xs
xsm
sm
md
lg

การรับมือกับ‘โควิด-19’แบบสุดโต่งของพวกปท.ประชาธิปไตย อาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าตัวโรคร้ายเองเสียอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แอนดรูว์ แซลมอน


<i>ชายผู้หนึ่งพูดกับพยาบาล ระหว่างทำการตรวจทดสอบเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่บูธตรวจทดสอบแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ด้านนอกโรงพยาบาลหยางจี ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Democracies’ Covid-19 cures could be worse than the disease
by Andrew Salmon
18/03/2020

ขณะที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังล็อกดาวน์ปิดเมือง กำลังอุดปากอุดจมูกเสรีภาพและการค้าขายต่างๆ พวกเขาก็กำลังมองข้ามบทเรียนวิธีการที่ใช้อยู่ในประเทศประชาธิปไตยด้วยกันรายหนึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการตอบโต้ไวรัสสายพันธ์ใหม่ “โควิด-19” โดยที่ยังคงเชิดชูให้ความสำคัญกับหลักการต่างๆ ทางประชาธิปไตย

เหตุการณ์หลายๆ อย่างที่ทั้งเตะตาและน่าตกใจ กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ทั่วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากกำลังชูธงประกาศว่านี่เป็นมาตรการอันจำเป็นสำหรับการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้อยู่หมัด แล้วเข้าควบคุมจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการเคลื่อนไหว, เสรีภาพในการชุมนุม, หรือเสรีภาพในการเคารพบูชาตามความเชื่อความศรัทธา ประเทศเหล่านี้กำลังบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับห้ามออกนอกบ้าน และปิดกั้นการเดินทางเข้าออกในพื้นที่บริเวณระดับท้องถิ่นหรือกระทั่งทั่วทั้งประเทศ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องสร้างผลกระทบเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรดาธุรกิจขนาดเล็กที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการไหลเวียนของกระแสเงินสด ในสหภาพยุโรปที่เคยประกาศกล่าวอ้างว่า “ไร้พรมแดน” ปรากฏว่าพรมแดนต่างๆ กำลังหวนกลับคืนมาอย่างฉับพลัน และอียูก็กำลังประกาศห้ามผู้คนภายนอกเข้าไปเป็นระยะเวลา 30 วัน

ขั้นตอนมาตรการปฏิบัติเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีการประกาศใช้กันมาก่อนในยามบ้านเมืองสันติไร้สงคราม และก็โหดร้ายเข้มงวดมาก ขณะที่ โควิด-19 เป็นโรคที่ติดต่อแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางมาก ทว่ามันก็เป็นการป่วยไข้ที่มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ กระนั้นรัฐบาลจำนวนมากก็กำลังดำเนินการตอบโต้รับมือโดยอาศัยตัวอย่างมาตรวัดของดินแดนพื้นที่ซึ่งเกิดการระบาดอย่างเลวร้ายที่สุด อันได้แก่ เมืองอู่ฮั่นของจีน และแคว้นลอมบาร์ดีทางภาคเหนือของอิตาลี

เวลาเดียวกันนั้น ฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ในกรณีเลวร้ายที่สุด ได้ถูกเผยแพร่กระจายไปทั่วโดยพวกผู้เชี่ยวชาญ แล้วถูกสำรอกออกมาป่าวประกาศสำทับโดยพวกนักการเมือง จนกระทั่งสร้างความตื่นตระหนกหวาดกลัวไปในหมู่สาธารณชนวงกว้าง ยังมีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ที่จะสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ –โดยไม่ต้องมีการล็อกดาวน์ปิดเมืองหรือสั่งแบนห้ามการเดินทาง?

