xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เสนอ 4 เฟสปิดประเทศระยะสั้นเพื่อเปิดประเทศระยะยาว เอาชนะ “โควิด-19”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต (แฟ้มภาพ)
“ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” เสนอ 4 เฟส ยับยั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 เฟสแรกห้ามชาวต่างชาติทุกชาติเข้าประเทศชั่วคราว กันนำโรคเข้าจากต่างประเทศ เฟส 2 ให้คนไทยงดเดินทางหรือรวมตัวกัน 21 วันจนพ้นระยะฟักตัวและแพร่กระจาย เฟส 3 กระตุ้นเศรษฐกิจหลังเชื้อหยุดระบาด และเฟส 4 เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศที่ปลอดภัยแล้ว

วันนี้ (17 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในประเด็น “ข้อเสนอ 4 เฟส ปิดประเทศระยะสั้นเพื่อเปิดประเทศระยะยาว” มีรายละเอียดว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ได้สร้างปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างรุนแรง เพราะเป็นการระบาดระดับโลกที่ทุกประเทศมีความหวาดวิตกส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการบริการ โรคดังกล่าวนี้มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ป่วยด้วยโควิด-19 แล้วหายเองโดยไม่ไปโรงพยาบาล แต่ก็ได้แพร่กระจายไปมากกว่าจำนวนตัวเลขที่มีการรายงานจำนวนผู้ป่วย “เท่าที่ตรวจ” ในขณะเดียวกัน หากมีการแพร่ระบาดมากขึ้น จำนวนเตียงโรงพยาบาลภาครัฐทั้งหมดก็ไม่สามารถจะรับมือได้อย่างแน่นอน

แม้ว่าจะมีข้อมูลจากงานวิจัยว่าประเทศไทยจะโชคดีเพราะได้เปรียบในเรื่องสภาพภูมิกาศที่ร้อนชื้นกว่าอีกหลายประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าโรคดังกล่าวนี้ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งและการสัมผัสต่อเนื่องจากผู้ป่วยที่มีระยะเวลาที่เชื้อฟักตัว 14 วัน และระยะเวลาระบาดได้ไม่เกิน 21 วัน อีกทั้งมีประชากรไทยจำนวนมากที่ทำงานหรือต้องอยู่อาศัยในห้องปรับอากาศที่มีอุณหภูมิเย็นกว่าสภาพแวดล้อมภายนอก ดังนั้นปัญหาเรื่องโควิด-19 ยังมีโอกาสระบาดได้ต่อเนื่องยาวนานจากผู้ป่วยหรือจะป่วยแต่ยังไม่แสดงอาการจากต่างประเทศ รวมถึงการรวมตัวคนของประชาชนจำนวนมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏตัวเลขว่ามีประชากรที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ที่ไม่ได้มีการกักตัว 14 วัน ได้เข้ามาในประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ถึงช่วงต้นมีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ระบาดมากแล้วกว่า 8 แสนคน แปลว่าเราอาจมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อและแพร่กระจายในประเทศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้วด้วยก็ได้

จากสถานการณ์ข้างต้น ปัจจุบันได้ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจรุนแรงอยู่แล้ว อยู่ที่ว่ารัฐจะสามารถหยุดการระบาดได้ “เร็ว” เพียงใด หากรัฐยังประนีประนอมระหว่างการระบาดของโรคกับปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ประเทศไทยจะมีตัวเลขใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างยาวนานและจะกระทบต่อปัญหาทางเศรษฐกิจและปัญหาการระบาดที่เป็นปัญหาอยู่จริงให้ขณะนี้ให้ทอดเวลายาวออกไปยาวนานขึ้น และอาจจะยาวนานกว่าที่หลายคนจะคาดคิด

การหยุดการระบาดของโรคที่ป่วยน้อยกระจายง่ายจำเป็นต้องใช้มาตรการที่ “เข้มข้น” ที่สุดเท่านั้นจึงจะสามารถหยุดการกระจายได้ ลำพัง “บุรีรัมย์โมเดล” ที่ทำเป็นต้นแบบนั้นไม่เพียงพอ เพราะเรื่องดังกล่าวนี้จะต้องทำกันอย่างพร้อมเพรียงทั้งประเทศเท่านั้นจึงจะมีโอกาสที่จะทำให้เราผ่านวิกฤติโควิด-19 ได้เร็วที่สุด

จากสถานการณ์ข้างต้นจึงขอเสนอให้ “ปิดประเทศระยะสั้นเพื่อเปิดประเทศระยะยาว” เพื่อทำให้สถานการณ์จบลงให้เร็วที่สุดดังต่อไปนี้

