xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: อากาศร้อนสามารถหยุดยั้งไวรัส 'โควิด-19' ได้ไหม? สิ่งที่เกิดขึ้นในเอเชียอาคเนย์ทำให้ 'ทฤษฎี'นี้ ยิ่งน่าสงสัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>บรรยากาศผู้คนโหรงเหรง ณ ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันอังคาร (17 มี.ค.) ภายหลังทางการมาเลเซียประกาศในวันจันทร์ (16) ใช้มาตรการปิดประเทศไม่ต้องรับชาวต่างชาติและห้ามคนมาเลเซียไปต่างประเทศตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนวันอังคาร (17 มี.ค.) เนื่องจากมีจำนวนผู้ล้มป่วยพุ่งพรวดจากไวรัสโควิด-19 </i>
จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พุ่งพรวดขึ้นมาในช่วงไม่กี่วันหลังๆ นี้ กำลังทำให้เกิดความสงสัยข้องใจกันมากขึ้นเกี่ยวกับทฤษฎีหนึ่งที่ระบุว่า อากาศที่ร้อนขึ้นน่าจะสามารถสกัดการระบาดของไวรัสร้ายชนิดนี้ได้ พวกผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายๆ รายระบุ

การที่หลายประเทศในเอเชียอาคเนย์มีจำนวนเคสติดเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างต่ำ เคยถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างอิงเป็นหลักฐานของความเป็นไปได้ที่ว่า อุณหภูมิของอากาศที่กำลังร้อนขึ้นจะสามารถสยบไวรัสนี้ และช่วยทำให้เกิดความคาดหวังขึ้นในยุโรปและสหรัฐฯขณะที่พวกเขากำลังบ่ายหน้าออกจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

ทว่า หลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย , ไทย, ไปจนถึงมาเลเซีย, และฟิลิปปินส์ ต่างเจออัตราการติดเชื้อรายใหม่พุ่งพรวดสูงสุดในระยะเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะที่มีการดำเนินการตรวจทดสอบเพิ่มสูงขึ้น เป็นสัญญาณที่ชี้ว่าปัจจัยด้านฤดูกาลอาจจะแสดงบทบาทเพียงแค่จำกัดเท่านั้นในเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

“ทฤษฎีเรื่องอุณหภูมิของอากาศ ไม่สามารถทนทานต่อการพิสูจน์ได้ เมื่อพิจารณาสิ่งซึ่งกำลังเกิดขึ้นมาเวลานี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ติกกี ปันเกสตู อาจารย์ผู้หนึ่งของวิทยาลัยนโยบายสาธารณะลีกวนยู มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวให้ความเห็น

“ผู้คนในยุโรปวาดหวังกันว่าอากาศที่ร้อนขึ้นจะฆ่าไวรัสนี้ได้ แต่ผมสงสัยว่ามันจะเป็นความจริงหรือ”

โควิด-19 ที่ทำให้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงนี้ มีผู้คนติดเชื้อไปแล้ว กว่า 180,000คน และเสียชีวิตไปกว่า 7,000 คน นับถึงเวลา 16.00 น.วันอังคาร (เวลาเมืองไทย) ทั้งนี้ตามการรวบรวมของสำนักข่าวเอเอฟพีจากแหล่งข่าวทางการแห่งต่างๆ

ถึงแม้ยังมีความรู้ค่อนข้างจำกัดเกี่ยวกับไวรัสใหม่ชนิดนี้ แต่อาการบางอย่างของมันมีลักษณะคล้ายคลึงกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในฤดูหนาว ซึ่งจะแพร่ระจายไปมากขึ้นในช่วงที่อุณหภูมิลดต่ำลง ถึงแม้เรื่องนี้ส่วนหนึ่งยังมาจากการที่มีผู้คนไปชุมนุมรวมตัวกันภายในอาคารสถานที่อันมีรั้วรอบขอบชิด

พวกสถานที่ซึ่งไวรัสโควิด-19 แสดงฤทธิ์เดชรุนแรงที่สุด เป็นต้นว่า เมืองอู่ฮั่น ในภาคกลางของจีน, แคว้นลอมบาร์ดีทางภาคเหนือของอิตาลี, และหลายๆ ส่วนของสหรัฐฯ ต่างมีภูมิอากาศทำนองเดียวกันและระดับอุณหภูมิซึ่งใกล้เคียงกัน

โรคระบาดรุนแรงจากเชื้อไวรัสก่อนหน้านี้ นั่นคือ การระบาดของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ปี 2002-2003 นั้น ได้บรรเทาเบาบางลงเมื่อย่างเข้าสู่เดือนแห่งฤดูร้อน ถึงแม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามั่นเกี่ยวข้องกับภูมิอากาศจริงๆ หรือเป็นเพราะในช่วงเวลานั้นมีการดำเนินการแทรกแซงทางสาธารณสุขอย่างเข้มงวดแข็งขันขึ้นกว่าเดิม

องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงเอาไว้ในเดือนนี้ว่า ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันว่าอุณหภูมิจะเป็นปัจจัยซึ่งมีบทบาทในเรื่องการระบาดของโควิด-19 แต่ก็เป็นเส้นทางที่มีคุณค่าแก่การสำรวจศึกษากันดู

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น หลายๆ ประเทศรายงานว่าพบเคสผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายแม้กระทั่งเวลาผ่านไปแล้วหลายเดือน นับแต่ที่ไวรัสโคโรนานี้เริ่มต้นระบาดในประเทศจีนตอนช่วงสิ้นปีที่แล้ว ถึงแม้ภูมิภาคนี้อยู่ใกล้ๆ จีน และมีการติดต่อเดินทาง ทำธุรกิจและการลงทุนอย่างชิดเชื้อกับแดนมังกร