เรื่องราวของความสำเร็จ

อียูและสหรัฐฯต่างกำลังกระตุ้นส่งเสริมพวกมาตรการแบบสุดโต่งและมีลักษณะเป็นเผด็จการรวบอำนาจอย่างโจ่งแจ้ง โดยที่ในเวลาเดียวกันนั้นก็กำลังมองข้ามประสบการณ์ของเพื่อนรัฐประชาธิปไตยรายหนึ่ง ซึ่งอย่างน้อยก็จนกระทั่งถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังมีฐานะเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดเป็นอันดับ 2 บนพื้นพิภพนี้

ประเทศดังกล่าว ซึ่งเวลานี้ได้ถอยลงมาอยู่อันดับ 5 บนชาร์ตจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยตามหลังทั้งจีน, อิตาลี, อิหร่าน, และสเปน กำลังเสนอให้เห็นผลงานที่ควรถือเป็นตัวอย่างในเรื่องการควบคุมโรคระบาดใหญ่ระดับโลก โดยที่ไม่ต้องเหยียบย่ำเสรีภาพขั้นเบสิกและการค้าขายขั้นพื้นฐาน

ในประเทศดังกล่าว เราได้เห็นเคสผู้ติดโรครายใหม่ลดวูบลงจากระดับหลายๆ ร้อยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เหลือเป็นระดับตัวเลขสองหลักในทุกๆ วันตลอดสัปดาห์นี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.yna.co.kr/view/AEN20200318002800320?section=science/medicine) ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศนี้บางทียังน่าจะมีเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำที่สุด –เพียงแค่ 0.7%-- ในท่ามกลางทุกๆ ประเทศซึ่งบาดเจ็บเสียหายอย่างสำคัญจากการระบาดของโควิด-19

ประเทศนี้ทุ่มเทใช้ความพยายามจนกระทั่งบรรลุผลลัพธ์เหล่านี้โดยที่ไม่ได้มีการประกาศปิดเมืองล็อกดาวน์เลย แม้กระทั่งในเมืองที่ประสบการระบาดหนักหนาสาหัสที่สุดของตน ขณะที่กำลังใช้มาตรการระมัดระวังเตรียมพร้อมเอาไว้ก่อนอย่างสมเหตุสมผล ประเทศนี้ก็ไม่ได้อุดปากอุดจมูกห้ามปรามกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อีกทั้งไม่ได้มีการสั่งห้ามการเดินทางใดๆ ด้วย

ประเทศดังกล่าวนี้ คือประเทศไหนหรือ? คำตอบคือ เกาหลีใต้ ครับ

การควบคุมภัยพิบัติในแบบระบอบประชาธิปไตย

มีผู้เขียนกันเอาไว้มากมายแล้ว ในเรื่องวิธีการที่เกาหลีใต้ดำเนินการตรวจทดสอบผู้ต้องสงสัยจำนวนมากมาย สูงถึง 20,000 คนต่อวันทีเดียว แล้วยังติดตามมาในทันทีด้วยมาตรการแยกตัวกักกันโรคและการบำบัดรักษาในขั้นต้น (หรือดูเพิ่มเติมได้ที่บทความของผู้เขียนใน https://asiatimes.com/2020/03/why-are-koreas-covid-19-death-rates-so-low/) นอกจากนั้น โซลยังมีการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างชาญฉลาดเหนือชั้น ตั้งแต่ศูนย์ตรวจทดสอบที่สามารถดำเนินการได้เพียงแค่ด้วยการขับรถผ่านเข้าไป ไปจนถึงพวกแอปป์ตรวจตราเฝ้าระวังตัวเอง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/03/south-korea-turns-to-tech-to-take-on-covid-19/)

ปัจจัยต่างๆ ทางด้านวัฒนธรรมก็กำลังแสดงบทบาทเช่นเดียวกัน รัฐบาลทั้งหลายของเกาหลีใต้นั้นโดยประเพณีปฏิบัติแล้วมีความคิดจิตใจที่จะดูแลผู้คนในประเทศแบบ “รัฐแม่นม” (Nanny State) มากกว่าพวกประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ผลก็คือ มีคำร้องทุกข์คำบ่นว่าน้อยที่สุดเกี่ยวกับเรื่องการรุกรานก้าวก่ายความเป็นส่วนตัว – ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการใช้ บิ๊กดาต้า และ จีพีเอส เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของพวกผู้ติดเชื้อ

