ปัญหาท้าทายที่สำคัญของวิธีการแบบปราบปรามให้อยู่หมัดก็คือ แพกเกจการเข้าแทรกแซงอย่างเข้มข้นประเภทนี้ ... จำเป็นที่จะต้องประคับประคองเอาไว้จวบจนกระทั่งมีวัคซีนป้องกันโรคออกมาให้ใช้กันได้ (ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะต้องใช้เวลาอีก 18 เดือนหรือกว่านั้น)” รายงานการศึกษานี้ระบุ

ถ้าหากการแทรกแซงมีการผ่อนคลายลงไป อัตราการติดต่อ “จะเด้งกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว” รายงานกล่าวต่อ

ต้องมีการเรียกระดมบุคลากรทางการแพทย์

ตามคำบอกเล่าของ เจิ้ง จือเจีย (Zheng Zijie) อาจารย์ด้านสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้มีการส่งแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อยที่สุด 42,000 คนเข้าไปยังมณฑลหูเป่ย เพื่อประคับประคองบริการต่างๆ ด้านสุขภาพของมณฑลแห่งนี้เอาไว้ เนื่องจากมัน “พังทลาย” โดยสาระสำคัญไปเสียแล้ว ภายใต้ความเครียดเค้นของโรคระบาดที่แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว

คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากองค์การกาชาดของจีน เวลานี้ก็กำลังไปช่วยเหลือโรงพยาบาลต่างๆ ที่งานท่วมท้นล้นมือในอิตาลี ซึ่งกลายเป็นประเทศที่แซงหน้าจีนไปอย่างรวดเร็ว ในเรื่องการเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาเป็นจำนวนสูงที่สุดในโลก

กระนั้น ความสามารถของจีนในการระดมพลสร้างกองทัพขนาดเล็กๆ ของบุคลากรทางการแพทย์ขึ้นมาเช่นนี้ ก็ไม่ได้ติดตามมาพร้อมกับการพิทักษ์ปกป้องไม่ให้ผู้คนเหล่านี้ติดโรค ตามตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขจีนซึ่งเผยแพร่ออกมาตอนต้นเดือนมีนาคม มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทั่วแดนมังกรมากกว่า 3,300 คนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่ 13 คนเสียชีวิต

ความพยายามต่างๆ ของภาครัฐบาลในจีน ยังหนุนหลังด้วยบุคลากรและเครื่องมือด้านการโฆษณาชวนเชื่อ โดยมีข้อความข่าวสารประโคมซ้ำแล้วซ้ำอีกทั้งในสื่อและตามแผ่นผ้าแผ่นป้ายขนาดใหญ่ติดตั้งตามท้องถนน เรียกร้องให้พลเมืองรักษาสุขอนามัยและเก็บตัวอยู่กับบ้าน

ในความพยายามที่เอิกเกริกเป็นพิเศษ และได้รับการตีฆ้องร้องป่าวจากสื่อภาครัฐ ได้แก่การจัดสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่ 2 แห่งที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีเตียงรับคนไข้ได้ทั้งสิ้น 2,300 เตียง โดยสามารถสร้างแล้วเสร็จภายในเวลาแค่ 10 วัน

<i>เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการย่านชุมชนแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ตรวจตราวัดอุณหภูมิร่างกายผู้ที่ผ่านเข้าออก </i>
ใส่หน้ากากอนามัยและตรวจอุณหภูมิอย่างกว้างขวาง

ตามเมืองต่างๆ ของจีน การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อย่านชุมชนพักอาศัยต่างๆ, ธุรกิจต่างๆ, และกระทั่งตามสวนสาธารณะ ใครไม่สวมก็จะถูกห้ามเข้า

การใช้หน้ากากอนามัยกันอย่างกว้างขวาง อาจจะมีส่วนช่วยชะลอการแพร่กระจายของโรค “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อคนที่เป็นพาหะของไวรัสจำนวนมาก ไม่ได้แสดงอาการป่วยไข้ออกมาให้เห็น” เจิ้ง บอก

ระหว่างเกิดวิกฤตคราวนี้ จีนผลิตหน้ากากอนามัยรุ่น เอ็น95 ออกมาเป็นจำนวนสูงถึง 1.6 ล้านชิ้นต่อวัน ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน อุปกรณ์นี้เห็นกันในจีนว่าเป็นอุปกรณ์ป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทว่าจำเป็นต้องสวมใส่กันให้ถูกต้องและคอยเปลี่ยนบ่อยๆ

เพื่อเพิ่มอัตราการตรวจสอบติดตามโรค จีนยังมีการจัดตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายขึ้นบริเวณด้านนอกของอาคารและร้านรวงต่างๆ หรือในสถานที่สาธารณะทั้งหลาย

“ถ้าอุณหภูมิสูงเกิน 37.3 องศาเซลเซียส คุณก็จะถูกคัดแยกออกไป” ยามรักษาความปลอดภัยผู้หนึ่ง ณ ทางเข้าสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในปักกิ่ง บอกกับเอเอฟพี

ในประเทศจีนปัจจุบันซึ่งมีความเป็นไฮเทคอย่างสูง ขณะที่เรื่องความเป็นส่วนตัวมีอยู่เพียงจำกัด สถานที่จำนวนมากทีเดียวกำหนดให้พลเมืองต้องแสดง คิวอาร์ โค้ด บนโทรศัพท์มือถือของพวกตน ซึ่งจัดเรตจำแนกพวกเขาออกเป็น “สีเขียว” , “สีเหลือง”, หรือ “สีแดง”

การประเมินเช่นนี้ –ที่กำหนดขึ้นมาจากการเฝ้าติดตามว่าพวกเขาได้ไปเยือนพื้นที่ความเสี่ยงสูงมาหรือไม่— เวลานี้กลายเป็นข้อกำหนดสำหรับการให้เข้าไปของธุรกิจต่างๆ จำนวนมากไปแล้ว

ประกาศหลายต่อหลายครั้งของรัฐบาลจีนระบุอย่างชัดเจนว่า ระบบคิวอาร์โค้ดเช่นนี้ จะยังคงต้องใช้กันต่อไปในบางรูปแบบ กระทั่งหลังจากโรคระบาดใหญ่ระดับโลกคราวนี้สร่างซาไปแล้ว

(เก็บความจากเรื่อง China's virus strategy: a model for the world? ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น