ทว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายรายแย้งว่า แทนที่จะเป็นเรื่องอากาศร้อน การพบเคสน้อยรายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะสืบเนื่องจากมีการตรวจทดสอบกันน้อยและติดตามเฝ้าระวังโรคกันไม่เข้มงวดมากกว่า ด้วยเหตุที่ขาดแคลนทั้งอุปกรณ์และบุคลากร

<i>นักช็อปเข้าแถวรอเข้าซื้อของในห้างซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันอังคาร (17 มี.ค.) โดยพากันยืนห่างกันตามมาตรการป้องกันของทางการ  </i>
จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งพรวด

ทางด้าน เดล ฟิชเชอร์ ประธานของเครือข่ายเฝ้าระวังและตอบโต้โรคระบาดทั่วโลก ซึ่งประสานงานโดย WHO บอกว่า “อย่างเก่งที่สุด อากาศร้อนอาจจะมีอิทธิพลต่อการระบาดจริงๆ ทว่ามันก็จะไม่ถึงกับทำให้การระบาดยุติลงไปได้หรอก”

“สิ่งที่สำคัญก็คือว่าประเทศต่างๆ มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนในการแยกผู้ติดเชื้อ ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกมาจากชุมชน นี่คือปัจจัยใหญ่ที่สุด ไม่ใช่เรื่องสภาพอากาศ”

ในหลายชาติเอเชียอาคเนย์ จำนวนเคสผู้ติดเชื้อพุ่งพรวดขึ้นมาอย่างน่าแตกตื่นในระยะไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลต่างๆ ประเทศต้องเร่งดำเนินมาตรการอันเข้มข้นเพื่อสยบกระแส

ที่ฟิลิปปินส์ จำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นกว่าสองเท่าตัวกลายเป็น 12 รายในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เคสยืนยันว่าติดเชื้อก็กำลังวิ่งขึ้นไปเป็น 140 คน –เปรียบเทียบกับเมื่อ 10 วันก่อนที่ยังมีเพียงแค่ 3 –จึงทำให้ทางการประกาศให้พื้นที่ทั่วทั้งเมืองหลวงมะนิลาอยู่ภายใต้ “การกักกันโรคทั้งชุมชน”

สำหรับมาเลเซียรายงานว่าพบผู้ติดเชื้ออีก 125 รายในวันจันทร์ (16 มี.ค.) ทำให้ยอดรวมกลายเป็น 553 ราย สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ป่วยจำนวนมากต่างเป็นผู้ที่เข้าร่วมงานชุมนุมทางศาสนา ณ มัสยิดแห่งหนึ่ง

ส่วนประเทศไทยซึ่งรายงานพบเคสใหม่ 33 รายในวันจันทร์ (16) นับเป็นการพุ่งพรวดมากที่สุดในรอบ 1 วันของแดนสยามเมืองยิ้ม ทางการจึงสั่งปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย บาร์ ไนท์คลับ โรงภาพยนตร์ บ่อนไก่ สนามมวย และศูนย์บันเทิงอย่างอื่นๆ

ด้านอินโดนีเซีย ยืนยันพบเคสเพิ่มอีก 17 รายในวันจันทร์ (16) จำนวนรวมกลายเป็น 134 ราย ท่ามกลางความกังวลห่วงใยกันมากว่าประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลกแห่งนี้อาจมีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ อินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งระบุว่าพบผู้ติดเชื้อคนแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคมนี้เอง เพิ่งดำเนินการตรวจทดสอบไปได้แค่ 220 รายเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อน แต่เวลานี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นจนเป็นเกือบๆ 1 พันรายแล้ว

สำหรับสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการชมเชยอย่างกว้างขวางทั้งเรื่องระบบการติดตามเฝ้าระวังและเรื่องระบบการแยกคนไข้ผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันจันทร์ (16) เป็นต้นมาได้ประกาศมาตรการเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้นกับชาวต่างประเทศผู้เดินทางมาเยือน หลังจากเจอระลอกผู้ป่วยที่อิมพอร์ตมาจากชาติอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

พวกผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขพากันสำทับว่า ด้วยความที่ยังไม่รู้อะไรอีกมากเกี่ยวกับโควิด-19 ประเทศต่างๆ จึงไม่ควรวาดหวังพึ่งพาว่าอากาศที่ร้อนขึ้นจะชะลอการแพร่กระจายของไวรัสนี้ซึ่งกำลังระบาดไปทั่วโลก

“เป็นการพูดกันง่ายเกินไปที่ระบุว่าอากาศแบบร้อนชื้นสามารถหยุดยั้งไวรัสโคโรนาได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้นว่า การสัมผัสระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมาก” สุกิโยโน ซาปุตรา นักวิจัยด้านจุลชีววิทยา ณ สถาบันวิทยาศาสตร์อินโดนีเซีย กล่าวให้ทัศนะ

“พวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั้น อาจจะไม่ส่งผลกระทบกระเทือนไวรัสนี้เอาเลยก็ได้”

(เก็บความเรียบเรียงจากเรื่อง ของสำนักข่าวรอยเตอร์ Can hot weather stop coronavirus? SE Asia surge raises doubts โดยที่นำเอานำข้อมูลของสำนักข่าวเอเอฟพีมาเพิ่มเติมด้วย)
กำลังโหลดความคิดเห็น