แล้วชาวเกาหลีใต้ ยังเหมือนกับผู้คนชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก มีนิสัยพร้อมสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันมลพิษกันอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากเรื่องที่มีการสวมหน้ากากอนามัยกันแทบจะทั่วไปหมดทุกตัวคนเช่นนี้ จึงดูมีความเป็นไปได้ว่าพวกที่ติดเชื้อไวรัสแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ จะไม่ปล่อยเชื้อไปติดต่อคนอื่นๆ ได้ง่ายๆ ในขณะที่ทางการรับผิดชอบของหลายชาติตะวันตก กลับออกคำเตือนคัดค้านการที่สาธารณชนจะสวมหน้ากากอนามัยกันอย่างกว้างขวาง

ยิ่งไปกว่านั้น ในทางภูมิศาสตร์เกาหลีใต้มีลักษณะเป็นเสมือนเกาะ โดยที่มีทะเลมหาสมุทรล้อมรอบอยู่ 3 ด้าน ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เป็นพรมแดนที่มีการสร้างป้อมปราการขึ้นมาอย่างแข็งแรง อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้มีการจัดตั้งจัดวางอาคารสถานที่และโปรแกรมในการติดตามเฝ้าระวังด้านสาธารณสุขอย่างทรงประสิทธิภาพในช่องทางเข้าเมืองทุกๆ ช่องทาง

แต่สิ่งที่อยู่เหนือกว่านี้อีก ได้แก่พวกยุทธวิธีและเงื่อนไขต่างๆ สิ่งที่ยังมีการเขียนเผยแพร่กันน้อย ได้แก่หลักการซึ่งโซลถือว่ามีความสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่นๆ ในการควบคุมไวรัสให้อยู่หมัด หลักการดังกล่าวก็คือ ธรรมาภิบาลแบบประชาธิปไตย

“เกาหลี (ใต้) ในฐานะที่เป็นประเทศประชาธิปไตย จึงให้คุณค่าความสำคัญแก่เรื่องโลกาภิวัตน์ และเรื่องสังคมพหุนิยม” รองรัฐมนตรีสาธารณสุขและสวัสดิการ คิม กังลิป (Kim Gang-lip) บอกกับพวกผู้สื่อข่าวต่างประเทศในสัปดาห์ที่แล้ว “ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เกาหลีจึงกำลังนำเอาโมเดลที่มีความแตกต่างออกไป มาใช้เพื่อการตอบโต้รับมือกับการระบาดของโรคติดต่อ ความเชื่อสำคัญที่สุดของโมเดลของเรานั้นสามารถที่จะนิยามจำกัดความได้ว่า เราต้องการที่จะเป็น “ระบบการตอบโต้รับมืออย่างมีพลวัตเพื่อสังคมประชาธิปไตยอันเปิดกว้าง”

เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วมีอะไรบ้างล่ะที่เกาหลีใต้ไม่ได้ทำ?

เกาหลีใต้ไม่ได้มีออกกฎประกาศใช้มาตรการการปราบปราม –แม้กระทั่งกับลัทธิศาสนาลัทธิหนึ่งซึ่งกลายเป็นแหล่งทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นจำนวนมากมาย ขณะเดียวกันก็ไม่มีการล็อกดาวน์ปิดเมือง แม้กระทั่งในพื้นที่สุดฮ็อตอย่างเมืองแทกู ขบวนรถไฟความเร็วสูงยังคงแล่นเข้าไป, แล่นออกมา, และผ่านนครแห่งนี้อยู่โดยตลอด

ถึงแม้ชาวเกาหลีใต้ตกเป็นเป้าหมายถูกห้ามเดินทางเข้าไป, ถูกจำกัดด้านต่างๆ , และถูกกักกันโรค จากประเทศต่างๆ กว่า 100 แห่ง แต่แดนโสมขาวออกคำสั่งห้ามชาวต่างประเทศเข้าเมือง เฉพาะพวกที่มาจากมณฑลหูเป่ยในจีน และจากญี่ปุ่นเท่านั้น โดยที่ในกรณีหลัง เป็นเรื่องของเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเรื่องการป้องกันทางสาธารณสุขด้วยซ้ำไป ผู้เดินทางเข้ามาทุกๆ รายถูกตรวจตรา ณ จุดที่เข้าเมือง และล้วนได้รับแอปป์ติดตามตัวเฝ้าระวัง

