(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
China’s painful gains from Covid-19 crisis
by Sun Xi
10/03/2020
การระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่คราวนี้ เป็นการเสนอโอกาสให้แก่รัฐบาลจีนและประชาชนชาวจีน ในการเปลี่ยนแปลงวิกฤตการณ์ให้กลายเป็นโอกาส
วิกฤตการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในเวลานี้ บางทีอาจสามารถที่จะมองได้ว่าเป็น “หงส์ดำ” (black swan ทั้งนี้ในโลกการเงิน หงส์ดำหมายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่มีใครคาดคิด และสร้างผลกระทบในวงกว้าง แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในภายหลัง ก็อาจจะพิจารณาหาคำตอบและหาทางคาดการณ์ต่อไปได้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.investopedia.com/terms/b/blackswan.asp และ https://techsauce.co/tech-and-biz/black-swan -ผู้แปล) ไม่เพียงเฉพาะสำหรับจีนเท่านั้น แต่ยังสำหรับทั่วทั้งโลกอีกด้วย มันเป็นสิ่งที่โดยส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถคาดการณ์ทำนายได้ ทว่ามีผลพวงต่อเนื่องอย่างสาหัสรุนแรง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ประเทศจีนเป็นผู้ที่บาดเจ็บเสียหายหนักที่สุดจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ทั้งในทางเศรษฐกิจ, ทางสังคม, และทางการเมือง อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงโต้แย้งได้เยอะแยะทีเดียวสำหรับแนวความคิดที่ว่าประเทศจีน หรือพรรคคอมมิวนิสต์จีน กำลังเคลื่อนเข้าสู่จุดแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างสูงลิ่ วจนถึงขั้นเป็นไปได้ที่จะแตกสลายหรือกำลังจะเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นมาแล้ว
ในความเห็นของผมนั้น วิกฤตการณ์โควิด-19 กลับเป็นการเสนอโอกาสอันหาได้ยากยิ่ง เพื่อให้รัฐบาลจีนและประชาชนชาวจีนได้ดำเนินการทบทวนประเมินตนเองอย่างจริงจัง, ด้วยความรอบคอบ, และด้วยความถี่ถ้วน และจีนน่าที่จะสามารถพลิกผันวิกฤตการณ์นี้ให้กลายเป็นโอกาส โดยได้รับผลดีอย่างไม่คาดหมายหลายๆ ประการด้วยกัน
ประการแรกสุด วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นบททดสอบที่เข้มงวดจริงจังโดยแท้ ตามคำพูดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิ ง ของจีนเองนั้น โรคระบาดคราวนี้คือเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขครั้งใหญ่ ซึ่ง “แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วที่สุด, เกิดการติดต่ออย่างแผ่กว้างที่สุด, และดำเนินการป้องกันและการควบคุมได้ยากลำบากที่สุด” นับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจึนขึ้นมาเมื่อปี 1949 ทีเดียว และ “นี่ถือเป็นวิกฤตการณ์สำหรับเรา และเป็นบททดสอบครั้งใหญ่มาก”
ยังคงเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าจีนผ่านการทดสอบครั้งนี้ด้วยความสำเร็จหรือไม่ แต่แน่นอนทีเดียวว่าทั่วทั้งประเทศชาติได้รับการศึกษาและได้รับการหล่อหลอมจากภัยพิบัติหายนะอันแข็งแกร่งน่ากลัวคราวนี้ จากความตื่นตระหนกหวาดผวาในตอนเริ่มต้น ไปจนถึงการตอบโต้ได้อย่างรอบด้านและการฟื้นตัวได้อย่างเป็นระบบในช่วงหลังๆ มานี้ จีนได้สาธิตให้เห็นอย่างโดดเด่นมากถึงคุณสมบัติของความหยุ่นตัว, ความสามารถในการปรับตัว, การมีทรัพยากรอย่างอุดมสมบูรณ์, และการพึ่งตนเอง