เฟสแรก หยุดนำโรคเข้าจากต่างประเทศในภาวะที่ยังมีโอกาสควบคุมได้ ด้วยการปิดการนำเข้าจากชาวต่างชาติทั้งหมด เพราะชาวต่างชาติทั้งที่อ้างว่ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงมากหรือเสี่ยงน้อย หรือแม้แต่อ้างว่าไม่เสี่ยงเลยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการประนีประนอมที่จะสร้างปัญหาระยะยาว เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าคนคนนั้นได้เดินทางก่อนหน้านั้นมากี่ประเทศ โดยเฉพาะบริเวณด่านชายแดนที่มีการเดินทางเข้าออกโดยสะดวกนั้น จะต้องหยุดทั้งหมดโดยทันที อันเป็นการหยุดความเสี่ยงแม้กระทั่งผู้ทำงานในสายการบินที่มีโอกาสสูงที่จะรับเชื้อมาแพร่กระจายโดยที่เราไม่สามารถจะทราบความจริงได้หากยังไม่แสดงอาการ

เฟสที่ส 2 แก้ไขปัญหาภายในประเทศหยุดการเดินทางและการรวมตัวเริ่มต้นจากการควบคุม 21 วัน (เพื่อให้สิ้นสุดระยะฟักตัวและการแพร่กระจาย) ในเฟสที่ 2 นี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยหลายมาตรการ เช่น การหยุดรวมตัวทั้งหมด ปิดสถานที่เพื่อบิ๊กคลีนนิ่งภายในอาคาร และจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสต่อเนื่องนอกอาคาร โดยให้ประชาชนอยู่กับบ้านเพื่อสังเกตอาการ หากเป็นไข้ไม่มากและไม่รุนแรง (ซึ่งส่วนใหญ่จะหายป่วยเอง)ให้กักตัวเองอยู่กับบ้าน ทำงานอยู่กับบ้าน และเดินทางออกเท่าที่จำเป็น และส่งเสริมสมุนไพรในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน จัดลงทะเบียนออนไลน์หรือทางโทรศัพท์ผู้ป่วยไม่หนักแล้วให้คำปรึกษาและคำแนะนำผ่านโทรทัศน์หรือโซเชียลมีเดียเพื่อติดตามผลและลดจำนวนผู้ป่วยที่มาเสี่ยงแพร่ระบาดมากขึ้นในโรงพยาบาล ในระหว่างนี้รัฐควรจัดงบประมาณหรือกองทุนหรือเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงมาตรการการลดหย่อนภาษีในบางภาคธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจที่สายป่านไม่เพียงพอ แทนการจัดตั้งกองทุนพยุงตลาดหุ้น และให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการว่าจะหนักให้เข้าสู่การรักษาที่โรงพยาบาล

ในเฟสที่ 2 นี้จำเป็นจะต้องนำไปสู่ความเชื่อมั่นว่าไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย หรือมีข่าวดีกว่านั้นคือมีการรักษาหายเกือบทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าทั้งองค์ความรู้ของการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และธรรมชาติบำบัด ผนวกกับองค์ความรู้จากบทเรียนของอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไทยจะสามารถผ่านบททดสอบในเฟสที่สองนี้ได้อย่างแน่นอน (ถ้าทำกันอย่างพร้อมเพรียงและเป็นเอกภาพจะทำให้ปัญหานี้สิ้นสุดเร็วที่สุด)

เฟสที่ 3 ระยะฟื้นตัวภายในประเทศ ภายหลังจากเฟสสองสิ้นสุดแล้ว จึงใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจภายในประเทศ​อย่างพร้อมเพรียง โดยให้รัฐประกาศให้ประชาชนได้ออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยแล้ว โดยรัฐควรจัดงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเน้นหนักไปในเรื่องภาคการท่องเที่ยวและการบริการเพื่อทำให้เกิดการใช้จ่ายเกิดขึ้นชดเชยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

เฟสที่ 4 การเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยเลือกจากต่างประเทศที่ปลอดภัยแล้ว โดยเริ่มต้นจากประเทศที่ใช้มาตรการเข้มข้นในลักษณะเดียวกันและมีความปลอดภัย โดยให้เปิดไปที่ละประเทศ หรือเปิดประเทศอย่างสมบูรณ์เมื่อการระบาดโรคยุติแล้ว

การดำเนินมาตรการทั้ง 4 เฟสนั้น ต้องอาศัยภาวะความเป็นผู้นำที่สูง และต้องบอกกับประชาชนให้ทราบล่วงหน้าทั้ง 4 เฟสตั้งแต่แรก เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนวุ่นวายหรือลดแรงต้านให้น้อยลง และรวมพลังใจคนในชาติให้ฝ่าฟันวิกฤตไปสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างมีเอกภาพ

ขอย้ำว่าถึงแม้ประเทศจะไม่ดำเนินการตามมาตรการข้างต้น ก็เกิดสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจรุนแรงอยู่แล้ว และมีโอกาสที่สถานการณ์อาจจะยืดเยื้อยาวนาน อยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีความกล้าหาญในการตัดสินใจใช้มาตรการแรงเพื่อหยุดโรคนี้ยุติลงเร็วที่สุดหรือไม่เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น