ขณะที่การชุมนุมรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมากๆ ถูกสั่งระงับ และสถานที่อย่างพิพิธภัณฑ์, โรงเรียน, และมหาวิทยาลัยก็ถูกสั่งปิดทำการ แต่บรรดาร้านรวง, คาเฟ่, บาร์, ยิมออกกำลังกาย ฯลฯ ยังคงเปิดได้ แล้วก็ไม่มีการแห่กันไปกว้านซื้อข้าวของด้วยความตื่นตระหนกหวาดกลัวใดๆ ขึ้นมาเลย

“เราพยายามมาโดยตลอดที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้เกิดการติดขัดกระทบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน” รองรัฐมนตรีกิจการต่างประเทศ ลี แตโฮ (Lee Tae-ho) พูดอธิบาย

แม้กระนั้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็ยังคงเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ และกำลังมีการเรียกระดมงบประมาณฉุกเฉินก้อนต่างๆ ย่านช็อปปิ้งแถวดาวน์ทาวน์อยู่ในสภาพเกือบเป็นเมืองร้าง การเลย์ออฟปลดคนงานก็มีการดำเนินการกันอยู่ บรรดาธุรกิจขนาดเล็กๆ ที่เอเชียไทมส์ได้พบเห็นพูดคุยด้วย อาทิ แท็กซี่, ร้านค้า, คาเฟ่, และร้านอาคาร ต่างบ่มพึมว่ารายได้ลดลงไป 50% หรือกว่านั้น

ลองเปรียบเทียบกันดู ระหว่างการตอบโต้รับมือแบบสายกลางไม่รุนแรงเช่นนี้ กับพวกมาตรการสุดโต่งที่ใช้กันในเหล่าประเทศตะวันตก ซึ่งการติดต่อแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและทางสังคมทั้งหลายกำลังถูกระงับไปเป็นส่วนใหญ่หรือกระทั่งถูกระงับไปอย่างสิ้นเชิง

<i>คนงานสวมชุดป้องกัน ฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อเพื่อช่วยสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สถานีรถไฟใต้ดินแห่งหนึ่งในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ วันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา </i>
โหมดแพนิกตื่นตระหนก

ไม่มีรัฐบาลไหนหรอกที่เป็นองค์การซึ่งมุ่งรับมือจัดการกับประเด็นปัญหาเพียงแค่ประเด็นปัญหาเดียวเท่านั้น โดยละเลยไม่สนใจประเด็นปัญหาอื่นๆ ทว่าในปัจจุบันเรากำลังกลายเป็นประจักษ์พยานของกระบวนการจัดลำดับความสำคัญแบบคิดคำนึงอยู่เพียงแค่ประเด็นปัญหาเดียวเท่านั้น นั่นคือ เรื่องการบริหารจัดการกับไวรัส เรากำลังพบเห็นการตัดสินใจทางการเมืองแบบสุดโต่งต่างๆ ในช่วงจังหวะเวลาตอนที่เศรษฐกิจโลกกำลังโซซัดโซเซอยู่ที่ปากขอบเหวอยู่แล้ว

ตลาดต่างๆ ซึ่งได้เริ่มต้นหันมามองโลกแบบสดใสเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และเกี่ยวกับสายโซ่อุปทาน (supply chain) ของจีนที่ค่อนข้างเหือดแห้งสะดุดติดขัด แท้ที่จริงแล้วเป็นตลาดซึ่งอยู่ในเส้นทางขาขึ้นมาตั้งแต่วิกฤตการณ์ภาคการเงินโลกปี 2008 แล้ว และดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะล่าช้ามานานเกินไปแล้วสำหรับการปรับฐานลงมา หรือกระทั่งการปรับฐานลงมาอย่างแรงๆ

ครั้นแล้วก็เกิดภาวะช็อกจากสงครามราคาน้ำมัน จากนั้น เขตเศรษฐกิจทรงความสำคัญยิ่งยวดที่สุดของโลก 2 เขต อันได้แก่สหรัฐฯและอียู ก็เริ่มต้นมาตรการจำกัดควบคุมอย่างเข้มงวดรุนแรงในด้านการคมนาคมขนส่งและการติดต่อไปมาหาสู่กัน โดยในเวลาเดียวกันนั้นก็กำลังทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้หายใจไม่ออกไปด้วย มูลค่าของหลักทรัพย์ต่างๆทั่วโลกกำลังถูกลบทอนหายสูญไปถึงราวๆ 30 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว

ท่ามกลางมหาพายุที่ช่างเหมือนกับปัจจัยเลวร้ายนานาต่างรุมกระหน่ำรวมเข้ามาด้วยกันคราวนี้ มาตรการล็อกดาวน์ปิดเมืองคือการตอบโต้แบบ “ขนาดเดียวใช้ได้กับทุกคน” ประการหนึ่ง ที่ควรต้องตั้งคำถามข้อข้องใจ ในจุดที่ว่ามันไม่ได้มีการจัดลำดับความสำคัญให้แก่ประชากรกลุ่มหลักที่ตกอยู่ในความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งก็คือผู้ที่มีภาวะเงื่อนไขต่างๆ ทางด้านสุขภาพดำรงอยู่ก่อนแล้ว และที่จะต้องคำนึงถึงให้มากที่สุด ได้แก่ ผู้สูงอายุ

มีความชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่แล้วว่าอันตรายถึงชีวิตวางวายจากไวรัสนี้ รวมศูนย์กันอยู่ที่ตรงไหน รายงานการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งของ ศูนย์กลางเพื่อวิทยาการประชากรศาสตร์ เลเวอร์ฮูล์ม (Leverhulme Centre for Demographic Science) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ นัฟฟีลด์ คอลเลจ (University of Oxford & Nuffield College) ชี้เอาไว้ว่า “ความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโควิด-19 มีการรวมศูนย์กันอย่างสูงยิ่งในหมู่ผู้ที่อายุยิ่งสูงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อายุสูงเกินกว่า 80 ปี ในจีนนั้น อัตราประมาณการสำหรับการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ อยู่ในระดับตั้งแต่ 0.4% (กลุ่มที่มีอายุ 40-43 ปี) กระทั่งกระโจนพรวดขึ้นไปเป็น 14.8% (กลุ่มที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป) ตัวเลขข้อมูลนี้สอดคล้องกับตัวเลขข้อมูลที่ออกมาจากอิตาลีนับจนกระทั่งถึงวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 10.8% สำหรับกลุ่มอายุระหว่าง 70-79 ปี, 17.5% สำหรับกลุ่มอายุ 80-89 ปี, และ 21.1% สำรับผู้ที่อายุ 90 ปีขึ้นไป โดยที่มีผู้เสียชีวิตเพียง 6 รายเท่านั้นในกลุ่มผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี จวบจนถึงเวลานี้ ในหมู่ผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปีมีอัตราการเสียชีวิตเพียงแค่ 3% เท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมเราจึงไม่จัดสรรทรัพยากรต่างๆ และระบบต่างๆ ให้สอดคล้องเป็นไปตามโครงสร้างทางประชากรเช่นนี้?

เรื่องสุขอนามัยที่จำเป็น, การอยู่ห่างจากคนอื่นๆ, การระมัดระวังเอาไว้ก่อน ตลอดจนกติกามารยาทในด้านการเฝ้าระวังซึ่งมีความจำเป็นสำหรับการพิทักษ์คุ้มครองผู้สูงอายุ เหล่านี้สามารถต่อยอดเพิ่มเติมขึ้นมาจากการดูแลของครอบครัวและกรอบโครงการดูแลด้านสวัสดิการสังคมซึ่งมีอยู่แต่เดิมแล้ว ทั้งนี้ การใส่ใจเพิ่มขึ้นให้มากๆ เกี่ยวกับความจำเป็นต่างๆ ของผู้สูงอายุ บางทีอาจจะกลายเป็นผลิตผลพลอยได้ในทางบวกที่คุ้มค่าของวิกฤตการณ์โควิด-19 ก็เป็นได้