ประการที่สอง วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีคุณค่ามาก เห็นได้ชัดเจนทีเดียวว่า จีนนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอหลายอย่างหลายประการจากวิกฤตการณ์คราวนี้ด้วย ทว่าแดนมังกรก็ได้แสดงให้เห็นเช่นกันถึงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะเรียนรู้จากจุดอ่อนข้อบกพร่องอันชัดเจนซึ่งถูกเปิดโปงออกมาในระหว่างการตอบโต้รับมือของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวิธีการที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤตการณ์ทำนองนี้ปรากฏขึ้นมาได้ตั้งแต่ตอนเริ่มแรก แทนที่จะพยายามเข้าควบคุมเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นมาแล้วซึ่งจะต้องใช้มาตรการต่างๆ อันน่าตื่นตาตื่นใจและจะต้องใช้ความพยายามลงแรงลงกำลังกันอย่างมากมายมหาศาล
จีนกำลังให้คำมั่นสัญญาที่จะปฏิรูปและปรับปรุงยกระดับระบบการตอบสนองวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพของตน เช่นเดียวกับที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบบดูแลรักษาสุขภาพของตน สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติระดับประเทศของจีน ได้ออกกฎหมายด้วยความเร่งด่วนซึ่งมีเนื้อหาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในการห้ามการค้าสัตว์ป่าและห้ามการรับประทานสัตว์ป่า นอกจากนั้นจีนยังเร่งรัดการออกกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยทางชีวภาพอีกด้วย
ประการสุดท้ายแต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญน้อยที่สุด วิกฤตการณ์โควิด-19 ยังถือเป็นมาตรฐานแห่งการทดสอบที่หาได้ยากยิ่งอีกด้วย อย่างแรกสุด มันเป็นมาตรฐานแห่งการทดสอบว่าจีนนั้นมีอิทธิพลมากแค่ไหนในโลก ปรากฏว่าเมื่อจีนไอจาม ประเทศอื่นๆ ในโลกก็พากันเป็นหวัดไปด้วยเป็นแถว วิกฤตการณ์คราวนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นอย่างมีชีวิตชีวาว่าจีนมีบทบาทสำคัญภายในสายโซ่มูลค่าของโลก (global value chain) รวมทั้งมีอำนาจซื้อซึ่งทรงอิทธิพลยิ่ง
เมื่อจีนเพียงแค่หยุดการผลิตและหยุดการซื้อ ประเทศอื่นๆ จำนวนมากก็เกิดบาดเจ็บเสียหายอย่างสำคัญทีเดียว นี่สาธิตให้เห็นว่า วิสัยทัศน์ของจีนที่จะสร้าง “ประชาคมของผู้ที่มีชะตาชีวิตร่วมกันเพื่อมนุษยชาติ” (community of shared destiny for humanity หรือ community of shared future for mankind ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Community_of_shared_future_for_mankind -ผู้แปล) นั้น เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล
สอง มันเป็นมาตรฐานแห่งการทดสอบธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องง่ายๆ อยู่หรอกที่จะวิพากษ์วิจารณ์จีนว่า เป็นองค์การทางการเมืองซึ่งเรียกขานกันว่า มีการจัดระบบระเบียบอย่างเผด็จการควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์แบบ “ลัทธิเลนิน” (Leninist) โดยเฉพาะเมื่อตอนที่โรคติดต่อชนิดนี้ยังคงเกิดขึ้นภายในประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมาถึงตอนนี้ การระบาดกำลังเกิดขึ้นทั่วทั้งโลกไปแล้ว