ความวิบัติหายนะของธุรกิจขนาดเล็กๆ

หากกระทำสิ่งเหล่านี้แล้ว พวกสมาชิกที่มีความเสี่ยงต่ำของประชากรก็สามารถที่จะเป็นอิสรเสรีจากมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อที่จะได้หายใจเอาอย่างน้อยที่สุดก็ออกซิเจนสักจำนวนหนึ่งเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

แต่ว่ายิ่งเวลาผ่านไป ก็มีการประกาศพื้นที่ล็อกดาวน์ปิดเมืองกันมากขึ้นเรื่อยๆ ภาคธุรกิจ B2C (Business to Consumer ธุรกิจที่ขายหรือให้บริการแก่ผู้บริโภค) เป็นต้นว่า การเดินทางและการท่องเที่ยว, ธุรกิจเกี่ยวกับการบริการและการค้าปลีก, การจัดเลี้ยงและการพักผ่อนหย่อนใจ, กีฬาและธุรกิจบันเทิง เหล่านี้ต่างต้องเผชิญกับความวิบัติหายนะ

พวกผู้เล่นรายใหญ่ เป็นต้นว่า สายการบิน น่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือไม่ให้ตกเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ทว่าภาคธุรกิจที่กล่าวไว้ข้างต้นเหล่านี้ซึ่งจำนวนมากมายเป็นธุรกิจขนาดเล็กๆ เป็นกิจการในครอบครัว ที่ต้องพึ่งพาอาศัยการไหลเวียนของเงินสด อย่างเช่น ร้านค้า และเกสต์เฮาส์, ร้านอาหาร, คาเฟ่และบาร์, โรงยิม, และกิจการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจอื่นๆ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีธุรกิจขนาดเล็กๆ เป็นจำนวนมากมาย คือสิ่งที่แทบไม่ต้องจินตนาการกันเลย

พวกนักปล่อยข่าวสร้างแพนิกความตื่นตระหนก ?

ใครคือผู้ที่กำลังส่งอิทธิพลต่อสื่อและรัฐบาล ? นักระบาดวิทยามืออาชีพจำนวนหยิบมือหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นหัวเรือใหญ่ในการแถลงในการออกความเห็นทางสื่อระดับโลก เป็นพวกที่กำลังพยากรณ์ว่าอัตราการติดต่อโรคจะอยู่ในระดับ 70-80% ตัวเลขข้อมูลเหล่านี้เองกำลังถูกสำรอกเอากลับมาเผยแพร่ต่อโดยพวกผู้นำ อย่างเช่น อังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี

แต่ในเวลานี้ไม่เพียงเราทราบแล้วว่า โมเดลบางโมเดลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกที่เคยเสนอกันออกมาก่อนหน้านี้นั้น เป็นการทำนายที่เกินความเป็นจริงไปมากเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีพวกผู้ทรงอิทธิพล (อินฟลูเอนเซอร์) บางรายกำลังแสดงทัศนะมุมมองแบบฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ในกรณีเลวร้ายที่สุด (absolute worst-case scenarios) อีกด้วย

“มีนักระบาดวิทยาชื่อเสียงโด่งดัง 2 คนกำลังเป็นผู้ที่ออกความคิดเห็นจำนวนมากเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 นี้” แดน สตริกแลนด์ (Dan Strickland) นักระบาดวิทยาชาวสหรัฐฯที่ปัจจุบันเกษียณอายุแล้วบอกกับเอเชียไทมส์ พร้อมกับชี้ว่า “การทำนายของพวกเขาเป็นสิ่งที่มีน้ำหนักสูงสำหรับสื่อและพวกผู้วางนโยบาย”

อย่างไรก็ตาม “ทั้งคู่กำลังเลือกที่จะบรรยายพรรณนาถึงฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ชนิดเลวร้ายที่สุดของการระบาด โดยที่ดูเหมือนออกมาจากความต้องการระมัดระวังป้องกันเอาไว้ก่อนที่มีมากมายมหาศาลเหลือเกิน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจกันได้” สตริกแลนด์บอก และกล่าวต่อไปว่า แต่ “ไม่ใช่ว่าทุกๆ คนเห็นด้วยกับการประเมินเหล่านี้หรอก ทว่าเมื่อมาถึงจุดนี้ พวกรัฐบาลของมลรัฐและของท้องถิ่นต่างๆ ในสหรัฐฯ ต่างกำลังนิยมชมชอบความคิดจิตใจแบบต้องระมัดระวังป้องกันเอาไว้ก่อนอย่างสูงลิ่วอย่างนี้แหละ มาใช้ในการกำหนดจัดวางนโยบาย”