น.พ.บรูซ อัลวอร์ด (Dr Bruce Aylward) ซึ่งเป็นผู้นำทีมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติขององค์การอนามัยโลก เดินทางไปดูสถานการณ์ในประเทศจีน กล่าวย้ำว่ามาตรการตอบโต้ต่อสู้กับไวรัสร้ายของแดนมังกรนี้เป็นสิ่งที่ประเทศอื่นๆ สามารถลอกเลียนนำมาใช้ได้ ทว่ามันเป็นมาตรการซึ่งเรียกร้องต้องการทั้งความรวดเร็ว, เงินทอง, จินตนาการ, และความกล้าหาญทางการเมือง ดังนั้น เราจึงยังจะต้องคอยติดตามดูต่อไปว่า มีประเทศอื่นๆ (โดยเฉพาะพวกประเทศประชาธิปไตย) สามารถรับมือจัดการกับวิกฤตการณ์ของพวกเขาได้ดียิ่งกว่าจีนเอามากๆ หรือไม่ การนำมาเปรียบเทียบกันจะทำให้สิ่งต่างๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สาม วิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังถือเป็นมาตรฐานแห่งการทดสอบความสัมพันธ์ทวิภาคีต่างๆ ที่จีนมีอยู่กับประเทศอื่นๆ ถึงแม้มีสัจธรรมความจริงที่อาจจะฟังไม่เข้าหูระบุเอาไว้ว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่มีมิตรที่ถาวรและก็ไม่มีศัตรูที่ถาวร มีแต่เรื่องผลประโยชน์ที่ถาวรเท่านั้น ทว่าแต่ไหนแต่ไรมา ประชาชนจีน และแม้กระทั่งตัวประธานาธิบดีสีเอง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.xinhuanet.com/english/2020-02/05/c_138758237.htm) ก็มีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่า “มิตรในยามยากคือมิตรที่แท้จริง” ด้วยเหตุนี้ วิกฤตการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ จึงกลายเป็นสิ่งที่เฝ้าปรับเปลี่ยนความรับรู้ความเข้าใจของจีนเกี่ยวกับประเทศอื่นๆ จำนวนมากอย่างละเอียดอ่อนยิ่ง และน่าจะมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อนโยบายด้านการต่างประเทศในอนาคตของแดนมังกร
มีคำพังเพยเก่าๆ ของจีนแต่ยังคงเป็นที่นิยมพูดอ้างอิงกันมาก บอกว่า “เมื่อเผชิญความหายนะจำนวนมาก อาจทำให้ประชาชนประเทศนั้นสามัคคีกันเพื่อความอยู่รอด” (duōnàn xīngbāng) คำพังเพยนี้เผยให้เห็นทั้งความเข้มแข็งและความอ่อนแอของจีน จีนนั้นดีมากในการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ โดยในช่วงเวลานั้นสังคมของชาวจีนจะมีแรงกระตุ้นจูงใจมากขึ้นและมีความสามัคคีกันมากขึ้น ทว่าจีนนั้นไม่ดีเลยในเรื่องการป้องกันไม่ให้วิกฤตการณ์ปะทุขึ้นมา เป็นสังคมที่ขาดไร้ความสำนึกเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ นี่คือเหตุผลที่ทำให้ประชาชาติจีนสามารถที่จะเอาชนะศัตรูปรปักษ์จำนวนมากในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทว่าโศกนาฎกรรมทำนองเดียวกันยังคงเกิดซ้ำขึ้นมาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
บทเรียนอันเจ็บปวดรวดร้าวของวิกฤตการณ์โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (severe acute respiratory syndrome หรือ SARS) เมื่อปี 2003 ดูเหมือนไม่ใช่สิ่งที่สังคมชาวจีนโดยองค์รวมสามารถจดจำเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์อันขมขื่นยากลำบากจากวิกฤตการณ์โควิด-19 อันน่าเศร้าเสียใจคราวนี้ จะเป็นที่จดจำเอาไว้ได้ยาวนานมากกว่าหรือไม่? มีแต่เวลาเท่านั้นที่สามารถให้คำตอบต่อคำถามนี้ได้
ซุน สี เป็นชาวจีนโดยกำเนิดที่เป็นศิษย์เก่าของวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เขาเป็นนักเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระซึ่งตั้งฐานอยู่ในสิงคโปร์ นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ ESGuru บริษัทที่ปรึกษาที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในสิงคโปร์ โดยมีความเชี่ยวชาญในประเด็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม, สังคม, และธรรมาภิบาล