ในอียู ดูเหมือนรัฐบาลต่างๆ ที่นั่นรู้สึกตกใจกลัวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตในอิตาลี ทว่าอิตาลีนั้นเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยที่สุดในยุโรป และอัตราการเสียชีวิตของที่นั่น ซึ่งอยู่ในระดับแถวๆ สูงกว่า 5% (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scientificamerican.com/article/why-deaths-from-coronavirus-are-so-high-in-italy/ ) ก็ต้องถือว่าสูงกว่าอัตราเฉลี่ย – โดยที่การศึกษาวิจัยซึ่งกระทำเมื่อเร็วๆ นี้เอง คำนวณออกมาว่าอยู่ที่ประมาณ 1.4% (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.statnews.com/2020/03/16/lower-coronavirus-death-rate-estimates/ )

ตัวเลขข้อมูลของภาพใหญ่ภาพรวมกำลังบอกกล่าวให้เราฟังกันอยู่แล้ว การติดเชื้อในทั่วโลกขณะนี้มีจำนวนต่ำกว่า 200,000 รายนิดเดียว และไม่ต้องสงสัยเลยว่าตัวเลขจะต้องทะลุขีดดังกล่าวนี้ไปเรียบร้อยแล้วในเวลาที่คุณๆ อ่านข้อเขียนชิ้นนี้อยู่ ปัจจุบันโลกมีประชากรทั้งสิ้นราว 8,000 ล้านคน จำนวนผู้ติดเชื้อจะต้องพุ่งพรวดไปถึง 80 ล้านคนทีเดียวจึงจะไปถึงระดับแค่ 1% ดังนั้น จำนวนการเสียชีวิตเวลานี้ ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 8,000 คน หรือเท่ากับ 0.00001% ของประชากรทั่วโลก

ถ้าหากว่าในที่สุดแล้ว การประมาณของของพวกมืออาชีพได้รับการพิสูจน์ว่าผิดพลาดอย่างเลวร้าย พวกเขา- ตลอดจนพวกเจ้าหน้าที่ข้าราชการผู้เคยเชิดชูฉากทัศน์ภาพสมมุติสถานการณ์ชนิดเลวร้ายที่สุดว่าเป็นภาพจริงๆ ที่จะเกิดขึ้นมา รวมทั้งใช้มันเป็นฐานสำหรับการกำหนดนโยบาย— จะต้องอย่าลืมคิดคำนึงถึงความรับผิดชอบของพวกเขาด้วย

ในระยะยาว พวกเขาอาจเป็นเสมือนเด็กเลี้ยงแกะในนิทานอีสปที่ร้องตะโกนว่า “หมาป่า” –โดยที่ถ้าหากต่อไปเกิดการระบาดใหญ่ระดับทั่วโลกซึ่งเป็นของจริงขึ้นมา การทำนายของพวกเขาก็อาจจะถูกโห่ฮาใส่และถูกเพิกเฉยละเลย ส่วนในระยะสั้น พวกเขาอาจค้นพบว่าพวกเขาถูกประณามกล่าวโทษด้วยข้อหาเข่นฆ่าเศรษฐกิจอย่างใหญ่โตเลวร้าย

ไวรัส VS เศรษฐกิจถดถอย

เรื่อง “การเข่นฆ่าเศรษฐกิจ” นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจริงๆ มันหมายถึงการสูญเสียรายได้, เงินชดเชยการให้พนักงานออกจากงาน, การล้มละลาย, ธุรกิจปิดกิจการ, ความยากจน, ความหวังที่ถูกพังทำลาย, และบาดแผลทางจิตใจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดติดตามมาก็จะทำให้ผู้คนถึงตายกันได้จริงๆ

ผลการศึกษาวิจัยเมื่อปี 2018 ของ บัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Academy of Science of the USA) พบว่า ความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี 2008 มีผลทำให้ความดันเลือดของผู้คนในสหรัฐฯเพิ่มสูงกันจริงๆ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.pnas.org/content/115/13/3296) การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อดัง “แลนสิต” (Lancet) เมื่อปี 2016 พบว่า ผู้เสียชีวิตจากมะเร็งทั่วโลกๆ ราวๆ ครึ่งล้านคน มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจถดถอยคราวเดียวกันนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.telegraph.co.uk/news/2016/05/25/financial-crisis-caused-500000-extra-cancer-death-according-to-l/ ) งานวิจัยจากออกซ์ฟอร์ดก็ค้นพบว่า มีกรณีฆ่าตัวตายมากกว่า 10,000 รายโยงใยกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยดังกล่าว (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.forbes.com/sites/melaniehaiken/2014/06/12/more-than-10000-suicides-tied-to-economic-crisis-study-says/#2b39354d7ae2)

จะเอามากกว่านี้ไหม? ความยากลำบากภายหลังเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ ได้ขับดันให้เกิดกรณีการฆ่าตัวตาย 10,000 รายในอียูและสหรัฐฯ ขณะที่ครอบครัวชาวสหราชอาณาจักร 10,000 ครอบครัวต้องกลายเป็นคนไร้บ้านและผู้คนราว 1 ล้านคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งนี้ตามรายงานข่าวใน เดอะ การ์เดียน ปี 2013 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/society/2013/may/15/recessions-hurt-but-austerity-kills )

การที่ โควิด-19 จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น เวลานี้ดูทำท่าจะแน่นอนแล้ว แต่ภาวะดังกล่าวจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหนยังไม่เป็นที่ทราบกัน ถ้าหากไวรัสนี้ออกฤทธิ์เดชถึงจุดสูงสุดในเดือนเมษายน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการดีดตัวกระเตื้องกลับขึ้นมา ด้วยแรงขับดันจากพวกผู้บริโภคที่อาจออกมาจับจ่ายใช้สอยอย่างระเบิดระเบ้อหลังถูกกักเอาไว้มาหลายเดือน และการฟื้นตัวแบบกราฟรูปตัว V ก็จะเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูร้อน ทว่านี่เป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น

สิ่งที่แน่นอนยิ่งกว่านี้เสียอีกคือว่า พวกที่มีความเสี่ยงอาจเสียชีวิตจากไวรัสนั้นจะอยู่ในจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ชัดเจนแน่นอน แต่พวกที่อยู่ในความเสี่ยงจากผลร้ายทางเศรษฐกิจซึ่งติดตามมานั้นจะถูกจัดถูกจำแนกอยู่ในหมวดหมู่ที่กว้างขวางใหญ่โตกว่ากันนักหนา ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะติดตามมา มีความเป็นไปได้ที่จะเข่นฆ่าผู้คนได้มากยิ่งกว่าไวรัสด้วยซ้ำ

เมื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้อันรุนแรงร้ายกาจทำนองนี้แล้ว รัฐบาลของชาติต่างๆ จึงต้องโฟกัสความสนใจให้มากกว่าเพียงแค่ประเด็นปัญหาเพียงประเด็นหนึ่งเดียว พวกเขาจำเป็นต้องคาดคำนวณความเสี่ยงต่างๆ, จัดลำดับความสำคัญของจุดมุ่งหมายต่างๆ, และพิจารณาทางเลือกที่อาจกระทำได้ทั้งหมด จากทัศนะมุมมองที่กว้างขวางและหลากหลาย ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการ --แล้วจากนั้นก็ลงมือปฏิบัติการด้วยความสุขุม ไม่ใช่เพราะแพนิกตื่นกลัว

ในการนี้พวกเขามีกรณีศึกษาที่หนักแน่นน่าเชื่อถือ --โดยที่โดดเด่นก็คือเกาหลีใต้ แต่นอกจากนั้นแล้วยังมีพวกระบอบประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเช่น ญี่ปุ่น และไต้หวัน ให้ใช้เป็นมาตรวัดได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี น่าเสียใจว่าจังหวะเวลาสำหรับกระทำดังกล่าวนี้ อาจจะผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น